หลายคนมักบอกว่าอิสรภาพทางการเงินจะเกิดขึ้นกับคนที่มีเวลาเยอะ ๆ เพราะพวกเขาไม่ต้องกังวลเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตพร้อมกับมีเงิน และเวลาในการใช้จ่ายเงินเหล่านั้นแบบไม่ต้องคิดกังวลในภายหลัง แต่รู้ไหมว่าอิสรภาพทางการเงินก็มีโอกาสเกิดขึ้นกับคนที่ไม่มีเวลาเช่นเดียวกันถึงแม้ว่าจะต้องทำงาน และมีภาระหนี้สินที่ต้องรับผิดชอบ ก็สามารถมีอิสรภาพทางการเงิน และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ วันนี้เราเลยอยากพูดถึงเรื่องนี้ให้ทุกคนได้เข้าใกล้กับคำว่า อิสรภาพทางการเงิน มากยิ่งขึ้น
อิสรภาพทางการเงิน คืออะไร?
อิสรภาพทางการเงิน คือ สถานะของความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงิน และมีเงินจำนวนมากพอต่อการใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการได้จนสิ้นอายุขัย โดยที่ไม่ต้องกังวลเลยว่าจะมีเงินเหลือพอใช้ในแต่ละวันไหม และไร้ข้อจำกัดที่ทำให้ใช้เงินไม่ได้อย่างอิสระ และถึงแม้ว่าจะไม่ได้ประกอบอาชีพ หรือทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน หรืองานอื่น ๆ ก็ไม่ส่งผลให้มีความเครียดกับเรื่องการเงิน
บางคนที่มีอิสรภาพทางการเงินก็สามารถเลือกทำงานเพื่อเพิ่มรายได้ หรือเพื่อความพึงพอใจส่วนตัว บางคนอาจเลือกทำงานให้เพียงพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายพื้นฐาน และเพื่อการสร้างกำไรจากการลงทุน หรือทำธุรกิจส่วนตัว หรืออาจเลือกที่จะไม่ทำงาน และใช้เวลาในการเรียนรู้ พัฒนาตนเอง ทำกิจกรรมที่มีประโยชน์แก่ตนเอง หรือสังคมส่วนรวม
อีกทั้งผู้ที่มีอิสรภาพทางการเงินไม่ใช่ว่าจะต้องมีเวลาว่างอยู่เฉย ๆ เพียงอย่างเดียว แต่มีอิสระในการตัดสินใจเรื่องการทำงาน และการใช้จ่าย… แต่ถ้ายังเป็นคนที่ต้องทำงานแล้วอยากมีอิสรภาพทางการเงินไปพร้อมกัน เราก็มี 5 วิธีดี ๆ มาแนะนำเพื่อเป็นไอเดียในการเปลี่ยนเงินที่มีอยู่แล้วให้มีอิสภาพทางการเงินอย่างสมบูรณ์แบบ
5 วิธีสู่การมีอิสรภาพทางการเงิน!
1. มีแพลนค่าใช้จ่ายระหว่างเดือน
ให้เริ่มต้นจากตัวเราเองด้วยการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในแต่ละเดือนว่ามีอะไรบ้าง? และต้องแบ่งแยกอย่างชัดเจนทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัว และค่าใช้ส่วนภาระหนี้สินต่าง ๆ ซึ่งเมื่อเรามีการสำรวจพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเองแล้วก็จะเห็นถึงรอยรั่วที่เกิดขึ้น และสามารถนำไปประมาณการค่าใช้จ่ายเพื่อลดในส่วนของสิ่งที่ไม่จำเป็น และลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไม่ให้เกิน 50% ของรายได้ทั้งหมด และเงินส่วนที่เหลือก็สามารถนำไปต่อยอดเพื่อเพิ่มอิสรภาพทางการเงินอื่น ๆ ได้อีกด้วย
2. มีเงินสำรองเผื่อเหตุฉุกเฉินพร้อมใช้ได้เลย
หลังจากที่หักค่าใช้จ่ายไปในส่วนของวิธีแรกแล้ว เราก็จะมีเงินส่วนที่เหลือไว้มาเป็นเงินออม และเงินออมที่ควรจะมีเก็บเป็นก้อนแรกเลยนั้นก็คือ
“เงินสำรองฉุกเฉิน” เพราะเราไม่รู้เลยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในอนาคตบ้าง ทั้งในเรื่องสุขภาพ การงาน หรือแม้แต่เรื่องครอบครัว เราจึงต้องใช้ชีวิตให้อยู่บนความไม่ประมาท และไม่ใช้เงินจนเกินตัว แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าควรจะมีเงินสำรองเท่าไรกันละถึงจะเพียงพอ? ก็ต้องบอกไว้เลยว่าควรมีประมาณ 3-6 เท่าของเงินเดือน หรือเท่ากับค่าใช้จ่าย 3-6 เดือนที่ต้องจ่ายตอนนี้ เพื่อป้องกันตัวเราเองไม่ให้ตกไปอยู่ในสถานะลูกหนี้ทำให้ห่างไกลจากคำว่าอิสรภาพทางการเงินเข้าไปอีก
3. ลดหนี้ด้วยการปิดยอดหนี้ดอกเบี้ยสูง
เรื่องที่ขัดขวางการใช้เงินในแต่ละเดือนมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นหนี้ก้อนโตที่มีของแถมเป็นดอกเบี้ยสูงมาด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องลดการใช้จ่ายเกินตัว และไม่สนต่อสิ่งเร้าจนทำให้เกิดการสร้างหนี้เพิ่ม และพยายามโปะหนี้ที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด ซึ่งในส่วนของดอกเบี้ยที่สูงจนเกินไปนั้นอาจต้องหาวิธีการเพื่อให้จ่ายได้ถูกลง เช่น การพักชำระเงินต้น,
การรวมหนี้, หรือ
การทำรีไฟแนนซ์ หรือรีเทนชั่น โดยต้องคำนึงด้วยว่าเราสามารถบริหารจัดการภาระต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หากเราสามารถจัดการได้ รับรองว่าเราก็มีอิสรภาพทางการเงินเหลือกิน เหลือใช้ได้ง่าย ๆ ในแต่ละเดือนแล้ว
4. มี Passive Income มากกว่า 2 ช่องทาง
อย่างที่เราทุกคนรู้กันว่าความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่ากับเรื่องอะไร แม้แต่ความมั่นคงของอาชีพที่เราทำอยู่เพราะมีหลายปัจจัยเป็นส่วนประกอบซึ่งมีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมาก ๆ จากโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการเลย์ออฟพนักงาน ส่งผลกระทบกับสถานะการเงินโดยตรง การหารายได้หลายช่องทาง เราอาจจะเริ่มจากสิ่งที่ชอบ หรือสิ่งที่เราสนใจในการทำ และช่องทางที่เราไม่ต้องลงทุนค่าสถานที่ และเริ่มต้นทำได้เลยตั้งแต่วันนี้อย่างเช่น การเปิดร้านค้าขายของบน TikTok Shop หรือทำ Live Streaming ผ่าน YouTube, TikTok , Twitch โชว์การเล่นเกม หรือการเล่าเรื่องผี ก็ได้รับความนิยมเหมือนกัน และนี่อาจทำให้เราอาจค้นพบธุรกิจที่ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของเรา และมีรายได้เข้ามาเรื่อย ๆ แบบนี้ล่ะ ที่เรียกว่า เรามีอิสรภาพทางการเงินอย่างแท้จริง
5. การลงทุนเพื่อสร้างอนาคตระยะยาว
ในเมื่อเรามีทั้งเงินสำรองฉุกเฉิน และเงินเก็บออมจากการทำงาน หรือรายได้เสริมจากช่องทางอื่น ๆ เราก็ไม่ควรพลาดเรื่องสำคัญที่สุดคือ การแบ่งเงินไว้สำหรับการต่อยอดให้งอกเงยด้วยการลงทุน แต่ต้องคิดไว้เสมอว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยงเสมอจึงต้องศึกษา และเลือกลงทุนตามความรู้ที่มีและรับกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล, สลากออมทรัพย์, หุ้นกู้, ตราสารหนี้ หรือกองทุนรวม
แต่หากยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นลงทุนจากตรงไหน ทางธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็มีกองทุน SSF และ RMF มาแนะนำซึ่งรองรับตั้งแต่ ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างต่ำไปจนถึงผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้สูงขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการลงทุนของแต่ละคน
โดยสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ตรงนี้เลย
เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว และโอกาสเข้าใกล้การมีอิสรภาพทางการเงินมากยิ่งขึ้น และยิ่งตอนนี้ไม่ว่าใครก็สามารถเริ่มลงทุนกองทุนรวมได้ง่าย ๆ ผ่านทาง KMA krungsri app อยู่ที่ไหนก็ลงทุนได้ มีให้เลือกลงทุนหลากหลายสินทรัพย์ โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้คัดกองทุนตัวเด็ดจากหลากหลาย บลจ. ชั้นนำมาให้แล้ว และใช้เงินเริ่มต้นเพียงหลักร้อยก็สามารถเข้าถึงโอกาสการมีอิสรภาพทางการเงินได้แบบคนอื่น ๆ ได้เลย
มาถึงตรงนี้แล้วเราก็ได้เข้าใจและเปลี่ยนมุมมองของคนที่มีอิสรภาพทางการเงินใหม่ เพราะไม่ใช่แค่เฉพาะคนที่มีเวลาในชีวิตมาก ไม่ต้องทำงาน หรือประกอบอาชีพ และไม่มีภาระหนี้สินรวมทั้ง มีเงินมารองรับค่าใช้จ่ายได้อย่างสะดวกสบาย แต่กลุ่มคนที่ยังทำงานอยู่ก็สามารถจะอยู่ในสถานะผู้ที่มีอิสรภาพทางการเงินได้เช่นเดียวกัน เพียงแค่ต้องอาศัยความอดทน และความมีวินัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อความสุขกับอิสรภาพทางการเงินในแบบของเรา อย่างมีความยั่งยืนที่สุด
อ้างอิง
- moneybuffalo.in.th
- bot.or.th
- setinvestnow.com
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน