รวมเทคนิควิธีปลดหนี้อย่างไรให้มีเงินเก็บเหลือเงินออมทุกเดือน
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

รวมเทคนิควิธีปลดหนี้อย่างไรให้มีเงินเก็บเหลือเงินออมทุกเดือน

icon-access-time Posted On 21 ธันวาคม 2565
by Krungsri The COACH
การไม่มีหนี้ถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐ…

หลาย ๆ คนประสบปัญหาทำงานได้เงินมาเท่าไหร่ก็ต้องนำไปจ่ายชำระหนี้จนหมด จึงเป็นเหตุผลให้ไม่สามารถออมเงินได้เลย เพราะคนส่วนใหญ่มักจะมีแนวคิดที่ว่าต้องใช้หนี้ให้หมดให้เร็วที่สุดก็คือมีเงินเท่าไหร่ก็เอาไปโปะหนี้ให้หมด ยิ่งหนี้หมดเร็วยิ่งดี แต่เดี๋ยวก่อน… ถ้าวันหนึ่งเราเกิดป่วยขึ้นมาจะต้องใช้เงินแบบเร่งด่วน จะต้องกู้หนี้ยืมสินมาอีกก็จะเป็นการเพิ่มภาระเข้าไปอีก

ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงที่ได้เงินโบนัสก้อนโตมา คำถามที่มักจะโผล่ขึ้นมาในใจ คือ จะออมเงินไว้เพื่อสำรองค่าใช้จ่าย หรือจะเอาไปใช้หนี้ให้หมดจะได้ไม่มีภาระ? จะทางไหนก็ดูดีทั้งนั้น แต่ก็อย่างที่ว่าไปยังไม่ได้มีใครกำหนดว่ามีเงินเท่าไหร่ก็ควรใช้หนี้ทั้งหมดนี่นา... ทางที่ดี เราควรใช้หนี้ควบคู่ไปกับการออมเงินจะดีกว่า เพื่ออนาคต และเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันจะดีที่สุด  
วิธีแบ่งเงินใช้หนี้และมีเงินเก็บ

ก่อนอื่นมาดูวิธีแบ่งเงินใช้หนี้ และมีเงินเก็บแบบง่าย ๆ กันเลย

โดยขั้นตอนแรก เราสามารถทำได้ง่าย ๆ เริ่มจากการเขียนบัญชีรายรับรายจ่ายขึ้นมาเลย! เพราะสิ่งนี้จะทำให้ทุกคนสามารถรู้ได้อย่างแน่นอนว่าในแต่ที่ละเดือนเงินได้มานั้น ได้มีการใช้จ่ายไปในเรื่องไหนบ้าง และเมื่อถึงวันที่เงินเดือนเข้าบัญชีหรือขายของมีรายได้เข้ามา ควรแบ่งเงินเป็น 3 กอง ดังต่อไปนี้
  • เงินกู้ คือ เงินที่เอาไว้จ่ายหนี้สินที่กู้หนี้ยืมสินมา
  • เงินกิน คือ เงินที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (ไม่รวมค่าช้อปปิ้ง)
  • เงินเก็บ คือ เงินสดสำรองฉุกเฉิน (จำนวนรายจ่าย ให้อยู่ได้อย่างน้อย 1-3 เดือน)

และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ การทำบัญชี รายรับ-รายจ่าย

เทคนิคง่ายนิดเดียวเลย คือ แบ่งเงินเก็บไว้ก่อนใช้ทุกครั้ง ค่อย ๆ ออมเงินจนกระทั่งครบตามจำนวนที่ตั้งไว้ ตัวอย่างเช่น ถ้ามีรายจ่ายเดือนละ 12,000 บาท เงินฉุกเฉินต้องเตรียมไว้ คือ อย่างน้อย 12,000-30,000 บาท โดยเริ่มต้นแบ่งเงินรายได้มาเก็บทุกเดือน อาจจะเดือนละ 500–1,000 บาท จำนวนที่เก็บขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคนเลย แต่อยากจะกระซิบบอกทุกคนไว้ตรงนี้เลยว่า จำนวนเงินที่เก็บไม่ได้สำคัญเท่ากับวินัยที่จะเก็บให้ได้ทุกเดือน

เพราะถ้าหากมีวินัยในการเก็บเงิน เงินเก็บก็จะค่อย ๆ เพิ่มพูนขึ้นจนครบตามเป้าหมายในที่สุดนั่นเอง หลังจากที่แบ่งเงินเพื่อเก็บแล้ว ก็ควรแบ่งเงินอีกส่วนมาชำระหนี้ที่มีอย่างสม่ำเสมอทุกงวด จะได้มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี สุดท้ายเหลือเงินเท่าไหร่ก็ค่อยเอามาใช้ส่วนตัวกันนะ

มาดูทริคดี ๆ ลองนำเงินส่วนที่เหลือตรงนี้ มาหารจำนวนวันที่เหลือดูก่อนที่เงินเดือนเดือนใหม่จะเข้าบัญชี และลองตั้งวงเงินใช้จ่ายทั่วไปให้ตัวเองสัก 300 บาทต่อวัน เราจะมีเงินเหลือรายวันเพิ่มขึ้นมาอีก ถึงแม้จะเป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก แต่ก็ควรฝึกไว้จนเป็นนิสัย อีกทั้งยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยได้อีกด้วย

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ถ้าทุกคนสนใจอยากจะรู้เคล็ดลับการออมแบบมืออาชีพ เราขอแนะนำ “Krungsri The COACH Ep.48 หนี้ก็มี จะเอาเงินที่ไหนมาเก็บ” แล้วจะได้เคล็ดลับอีกเพียบ


ต่อจากนี้มาดูตารางการบริหารหนี้เพื่อใช้เป็นไกด์ไลน์ กันดีกว่า

จ่ายหนี้ตามสัญญากับจ่ายเกินสัญญามีความแตกต่างกันอย่างไร?

จ่ายหนี้ตามสัญญากับจ่ายเกินสัญญาต่างกันอย่างไร

สมมุติ กรณีเรามีหนี้สินเชื่อบุคคล 20,000 บาท ทำสัญญากู้ 60 เดือน จ่ายค่าดอกเบี้ย 25% จากตารางข้างต้นที่แสดงด้านซ้ายมือจะเห็นได้ว่า ถ้าหากมีการชำระหนี้ตามสัญญาจะต้องใช้เวลามากถึง 60 เดือน กว่าจะชำระหนี้หมดไป แต่ถ้ากรณีเราจ่ายเพิ่มจากการลดค่าใช้จ่ายบางอย่างในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น ถ้าเราเป็นคนชอบซื้อกาแฟแก้วละ 100 บาท โดยใน 1 อาทิตย์ เราจะดื่มกาแฟนี้อยู่ 2 แก้ว รวมค่าใช้จ่ายค่ากาแฟก็จะอยู่ที่ราว ๆ 200 บาทต่ออาทิตย์ ซึ่งถ้าเราตัดสินใจลดการดื่มกาแฟลงเป็นอาทิตย์ละ 1 แก้ว และนำเงินที่เหลือจากการลดค่ากาแฟ 100 บาท ไปจ่ายหนี้เพิ่มในรูปแบบจ่ายเกินสัญญาตามตารางด้านบน จากเดิมที่เราจ่ายค่างวดอยู่ 587.03 บาท เพิ่มเป็น 687.03 บาท กรณีสินเชื่อบุคคลที่มีการคำนวณดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก จ่ายเพิ่มไปก็จะไปตัดเงินต้นเพิ่ม ทำให้ดอกเบี้ยลดลง เราจะสามารถปิดหนี้ก้อนนี้ได้ไวมากขึ้นถึง 10 เดือนโดยประมาณเลย จากการลดการกินกาแฟลงอาทิตย์ละ 1 แก้ว

ตอนนี้พอจะเห็นถึงพลังของการมีวินัย และเก็บออมเงินกันมากขึ้นบ้างหรือยัง เพราะฉะนั้นเงิน 100 บาท บางคนอาจจะมองว่าน้อย แต่สำหรับบางคนนั้นสามารถทำให้ปลดหนี้ได้เร็วขึ้นมากถึง 10 เดือนเลย สร้างวินัยการออมเงินและการบริหารหนี้ให้เป็นนิสัยจะดีกับตัวเรามาก ๆ เลย

แต่สำหรับใครที่มีหนี้อยู่หลายก้อน แต่ยังไม่รู้จะจัดการยังไง ต่อไปเรามาดูวิธีบริหารจัดการหนี้หลายก้อนกัน...

มีหนี้หลายก้อน บริหารยังไงให้คล่องมือ มาดู!

บริหารหนี้หลายก้อนทำอย่างไร

จากตัวอย่างข้างต้น สมมุติกรณีเรามีหนี้อยู่ 4 ก้อน ก้อนละ 1,000 บาท รวมยอดหนี้ทั้งหมดที่เรามีจะตกอยู่ที่ 4,000 บาท ซึ่งกรณีที่เราได้ทำการชำระหนี้ก้อนแรกหมด ตามภาพตัวอย่างด้านบน เราจะสามารถนำเงินจากการชำระหนี้ก้อนแรกไปบริหารจัดการเพื่อช่วยลดหนี้ก้อนอื่น ๆ เพิ่มได้ เช่น
  • (หนี้ 1) จำนวน 1,000 บาท ได้ทำการชำระหนี้ครบหมดแล้ว เราก็สามารถนำค่างวดที่ชำระหนี้ก้อนแรกจำนวน 1,000 บาท แบ่งสัดส่วน 50/50 ไปออมเงินจำนวน 500 บาท และนำไปชำระหนี้ก้อนถัดไปเพิ่มจำนวน 500 บาท เพื่อทำให้ (หนี้ 2) จำนวน 1,000 บาท หมดเร็วขึ้น ซึ่งด้วยวิธีการบริหารจัดการเดียวกันนี้ สามารถนำไปปรับใช้กับหนี้ก้อนถัด ๆ ไปได้ กรณีที่เราได้ทำการชำระ (หนี้ 2) จนหมด ก็สามารถแบ่ง 50/50 ไปออมเงิน และแบ่งชำระหนี้ (หนี้ 3) (หนี้ 4) ต่อจนครบ ก็จะสามารถปิดหนี้ยอด 4,000 บาท ตามตัวอย่างข้างต้นได้ไวขึ้นกว่าเดิมแน่นอน แถมยังมีเงินเก็บออมจากการแบ่งสัดส่วน เงินออมที่เราวางแผนเอาไว้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ทริคดี ๆ ถ้ากรณีเราได้ทำการปิดหนี้จนครบแล้ว หรือได้ชำระหนี้บางตัวหมดแล้ว และกำลังมองหาช่องทางในการบริหารจัดการเงินเพิ่ม การตั้งระบบ Auto เพื่อโอนไปซื้อกองทุนรายเดือนแบบ DCA ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลย สำหรับมือใหม่ที่อยากสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว

อีกหนึ่งเรื่องที่อยากจะฝากทุกคนไว้คือ ทุกคนควรมีเงินสำรองฉุกเฉิน ซึ่งก็จะไปอยู่ในหัวข้อ “เงินเก็บ” ที่ได้กล่าวไปเมื่อต้นบทความ เพราะหากวันใดวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เกิดบาดเจ็บจนไม่สามารถหารายได้ในแต่ละวันได้ เราก็ยังมีเงินสำรองมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเงินออมนั้นยิ่งมีมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสามารถทำให้สบายใจได้มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเงินฉุกเฉินก้อนนี้จะทำให้เรารอดพ้นวิกฤตของชีวิต และทำให้เราบริหารจัดการความเสี่ยงจากการใช้จ่ายฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา