วิกฤตเศรษฐกิจมิอาจคาดเดาได้แล้วอย่างไรถึงจะรอด
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

วิกฤตเศรษฐกิจมิอาจคาดเดาได้แล้วอย่างไรถึงจะรอด

icon-access-time Posted On 28 พฤษภาคม 2561
By Maibat
ชีวิตมนุษย์ไม่ว่ายากดีมีจนหนีไม่พ้นความตาย เฉกเช่นเดียวกับมหันตภัยทางเศรษฐกิจที่ต้องเจออย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะวัฏจักรเศรษฐกิจเหมือนคลื่นน้ำมีขึ้นย่อมมีลง บางช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรืองถึงขีดสุด และบางช่วงเศรษฐกิจตกต่ำจนน่าใจหาย
ชีวิตมนุษย์ไม่ว่ายากดีมีจนหนีไม่พ้นความตาย เฉกเช่นเดียวกับมหันตภัยทางเศรษฐกิจที่ต้องเจออย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะวัฏจักรเศรษฐกิจเหมือนคลื่นน้ำมีขึ้นย่อมมีลง บางช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรืองถึงขีดสุด และบางช่วงเศรษฐกิจตกต่ำจนน่าใจหาย
โดยปกติเศรษฐกิจวนครบรอบผ่านช่วงตั้งไข่ รุ่งเรือง ถดถอย ย่ำแย่ กินระยะเวลาประมาณ 1-2 ทศวรรษ แต่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แม้กระทั่งนักเศรษฐศาสตร์ผู้มีความรู้ความชำนาญด้านเศรษฐกิจมากที่สุด ก็ไม่อาจหยุดยั้งวิกฤตเศรษฐกิจได้ ทุกประเทศในโลกไม่ว่าพัฒนาแล้วแค่ไหน ไม่ว่าอยู่ในทวีปใด ล้วนต้องเคยเจอมาแล้วทั้งสิ้น ดังนั้น เราจึงควรเตรียมความพร้อมอยู่เสมอเพื่อให้ผ่านวิกฤตนั้นไปได้
วิกฤตเศรษฐกิจมิอาจคาดเดาได้แล้วอย่างไรถึงจะรอด
ช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่จนต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อยู่หลายเหตุการณ์ มีทั้งเกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยตรง และได้รับผลกระทบทางอ้อม ดังนั้น ความเสียหายจึงไม่เท่ากันแต่ต้องเล่าเพื่อจะได้เรียนรู้ให้ใช้ชีวิตอย่างรอบคอบ
เหตุการณ์แรกเกิดในปีพ.ศ. 2540 ซึ่งถูกเรียกกันว่า “วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย” หรือที่คนไทยเรียกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เกิดจากภาครัฐเปิดเสรีด้านการเงินให้ต่างประเทศเข้ามามากเกินไป ทั้งการลงทุนที่แท้จริงและการเก็งกำไรเพื่อความฝันที่จะเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 ของเอเชีย โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงจนเกิดปัญหาฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์และปัญหาการอนุมัติสินเชื่อหละหลวมในภาคสถาบันการเงิน ประกอบกับปัญหาการต่อสู้ค่าเงินจนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศแทบไม่เหลือ
วิกฤตเศรษฐกิจมิอาจคาดเดาได้แล้วอย่างไรถึงจะรอด
ตอนหลังต้องยอมแพ้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้หนี้สินกู้ยืมมาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ธุรกิจปิดกิจการคนตกงานเป็นจำนวนมาก นักธุรกิจที่ร่ำรวยเป็นพันล้านกลับกลายเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว บางคนคิดสั้นฆ่าตัวตาย บางคนยอมรับและสู้ไม่ถอย ทำทุกอย่างเพื่อให้รอดมาได้
ปี พ.ศ. 2550 “วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์”ที่ประเทศสหรัฐอเมริกากระเทือนไปทั่วโลก หรือที่คนไทยเรียกว่า “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” เกิดจากสถาบันการเงินขาดการรัดกุมในการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์กลุ่มลูกค้าด้อยคุณภาพ (Subprime) และพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อให้ซื้อขายสินเชื่อประเภทนี้ได้สะดวก ทำให้เติบโตอย่างรวดเร็ว จนเป็นฟองสบู่ขนาดมหึมา
วิกฤตเศรษฐกิจมิอาจคาดเดาได้แล้วอย่างไรถึงจะรอด
ต่อมาภายหลังดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาบ้านปรับตัวลดลง ลูกหนี้ผ่อนจ่ายไม่ไหวเกิดหนี้เสียขึ้นมากจนเกินควบคุม สถาบันการเงินชั้นนำของสหรัฐอเมริกาบางแห่งปิดตัว บางแห่งเพิ่มทุน บางแห่งตัดขายกิจการเพื่อความอยู่รอด ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าประเทศพัฒนาแล้วและมีนักเศรษฐศาสตร์เก่ง ๆ มากมายก็หนีไม่พ้นวิกฤต
ถัดมาปี พ.ศ. 2552 “วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป”หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “วิกฤตยูโรโซน” เกิดในสหภาพยุโรปเริ่มก่อตัวจากกลุ่มประเทศยุโรปใต้ (PIIGS) คือ กรีซ โปรตุเกส อิตาลี ไอร์แลนด์ และสเปน ดำเนินเศรษฐกิจล้มเหลว บางประเทศใช้นโยบายประชานิยม ก่อหนี้สาธารณะจำนวนมากเกินที่จะชำระได้ พลอยฉุดให้ประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มยูโรโซนแย่ไปตามกัน ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาตลาดการเงินก้าวหน้าจนสามารถใช้เงินตราสกุลเดียวกันก็หนีไม่พ้นวิกฤต
วิกฤตเศรษฐกิจมิอาจคาดเดาได้แล้วอย่างไรถึงจะรอด
ปี พ.ศ. 2559 เหตุการณ์ล่าสุด“วิกฤตในประเทศเวเนซุเอลา”เคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในภูมิภาคอเมริกาใต้ ทั้งยังติด 1 ใน 20 ประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลก แต่เจอปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำมาก ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ หนี้สาธารณะสูงจากนโยบายประชานิยม ขาดแคลนอาหารและยารักษาโรคเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation) จนมูลค่าของเงินโบลิวาร์แทบไร้ค่า โดย IMF คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อของประเทศเวเนซุเอลาจะพุ่งแตะ 13,000% เพราะการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลยังไม่ถูกจุด ซึ่งถ้าเป็นคนไทยเจอเงินเฟ้อระดับนี้จะอยู่กันอย่างไร
วิกฤตเศรษฐกิจมิอาจคาดเดาได้แล้วอย่างไรถึงจะรอด
ผมเชื่อว่าการเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะเรื่องเงินจะทำให้เราผ่านวิกฤตนั้นไปได้ เพราะเห็นตัวอย่างจากคุณพ่อของผมที่ตลอดชีวิตท่านทำงานหลายอาชีพเพื่อมีรายได้ที่มั่นคง ใช้เงินอย่างประหยัดต่ำกว่าฐานะ ไม่เคยกู้หนี้ยืมสินเลย มีเพียงการใช้บัตรเครดิตจ่ายเต็มจำนวนกับสินเชื่อเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี (OD) โดยใช้เงินฝากค้ำประกัน ไม่นิยมการเล่นหุ้นแต่นิยมการซื้ออสังหาริมทรัพย์สะสมไว้ ทำให้ตอนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งครอบครัวของผมได้รับผลกระทบน้อยมากเมื่อเทียบกับคนอื่น เพราะสภาพคล่องทางการเงินดีมีเงินสดในบัญชีเป็นจำนวนมาก โดยโชคดีที่รัฐบาลค้ำประกันเงินฝาก 100% ด้วย แม้ว่ารายได้บางส่วนจะหดหายไปบ้าง แต่ก็ชดเชยกับโอกาสในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ราคาถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริง ผมขอสรุปการเตรียมความพร้อมเป็นข้อ ๆ ดังนี้
  • รายได้ควรมีหลายทางและสม่ำเสมอ
  • ออมเงินให้ได้อย่างน้อย 30% ของรายได้
  • มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 12 เดือน
  • ก่อหนี้ที่จำเป็นเท่านั้นและไม่เกิน 2 เท่าของทรัพย์สิน
  • เก็บเงินสดและสิ่งของจำเป็นไว้บ้านบ้าง
  • กระจายทรัพย์สินไปถือเงินสกุลต่างประเทศ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ด้วย
  • เลือกโรงเรียนให้ลูกเอาที่จ่ายค่าเทอม
  • คอยติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง
วิกฤตเศรษฐกิจมิอาจคาดเดาได้แล้วอย่างไรถึงจะรอด
หากสามารถเตรียมความพร้อมได้อย่างที่แนะนำไปนั้น น่าจะสร้างความสบายใจให้แก่ชีวิต ครอบครัว และทรัพย์สินอื่น ๆ เพราะอย่างที่เขียนไปตั้งแต่ต้นครับว่าขนาดนักเศรษฐศาสตร์เก่ง ๆ ยังไม่สามารถคาดเดาอนาคตของวิกฤตเศรษฐกิจได้ แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้คือการเตรียมความพร้อมต่อความเสี่ยงของวิกฤตต่าง ๆ ในอนาคตครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา