ปัจจุบันเริ่มมีคนสนใจเก็บออมเงินมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะการออมเงินทำให้เรามีเงินเก็บไว้ใช้ในอนาคต ทั้งใช้ในยามฉุกเฉิน หรือใช้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นเก็บเงินซื้อบ้านหรือคอนโด เก็บเงินเพื่อการศึกษา รวมถึงออมเงินไว้ใช้เมื่อเราเกษียณอายุ
จะเห็นได้ว่าแต่ละคนก็มีเป้าหมายในการออมเงินที่แตกต่างกัน บางคนต้องการออมเงินระยะสั้น บางคนก็
ออมเงินระยะยาว ซึ่งสถาบันการเงินก็ได้ออกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการออมเงินมากมายเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค โดยแต่ละแบบก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป ดังนั้น เราควรจะเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้เหมาะสมกับเป้าหมายการออมเงิน
วันนี้เราจะมาแชร์เทคนิคการออมเงินแบบง่าย ๆ สำหรับมือใหม่ จะมีแบบไหนที่เหมาะกับสไตล์เรา ตามมาอ่านต่อในบทความนี้เลย
รวมแหล่งออมเงินที่น่าสนใจ
1. บัญชีเงินฝากดิจิทัล
เงินฝากดิจิทัล หรือเงินฝากอิเล็กทรอนิกส์ เป็นบัญชีออมทรัพย์ที่ไม่มีสมุดคู่ฝาก ให้ดอกเบี้ยเยอะกว่าบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป และไม่มีขั้นต่ำในการเปิดบัญชี นอกจากนี้ยังสามารถเปิดบัญชีและทำธุรกรรมฝาก-ถอน-โอน ผ่านระบบออนไลน์ได้ทั้งหมด ทำให้เกิดความสะดวกสบาย ไม่ต้องไปทำธุรกรรมถึงสาขาธนาคาร
ข้อจำกัดของบัญชีเงินฝากดิจิทัล คือ ส่วนใหญ่มักจะมีการจำกัดวงเงินฝากที่จะได้ดอกเบี้ยสูงสุด เช่น วงเงินฝากไม่เกิน 1 แสนบาท จะได้ดอกเบี้ย 1.50% ต่อปี หากฝากเกินกว่านั้นก็จะคิดดอกเบี้ยแบบขั้นบันได
เหมาะกับ
- คนที่ต้องการสภาพคล่องสูง เนื่องจากบัญชีเงินฝากดิจิทัลสามารถฝาก-ถอน-โอนได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- คนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำและต้องการรักษาเงินต้น
ทางธนาคารกรุงศรีฯ ก็มีบัญชีเงินฝากดิจิทัลเหมือนกันนะ สามารถทำรายการเปิดบัญชีผ่านแอป KMA หรือเปิดบัญชีที่สาขาใกล้บ้านก็ได้เช่นกัน สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ที่
https://www.krungsri.com
2. บัญชีเงินฝากปลอดภาษี
เงินฝากปลอดภาษี เป็นเงินฝากประเภทฝากประจำ โดยจะต้องฝากเงินเข้าธนาคารทุกเดือน เดือนละเท่า ๆ กัน ต่อเนื่องจนถึงระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งระยะเวลาฝากมีตั้งแต่ 24 เดือน, 36 เดือน และ 48 เดือน (ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร) และดอกเบี้ยที่ได้รับก็ไม่ต้องเสียภาษี ต่างจากบัญชีเงินฝากประจำทั่วไปที่ต้องเสียภาษี 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ
ข้อจำกัดของบัญชีเงินฝากปลอดภาษี คือ ต้องฝากเงินต่อเนื่องทุกเดือน (ขาดได้ไม่เกิน 2 ครั้ง) จะได้รับดอกเบี้ยเมื่อฝากครบกำหนดเท่านั้น หากถอนหรือปิดบัญชีก่อนครบกำหนดก็มีโอกาสที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่แจ้งไว้
เหมาะกับ
- คนที่ต้องการสร้างวินัยในการออมเงิน
- คนที่สนใจทยอยฝากเงินต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน และไม่มีความจำเป็นต้องถอนเงินก้อนนี้ไปใช้ก่อนครบกำหนด
- คนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำและต้องการรักษาเงินต้น
ใครที่สนใจออมเงินผ่าน
บัญชีเงินฝากปลอดภาษี ทางธนาคารกรุงศรีฯ มีระยะเวลาฝากให้เลือกทั้ง 24 เดือน และ 36 เดือน ฝากขั้นต่ำเพียงเดือน 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท (สำหรับเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน) หรือสูงสุดไม่เกิน 16,000 บาท (สำหรับเงินฝากประจำปลอดภาษี 36 เดือน) นอกจากนี้ ยังสะดวกสบายในการฝากเงินด้วยบริการตั้งโอนเงินล่วงหน้าผ่าน KMA สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ที่
https://www.krungsri.com
3. กองทุนรวมตลาดเงิน
กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ลงทุนในเงินฝาก และ/หรือ ตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ ทั้งในไทยและต่างประเทศที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี มีความมั่นคงสูงและมีความผันผวนด้านราคาต่ำ เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น โดยกองทุนรวมตลาดเงินถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงในระดับต่ำมาก ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.2 - 1.5% ต่อปี (ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่กองทุนนั้นไปลงทุน) สามารถซื้อขายกองทุนได้ทุกวันทำการ เมื่อขายกองทุนก็จะได้ทั้งเงินต้นและผลตอบแทน ไม่ต้องรอรอบจ่ายดอกเบี้ยเหมือนบัญชีเงินฝาก
ข้อจำกัดของกองทุนรวมตลาดเงิน คือ เมื่อเราขายกองทุนรวมตลาดเงินก็จะได้รับเงินในวันทำการถัดไป (T+1) และแม้ว่าจะเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำมาก แต่ก็มีโอกาสขาดทุนได้เช่นกัน
เหมาะกับ
- คนที่เข้าใจในเรื่องการลงทุน และรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้
- คนที่ต้องการสภาพคล่องทางการเงิน
- คนที่มีระยะเวลาออมเงินสั้น ๆ เช่น คนใกล้เกษียณ
- คนที่ต้องการพักเงินระยะสั้นเพื่อรอจังหวะลงทุน
4. กองทุนรวมตราสารหนี้
กองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ โดยตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์การลงทุนที่นักลงทุนจะอยู่ในสถานะผู้ปล่อยกู้หรือเจ้าหนี้แก่รัฐหรือบริษัทที่เป็นคนออกตราสาร จะได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในรูปของอัตราดอกเบี้ย ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 - 3% ต่อปี (ขึ้นอยู่กับตราสารหนี้ที่กองทุนนั้นไปลงทุน) สามารถซื้อขายกองทุนได้ทุกวันทำการเช่นกัน เมื่อขายกองทุนก็จะได้ทั้งเงินต้นพร้อมผลตอบแทน ณ วันที่ขาย
ข้อจำกัดของกองทุนรวมตราสารหนี้ คือ เมื่อเราขายกองทุนรวมตราสารหนี้ก็จะได้รับเงินในอีก 2-3 วันทำการถัดไป (T+2 หรือ T+3) และมีโอกาสขาดทุนได้จากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ แต่โอกาสเกิดขึ้นน้อย เนื่องจากผู้จัดการกองทุนมักจะเลือกตราสารหนี้ Credit Rating ระดับ Investment Grade
เหมาะกับ
- คนที่เข้าใจในเรื่องการลงทุน และรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้
- คนที่ต้องการสภาพคล่องทางการเงิน
- คนที่ต้องการผลตอบแทนมากขึ้น
- คนที่มีเวลาออมระยะสั้น ประมาณ 1 - 2 ปี หรือมากกว่านั้น เนื่องจากกองทุนรวมตราสารหนี้มีความผันผวนของราคาในบางวัน
5. ประกันสะสมทรัพย์
ประกันสะสมทรัพย์ เป็นประกันชีวิตรูปแบบหนึ่งที่เน้นการออมเงิน พร้อมได้รับการคุ้มครองชีวิต โดยเมื่อเราจ่ายเบี้ยประกันครบตามระยะเวลาที่ระบุในกรมธรรม์ บริษัทประกันชีวิตก็จะจ่ายเงินคืนให้ มีทั้งแบบจ่ายคืนเป็นก้อนครั้งเดียว หรือมีเงินคืนระหว่างทาง (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกรมธรรม์) ซึ่งผลตอบแทนของประกันชีวิตมีการันตีว่าจะได้เงินคืนจำนวนเท่าไหร่และไม่ต้องเสียภาษี ส่วนระยะเวลาจ่ายชำระเบี้ยและครบกำหนดสัญญาทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น จ่ายชำระเบี้ย 5 ปี ให้ความคุ้มครองชีวิต 10 ปี, จ่ายชำระเบี้ย 15 ปี ให้ความคุ้มครองชีวิต 30 ปี นอกจากนี้ ยังสามารถนำค่าเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษี ได้สูงสุดถึง 100,000 บาทอีกด้วย
ข้อจำกัดของประกันสะสมทรัพย์ คือ สภาพคล่องน้อยกว่าการฝากเงิน ถ้าเราจำเป็นต้องใช้เงินจะไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ทันที แต่สามารถเวนคืนกรมธรรม์หรือขอยกเลิกกรมธรรม์ เพื่อรับเงินสดจากบริษัทประกันชีวิตได้ แต่ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้วเงินที่ได้รับเวนคืนมักจะน้อยกว่าค่าเบี้ยที่จ่ายไป และส่วนใหญ่แล้วผู้เอาประกันจะขอเวนคืนได้ในปีกรมธรรม์ที่ 2 หรือ 3 ขึ้นไป (เวนคืนได้หลังจากที่กรมธรรม์มีมูลค่าเงินสดแล้ว) โดยจะถือว่าสิ้นสุดสัญญาและไม่มีความคุ้มครองชีวิตอีกต่อไป
เหมาะกับ
- คนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำและต้องการผลตอบแทนแน่นอน
- คนที่ต้องการสร้างวินัยในการออมเงินในระยะยาว พร้อมได้รับการคุ้มครองชีวิต
- คนที่ต้องการความมั่นคงในชีวิตให้กับคนข้างหลัง
- คนที่ต้องการลดหย่อนภาษี
6. ประกันบำนาญ
ประกันบำนาญ เป็น
ประกันชีวิตรูปแบบหนึ่งที่เน้นการออมเงินเพื่อการเกษียณโดยเฉพาะเราต้องชำระเบี้ยประกันตามระยะเวลาที่กรมธรรม์ระบุ และจะได้รับเงินบำนาญเป็นรายงวดเมื่อเกษียณอายุ เช่น อายุ 55 หรือ 60 ปี ไปจนถึงอายุสูงสุดที่กรมธรรม์ระบุุไว้ ซึ่งเราสามารถกำหนดได้เองว่าต้องการเงินในแต่ละงวดเท่าไหร่เพื่อนำไปใช้ในช่วงหลังเกษียณ และตลอดระยะเวลาของสัญญาทั้งก่อนและหลังเกษียณก็จะได้รับการคุ้มครองชีวิตด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถนำค่าเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีในปีได้สูงสุดถึง 200,000 บาท
ข้อจำกัดของประกันบำนาญ คือ เราจะต้องจ่ายเบี้ยครบก่อนจึงจะได้รับเงินบำนาญ (ตอนอายุ 55 หรือ 60 ปี แล้วแต่ที่กรมธรรม์ระบุุไว้) ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ทันที เว้นแต่จะขอเวนคืนกรมธรรม์
เหมาะกับ
- คนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำและต้องการผลตอบแทนแน่นอน
- คนที่ต้องการสร้างวินัยในการออมเงิน
- คนที่อยากมีเงินไว้ใช้ยามเกษียณ
- คนที่ต้องการวางแผนเกษียณ
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะพอเห็นภาพและรู้จักแหล่งสำหรับเก็บออมเงินกันมากขึ้นแล้ว จะเห็นได้ว่าแต่ละแบบก็มีข้อดีและเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป งั้นเรามาสรุปสั้น ๆ ให้เข้าใจง่ายอีกที
- คนที่ต้องการสภาพคล่องสูง เลือกออมเงินผ่าน "บัญชีเงินฝากดิจิทัล"
- คนที่อยากสร้างวินัยในการออมเงิน เลือกออมเงินผ่าน “บัญชีเงินฝากปลอดภาษี” และถ้าต้องการความคุ้มครองชีวิตเพิ่มด้วย ก็เลือกออมเงินผ่าน “ประกันสะสมทรัพย์”
- คนที่เข้าใจการลงทุนและรับความเสี่ยงได้ สภาพคล่องปานกลาง เลือกออมเงินผ่าน “กองทุนรวมตลาดเงิน” แต่ถ้ารับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากขึ้น อยากได้ผลตอบแทนมากขึ้น เลือกออมเงินผ่าน “กองทุนรวมตราสารหนี้”
- คนที่สนใจออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ และต้องการความคุ้มครองชีวิต เลือกออมเงินผ่าน “ประกันบำนาญ”
สุดท้ายนี้ คนที่สนใจออมเงินและกำลังมองหาแหล่งออมเงิน ทางธนาคารกรุงศรีฯ ก็มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์สายนักออมเงินเช่นกัน สามารถค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ธนาคารกรุงศรีฯ
www.krungsri.com และก่อนเริ่มออมเงินแนะนำว่าควรจะศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์และทำความเข้าใจอย่างถี่ถ้วน เพื่อจะได้เลือกรูปแบบการออมเงินที่เหมาะสมกับเราที่สุดนะ