หนี้ครัวเรือนไทยที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เลย…
อ้างอิงจากผลสำรวจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนไทยในสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 89.3% ต่อ GDP คิดเป็นหนี้ครัวเรือนจำนวน 14.97 ล้านล้านบาท จากตัวเลขที่ได้กล่าวไปถือได้ว่าเป็นตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 16 ปี โดยที่จะแบ่งหนี้ในระบบเป็น 79% และหนี้นอกระบบ 21% ซึ่งถ้ามองถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับที่สูงแบบนี้ อาจเป็นสาเหตุทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอการเติบโตออกไป
แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้
หนี้ครัวเรือนไทยกลับมาอยู่ในระดับ 80% ต่อ GDP นั้นอาจจะไม่ง่ายเท่าไหร่นัก เนื่องจากจะต้องทำให้เศรษฐกิจในไทยเติบโตสูง และคงอยู่ในระดับ 6% นั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุน ตัวอย่างเช่น ในเขตพื้นที่ (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งจะช่วยให้คนมีรายได้เพิ่ม จากการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น และจะกระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ได้นั่นเอง
ทีนี้เมื่อหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นแบบนี้ ต่อไปเรามาดูในส่วนของวิธีรับมือกับหนี้ครัวเรือนกัน จะมีวิธีในการรับมือยังไงบ้างไปดูกันเลย…
5 วิธีรับมือกับหนี้ครัวเรือนแบบง่าย ๆ
1. ชำระหนี้บัตรเครดิต
หนี้ครัวเรือนที่ทำให้คนไทยติดหนี้กันมากที่สุดคือ “หนี้บัตรเครดิต” ซึ่งคนเรามีความต้องการที่ไม่มีจำกัดนั้นจึงทำให้หลาย ๆ คนมักที่จะมีบัตรเครดิตหลายใบ และนั่นหมายความว่าก็มีหนี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และคนส่วนมากก็จะจ่าย
หนี้บัตรเครดิตเพียงแค่ขั้นต่ำเท่านั้น ซึ่งนั่นจึงเป็นเหตุให้ระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้นั้นยืดออกไปเป็นปี ๆ และส่งผลให้ยอดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลงได้ช้าตามไปด้วย
แนะนำ: เมื่อมีรายรับเข้ามาให้เราหักแบ่งชำระหนี้ให้ได้มากกว่า 40% ของหนี้ที่มีอยู่ เริ่มจากการปิดหนี้ก้อนแรกก่อน ตัวอย่างเช่น ตั้งเป้าหมายไว้ว่าชำระหนี้ก้อนแรก ขั้นต่ำอยู่ที่ 1,500 บาท แต่ชำระจริงให้กำหนดชำระที่ 2,000 -2,500 บาท และเมื่อปิดหนี้ก้อนแรกไปได้แล้วให้นำเงินที่ต้องชำระก้อนแรกไปรวมกับเงินที่ต้องชำระหนี้ก้อนที่สอง ทำแบบนี้จนกว่าจะปิดหนี้ครบหมดทุกใบ วิธีนี้ก็จะทำให้เราสามารถปิดหนี้ได้เร็วขึ้นกว่าเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งการปิดหนี้บัตรเครดิตก็มีหลายวิธีลองเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตัวเราเอง และไม่ลำบากจนเกินไปมาปรับใช้ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของเรา
2. จำกัดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
จากภาพสถิติอ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย จะเห็นได้ว่าสัดส่วนของครัวเรือนไม่ใช้ Internet กับครัวเรือนที่สามารถเข้าถึง Internet ได้ มีอัตรา
การก่อหนี้เพิ่มขึ้น 27% ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมากเลยทีเดียว สาเหตุที่ทำให้ครัวเรือนที่เข้าถึง Internet ก่อหนี้มากกว่าก็คือ การเข้าถึงโซเชียลมีเดีย และการเข้าถึงร้านค้าออนไลน์ ฯลฯ ได้ง่าย ทำให้ชีวิตมีความสะดวกสบาย กระตุ้นให้เกิดความอยากได้ อยากมี เหมือนกลุ่มเพื่อน ๆ และสร้างพฤติกรรมการใช้เงินแบบไม่ยั้งคิดขึ้นมานั้นเอง หรือที่เราเรียกว่าพฤติกรรม “โอนไว” ซึ่งสัดส่วนครัวเรือนที่สามารถเข้าถึงที่ใช้ Internet มีมากถึง 70-100% เราจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการซื้อของผ่านออนไลน์ต่าง ๆ ของกลุ่มคนที่สามารถเข้าถึง Internet ได้ มักที่จะเสียเงินไปกับการซื้อเสื้อผ้า และของใช้ส่วนตัวซะส่วนใหญ่
แนะนำ: ถ้าไม่อยากสร้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มก็ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน ทำได้ง่าย ๆ เลยก็คือ การจำกัดงบในการใช้จ่าย การจดบันทึกรายรับ และรายจ่ายทุกรายการ ถ้าทำแบบนี้แล้วจะทำให้เราเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นว่าเราใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไปกับอะไร และสามารถที่จะจัดการกับการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยนี้ไปได้ เพียงแค่ต้องอาศัยวินัยทางการเงิน
3. สร้างรายได้เพิ่ม
แน่นอนว่าถ้าเราเป็นคนใช้เงินเก่ง ก็ต้องหาให้เก่งด้วยเช่นเดียวกัน แต่ในสถานการณ์ที่ภาวะหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยนั้นพุ่งสูงมาก แน่นอนว่าภาครัฐจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยประชาชนในส่วนของการลดดอกเบี้ยบัตรเครดิต ลดดอกเบี้ยบ้าน ฯลฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราผู้ที่เป็นคนก่อหนี้ขึ้นมาก็ต้องหารายได้เพิ่มจากช่องทางอื่น เพื่อที่จะนำเงินส่วนนั้นมาชำระหนี้ให้หมดไวขึ้น เพราะถ้าหากไม่หารายได้เสริมเพิ่มไม่ว่าภาครัฐจะอัดฉีดเงินเข้าไปเท่าไหร่ก็มีค่าเท่าเดิม เพราะคนที่ไม่เคยวางแผนเรื่องการเงิน ได้เงินมา = ใช้จ่ายก่อนใช้หนี้ ส่วนคนที่มีแผนการเงินที่ดี ได้เงินมา = ใช้หนี้ ก่อนใช้จ่าย
แนะนำ: หารายได้เสริมจากการรับจ้าง Freelance ตัวอย่างเช่น ขายของออนไลน์, รับจ้างแปลภาษา ฯลฯ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน และใช้ต้นทุนน้อย
4. ลดค่าใช้จ่ายในบ้าน
การดูแลบ้านฟังดูแล้วอาจต้องใช้เงินจำนวนหนึ่งเลยทีเดียว แต่ถึงกระนั้นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่ไม่จำเป็นออกนั้นง่ายกว่าที่คิด เริ่มจากการวางแผนการจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสิ่งของที่ใช้ภายในบ้านว่ามีสิ่งของอะไรซื้อเราซื้อเป็นประจำ และเลือกเฉพาะสิ่งของที่เราจำเป็นต้องใช้ภายในบ้านจริง ๆ เท่านั้น เพื่อตัดค่าใช้จ่ายส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป รวมถึงพฤติกรรมหรือการเลือกซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในบ้าน ก็มีตัวอย่างแนะนำกันตามนี้เลย
แนะนำ: เทคนิคการลดค่าใช้จ่ายในบ้านแบบง่าย ๆ
- ค่าอาหาร: ลองทำอาหารกินเองง่าย ๆ ที่บ้านแทนการออกไปที่ร้านอาหารทุกครั้ง หรือปลูกผักสวนครัวแบบง่าย ๆ กินเอง เช่น กะเพรา, พริกขี้หนู
- ค่าไฟ: เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน หรือหากบ้านไหนต้องเปิดไฟด้านนอกบ้านหรือทางเดิน ให้เปลี่ยนมาใช้โคมไฟโซล่าเซลล์แทน
- ค่าใช้จ่ายจิปาถะ: ล้างรถเองแทนการไปล้างที่ร้าน, ลดค่าดื่มแอลกอฮอล์ หรือลดการสูบบุหรี่ลง
5. เริ่มออม หรือลงทุน
การออมเงิน และ
การลงทุนถือว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้เลย เนื่องจากการออมเงินไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินนั้นย่อมส่งผลดีกับตัวเราเองอย่างแน่นอน เมื่อต้องการที่จะใช้เงินด่วนในอนาคต ซึ่งถ้าเรามีเงินสำรองฉุกเฉินเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ในส่วนของการลงทุนก็แน่นอนว่าสำคัญไม่แพ้กัน เพราะว่าการลงทุนนั้นจะได้ผลตอบแทนที่สูง มีเงินปันผล ฯลฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนที่จะลงทุนเสมอ ส่วนการลงทุนนั้นก็สามารถเลือกลงทุนให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของเราเองได้ เช่นถ้าเป็นคนที่ไม่ชอบเข้าไปเช็กดูหุ้นบ่อย ๆ ก็สามารถลงทุนในกองทุนรวมได้ หรือแม้แต่ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ
แนะนำ: เราควรจะออมเงินเผื่ออนาคตประมาณ 3-6 เดือนข้างหน้า
และสำหรับใครที่กำลังมองหาบัญชีเพื่อออมเงิน หรือมนุษย์เงินเดือนที่สนใจแยกบัญชีเพื่อใช้จ่าย ออมเงินหรือลงทุน ขอแนะนำ
บัญชีเงินฝากออมทรัพย์กรุงศรีจัดให้ D สามารถเปิดบัญชีได้สูงสุดถึง 3 บัญชี ฟรีค่าธรรมเนียมธุรกรรม ค่าธรรมเนียมการสมัคร และไม่ว่าจะจ่ายบิล ถอนเงิน โอนเงินข้ามเขตหรือโอนเงินต่างธนาคารก็สะดวกกว่าเดิม พร้อมค่าธรรมเนียมบัตรรายปีเพียง 400 บาทเท่านั้น สะดวกขึ้นกว่าเดิมสามารถเปิดบัญชี และสมัครบัตรเดบิต ฟรีค่าธรรมเนียมธุรกรรมได้ที่ KMA-Krungsri Mobile App สมัครง่าย ไม่ต้องไปที่สาขา ครบจบได้ในแอปฯ เดียว
สรุป
การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องที่ท้าทาย และผลลัพธ์จะไม่เกิดตามที่คาดหวังให้หนี้ครัวเรือนลดลงเลยก็คือ ถ้าหากยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่าย อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น เริ่มที่ตัวเราก่อน ชำระหนี้บัตรเครดิต ลองลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เริ่มวางแผนการเงินให้รอบคอบ ฯลฯ ก็จะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่จะช่วยได้ จะเห็นได้ว่าตัวแปรสำคัญ คือ
การออมเงิน เพราะสะท้อนให้เห็นว่าถ้าภาคครัวเรือนมีการออมเงินที่ดี แสดงว่าพวกเขามีการวางแผนทางการเงินที่ดี มีการเตรียมความพร้อม และเล็งเห็นถึงการสร้างความมั่นคงในฐานะ เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนควรร่วมมือกัน เพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดีของครัวเรือนไทยที่จะนำพาไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคต