อยากเริ่มต้นธุรกิจด้วยไอเดียเด็ด ๆ แต่ไม่แน่ใจว่าจะไปรอดไหม หรืออยากจะขายของ แต่ไม่รู้ว่าควรตั้งราคาเท่าไหร่ แล้วต้องขายให้ได้เยอะแค่ไหนถึงจะไม่ขาดทุน Break Even Point หรือการคำนวณ “จุดคุ้มทุน” คืออีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยตอบคำถามเหล่านี้ให้คุณได้
จุดคุ้มทุนหรือ Break Even Point คือ จำนวนของสินค้าที่ธุรกิจต้องสร้างและขายให้ได้เพื่อให้มีรายได้เท่าทุน หรืออีกนัยหนึ่ง จุดคุ้มทุน คือ ยอดขายขั้นต่ำต่อเดือนที่จะทำให้ธุรกิจมีรายได้ที่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในแต่ละเดือน ดังนั้น รายได้ที่สูงกว่าจุดคุ้มทุนจึงหมายถึงกำไร และในทางตรงข้าม รายได้ที่ต่ำกว่าจุดคุ้มทุนก็คือ ขาดทุนนั่นเอง โดยมีวิธีคำนวณเบื้องต้น ดังนี้
จุดคุ้มทุน (บาท) = จุดคุ้มทุน (หน่วย) x ราคาขายต่อหน่วย = ต้นทุนคงที่รวม + ต้นทุนแปรผันรวม
จุดคุ้มทุน (หน่วย) = ต้นทุนคงที่ / (ราคาขายต่อหน่วย – ต้นทุนแปรผันต่อหน่วย)
คำศัพท์ที่ควรรู้และตัวอย่างการคำนวณจุดคุ้มทุน
ในการคำนวณจุดคุ้มทุนและวิธีคิดกำไรจากราคาขาย หลัก ๆ แล้วเราต้องรู้จักความหมายของคำศัพท์ 2 คำนี้เสียก่อน เพราะเป็นคำศัพท์ที่เกี่ยวกับต้นทุน ซึ่งจะส่งผลต่อจุดคุ้มทุนและกำไรของธุรกิจโดยตรง ได้แก่
ต้นทุนคงที่: ค่าใช้จ่ายรายเดือน ในส่วนที่ไม่ขึ้นกับจำนวนการผลิต โดยมากจะเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร เช่น ค่าเช่าร้าน
ต้นทุนแปรผันต่อหน่วย: ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการผลิตสินค้าต่อ 1 ชิ้น เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงาน
ตัวอย่างการคำนวณจุดคุ้มทุน: สมมติว่าร้านขายบราวนี่ มีต้นทุนคงที่ 5,000 บาทต่อเดือน โดยมีต้นทุนแปรผันชิ้นละ 20 บาท ตั้งราคาขายที่ 30 บาทต่อชิ้น ดังนั้น จุดคุ้มทุน = 5,000 / (30-20) = 500 ชิ้น ซึ่งหมายความว่า ร้านนี้ต้องขายบราวนี่ให้ได้ 500 ชิ้นต่อเดือนจึงจะคุ้มทุน หรือต้องขายให้ได้มากกว่า 500 ชิ้นเพื่อจะสร้างกำไร
วิธีคิดกำไรจากราคาขายง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
หากอยากเพิ่มกำไรให้ธุรกิจ การทำให้จุดคุ้มทุนต่ำลงจะทำให้ธุรกิจสามารถคืนทุนและสร้างกำไรได้เร็วขึ้นจากการผลิตและยอดขายที่น้อยลง ซึ่งจากสูตรการคำนวณจะเห็นได้ว่าการลดจุดคุ้มทุนทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนคงที่ ลดต้นทุนแปรผัน หรือเพิ่มราคาขายต่อหน่วย จากตัวอย่างที่กล่าวไปข้างต้น หากต้องการลดจุดคุ้มทุนลง ร้านบราวนี่อาจปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ดังนี้
- ลดต้นทุนคงที่ เช่น เปลี่ยนจากการเช่าหน้าร้าน เป็นการขายออนไลน์ ทำให้ต้นทุนคงที่เหลือ 3,000 บาท ดังนั้น จุดคุ้มทุน = 3,000 / (30-20) = 300 ชิ้น
- ลดต้นทุนแปรผัน เช่น ต่อรองราคาวัตถุดิบได้ในราคาที่ถูกลงเหลือหน่วยละ 15 บาท ดังนั้น จุดคุ้มทุน = 5,000 / (30-15) = 333 ชิ้น
- เพิ่มราคาขายเป็น 35 บาท ดังนั้น จุดคุ้มทุน = 5,000 / (35-20) = 333 ชิ้น
สำหรับคนที่ทำธุรกิจสามารถนำตัวเลขจุดคุ้มทุนนี้ไปเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ยอดขายในแต่ละเดือนเพื่อดูความเป็นไปได้ของธุรกิจได้ด้วย เช่น หากมีหน้าร้านเพื่อขายบราวนี่ ต้องขายให้ได้มากกว่า 500 ขิ้นต่อเดือน เฉลี่ยวันละ 17 ชิ้นเพื่อให้เท่าทุน หรืออาจจะตั้งยอดขายไว้วันละ 30 ชิ้นเพื่อให้มีกำไร ซึ่งจากตัวเลขนี้ ก็ต้องลองวิเคราะห์ดูอีกครั้งว่า ด้วยทำเลที่ตั้งของร้านและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ธุรกิจมีโอกาสที่จะบรรลุยอดขายนี้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม หากในกรณีที่ธุรกิจมีกำลังการผลิตที่จำกัด อีกหนึ่งวิธีในการปรับกลยุทธ์ คือ การปรับราคาขาย โดยเราสามารถดัดแปลงสมการจุดคุ้มทุนเพื่อใช้หาราคาขายขั้นต่ำได้ดังนี้
ราคาขาย = (ต้นทุนคงที่รวม / จำนวนสินค้าที่ผลิตและขายได้ ) + ต้นทุนแปรผันต่อหน่วย
กล่าวคือ หากธุรกิจบราวนี่ของเรา มีกำลังการผลิตคงที่เดือนละ 600 ชิ้น ดังนั้น ราคาขาย = (5,000 / 600) + 20 หรือต้องขายบราวนี่ราคาชิ้นละ 28.33 บาทขึ้นไป เพื่อไม่ให้ขาดทุน
จะเห็นได้ว่าการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของค่าใช้จ่ายคงที่ ค่าใช้จ่ายแปรผัน ราคาขาย และจำนวนยอดขาย ต่างมีผลต่อจุดคุ้มทุนและวิธีคิดกำไรจากราคาขายทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณจุดคุ้มทุน หรือคาดการณ์ยอดขายล้วนแล้วแต่เป็นตัวเลขที่ตั้งบนสมมติฐาน ดังนั้น อย่าลืมมองโลกตามความเป็นจริงเพื่อสร้างแผนธุรกิจที่สมเหตุสมผล โดยสำหรับเพื่อน ๆ ที่มีไอเดียการตั้งธุรกิจใหม่ ๆ หากลองคำนวณจุดคุ้มทุนแล้วพบว่ามีโอกาสสูงที่จะไม่สามารถทำกำไรได้ ก็ต้องรีบแก้ไขและปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจกันเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ ดีกว่าฝืนทำไปแล้วต้องเผชิญกับปัญหาในภายหลัง สำหรับใครที่สนใจอ่านบทความด้านการลงทุนเพิ่มเติม สามารถคลิกอ่านได้ที่
Plearn เพลิน