ตามไปดูว่าแนวคิดบริหารเงินของเหล่า Millionaire มีอะไรบ้าง
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ตามไปดูว่าแนวคิดบริหารเงินของเหล่า Millionaire มีอะไรบ้าง

icon-access-time Posted On 05 กุมภาพันธ์ 2563
By รวิศ หาญอุตสาหะ
หลายคนมักจะคิดเสมอว่าบรรดาเหล่า millionaire นั้น น่าจะมีเคล็ดลับหรือความลับอะไรบางอย่างในการสร้างหรือบริหารจัดการความมั่งคั่ง เพื่อทำให้เขาเหล่านี้รวยขึ้น แต่จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งพื้นฐานที่เราทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ และในบทความนี้ผมหยิบข้อมูลจาก entrepreneur.com บวกกับมุมมองส่วนตัวของผม เพื่อมาบอกเล่าถึงหลักคิด 11 ข้อ ที่จะช่วยให้เราบริหารจัดการเงินได้ดีมากขึ้นครับ
หลายคนมักจะคิดเสมอว่าบรรดาเหล่า Millionaire นั้น น่าจะมีเคล็ดลับหรือความลับอะไรบางอย่างในการบริหารเงิน หรือบริหารจัดการความมั่งคั่งเพื่อทำให้เขาเหล่านี้รวยขึ้น แต่จริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งพื้นฐานที่เราทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ และในบทความนี้ผมหยิบข้อมูลจาก entrepreneur.com บวกกับมุมมองส่วนตัวของผม เพื่อมาบอกเล่าถึงหลักคิด 11 ข้อ ที่จะช่วยให้เราจัดการบริหารเงินได้ดีมากขึ้นครับ
 

1. อย่าตัดสินใจอย่างหุนหันพลันแล่น

ลองนึกหรือจินตนาการถึงเหตุการณ์หรือประสบการณ์ล่าสุดของคุณในการตัดสินใจซื้อของอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ว่าตัวเรานั้นถูกกระตุ้นได้ง่ายแค่ไหน เพราะคนที่สามารถจัดการบริหารเงินได้ดี มักจะเป็นคนที่มีความสามารถที่จะ “ยับยั้งชั่งใจ” ตัวเองมากกว่าคนทั่วไปเสมอ แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามซื้อไปเสียทุกอย่างนะครับ แต่แค่อยากจะบอกว่าครั้งต่อไปถ้าอยากได้ของชิ้นนี้มาก ๆ อยากให้ลองกลับไปนอนคิดสักคืนสองคืนดูก่อน
มีการศึกษาที่โด่งดังมากชิ้นหนึ่งที่รู้จักกันในชื่อ Marshmallow Test ของ ศาสตราจารย์ วัลเทอร์ มิชเชิล ผู้เชี่ยวชาญในด้านทฤษฎีบุคลิกภาพและจิตวิทยาสังคมในช่วงปี 1960s โดยการทดลองนี้ ศาสตราจารย์ วัลเทอร์ มิชเชิล จะให้เด็กนั่งรอในห้องพร้อมกับมาร์ชเมลโล่หนึ่งชิ้น และบอกกับเด็กว่าจะกินมาร์ชเมลโล่ชิ้นนี้เมื่อไหร่ก็ได้ หรือจะรอจนมีผู้ใหญ่เดินเข้ามาในห้องอีกครั้ง และจะได้รับมาร์ชเมลโล่เพิ่มอีกหนึ่งชิ้น
หลังจากการทดลองนี้ก็ได้มีติดตามอย่างต่อเนื่องหลายปี และเขาก็พบว่าเด็ก ๆ ที่อดทนรอจะมีค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่า อัตราการหย่าร้างต่ำกว่า และมีคะแนน SAT ที่สูงกว่า

2. รู้ความแตกต่างระหว่างความ “อยาก” และ “จำเป็น”

เหล่า Millionaire จะรู้และเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างความ “อยาก” และ “จำเป็น” เสมอ ว่าบางครั้งคนเราจะมีช่วงเวลาของความอยาก ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่ใหญ่ขึ้น รองเท้าคู่ใหม่ที่แพงขึ้น รถหรูคันใหม่ที่เท่ขึ้น ทรงพลังมากขึ้น ไม่ใช่ว่าเหล่า Millionaire จะไม่ซื้อสิ่งเหล่านี้นะครับ แต่แนวคิดบริหารเงินของเขานั้นมักจะนำเงินไปใช้ในการเพิ่มความมั่งคั่งให้ตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก (จำเป็น)
จากข้อมูลของเว็บ daveramsey ได้เผยแพร่งานวิจัยที่น่าสนใจมากอันหนึ่งจาก Experian Automotive (และตีพิมพ์ใน Forbes) ระบุว่า 61% ของคนที่มีรายได้มากกว่า 250,000 เหรียญต่อปี (เป็นเงินไทยราว 7.5 ล้านบาท ต่อปี) จะขับรถทั่ว ๆ ไปอย่าง Honda หรือ Toyota
และนอกจากนั้นยังพบว่า 8% ของผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 เหรียญต่อปี (ประมาณ 3 ล้านบาท ต่อปี) มักจะเป็นเจ้าของรถหรู
ครั้งต่อไปเมื่อต้องตัดสินใจซื้ออะไรสักอย่างอย่าลืมที่จะถามตัวเองดูนะครับ ว่าเรากำลังซื้อเพราะ “อยาก” หรือ “จำเป็น”

3. โฟกัสในระยะยาวเสมอ

การบริหารเงินของเศรษฐีอันดับสำคัญแรก ๆ ไม่ว่าจะทำธุรกิจ หรือลงทุน เหล่า millionaire มักจะคิดถึงผลลัพธ์ในระยะยาวเสมอ และสิ่งที่ทำทุกวันนั้นก็ต้องเกี่ยวข้องกับเป้าหมายระยะยาวของคุณด้วยเช่นกัน
เพราะการโฟกัสในระยะยาวจะทำให้เรารู้ว่าเรากำลังทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร ช่วยให้ไม่ไขว้เขวในระหว่างทางที่ก้าวเดินไป แต่ในขณะเดียวกันก็ควรมีการติดตามผลลัพธ์อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้รู้ความคืบหน้า

4. มีแหล่งรายได้หลายช่องทาง

หลังจากสร้างรายได้ในหนึ่งช่องทางให้เกิดขึ้นได้แล้ว และเมื่อเริ่มนิ่งแล้ว เหล่า Millionaire มักจะเริ่มมองหาช่องทางในการสร้างกระแสเงินสดให้ตัวเอง ในช่องทางอื่น ๆ เพิ่มทันที การบริหารเงินของเศรษฐีที่สำคัญก็คือพวกเขาตระหนักเสมอว่าการมีรายได้ทางเดียวนั้นเป็นความเสี่ยงมาก ถ้าอยู่ ๆ มันเกิดหายไปจะทำให้กระแสเงินสดของเขานั้นหยุดชะงักทันที

5. ติดตามงบส่วนตัวอย่างสม่ำเสมอ

อันนี้เป็นแนวคิดบริหารเงินที่เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดที่เราทุกคนน่าจะรู้กันดีอยู่แล้ว นั่นคือ การที่เราต้องรู้ว่าเรามีรายได้เข้ามาเท่าไหร่ และใช้จ่ายออกไปเท่าไหร่ เรากำลังติดลบอยู่หรือเปล่า
แน่นอนมีการศึกษาที่บ่งบอกว่า Millionaire มักจะไม่ทำงบส่วนตัว แต่พวกเขารู้เสมอว่ารายได้เขามาจากไหน และถูกใช้ไปกับเรื่องอะไร ที่สำคัญเขาจะไม่ใช้เงินจนติดลบ

6. มีเงินสำรองฉุกเฉิน

ไม่มีใครบอกเราได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในวันข้างหน้า คนที่เตรียมพร้อมรับความเสี่ยงเท่านั้นคือคนที่รอด วันหนึ่งบริษัทที่เราทำงานอาจจะปิดตัวลง เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หรือคนในครอบครัวป่วยอย่างกะทันหัน (และไม่อยู่ในการคุ้มครองของประกัน) ดังนั้นการมีเงินสำรองฉุกเฉินที่จะช่วยให้คุณอยู่ได้นาน 6-12 เดือน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก

7. ลงทุนในสิ่งที่เข้าใจเท่านั้น

ทุกครั้งที่ผมได้รับ Inbox ในทำนองว่าตอนนี้ ทองคำน่าลงทุนไหม หุ้นกลุ่มนี้น่าสนใจหรือเปล่า หรือธุรกิจนี้ยังน่าทำ น่าลงทุนอยู่ไหม ผมมักจะตอบไปเสมอว่า ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้คือ ทุกธุรกิจ ทุกหลักทรัพย์ และทุกการลงทุน มีคนที่สามารถทำเงินได้เสมอ และในขณะเดียวกันก็มีคนเสียเงินเสมอ
ดังนั้นคำถามในการบริหารเงินที่ถูกต้อง ไม่ใช่การถามว่า “สิ่งนี้น่าลงทุนไหม?” แต่ต้องถามกับตัวเองว่าเรารู้จักสิ่งที่เรากำลังจะลงทุนดีพอหรือยัง คุณเข้าใจหรือไม่ว่าบริษัทที่คุณลงทุนนั้น สร้างรายได้อย่างไร มีผลกำไรอย่างไร ความได้เปรียบทางการแข่งขันเป็นอย่างไร
เหมือนที่บิดาแห่งการลงทุนอย่าง Peter Lynch และ Warren Buffett บอกไว้เสมอว่า "invest in what you know." หรือ “จงลงทุนในสิ่งที่คุณรู้”

8. หลีกเลี่ยงการเป็นหนี้บริโภค

แนวคิดบริหารเงินของเหล่าเศรษฐีก็คือพวกเขาจะไม่สร้างหนี้บริโภค หรือเอาเงินอนาคตมาใช้เพื่อซื้อความสุขชั่วคราว หรือสนองความอยากในวันนี้ แต่ต้องผ่อน 0% นาน 10 งวด พวกเขาจะไม่ทำแบบนั้น (แต่แน่นอนการใช้บัตรเครดิตให้เป็นก็ให้สิทธิประโยชน์ที่ดีหลายอย่าง)
ทางเดียวที่พวกเขาจะสร้างหนี้ คือ การสร้างหนี้เพื่อเพิ่มความมั่งคั่ง เช่น สร้างบริษัทใหม่ ลงทุน หรือซื้อทรัพย์สินที่ทำให้เกิดกระแสเงินสด

9. พวกเขามีที่ปรึกษาทางการเงิน (ที่ดี)

หนึ่งเรื่องที่เราน่าจะรู้กันดีอยู่แล้วก็คือ ไม่มีใครที่เก่งไปซะหมดทุกเรื่อง คนที่หาเงินได้มาก ๆ เองก็เช่นกัน Millionaire รู้ดีว่าตัวเขาเองนั้นมีจุดอ่อน หรือมีความไม่รู้ในหลายเรื่อง พวกเขาจึงมักขอคำปรึกษาจากที่ปรึกษาทางการเงิน (ที่ดี) หรือนักบัญชีที่มีความเชี่ยวชาญ

10. ศึกษาอย่างต่อเนื่องในเรื่อง “การบริหารจัดการเงิน”

คำว่าศึกษาอย่างต่อเนื่องไม่ได้หมายความว่าคุณต้องไปลงเรียนปริญญาโทเพิ่มอีกสักใบ หรือเรียนปริญญาด้านการเงินหรือการบริหารเงินเพิ่ม ไม่ใช่แบบนั้น แต่สิ่งที่คุณต้องทำคือ “Self-education” หรือ “ความสามารถในการเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเอง”
เพราะเมื่อไหร่ที่คุณเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะในเรื่องการเงิน แนวคิดบริหารเงิน หรือในเรื่องอื่น ๆ จะทำให้คุณมีมุมมองที่กว้างมากขึ้น เมื่อคุณมีมุมมองที่กว้างขึ้น คุณก็จะเห็นโอกาสมากขึ้นเช่นกัน

11. คิดเรื่อง “ตัวเลข” ก่อนการตัดสินใจ

พอพูดถึงเรื่องตัวเลขแล้ว หลายคนอาจจะกังวลเกี่ยวกับแนวคิดบริหารเงิน แต่บอกได้เลยครับว่ามันไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด ในความหมายของการคิดเรื่องตัวเลขนั้นเราใช้เพียงหลักง่าย ๆ อย่าง บวก ลบ คูณ หาร เท่านั้นแหละครับ
สมมุติว่าคุณกำลังเริ่มต้นธุรกิจใหม่ สิ่งที่คุณต้องคิดก็คือ ธุรกิจนี้จะทำเงินยังไง สัดส่วนรายได้เป็นอย่างไร กำไรขั้นต้นอยู่ที่เท่าไหร่ จะมีการบริหารเงินอย่างไร จะต้องใช้เงินทุนในการเริ่มต้นแค่ไหน ถ้าเจ๊งคุณจะต้องเสียเงินเท่าไหร่
หรือถ้าซื้อบ้านใหม่ คุณก็ควรรู้ว่าจะต้องมีค่าดูแลรักษาเท่าไหร่ เพิ่มจากเดิมเยอะหรือไม่ คำนวณจากสัดส่วนรายได้แล้วเป็นอย่างไร
สำหรับใครที่ปีนี้มีเป้าหมายเรื่องการเงิน หรืออยากที่จะปรับเปลี่ยนเรื่องของการใช้จ่าย การบริหารเงินส่วนตัวให้ดีขึ้น หวังว่า 11 ข้อนี้จะเป็นประโยชน์นะครับ
เพราะ “ถ้าเราไม่เริ่มต้นจัดการบริหารเงินส่วนบุคคลให้ดีตั้งแต่วันนี้ เราเองนั่นแหละที่จะถูกเงินบริหารจัดการแทน”
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา