วางแผนการเงินตาม 4 ช่วงอายุวัยฉบับใช้ได้ตลอดชีพ
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

วางแผนการเงินตาม 4 ช่วงอายุวัยฉบับใช้ได้ตลอดชีพ

icon-access-time Posted On 05 ตุลาคม 2565
by Krungsri The COACH
โดยปกติแล้วการวางแผนการเงิน เราทุกคนมักจะพบว่าคนในแต่ละช่วงวัยนั้นก็มักที่จะมีเรื่องที่ต้องโฟกัสต่างกันออกไป หรือการให้ความสำคัญที่แตกต่างกัน เนื่องด้วยคนในแต่ละวัยนั้นเจอสถานการณ์ที่เข้ามาในแต่ละช่วงชีวิตที่ต่างกัน ดังนั้น เรื่องการเริ่มวางแผนการเงินแต่ละช่วงวัย การเตรียมความพร้อมในเรื่องเงินนั้นแน่นอนว่าย่อมมีความต่างกันออกไป

เพื่อที่จะให้คนแต่ละช่วงวัยเตรียมตัวรับมือและมีการวางแผนทางการเงินได้ดีและถูกต้องนั้น อยากขอแนะนำเคล็ดลับวางแผนการเงินตาม 4 ช่วงอายุวัยที่สามารถใช้ได้ตลอดชีพ

เริ่มกันที่ ช่วงอายุ 20-30 ปี

อันดับแรกเลยที่อยากจะบอกกับคนวัยนี้ คือการให้ความสำคัญกับ “การรู้จัก รู้ใจตัวเอง” และควรที่จะเริ่ม “สร้างวินัยการเงินให้ดี”
 
วางแผนการเงินสำหรับคนอายุ 20 ถึง 30 ปี

สิ่งที่มักจะพบบ่อยช่วงอายุที่ยังน้อยอยู่นั้นก็คือ เพิ่งที่จะเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน เริ่มที่จะหาเงินเองได้ อยากทำงานและได้เงินเยอะ ๆ เมื่อทำงานหาเงินได้เองและจะต้องพึ่งพาตนเองแล้วก็จะเริ่ม “หมดเงินไปกับการสังสรรค์ หรือค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน” ไม่ว่าจะเป็น การกิน เที่ยว ช้อปปิ้ง และอื่น ๆ การใช้ชีวิต และใช้จ่ายตาม lifestyle ที่ตนเองชื่นชอบนั้นมันไม่ผิดเลยแม้แต่น้อย ถ้าหากงานที่ทำอยู่นั้น ให้ค่าตอบแทนที่ครอบคลุมรายจ่ายของคุณได้ แต่ถ้าหากค่าตอบแทนหรือเงินเดือนที่คุณได้อยู่นั้นมันไม่สามารถครอบคลุมหรือตอบสนอง lifestyle ของคุณได้นั้น ก็จะเริ่มแบกรับภาระที่หนักอึ้งเอาไว้นั่นก็คือความทุกข์และหนี้บริโภค เช่น หนี้จากบัตรเครดิต

คนวัยนี้มักจะใจร้อนซื้อสิ่งของใหญ่ ๆ เช่น ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน และเมื่อมีหลายตัวเลือกก็จะเลือกไม่ถูกว่าจะผ่อนอะไรก่อนดี? ก็จะนำพาไปสู่การตัดสินใจเลือกไม่ได้ และคิดว่าตัวเองผ่อนไหวอยู่ก็ผ่อนมันทั้งหมดเลย และพอผ่อนไปสักระยะเวลาหนึ่งก็จะไม่ไหวเอาเพราะว่า จะต้องผ่อนเป็นสองเท่า และเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่ต้องใช้เงินก็จะผ่อนไม่ไหว หรืออาจจะเป็นบางคนที่เลือกผ่อนแต่บ้านแต่อย่าลืมนะว่าระยะเวลาในการผ่อนนั้นมันจะยาวนานกินเวลาไปเป็น 10-30 ปีเลย

อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้นสำหรับคนวัยนี้ก็คือ “การรู้จัก รู้ใจตัวเอง” และควรที่จะเริ่ม “สร้างวินัยการเงินให้ดี” จะต้องมองให้ขาดและจัดลำดับความสำคัญให้ได้ว่าแท้จริงแล้วชีวิตของเรานั้นต้องการอะไรกันแน่? แท้จริงแล้วอยากที่จะใช้ชีวิตแบบไหน lifestyle แบบไหน โดยที่ยังสามารถมีความสุขได้และไม่ต้องไปคอยตามใคร เพื่อที่จะได้เป็นที่ยอมรับในสังคม สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ การมีพื้นฐานการเงินที่ดี คือ “รู้จักหา รู้จักใช้จ่าย ไม่ให้เกินตัว” รู้จักเก็บออมกันนะ

ถ้าหากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากที่จะเข้าไปดูแบบจัดเต็มเรื่องการวางแผนการเงินของแต่ละวัยละก็… ขอแนะนำ “Krungsri The COACH Ep.33 วางแผนการเงินตาม 4 ช่วงอายุวัยฉบับใช้ได้ตลอดชีพ”

ช่วงอายุ 30-40 ปี

จากช่วงอายุก่อนหน้านี้ก็จะมีแค่ค่าใช้จ่ายเฉพาะส่วนตัวเท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่วัยนี้จะค้นพบว่า ภาระหน้าที่ทางการเงินก็จะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเริ่มเข้าวัยของการอยากมีครอบครัว ดังนั้นภาระหน้าที่ก็จะเพิ่มตามมาจากการที่ต้องดูแลอีกชีวิตนั่นเอง
 
วางแผนการเงินสำหรับคนอายุ 30-40 ปี

ช่วงวัยนี้จะเริ่มมีความคิดอยากจะแต่งงาน แล้วการแต่งงานก็ไม่ใช่แค่เดินเข้าโบสถ์ สวมแหวนแล้วจบเพียงเท่านั้น ซึ่งการแต่งงานจะมาพร้อม ค่าสินสอด ค่าจัดงาน และอื่น ๆ หรือบางคู่อาจจะมีบุตรแล้ว และเมื่อมีบุตรก็จะตามมาด้วยค่าคลอด ค่าเลี้ยงดูลูก และเริ่มที่จะวางแผนการศึกษาให้กับลูก เพื่อที่จะได้เรียนโรงเรียนดี ๆ อาทิ เรียนโรงเรียนนานาชาติ หรือส่งไปเรียนต่างประเทศได้รึเปล่า? และไม่ได้มีเพียงแค่ค่าเทอมเท่านั้นนะ ยังมีค่าสันทนาการ ค่าเรียนพิเศษ จิปาถะ อีกมากมาย

ดังนั้น คีย์สำคัญที่คนวัยนี้ควรจะให้ความสำคัญมากที่สุดในเรื่องการเงินคือการรู้จัก “วางแผนการเงิน” ความหมายของการวางแผนการเงินไม่ใช่แค่ ออมเงิน ลงทุน เท่านั้น แต่คือการที่ต้องมีแผนการจัดสรรเงิน เมื่อมีรายได้เข้ามา จะต้องวางแผนจัดการเงินให้เป็นสัดเป็นส่วน เพื่อที่จะคุมรายจ่ายค่ากินอยู่ในชีวิตประจำวันให้เหมาะสม และควรที่จะต้องเหลือเงินเก็บเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้เอาไว้ใช้เป็นเงินฉุกเฉินและเก็บไว้เผื่อใช้จ่ายในอนาคต

เพราะฉะนั้นจะต้องคำนวณค่าใช้จ่ายให้ดี ๆ ไม่ฉะนั้นก็จะมีคำว่า “รู้งี้” ทำแบบนี้ดีกว่า “รู้งี้” ออมเงินไว้ตั้งแต่แรกดีกว่า เตรียมตัวให้พร้อมไว้นะชาววัย 30-40 ปี

ช่วงอายุ 40-50 ปี

คนวัยนี้ส่วนมากจะเริ่มมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น ถ้าหากชีวิตในช่วงวัยที่กล่าวมาในข้างต้นวางแผนชีวิตมาดี ก็น่าจะเป็นผลดีอยู่แล้วในปัจจุบันและควรทำต่อไป
 
วางแผนการเงินสำหรับคนอายุ 40-50 ปี

คนในวัยนี้เนื่องจากประสบการณ์ทำงานสูงขึ้น หน้าที่การงานมีความมั่นคงมากขึ้น มีรายได้สูงขึ้น สวนทางกับภาระทางการเงินที่ค่อย ๆ ลดลง ลูก ๆ อาจจะเริ่มเรียนใกล้จบแล้ว บ้านที่ผ่อนมาก็ใกล้จะหมดแล้ว ทำให้เป็นวัยที่ควรมีเงินเก็บมากกว่าวัยอื่น ๆ การจัดการเงินควรที่จะเริ่มเน้นไปที่ “การวางแผนลงทุน” ลงทุนให้เงินงอกเงยอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เงินทำงานแทนเรา เพื่อเตรียมไว้ใช้ช่วงหลังเกษียณ หรือเป็นเงินทุนให้ลูกในอนาคต

แต่โดยทั่ว ๆ ไปคนในช่วงวัยนี้จะเริ่มมีปัญหาสุขภาพตามมาเพราะฉะนั้นต้องคำนึงถึงสวัสดิการที่ครอบคลุมพอไหม มีประกันสุขภาพทำไว้แล้วรึยัง? “ประกันสุขภาพซื้อด้วยสุขภาพ ถ้าวันนี้สุขภาพไม่ดีแล้วอยากจะซื้อ ซื้อไม่ทันแล้วนะ” แต่ถ้าหากไม่วางแผนการเงินไว้ให้ดี ๆ ในอนาคตอาจจะต้องควักเงินเก็บออกมาเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล เพราะฉะนั้นจะต้องวางแผนตั้งแต่เนิ่น ๆ

ช่วงอายุ 50 ขึ้นไป

วัยนี้ควรที่จะเป็นวัยที่มีความมั่นคงมากที่สุด เป็นวัยที่กำลังถึงวัยเกษียณ เพราะฉะนั้นจะต้องคำนึงถึงเงินเก็บว่ามีพอหลังเกษียณแล้วหรือยังนะ?
 
วางแผนการเงินสำหรับคนอายุ 50 ปีขึ้นไป

คนวัยนี้ต้องวางแผนและบริการเงินหลังเกษียณให้ดี ๆ เพื่อที่จะเอาไว้ใช้ให้เพียงพอให้นานที่สุด เช่น หลังเกษียณอยากมีเงินใช้ต่อเดือน 20,000 บาท จะต้องเริ่มเก็บตั้งแต่อายุเท่าไหร่? และควรเก็บต่อเดือนเท่าไหร่? ถึงจะมีเงินพอหลังเกษียณตามที่ตั้งไว้

ในขณะเดียวกัน ก็ควรที่จะต้องดูแลรักษาสุขภาพกายและสุขภาพใจให้ดี เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยเกษียณ โอกาสเจ็บป่วยก็จะยิ่งสูงกว่าวัยอื่น ๆ อีกทั้งเมื่อเกษียณไปแล้วก็จะมีเวลาว่างมากขึ้น ก็อาจจะทำให้ตัวเองรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีคุณค่า ยิ่งถ้าใครเป็นโสดละก็ ก็อาจจะรู้สึก เหงา ว้าเหว่ และนอกจากจะต้องบริหารเงินแล้ว ก็ต้องบริหารสุขภาพกายและใจให้ดีด้วย ใช้เวลาว่างที่มีขยับร่างกายหรือหาอะไรทำที่เบา ๆ ทำ หรืออาจจะออกเดินทางบ้างเพื่อให้ชีวิตไม่เงียบเหงาจนเกินไป

การวางแผนการเงินเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หลายคนอาจจะพลาดไม่ได้วางแผนการเงินไว้ มันก็ไม่เหมือนสุขภาพของคนเรานี่แหละที่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวว่าจะต้องดูแลยังไง แต่ถ้าเรื่องของสุขภาพการเงินก็จะมีผู้เชี่ยวชาญทางการเงินจากกรุงศรีฯ ที่จะคอยให้คำแนะนำในเรื่องเฉพาะของคุณเลย
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา