หลายคนเข้าใจว่าที่ปรึกษาทางการเงินเป็นเหมือนกับเจ้าหน้าที่ขายประกัน ขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่เลยครับ ที่ปรึกษาทางการเงินนั้นเปรียบเสมือนหมอที่คอยตรวจ ช่วยดูแลสุขภาพทางการเงินเสียมากกว่า และแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องหาหมอ ดังนั้นบทความนี้จึงมี “สัญญาณบ่งชี้” ว่าเมื่อไหร่กันที่คุณควรมีที่ปรึกษาทางการเงินมาฝากครับ
- สัญญาณที่ 1 ควบคุมการเงินตัวเองไม่ได้
- สัญญาณที่ 2 คุณอยากลงทุนแต่ไม่มั่นใจหรือไม่ถนัดเรื่องเงินเลย
- สัญญาณที่ 3 พยายามเก็บซ่อนปัญหาทางการเงินไม่ให้คนอื่นรู้
- สัญญาณที่ 4 คุณไม่เข้าใจเรื่องภาษีเลยแม้แต่น้อย
- สัญญาณที่ 5 คุณอยากมีเงินเก็บไว้ช่วงเกษียณ
ถ้าคุณมีสัญญาณเหล่านี้เพียงซักข้อสองข้อ หรือมีหมดทุกข้อ นั่นหมายความว่าคุณควรพิจารณาในการหาที่ปรึกษาทางการเงินของตัวเองแล้วล่ะครับ
สัญญาณ 1 ควบคุมการเงินตัวเองไม่ได้
คนส่วนใหญ่ชอบพูดถึงความมั่นคง ต้องการให้ตนเองมีเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาวจึงต้องหาเงินให้เยอะเท่าที่จะมากได้ แต่แท้จริงแล้วนั่นเป็นเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งคือการจัดการเงินที่ได้มาอย่างเป็นระบบ รู้ตัวเองและควบคุมเงินได้
ทว่าหลายคนเลือกจะรับมาก ใช้จ่ายมาก จนไม่สามารถเก็บเงินเอาไว้ได้เลย ทุกอย่างดูเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเสมอ มันสะท้อนถึงการจัดการการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายในอนาคต
แน่นอนว่าเรื่องนี้ยังแก้ปัญหาได้ครับ ด้วยการยับยั้งชั่งใจและเริ่มบริหารเงินตัวเอง ด้วยการจดบันทึกรายรับรายจ่ายแล้ว สังเกตว่าอะไรที่เราใช้จ่ายเกินความจำเป็น เพื่อจัดการเงินที่มีอยู่อย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถดูรายละเอียดการบริหารเงินง่ายๆ ได้ที่
วิธีบริหารเงินที่ถูกต้อง [รู้ครบใน 5 นาที] ครับ
แต่ถ้าการใช้เงินมากเกินหรือมากพอๆ กับรายรับ ก็จำเป็นที่จะต้องรักษา ดังนั้นการหาที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อให้คำแนะนำ การบริหารเงินในกระเป๋าของเราเป็นสิ่งสมควรอย่างยิ่งครับ
สัญญาณ 2 คุณอยากลงทุนแต่ไม่มั่นใจหรือไม่ถนัดเรื่องเงินเลย
ปัจจุบันเป็นยุคสมัยแห่งการลงทุน หลายคนก็อยากให้เงินของตนเองงอกเงยขึ้นมา แต่ความรู้และประสบการณ์ของคนแตกต่างกัน และเป็นผลให้คนบางส่วนคิดว่า “เราจะสามารถทำให้เงินงอกเงยได้จริงๆ หรือ” การได้ใครซักคนเป็นที่ปรึกษาในเวลาที่เริ่มต้นอาจเป็นเรื่องที่ดีครับ
โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ถนัด ไม่มีประสบการณ์ และมีความเสี่ยง เช่น หุ้นกู้ หุ้น กองทุน เป็นต้น จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ ดังนั้นแล้วที่ปรึกษาทางการเงินจะมีส่วนอย่างมากในการช่วยประเมินการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ให้เหมาะสมตามความเสี่ยงและเป้าหมายการทางการเงินของผู้รับคำปรึกษา
สำหรับผู้ที่สนใจคุณสามารถเริ่มต้นศึกษาการลงทุนและการประเมินความเสี่ยง วางแผนการลงทุนของตัวเองเบื้องต้นได้ด้วย
Smart Advisor จาก แอปพลิเคชั่น KMA ครับ
สัญญาณ 3 พยายามเก็บซ่อนปัญหาทางการเงินไม่ให้คนอื่นรู้
ไม่ว่าจะเป็นหนี้ที่พอกพูนเกินการรับมือ การลงทุนที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือปัญหาการใช้เงินบางประการที่บอกคนอื่นไม่ได้ อย่าลืมนะครับว่าบางปัญหาไม่อาจแก้ได้ด้วยตัวคนเดียว และอาจทำให้เกิดผลเสียระยะยาวขึ้นมาอีกมากมาย
ก่อนอื่นเลยสิ่งแรกที่ต้องทำจริงๆ คือการเปิดใจคุยกับคนในบ้านหรือคนที่พึ่งพาได้ครับ ว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร ถ้าพูดเปิดอกกันได้นอกจากจะผ่อนหนักเป็นเบาในใจแล้ว ยังได้รับความโล่งใจที่ได้พูดคุยเรื่องเงินกันแบบจริงจังด้วย
ทว่าหากทำไม่ได้จริงๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการเงินของคนที่บ้านหรือทัศนคติ การหาที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวคงเป็นผู้ช่วยที่เหมาะสมสำหรับในกรณีนี้ครับ
สัญญาณ 4 คุณไม่เข้าใจเรื่องภาษีเลยแม้แต่น้อย
เป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่คนในสังคมส่วนใหญ่ไม่มีความเข้าใจด้านภาษี และยังใช้ประโยชน์จากความรู้ด้านภาษีที่มีไม่ครบถ้วน กรณีนี้จะยังเห็นผลไม่มากหากรายรับที่มียังไม่สามารถหักภาษีได้ หรือหักได้น้อย แต่เมื่อรายรับมากขึ้นจะเห็นผลชัดครับ
เหตุเพราะยิ่งรายรับมากเท่าไหร่ ประเด็นด้านภาษีก็ยิ่งมากตาม ไม่ว่าจะเรื่องภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน ภาษีมรดกและการให้ และการจัดการลดหย่อนภาษีที่สามารถช่วยประหยัดเงินของคุณได้เป็นหลักหมื่น หลักแสนบาท ซึ่งถ้าไม่มีความรู้ด้านภาษีอาจเสียเปรียบในด้านนี้อย่างมาก และแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเรียนรู้ด้านภาษีได้ในระยะเวลาอันสั้น นี่อาจเป็นสัญญาณที่คุณต้องอาศัยมืออาชีพเข้าช่วยเป็นที่ปรึกษาครับ
แต่ถ้าหากคุณต้องการเรียนรู้ด้านภาษีเพิ่มเติม สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความ
รายได้เพิ่มขึ้นควรวางแผนภาษีอย่างไร และคำนวณภาษีง่ายๆ ด้วยตัวเองได้ที่
เครื่องมือวางแผนภาษีจากกรุงศรี ได้เลย
สัญญาณ 5 คุณอยากมีเงินเก็บไว้ช่วงเกษียณ
ปัจจุบันการเกษียณไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และมีการเตรียมตัวเกษียณที่แตกต่างกัน บางคนเลือกเกษียณไว บางคนต้องการเกษียณช้า แต่ไม่ว่าจะเกษียณแบบไหนก็ควรวางแผนเกษียณอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตามก็สามารถวางแผนเกษียณได้
ซึ่งสำหรับคนที่เริ่มต้นการเกษียณตั้งแต่อายุ 20-30 สามารถใช้ตัวเลือกง่ายๆ อย่างการวางแผนเกษียณด้วยเครื่องมือช่วยวางแผนจากธนาคารกรุงศรี เพื่อใช้ในการปรับเปลี่ยนแผนการต่างๆ ตามช่วงระยะเวลา
แต่สำหรับคนที่ต้องการลงลึกในรายละเอียด มีการจัดการการเงินของตนเอง ทำให้เกิดปัจจัยมากมายซึ่งยากต่อการวางแผนเกษียณ กรณีนี้การมีที่ปรึกษาทางการเงินที่ดีจะช่วยให้คุณสามารถวางแผนเกษียณได้เร็วขึ้น และดีขึ้น รวมถึงรัดกุมขึ้น
สรุป
ย้ำอีกครั้งนะครับว่าที่ปรึกษาทางการเงินไม่ได้เป็นผู้ขายประกัน หรือสินทรัพย์ทางการเงิน แต่เป็นเหมือนกับหมอที่คอยให้คำปรึกษาโรคทางการเงิน หมอที่ช่วยตรวจสุขภาพว่าเรามีความแข็งแรงแค่ไหน คอยแนะนำวางแผนจัดการการเงินอย่างเหมาะสม เพื่อให้คุณไปถึงเป้าหมายได้ในที่สุด
หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเงิน อยากได้
ที่ปรึกษาทางการเงินไว้วางแผนเกษียณและการเงินด้านอื่นๆ สามารถปรึกษากับเจ้าหน้าที่ปรึกษาด้านการลงทุนได้ที่เบอร์ 02-2965959 จ.-ศ. เวลา 9.00-17.00 น.
บทความโดย
ปริตา ธิติปรีชาพล
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา