ช่วงที่ผ่านมาเชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะตระหนักและเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการวางแผนการเงินมากขึ้นกันอย่างแน่นอน บางช่วงบางตอนของชีวิตเราก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไร สำหรับใครที่ไม่เคยใส่ใจเรื่องเงิน ไม่เคยวางแผน ไม่เคยเก็บออมเงินเลย น่าจะได้รับผลกระทบกันไปเต็ม ๆ จากปกติรายได้ที่เคยมี อยู่ ๆ รายได้ก็ลดลง หรือบางคนยิ่งหนักกว่านั้น คือรายได้หายไปทั้งก้อนเลย ซึ่งก็จะทำให้ปรับตัวกันได้อย่างยากลำบาก แต่ถ้าใครมีเงินเก็บ มีเงินออม หรือมีการวางแผนการเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นไว้แล้ว ก็น่าจะปรับตัวกันได้สามารถเอาตัวรอดกันมาได้แน่นอน การเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันถือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดสำหรับการวางแผนการเงิน
แง่มุมการวางแผนการเงิน สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ก็คงจะเป็นเรื่อง “การจัดการความเสี่ยง” ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยความเสี่ยงนี้ไม่ใช่เรื่องความเสี่ยงจากการลงทุนแต่เป็นเรื่องของ “ความเสี่ยงภัย” หรือความเสี่ยงที่แท้จริง (Pure Risk) ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากรายได้ที่หยุดชะงัก ความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย อุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สินต่าง ๆ วันนี้เราจะมาเจาะลึกเฉพาะส่วนเรื่องการจัดการความเสี่ยงกัน
ว่าด้วยหลักการวางแผนการเงินแบบสากลแล้ว เราจะเริ่มต้นจัดการเรื่องการเงินตามสามเหลี่ยมรูปนี้ โดยเริ่มจากส่วนด้านล่างของสามเหลี่ยมไล่ขึ้นมาจนถึงด้านบน เราจะเห็นได้ว่าสิ่งแรกที่เราต้องจัดการก็คือส่วนของ “การจัดการความเสี่ยง (Risk Management)” โดยทั่วไปการจัดการความเสี่ยงจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่
1. เงินสำรองฉุกเฉิน (Emergency Cash)
ตามหลักการวางแผนทางการเงิน สิ่งที่ต้องลงมือจัดการเป็นอันดับแรก คือ เรื่องของ “เงินสำรองฉุกเฉิน (Emergency Cash)” ถ้าลองให้ทุกคนจินตนาการว่าเงินสำรองฉุกเฉินมีหน้าที่เอาไว้ทำอะไร ซึ่งส่วนใหญ่จะตอบว่าเอาไว้เผื่อกรณีเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดรายจ่ายที่เราไม่ได้คาดคิด
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เงินก้อนนี้มีไว้เผื่อตอนที่ “รายได้หยุดชะงัก” เท่านั้น แนะนำว่าเราควรมีเงินเตรียมไว้อย่างน้อย 6-12 เดือนของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เผื่อในกรณีที่ทำให้รายได้เราหยุดชะงักไป เราจะได้มีเงินสำหรับการใช้จ่ายเพื่อปรับตัวได้โดยไม่เดือดร้อน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าการประกาศ Lock Down เมืองไม่ถึง 1 เดือน หลายคนก็เริ่มไปไม่รอดกันแล้ว แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่ามีการจัดเตรียมเงินก้อนนี้ไว้ไม่เพียงพอ
“รายได้หยุดชะงัก” เป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนคาดไม่ถึงและไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น แต่เหตุการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 น่าจะทำให้เห็นภาพมากขึ้นว่าการหยุดชะงักของรายได้สำหรับช่วงนี้แนะนำว่าอาจจะต้องเตรียมเก็บเงินสำรองไว้อย่างน้อย 12 เดือนจะดีที่สุด เพราะยังไม่มีใครรู้ว่าโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะสามารถคิดค้นวัคซีนได้ ทำให้เราอาจจะต้องอยู่กับสถานการณ์แบบนี้ไปอีกสักพักใหญ่
ส่วนแหล่งเก็บเงินที่เหมาะสมสำหรับเงินสำรองฉุกเฉินควรเป็นแหล่งเก็บเงินที่เน้น “สภาพคล่องสูง” เป็นหลัก เพราะเราไม่รู้ว่าเรื่องฉุกเฉินในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไหร่ ดังนั้น หากเกิดเรื่องฉุกเฉินขึ้นมา เราต้องถอนเงินออกมาได้ทันทีทันใดหรืออย่างช้าต้องไม่เกิน 1 วัน โดยทั่วไปก็จะเป็น เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ หรือถ้าใครที่อยากได้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมาหน่อยก็อาจจะลองมองที่บัญชี “เงินฝากประจำ”
ส่หรือถ้าตอนนี้ยังไม่มีเงินก้อน อยากเก็บออมเงินเรื่อย ๆ ก็สามารถใช้ “เงินฝากประจำ” ได้ เป็นแผนการออมเงินที่ให้เราออมเดือนละเท่า ๆ กัน ก็มีให้เลือกแผนการออมได้ เช่น คือ 24 และ 36 เดือน เป็นแผนการออมเงินก็ช่วยสร้างวินัยการออมให้กับเราได้ อย่างของธนาคารกรุงศรีก็มีบัญชี “เงินฝากประจำปลอดภาษี” เป็นแผนการออมเงินก็ช่วยสร้างวินัยการออมให้กับเราได้ สำหรับใครที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปได้
ที่นี่
แนะนำว่าถ้าต้องการเก็บเงินฉุกเฉินควรเปิดบัญชีแยกไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เรานำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เวลาที่เรามีเงินใกล้มือเยอะ ๆ แนวโน้มการใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว เดี๋ยวนี้การเปิดบัญชีก็สามารถทำออนไลน์ผ่าน Internet Banking หรือผ่าน Krungsri Mobile App (KMA) ได้หมดแล้ว
เปิดบัญชีออนไลน์ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปที่สาขา ไม่ต้องพกสมุด สมัครง่าย สามารถยืนยันตัวตน (NDID) ผ่านทางช่องทาง Online ได้เลย ถึงจะมีหลายบัญชีก็สามารถเปิดแอปพลิเคชันดูได้พร้อมกัน โอนเงินไปมาก็แค่คลิกเดียวจบ สะดวกสบายกว่าเมื่อก่อนมากเลยทีเดียว
ทำบันทึก “รายรับ” และ “รายจ่าย”
สำหรับคนที่ ณ เวลานี้ สิ่งแรกที่ควรทำเลยก็คือ ให้หันหน้าเผชิญกับความจริงก่อนว่า สถานการณ์ปัจจุบันตอนนี้เราอยู่ตรงไหน ซึ่งการหันมาเผชิญหน้ากับความจริงก็คือ การหยิบกระดาษขึ้นมาสักใบหนึ่ง แล้วเขียน “รายรับ” และ “รายจ่าย” ในอนาคตของเราว่าจะเป็นแบบไหน ซึ่งในสภาวะแบบนี้รายรับมักจะเป็นศูนย์หรือใกล้เคียงศูนย์มาก ๆ เนื่องจากมีเหตุที่ทำให้รายได้เราต้องหยุดชะงักไป ดังนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสนใจมากก็คือ “รายจ่าย” ว่าถ้านับจากนี้ไปอีก 3-6 เดือนข้างหน้าจะมีรายจ่ายอะไรเกิดขึ้นบ้าง เดือนละเท่าไหร่ แล้วเงินที่เรามีอยู่ตอนนี้อยู่ได้อีกกี่เดือน
ถ้าหากเงินเก็บที่มียังพอพาตัวเองรอดไปได้อีก 3-6 เดือนเป็นอย่างน้อยก็ถือว่ารอดตัวไป แต่ถ้าคำนวณแล้วยังไงก็ไม่พอ เราจะต้องกลับมาโฟกัสที่ “รายจ่าย” ของเราดูว่ามีรายจ่ายตรงไหนยังไงที่สามารถปรับลดได้บ้าง เพื่อให้รายจ่ายในแต่ละเดือนเหลือน้อยที่สุด ในขั้นตอนนี้เราจะต้องแจกแจงรายจ่ายออกมาอย่างละเอียดที่สุดว่าในแต่ละเดือนเรามีรายจ่ายอะไรบ้าง ซึ่งสำหรับคนที่ไม่เคยจดบันทึกเลย น่าจะแจกแจงออกมาได้ยากมาก
ดังนั้น ในกรณีนี้แนะนำว่าให้เริ่มจดบันทึกรายรับรายจ่าย ตั้งแต่วันนี้เดี๋ยวนี้เลย เพราะจะช่วยทำให้เราเห็นภาพความเป็นจริงมากขึ้น เราจะสามารถแยกได้ว่าอะไรเป็นรายจ่ายคงที่ อะไรที่เป็นรายจ่ายผันแปร ซึ่งเส้นแบ่งระหว่างรายจ่ายทั้ง 2 ประเภทนี้ก็คือ “ความจำเป็น”
รายจ่ายคงที่เป็นรายจ่ายที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่มีไม่ได้ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ค่าอาหารมื้อหลัก ๆ เป็นต้น
ส่วนรายจ่ายผันแปร คือ รายจ่ายส่วนเพิ่มในชีวิตประจำวัน จุดสังเกตง่าย ๆ ก็คือ ถึงแม้จะตัดรายจ่ายประเภทนี้ออกไปก็ยังสามารถดำเนินชีวิตไปตามปกติ ซึ่งการแยกประเภทของรายจ่ายเป็นเรื่องส่วนบุคคล รายจ่ายคงที่สำหรับบางคนอาจจะเป็นรายได้ผันแปรของอีกคน และรายจ่ายผันแปรสำหรับบางคนอาจจะเป็นรายจ่ายคงที่ของใครอีกคน แต่แนะนำว่าตรงนี้ให้มองอย่างใจเป็นกลาง เพื่อดูความจำเป็นของรายจ่ายแต่ละประเภทจริง ๆ
พอเราแยกประเภทรายจ่ายได้แล้วให้เริ่มที่การ “ปรับลดรายจ่ายผันแปร” ลงก่อนเพื่อให้เราเหลือเงินออมมากขึ้น รวมถึงช่วยให้ตัวเราปรับตัวได้ และเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะอาจจะตัดรายจ่ายผันแปรบางรายการทิ้งได้เลย
จากนั้นเราจะกลับมาโฟกัสที่ “แหล่งรายได้” กันต่อ แน่นอนว่าช่วงที่รายได้ของบางคนหยุดชะงักไป ต้องกลับมามองที่ความสามารถของตัวเองว่าสามารถสร้างมูลค่าอะไรได้เพิ่มได้บ้าง ก็จะช่วยทำให้เรามีรายรับเพิ่มเติมได้ในภาวะวิกฤตแบบนี้
2. การโอนย้ายความเสี่ยง (Risk Transfer)
หลังจากที่เราบริหารจัดการเรื่องเงินสำรองฉุกเฉินกันไปแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องจัดการให้ได้ คือ เรื่องการโอนย้ายความเสี่ยงหรือเรียกง่าย ๆ คือ การทำประกัน หลักการง่าย ๆ ในส่วนนี้ คือ เราควรมีประกันต่าง ๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการในเวลาที่เกิดเหตุขึ้นมาจริง ๆ แต่ถ้าถามว่าเราควรทำประกันเท่าไหร่ อย่างไร เป็นเรื่องที่สามารถตอบได้ยากมาก เพราะคนเรามีความต้องการที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น วงเงินคุ้มครองก็ย่อมไม่เท่ากันเช่นกัน
วิธีที่ง่ายที่สุด คือ การดูว่าโรงพยาบาลที่เราสะดวกเข้ามากที่สุดเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินเราไปเข้าที่ไหน เราสามารถเข้าไปสอบถามฝ่ายการเงินถึงค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ ของโรงพยาบาลนั้นได้เลยก็จะทำให้เราเห็นค่าใช้จ่ายในแต่ละครั้งว่าอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ จากนั้นให้กลับมาดูว่า ณ ปัจจุบัน เรามีสวัสดิการคุ้มครองเท่าไหร่แล้วบ้าง ส่วนที่ทำเองหรือสวัสดิการจากบริษัท เมื่อเทียบกับความต้องการ เราจะค้นพบส่วนต่างตรงนั้นเพื่อจัดการทำประกันให้ครอบคลุมถึงส่วนต่างตรงนั้นได้นั่นเอง
เรื่องของความเสี่ยงเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถบอกว่าได้จะเกิดผลกระทบกับตัวเราเมื่อไหร่และเกิดความเสียหายเท่าไหร่ ทำให้การจัดการความเสี่ยงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากในจุดเริ่มต้นของการวางแผนการเงิน พอมาถึงตรงนี้หลาย ๆ คนอาจจะเกิดคำถามว่าแล้วถ้าเราไม่เริ่มต้นที่การจัดการความเสี่ยงจะเกิดผลเสียอย่างไร
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นอยากให้ลองจินตนาการดูว่า สมมติเราไม่ได้จัดการความเสี่ยงไว้ แต่เราข้ามขั้นไปวางแผนการลงทุนอย่างการเกษียณไปเลย ทำให้เราตัดสินใจลงทุนใน SSF และ RMF เพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย
แต่อยู่มาวันหนึ่ง เราเกิดได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ประกันสุขภาพหรือประกันไวรัสโคโรนา ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และคนนิยมซื้อกันมากตอนนี้ ถ้าต้องมีการรักษาตัวหรือนอนโรงพยาบาล ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาก็คือ “ค่ารักษาพยาบาล” ถ้าเงินเก็บที่เรามีสามารถจ่ายได้อย่างเพียงพอก็ถือว่าโชคดีไป แต่ถ้าเกิดไม่พอขึ้นมาต้องมีการวางแผนการทำประกันเพื่อไม่ให้กระทบกับเงินสำรองที่เตรียมไว้
สำหรับโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ ณ เวลานี้ก็เป็นเพียงอีกหนึ่งตัวอย่างของเหตุไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นเท่านั้น เราไม่มีทางรู้ว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ จะมาอีกในรูปแบบไหน และความรุนแรงที่กระทบกับตัวเรามากน้อยขนาดไหน แต่สิ่งที่เราทำได้ก็คือ เตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด การจัดการความเสี่ยง (Risk Management) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการวางแผนการเงิน เรื่องการลงทุนทำให้เงินงอกเงยเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็น แต่เราต้องรู้จักการบริหารจัดการความเสี่ยงให้ดีก่อนเสมอ