6 วิธีจัดการเงินกู้บ้านแบบยิ้มได้
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

6 วิธีจัดการเงินกู้บ้านแบบยิ้มได้

icon-access-time Posted On 05 กันยายน 2558
By Krungsri the COACH
เป็นที่ทราบกันครับว่า การกู้บ้านมักจะมีระยะเวลาการผ่อนนานหลายปี ยิ่งถ้าเป็นการผ่อนบ้านแล้วล่ะก็ ช่วงเวลาการผ่อนมักจะใช้เวลานานกว่าสิบปี แล้วเราจะมีวิธีจัดการเงินกู้บ้านอย่างไรเพื่อจะทำให้ชีวิตในช่วงการผ่อนนี้ ผ่านพ้นไปได้ด้วยรอยยิ้ม
เป็นที่ทราบกันครับว่า การกู้บ้านมักจะมีระยะเวลาการผ่อนนานหลายปี ยิ่งถ้าเป็นการผ่อนบ้านแล้วล่ะก็ ช่วงเวลาการผ่อนมักจะใช้เวลานานกว่าสิบปี แล้วเราจะมีวิธีจัดการเงินกู้บ้านอย่างไรเพื่อจะทำให้ชีวิตในช่วงการผ่อนนี้ ผ่านพ้นไปได้ด้วยรอยยิ้ม
1.
รู้ขีดความสามารถของตัวเอง ก่อนการตัดสินใจกู้เงิน เราต้องรู้ตัวเองก่อนครับ รู้ในที่นี้ คือ รู้สถานภาพทางการเงินของตัวเอง รวมถึงการคาดการณ์ในอนาคต ว่าจะสามารถผ่อนชำระหนี้ได้มากขึ้นหรือน้อยลงแค่ไหน ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้คำนวณได้จากกรายได้ในแต่ละเดือน แล้วหักออกด้วยรายการจ่าย เช่น หนี้ ค่าใช้จ่ายประจำ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว รวมถึงเงินออมแล้วยังคงเหลือเงินเป็นจำนวนเท่าไหร่ จากค่านี้เรายังสามารถนำไปใช้ประกอบการคำนวณวงเงินที่เราจะขออนุมัติเงินกู้ด้วยครับ อย่าลืมนะครับ กู้มาก ดอกเบี้ยมาก เพราะฉะนั้น ขอกู้แค่เท่าที่จำเป็นถึงแม้เราจะได้รับข้อเสนอให้กู้ด้วยวงเงินที่สูงกว่าที่ขอก็ตาม
2.
ฉลาดเลือกสินเชื่อและดอกเบี้ย เพราะแต่ละธนาคารต่างมีข้อเสนอที่แตกต่างกันสำหรับสินเชื่อแต่ละแบบ เราควรเลือกสินเชื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ เช่น สินเชื่อคอนโด มีวงเงินกู้สูงสุด 100% ของราคาประเมิน ในขณะที่สินเชื่อบ้านจะมีวงเงินกู้สูงสุดที่ 90% ของราคาประเมิน หรือหากกู้เงินสร้างบ้านเอง วงเงินกู้จะแบ่งเป็นส่วนของค่าจ้างปลูกสร้าง และ ส่วนของราคาประเมินที่ดิน
ในส่วนของดอกเบี้ยนั้น โดยมากการคิดดอกเบี้ยสำหรับการกู้เงินซื้อบ้านจะเป็นการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ซึ่งหมายความว่า ดอกเบี้ยจะถูกคำนวณจากเงินต้นที่จะมีจำนวนลดลงจากการผ่อนชำระหนี้ของเราในแต่ละงวด โดยดอกเบี้ยจะแบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ อัตราดอกเบี้ยคงที่ และอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ซึ่งแบบหลังเป็นการอ้างอิงกับค่า MLR, MRR, MOR ที่มีค่าเปลี่ยนแปลงตามประกาศของแต่ละธนาคาร โดยทั่วไป ธนาคารมักจะใช้อัตราดอกเบี้ยทั้งสองแบบควบคู่กัน เช่น อัตราคงที่ 3.75% ในปีแรก ปีต่อไป คิดดอกเบี้ยอัตราเท่ากับ MLR เป็นต้น
 
การขอเงินกู้นั้น ควรเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง
และพิจารณาแนวโน้วของอัตราดอกเบี้ยด้วย
เนื่องด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของแต่ละสถาบันการเงินนั้นมักจะไม่เท่ากัน เราจึงควรนำมาเปรียบเทียบเพื่อเลือกขอกู้กับสถาบันการเงินที่ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุด นอกจากนั้น เราควรพิจารณาถึงแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยประกอบด้วย เช่น หากทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น เราควรเลือกแผนที่ให้อัตราดอกเบี้ยคงที่ในระยะยาว แต่ในทางกลับกัน หากดอกเบี้ยเป็นขาลง เราควรเลือกแผนที่ใช้อัตราลอยตัวในช่วงแรก ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการปรับอัตราดอกเบี้ยให้ได้มากที่สุด
3.
มีวินัยการผ่อนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระ ซึ่งอาจก่อให้เกิดดอกเบี้ยเพิ่มเติมโดยไม่ได้ตั้งใจ เราอาจใช้บริการตัดบัญชีธนาคารโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม อย่าลืมที่จะตรวจสอบความถูกต้องของใบแจ้งหนี้ ยอดชำระในแต่ละงวด และยอดเงินค้างชำระทุกครั้ง รวมถึงอย่าลืมแจ้งไปที่สถาบันการเงินเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ เพื่อที่จะไม่พลาดการติดต่อหากมีการส่งเอกสารสำคัญ เช่น หากมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้เราต้องส่งค่างวดสูงขึ้น
4.
หมั่นโปะทุกเดือน และเมื่อมีเงินก้อนพิเศษ ดังที่กล่าวไปแล้วครับว่า ดอกเบี้ยบ้านนั้นเป็นการคิดแบบลดต้นลดดอก ดังนั้น เราจึงควรลดเงินต้นให้มากและเร็วที่สุด เพื่อทำให้ดอกเบี้ยในการผ่อนแต่ละงวดลดลง รวมถึงระยะเวลาการผ่อนที่สั้นลงด้วย โดยเราสามารถจ่ายเงินค่างวดมากกว่าที่กำหนดในทุก ๆ เดือน รวมถึงการแบ่งเงินพิเศษ เช่น เงินโบนัส หรือรายได้พิเศษจากการทำงานเสริมมาโปะหนี้ด้วย แต่ทั้งนี้การโปะจะทำได้เมื่อพ้นเงื่อนไขของการชำระค่างวดเกินกว่ากำหนด ตามที่ระบุไว้ในสัญญาแล้วเท่านั้น
5.
รีไฟแนนซ์เมื่อพบหนทางที่ดีกว่า การรีไฟแนนซ์ คือ การยกเลิกสัญญาสินเชื่อกับสถาบันการเงินปัจจุบัน เพื่อไปทำสัญญาขอกู้กับอีกสถาบันการเงินหนึ่งที่ให้ข้อเสนอที่ดีกว่า เช่น ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า ให้ระยะการผ่อนยาวกว่า ทั้งนี้ก่อนตัดสินใจรีไฟแนนซ์ อย่าลืมพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการรีไฟแนนซ์ด้วย เช่น ค่าธรรมเนียมการยกเลิกสัญญาเงินกู้ก่อนกำหนด หรือค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เช่น ค่าจดจำนองหลักประกัน ค่าอากรแสตมป์ ค่าใช้จ่ายในการประเมิน
6.
อย่าพลาดรับผลประโยชน์ทางภาษีทุกปี เราสามารถนำดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี หากเป็นการกู้ร่วม และเป็นการยื่นภาษีแบบแยก เราก็สามารถแบ่งค่าลดหย่อนคนละเท่า ๆ กันตามจำนวนผู้กู้ร่วมครับ เงินคืนภาษีที่ได้รับมาก็สามารถนำกลับไปโปะได้อีกนะครับ
สุดท้าย อย่าลืมตรวจสอบผลงานอย่างสม่ำเสมอ เช่น ในทุก ๆ ไตรมาส ลองตรวจดูว่า การโปะเงิน หรือการรีไฟแนนซ์ช่วยให้เราประหยัดค่าดอกเบี้ยไปได้กี่บาท เพื่อประเมินดูว่าเราทำได้ดีแค่ไหน และมีจุดไหนที่จะทำให้ประหยัดค่าดอกเบี้ยได้อีกหรือไม่ ไม่ยากเลยใช่ไหมครับ ขอเพียงแค่รู้จักตัวเอง ฉลาดเลือก มีวินัย และหมั่นคอยตรวจสอบ เราก็จะสามารถมีรอยยิ้มได้แม้ในช่วงการผ่อนครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา