ช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาจำนวนเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจไว้ว่าปี 2555 ที่มีเด็กน้อยเกิดใหม่ลืมตาดูโลกมากถึง 820,000 คนต่อปี แต่ในปี 2564 ที่ผ่านมามีเด็กน้อยลืมตาดูโลกเพียง 540,000 คนต่อปีเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าการที่คู่รักจะมีลูกน้อยสักคนอาจเป็นเรื่องใหญ่ เพราะไหนจะเรื่องค่าอาหาร ค่าเรียนหนังสือ รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ก็ทำให้เราต้องใช้เงินเป็นจำนวนที่มาก
ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็น Double Income No Kids (DINKs) เทรนด์ของคนคู่รักที่มุ่งหน้าทำงานและไม่ได้ตั้งใจที่จะมีลูก ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีโอกาสที่จะมีเงินออมหรือ
เงินเก็บมากกว่า จากรายรับที่มี 2 ทาง ค่าใช้จ่ายที่ถูกหารครึ่ง พวกเขาจึงมีโอกาสออมเงินได้มากกว่ากลุ่มคนที่มีลูกหรือครอบครัวที่ทำงานเพียงคนเดียว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้จ่ายของคู่รักแต่ละคู่ด้วยนะ
ดังนั้นหากใครที่กำลังสนใจ และอยากรู้จัก Double Income No Kids หรือ DINK ที่เป็นคำแสลง นิยาม คู่รักที่ทำงานทั้งคู่ มีรายได้สองทาง ฐานะดี แต่ไม่มีลูก ซึ่งรวมถึงคู่รักเพศเดียวกันหรือคู่เพื่อนที่ใช้ชีวิตร่วมกันด้วย
เอาล่ะ เริ่มแรกเราอาจจะต้องตกลงกับคู่รักของเราให้แน่ชัดว่าเราเองต้องการที่จะเป็นกลุ่มเทรนด์ Double Income No Kids หรือเปล่า?
จุดสังเกตง่าย ๆ โดยส่วนใหญ่ทุกคู่ที่เป็น DINK “จะมุ่งมั่นไปที่เรื่องการทำงาน ขยันทำแบบสุดตัว”
ดังนั้นสำหรับมุมมองนายจ้างแล้วก็มีโอกาสที่จะจ้างกลุ่มเทรนด์นี้มากขึ้นเช่นกัน เพราะพวกเขาไม่จำเป็นที่จะต้องให้เวลากับลูก นำเวลาส่วนนั้นมาทุ่มเทกับงานได้อย่างเต็มที่ จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่คู่ของเราสามารถ
สร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น
อีกทั้งกลุ่มคู่รักเหล่านี้เน้นไปทางความสุขของชีวิตคู่มากขึ้น แต่ก็มีเพียงเป้าหมายเล็ก ๆ ร่วมกัน เช่น
ท่องเที่ยวต่างประเทศบ่อย ๆ ซื้อสินค้าตามใจชอบ หรืออื่น ๆ เรียกได้ว่าใช้เงินโดยไม่คำนึงถึงอนาคตข้างหน้าสักเท่าไหร่
แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ควรมองข้าม เพราะอย่าลืมว่าเราไม่มีทายาท ในช่วงวัยเกษียณเราอาจจำเป็นที่จะต้อง
วางแผนการเงินให้ดีไปพร้อม ๆ กันด้วย
เรามาเริ่มวางแผนการเงินฉบับ Double Income No Kids (DINKs) ด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้กัน
5 ขั้นตอนวางแผนการเงินฉบับ Double Income No Kids (DINKs)
1. กระเป๋าเงินเธอ + กระเป๋าเงินฉัน = กระเป๋าเงินของเรา
หลาย ๆ คู่รักที่ยังแยกกระเป๋าเงินกันอยู่อาจจะลองเปิดอกคุยกันให้ชัวร์ ๆ เรื่องเงินของแต่ละคน โดยอาจจะเริ่มจากเรื่องของภาระหนี้สิน ต่างคนต่างมีหรือเปล่า ถ้าใครสักคนมีอยู่เราสามารถรับผิดชอบร่วมกันได้ไหม หรือเคลียร์ส่วนตัวให้เรียบร้อยเสียก่อน และลองตกลงร่วมกันว่าแต่ละคนจะมีเงินใช้ส่วนตัวเท่าไหร่ พร้อมนำเงินที่เหลือมารวมเป็นกระเป๋าเงินของเรา
2. วางแผนเป้าหมายระยะสั้นเพื่อให้ทำได้ตามเป้าหมาย
เราอาจจะลองวางแผนเป้าหมายระยะสั้นร่วมกับคู่ของเราเพื่อการแบ่งเงินสู่ความสุขผ่านเป้าหมายระยะสั้น เช่น การวางแผนท่องเที่ยวต่างประเทศในปีนี้ ไปประเทศไหน ระยะเวลาเท่าไหร่ ใช้เงินสำหรับท่องเที่ยวเท่าไหร่ โดยเราก็แบ่งเงินจากกระเป๋าเงินของเรามาใช้ในส่วนของเป้าหมายระยะสั้น ผ่านการพูดคุย และตกลงกันให้ดี ทำให้เป้าหมายนี้ไม่เป็นเพียงเป้าหมายของคนใดคนหนึ่ง
3. วางแผนเป้าหมายระยะยาว
แน่นอนว่าเทรนด์ Double Income No Kids ยามเข้าสู่วัยเกษียณเราอาจมีญาติ หรือหลานที่ดูแลก็ได้ แต่มันคงจะดีกว่าถ้าหากคู่ของเราดูแลกันเองได้ คู่ของเราจึงจำเป็นที่จะต้องคิดถึงชีวิตหลังเกษียณเอาไว้ด้วย เราจะไปอยู่อาศัยกันที่ไหน ต้องการใช้เงินเดือนละเท่าไหร่ เพื่อที่จะทำให้การเก็บเงินในอนาคตของคู่เราเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น
ตัวอย่าง คู่ของเราอายุ 25 ปี วางแผนจะเกษียณทั้งคู่ร่วมกันตอนช่วงอายุ 60 ปี คาดว่าตัวเองจะเก็บเงินใช้หลังเกษียณถึงอายุ 85 ปี และทั้งคู่ต้องการมีเงินใช้เดือนละ 50,000 บาท
โดยเราจะลองคำนวณจากสูตร ค่าใช้จ่ายต่อเดือน x 12 เดือน x ระยะเวลาหลังเกษียณ = จำนวนเงินที่ต้องใช้หลังเกษียณ (ยังไม่ได้รวมเรื่องของเงินเฟ้อ)
(50,000 x 12 x 25) = 15,000,000 บาท
หากเราสามารถคำนวณจำนวนเงินที่คู่ของเราจำเป็นต้องเก็บได้แล้ว ก็จะทำให้เราสามารถแบ่งเงินออมเฉลี่ยแต่ละเดือนออกมาได้ชัดเจนขึ้นนั่นเอง
4. กระเป๋าเงินคู่สู่การลงทุนร่วมกัน
แม้ว่า Double Income No Kids จะหาเงินได้มากเท่าไหร่ก็ตาม มันคงจะดีกว่าหากคู่ของเราให้เงินได้ทำงานผ่านการลงทุน แต่อย่าลืมว่าเมื่อเรารวมกระเป๋าเงินเป็นของกันและกันแล้ว เราก็ต้องมาระดมความคิดเรื่องการลงทุนไปพร้อม ๆ กันด้วย โดยเราอาจจะนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวม หรือหุ้น ตามความถนัดและความชอบของคู่เรา แต่อย่าลืมที่จะพิจารณาความเสี่ยงที่เราทั้งคู่รับไหวด้วยล่ะ
5. มองหาประกันที่ทำร่วมกัน
ในอนาคตเราไม่รู้ว่าคู่ของเราจะเป็นเช่นไร จะเจ็บป่วย หรือพบโรคร้ายต่าง ๆ หรือไม่ ทั้งคู่ควรเริ่มมองหา
ประกันที่สามารถคุ้มครองทั้งค่ารักษาพยาบาล และชดเชยยามขาดรายได้ รวมไปถึงยังมองในส่วนผลประโยชน์ที่มีต่อผู้รับในกรณีถ้าหากเราไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว โดยเราอาจจะเริ่มสำรวจตัวเองกันทั้งคู่ก่อนเลือกทำประกัน เช่น คู่ของเราป่วยบ่อย เราอาจจะมองหาประกันสุขภาพที่คุ้มครองทั้งค่ารักษาพยาบาลและชดเชยรายได้ต่อวันไว้ หรือถ้าหากคู่ของเราไม่ค่อยป่วย แต่ต้องการประกันที่สามารถคุ้มครองไว้ให้อุ่นใจ เราอาจจะเลือกประกันชีวิตที่สามารถระบุผู้รับผลประโยชน์ไว้ได้
อ่านมาถึงตรงนี้เราคงรู้จัก Double Income No Kids กันไปพอสมควรแล้ว ท้ายที่สุดแล้วหากเราสามารถวางแผนการเงินให้ดี แม้เราจะไม่มีทายาทก็ไม่เป็นไร เพียงแค่เรามีความรักให้กันและกันในแบบของเรา ขยันเติมความสุข มองหาอนาคต เพราะ “ความรักมิได้เป็นการก้าวนำหรือก้าวตาม แต่เป็นการก้าวไปพร้อม ๆ กัน”