ในช่วงใกล้สิ้นปีแบบนี้ หลายคนก็จะเริ่มมานั่งคิด นั่งทบทวนถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี เพื่อมาสะท้อนตัวเองว่าในปีนี้เราได้ทำอะไรไปบ้าง เป้าหมายที่เคยวางไว้เราทำไปได้แค่ไหน มีอะไรที่เราต้องปรับปรุงบ้าง สำหรับใครที่ทำได้ครบถ้วน บรรลุทุกเป้าหมายต้องบอกว่าขอแสดงความยินดีด้วย และสำหรับคนที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของตัวเองก็ลองสะท้อนดูว่าอะไรที่ทำให้เราไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ อะไรเป็นสิ่งที่ขัดขวางเรา และนำคำตอบที่ได้มาปรับ มาพัฒนาสำหรับการทำเป้าหมายครั้งถัดไป
ในช่วงใกล้สิ้นปีแบบนี้ หลายคนก็จะเริ่มมานั่งคิด นั่งทบทวนถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี เพื่อมาสะท้อนตัวเองว่าในปีนี้เราได้ทำอะไรไปบ้าง เป้าหมายที่เคยวางไว้เราทำไปได้แค่ไหน มีอะไรที่เราต้องปรับปรุงบ้าง สำหรับใครที่ทำได้ครบถ้วน บรรลุทุกเป้าหมายต้องบอกว่าขอแสดงความยินดีด้วย และสำหรับคนที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของตัวเองก็ลองสะท้อนดูว่าอะไรที่ทำให้เราไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ อะไรเป็นสิ่งที่ขัดขวางเรา และนำคำตอบที่ได้มาปรับ มาพัฒนาสำหรับการทำเป้าหมายครั้งถัดไป
และแน่นอนว่าหลายคนก็เริ่มคิดถึงเป้าหมายสำหรับปีถัดไปกันแล้ว ซึ่งผมเชื่อเลยว่าหนึ่งในเป้าหมายของใครหลายคนนั้นจะต้องมีเรื่องของ “เงิน” เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน
ในบทความนี้ผมเลยอยากจะมาพูดถึง 5 จิตวิทยาทางการเงิน ที่จะช่วยให้เราสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายในการออมเงินได้ดีขึ้น เพราะเรื่องของเงินเทคนิคต่าง ๆ ก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกสิ่งที่สำคัญคือเรื่องของจิตวิทยาเนี่ยละครับ
1. เงินสดช่วยให้เราใช้จ่ายน้อยลง
ในโลกที่ทุกเมืองของโลกกำลังวิ่งเข้าสู่สังคมไร้เงินสดนั้น ก็ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดีใช่ไหมครับ เราไม่ต้องเก็บธนบัตร ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินหาย ถ้าบัตรหายก็แค่โทรแจ้งแบงก์ ฟังดูก็มีแต่เรื่องดี ๆ ทั้งนั้นเลยถูกไหมครับ ซึ่งมันก็ดีจริง ๆ นั่นล่ะครับ
แต่สังคมที่เป็น Cashless กำลังสร้างนิสัยอะไรบางอย่างให้เราโดยที่ไม่รู้ตัวหากเราไม่ระมัดระวังให้ดี นั่นก็คือ เราอาจจะเริ่มมีนิสัยที่ใช้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน (ตอนที่ใช้เงินสด)
เพราะอะไร…?
ก่อนอื่นอยากจะแนะนำให้รู้จักกับอาการหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราใช้จ่ายหรือซื้อของ นั้นคือคำว่า “Pain of paying” (ความเจ็บปวดจากการจ่ายเงิน) เพราะทุกการจ่ายเงินสำหรับการซื้อของใด ๆ ก็ตามเรามีแนวโน้มที่จะประเมินผลประโยชน์ในอนาคตที่เราจะได้จากการบริโภคของที่เราซื้อมา ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้มีแนวโน้มที่จะลดลงเมื่อเราใช้บัตรเครดิต เดบิต หรือ Cashless ต่าง ๆ
ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ Journal of Experimental Psychology พบว่า รูปแบบในการจ่ายเงินมีผลต่อ Pain of paying
เพราะยิ่งผู้จ่ายเห็นกระแสเงินไหลออกชัดเจนเท่าไหร่ ผู้จ่ายก็จะรู้สึกไม่ดีกับการใช้จ่ายมากขึ้นเท่านั้น หรือ Pain of paying (ความเจ็บปวดจากการจ่ายเงิน)
ในทางตรงกันข้าม หากผู้จ่ายไม่ได้เห็นกระแสเงินสดไหลออกชัดเจน อย่างเช่นการใช้บัตรเครดิต หรือบัตร Gift Card ต่าง ๆ การใช้จ่ายจะให้ความรู้สึก Pain of paying น้อยลง หรือบางครั้งก็ให้ความรู้สึกเหมือนกับกำลัง “เล่น” หรือใช้เงินในเกมเศรษฐีมากกว่ากำลังใช้จ่าย
2. เขียนมันออกมาเลยว่าคุณต้องการอะไร
เรื่องนี้เป็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อย ที่สามารถสร้างความแตกต่างอย่างมาก
แทนที่จะคิดถึงเป้าหมายการออม ทำไมไม่ลองเขียนมันออกมาเลยซะล่ะ งานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเป้าหมายจากมหาวิทยาลัยโดมินิกัน พบว่า คนที่เขียนเป้าหมายของพวกเขาออกมา สามารถบรรลุเป้าหมายได้ 61% ในขณะที่ฝั่งของผู้ไม่ได้เขียนนั้น สามารถบรรลุเป้าหมายได้ 41%
ดังนั้นการ Visual (ทำข้อมูลให้เป็นภาพ) เพื่อที่คุณจะสามารถเห็นความคืบหน้า และมีกำลังใจที่จะทำมันต่อไป สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างพลังเชิงบวกให้กับคุณในการเดินหน้าสู่เป้าหมาย
3. จงซื้อเพื่อตัวเอง
ข้อนี้ผมเอาข้อมูลมาจากหนังสือที่ชื่อว่า The Psychology of Money เขียนโดย Morgan Housel จากบทที่ชื่อว่า Rich man in the car paradox
ลองสังเกตดูนะครับ ถ้าคุณเห็นใครสักคนหนึ่งที่ขับรถที่สวยมาก ๆ คุณจะแทบไม่คิดเลยว่า ผู้ชายคนที่กำลังขับรถคันนั้นอยู่ดูเท่จัง แต่คุณจะคิดว่าถ้าฉันมีรถคันนั้นคงเจ๋งน่าดู
หนึ่งในความขัดแย้งที่มากที่สุดเกี่ยวกับความมั่งคั่งก็คือ ผู้คนมักต้องการส่งสัญญาณให้คนอื่นรู้ว่าพวกเขาควรจะชอบ และชื่นชมในความมั่งคั่งของพวกเขา แต่จริง ๆ แล้วคนอื่น ๆ มักจะไม่ได้ชื่นชมคุณหรอก และมันไม่ได้เป็นเพราะว่าคนเหล่านั้นคิดว่าความมั่งคั่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าชื่นชม
แต่มันเป็นเพราะพวกเขาใช้ความมั่งคั่งของคนที่ขับรถหรูเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการทำให้พวกเขาได้รับความชื่นชมและชื่นชอบ (นี่คือสาเหตุที่ทำให้แวบแรกที่คุณเห็นคนขับรถสวย ๆ แล้วคุณก็อาจจะนึกขึ้นในใจว่า ถ้าฉันได้ขับคันนี้มันคงเจ๋งน่าดู โดยที่ไม่ได้โฟกัสไปที่คนขับแต่อย่างใด)
ไม่ได้หมายความว่าคุณห้ามซื้อรถหรู แต่แค่อยากชวนให้คิดว่าของที่คุณซื้อ คุณกำลังซื้อเพราะตัวคุณเอง หรือเพราะคนอื่น (ที่อาจจะไม่รู้จักด้วยซ้ำ)
4. จำกัดการโฟกัสของคุณให้แคบลงสิ
ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายในด้านใดของชีวิต คุณสามารถมีตัวเลือกเยอะเกินไปได้เสมอ ในการศึกษาชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัย
Toronto คนที่มีวัตถุประสงค์ในการออมเพียงหนึ่งเดียว จะสามารถออมได้มากกว่าคนที่มีหลายเป้าหมาย และการมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนจะสามารถช่วยให้คุณโฟกัสได้มากขึ้น และเน้นการกระทำที่มากขึ้น
เรื่องนี้เป็นเรื่องของ Paradox of choice (ยิ่งมีตัวเลือกมากเท่าไร ยิ่งตัดสินใจและโฟกัสยาก)
การมีหลายเป้าหมายทางการเงินไม่ใช่เรื่องผิด หรือเรื่องที่แย่ แต่ความสำคัญคือ คุณต้องขมวดเป้าหมายทั้งหมดให้เกี่ยวข้องกัน และโฟกัสกับมัน
5. ตอบให้ได้ว่าคุณออมไปทำไม
หากคุณต้องการออมเงินมากขึ้น การหาวิถีทาง และเทคนิคต่าง ๆ ในการออมเพื่อให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายได้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดีใช่ไหมครับ
ทำให้หลายคนมักมุ่งเน้นไปที่การหาวิธี หรือ How to ต่าง ๆ ในการออม
แต่งานวิจัยจาก
the Journal of Consumer Research กลับพบว่า คนที่ให้ความสำคัญ และความสนใจไปที่เหตุผลของการออม (Why) มักจะสามารถออมเงินได้มากกว่าคนที่มุ่งเน้นไปที่เรื่องของเทคนิค เพราะหลายครั้งเรื่องของการเงินนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลข หรือเรื่องทางเทคนิค เอาจริง ๆ เราทุกคนรู้ล่ะครับว่าต้องออม ว่าต้องลงทุน ต้องวางแผน ทุกคนรู้แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ สาเหตุก็เกิดมาจากเรื่องของ “พฤติกรรม” หรือ “วิธีคิด” ในการใช้เงินของแต่ละคน ซึ่งไม่มีผิดหรือถูก แต่ถ้าหากคุณต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเงิน (หรือเป้าหมายอื่น ๆ ในชีวิต) การตอบให้ได้ว่าคุณกำลังทำสิ่งนี้ไปทำไม เป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อย…