การสร้างบ้านให้น่าอยู่ประกอบด้วยการออกแบบลงตัวเหมาะกับการอยู่อาศัย วางโครงสร้างแข็งแรงรองรับทุกสถานการณ์ และตกแต่งสวยงามเพลิดเพลินใจ เฉกเช่นเดียวกับการสร้างครอบครัวที่เริ่มต้นจากความรัก พัฒนาความสัมพันธ์เรื่อยมาจนตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน เปรียบเหมือนการออกแบบชีวิต จากนั้นวางแผนเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงาน เงิน เวลา ลูก เปรียบเหมือนการวางโครงสร้างที่แข็งแรงให้ชีวิตคู่ราบรื่น ต่อด้วยการใช้จ่ายหาความสุขไม่ว่าจะไปเที่ยวพักผ่อน ซื้อบ้านใหม่ ซื้อรถใหม่ เปรียบเหมือนการตกแต่งให้ชีวิตมีสีสันนั่นเอง
สภาพสังคมไทยปัจจุบันรับเอากระแสทุนนิยมเข้ามา ด้านหนึ่งชีวิตสุขสบายขึ้นแต่อีกด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยขึ้นจนตัวเลขหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง หลายครอบครัวสามีและภรรยาต้องทำงานทั้งคู่ช่วยกันหาเงินตัวเป็นเกลียวแต่สถานะการเงินของครอบครัวกลับไม่ดีขึ้นเลย ซึ่งปัญหามาจากขาดการวางแผนชีวิตที่ดีโดยเฉพาะขาดการวางแผนการเงินทำให้โครงสร้างครอบครัวไม่แข็งแรงนั่นเองแล้วชีวิตคู่จะราบรื่นได้อย่างไร หลายครอบครัวที่ประสบปัญหานี้เข้าสู่วงจรทำงานหนักแลกเงิน ไม่มีเวลาพักผ่อนดูแลสุขภาพ เครียดส่งผลให้มีลูกยาก แล้วก็ออกไปใช้เงินแก้เครียด หากยังอยู่ในวงจรนี้ต่อไปเรื่อย ๆ การมีรายได้เพิ่มจะไม่ทำให้สถานะการเงินครอบครัวดีขึ้น
วางแผนการเงินเป็นการวางโครงสร้างที่แข็งแรงให้กับครอบครัว ซึ่งไม่ได้ง่ายมากแต่ก็ไม่ได้ยากเกินความตั้งใจ หลักใหญ่ใจความอยู่ที่การตั้งเป้าหมายชัดเจน วางแผนหาเงินกับใช้เงินให้มีเงินออมเพิ่มขึ้น จัดพอร์ตทรัพย์สินให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น คราวนี้มาดูกันครับว่าวางแผนการเงินเพื่อครอบครัวมีอะไรบ้าง
1. ตั้งเป้าหมายการเงินชัดเจน
ตัวเลขที่สำคัญ คือ ทรัพย์สินสุทธิหลังหักหนี้สินต้องเป็นบวกและเพิ่มขึ้นทุกปีเพื่อสะสมความมั่งคั่งให้ชีวิตมั่นคง ส่วนมูลค่าทรัพย์สินเท่าไหร่ดีถึงจะเพียงพอขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกในครอบครัว ค่าใช้จ่ายต่อเดือนของสมาชิกแต่ละคน และระยะเวลาที่ต้องเลี้ยงดู อย่างเช่น ตั้งเป้าหมายว่าจะมีทรัพย์สินสุทธิ 15 ล้านบาทภายในอายุ 60 ปี
2. ทำงบการเงินให้เห็นสถานะการเงิน
งบที่สำคัญ คือ งบดุลและงบรายได้ค่าใช้จ่าย โดยงบดุลจะแสดงรายการทรัพย์สินทั้งหมดที่มี ลบด้วยหนี้สินทั้งหมดที่มี ส่วนที่เหลือจะเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธินั่นเอง ขอแนะนำให้ทำงบปีละครั้งช่วงสิ้นปีเพื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินสุทธิในแต่ละปีครับ ส่วนงบรายได้ค่าใช้จ่ายจะแสดงรายการรายได้ทั้งหมดที่มีลบด้วยรายจ่ายทั้งหมดที่มี ส่วนที่เหลือจะเป็นเงินออมนั่นเอง ซึ่งในทางปฏิบัติหากมีนิสัยใช้เงินเก่งเก็บเงินไม่ค่อยอยู่ ขอแนะนำให้หักเงินออมทันทีเมื่อมีรายได้เข้ามาอย่างน้อย 10% แล้วค่อยนำเงินที่เหลือไปใช้จ่าย
3. จัดการทรัพย์สินและหนี้สิน
จุดสำคัญ คือ ทรัพย์สินต้องเพิ่มมูลค่าเอาชนะเงินเฟ้อให้ได้ ซึ่งประเทศไทยมีเงินเฟ้อเฉลี่ยประมาณ 3% ต่อปี แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เพียงแค่ 0.5% ต่อปี จึงควรมองหาลู่ทางการออมและการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอย่างบัญชีเงินฝากประจำดอกเบี้ยสูง พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ประกันชีวิต กองทุนรวม หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ไว้ด้วย ส่วนหนี้สินไม่ควรเกิน 2 เท่าของทรัพย์สิน เพราะถ้าจ่ายไม่ไหวจะกลายเป็นหนี้เสีย โดยหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่จะมาจากบ้าน รถยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อเงินสด จึงไม่ควรสร้างหนี้เกินฐานะของครอบครัวดังคำที่ว่า นกน้อยทำรังแต่พอตัว
4. จัดการรายได้และรายจ่าย
จุดสำคัญ คือ รายได้ต้องมากกว่ารายจ่ายพอสมควร และรายได้ต้องมีหลายทางเพื่อเป็นหลักประกันว่าหากรายได้หลักสะดุดยังคงมีรายได้จากทางอื่นเข้ามาเสริมอยู่ โดยรายได้แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ รายได้จากเหงื่อแลกเงินกับรายได้จากทรัพย์สินสร้างเงิน รายได้แบบหลังคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญแต่จริง ๆ แล้วสำคัญนะครับ เมื่อวันที่หยุดทำงานประจำรายได้จากทรัพย์สินสร้างเงินจะยังคงมีอยู่ต่อไป ส่วนเรื่องรายจ่ายต้องแยกแยะให้ได้ว่าอะไร คือ รายจ่ายจำเป็นกับรายจ่ายฟุ่มเฟือย ซึ่งรายจ่ายฟุ่มเฟือยลดได้ก็จะดีครับ แม้ว่าทำให้มีความสุขแต่อาจทุกข์ในระยะยาว