5 ตัวเลขการเงินรู้ไว้ไม่จน
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

5 ตัวเลขการเงินรู้ไว้ไม่จน

icon-access-time Posted On 25 พฤศจิกายน 2561
By Maibat

ตัวเลขเป็นภาษาสากลที่คนทั่วโลกรู้จักอย่างยาวนาน มนุษย์คิดค้นตัวเลขขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ด้านต่างๆตั้งแต่ บอกวันเวลา นับจำนวนสิ่งของ ตั้งราคาสินค้า สร้างระบบเงินตรา คำนวณปริมาตร และวัดความมั่งคั่ง ฯลฯ

ตัวเลขถูกบรรจุอยู่ในวิชาคณิตศาสตร์มีให้เรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลยันปริญญาเอก เพราะสามารถประยุกต์ใช้กับศาสตร์ได้เกือบทุกแขนง และมีเรื่องราวให้ศึกษาไม่รู้จบ เช่น บัญญัติไตรยางค์ สมการ พิธากอรัส ตรีโกณมิติ แคลคูลัส และสถิติ เป็นต้น
ตัวเลขถือเป็นภาษาเศรษฐีที่ใครล่วงรู้ความลับนำมาใช้งานได้อย่างถูกต้องก็สามารถรวยได้ ไม่เชื่อลองสังเกตเศรษฐีที่ร่ำรวยประสบความสำเร็จด้วยตนเองล้วนแล้วแต่คำนวณตัวเลขในหัวได้อย่างแม่นยำ มองการไหลเวียนของเงินได้อย่างทะลุปรุโปร่งราวกับตาเห็น
ถึงจุดนี้อาจสงสัยว่าคนเก่งเลข เช่น คุณครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ และเพื่อนสมัยเรียนที่ได้เกรด 4 วิชานี้ ทำไมถึงไม่ร่ำรวยกันทุกคน หนำซ้ำบางคนยังมีหนี้สินล้นพ้นตัวซะอีก เหตุผลเพราะเก่งเลขในเรื่องที่ไม่สามารถปรับใช้ในชีวิตจริง และระบบการศึกษาที่เน้นการท่องจำเป็นหลัก เปรียบเหมือนคนอ่านตำราวิธีการใช้รถครบทั้งเล่มแต่ไม่เคยลองขับจริง ซึ่งหลายเรื่องที่ควรรู้มักจะไม่ปรากฏอยู่ในตำรา อันที่จริงแล้วคนไทยถูกกำหนดให้เรียนคณิตศาสตร์เป็นวิชาบังคับและได้เรียนรู้วิธีการใช้เงินจากพ่อแม่ จนน่าจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญตัวเลขเป็นอย่างดี แต่ทำไมคนวัยทำงานบางคนยังคิดเปอร์เซ็นต์ไม่เป็น ยังคงถูกหลอกด้วยตัวเลขดูดีเกินจริง และยังมีฐานะการเงินไม่ดีมีหนี้มากกว่าทรัพย์สิน
อันที่จริงมีศาสตร์ตัวเลขเรื่องหนึ่งช่วยขจัดความยากจนได้ แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ไม่มีการสอนในโรงเรียน ผมได้ยินมาว่ามีสอนแค่ในโรงเรียนอาชีวะบางแห่งเท่านั้น และสอนโดยคุณครูแทนที่จะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จทางการเงิน
ศาสตร์นี้มีชื่อว่า “การเงินส่วนบุคคล” (Personal Finance) คนที่ต้องการสร้างฐานะต้องขวนขวายเอาเองเพื่อให้เข้าใจภาษาเศรษฐีว่า คนรวยเขาคิดอ่านเรื่องเงินกันอย่างไร ซึ่งผมพอจะแนะนำหนังสือเล่มแรกที่ควรหยิบอ่าน เพราะเป็นหนังสือที่จุดประกายให้ผมขวนขวายเรียนรู้เรื่องนี้อยู่ตลอดเวลามีชื่อว่า “พ่อรวยสอนลูก” (Rich Dad Poor Dad) โดยให้แนวคิดว่าคนรวยกับคนจนนิสัยการเงินต่างกันอย่างไร ตลอดจนแนะนำเส้นทางชีวิตเพื่อไปสู่ความั่งคั่ง ผมจึงขอหยิบยกตัวเลขการเงินที่สำคัญ 5 อย่างที่มีความสัมพันธ์กับความมั่งคั่ง ต้องคอยติดตามการเปลี่ยนแปลงเพื่อหาโอกาสให้กับตนเอง มีดังนี้
1. อัตราดอกเบี้ย (Interest rate)
ตัวเลขผลตอบแทนที่ผู้ให้กู้จะได้รับจากผู้กู้ตามระยะเวลาที่ตกลงกัน เช่น นำเงิน 30,000 บาทไปเปิดบัญชีเงินฝากประจำกับธนาคารแบบ 1 ปี ได้รับดอกเบี้ย 2% ต่อปี หมายความว่าเมื่อครบกำหนดผู้ฝากเงินจะได้รับดอกเบี้ยหลังหักภาษีแล้วจำนวน 510 บาท ในทางกลับกันรูดซื้อสมาร์ทโฟน 30,000 บาทแบบผ่อนชำระด้วยดอกเบี้ย 0.8% ต่อเดือนนาน 10 เดือน หมายความว่าผู้กู้ต้องผ่อนจ่ายเดือนละ 3,240 บาทไปเรื่อย ๆ จนครบ 10 เดือน ซึ่งจะต้องเสียดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 2,400 บาทตลอดระยะเวลาผ่อนชำระ จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า หากเราเป็นผู้ให้กู้ก็จะมีเงินเพิ่มขึ้นแต่ถ้าเราเป็นผู้กู้ก็จะมีเงินลดลง และการคำนวณดอกเบี้ยมีหลายรูปแบบทำให้อัตราดอกเบี้ยผ่อนสินค้าที่ดูเหมือนต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ แต่พอคิดออกมาแล้วดอกเบี้ยที่เป็นจำนวนเงินกลับสูงกว่า ทำให้ได้ข้อสรุปว่าควรนำเงินออมไปต่อยอดให้งอกเงยภายใต้ความเสี่ยงที่รับได้ และควรจำกัดการเป็นหนี้ให้อยู่ในระดับที่จ่ายไหว งดเว้นการก่อหนี้เพื่อการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
2. อัตราเงินเฟ้อ (Inflation)
ตัวเลขระดับราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีฐาน ทำให้ต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าชนิดเดิม เช่น ก๋วยเตี๋ยวเดิมราคา 30 บาทเปลี่ยนราคาเป็น 40 บาท หรือแพงขึ้น 33% ซึ่งในความเป็นจริงการคำนวณเงินเฟ้อจะใช้ราคาสินค้าและบริการจำนวนมากมาคิดรวมกัน บางสินค้าปรับแพงขึ้นบางสินค้าปรับถูกลงเพื่อนำมาหาค่าเฉลี่ยโดยรวม
ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำติดต่อกันยาวนาน เลยไม่ค่อยมีความกังวลว่าเงินที่ถืออยู่ด้อยค่าลง แต่ก็อย่าวางใจจนไม่ทำอะไรเลย ขอยกตัวอย่างประเทศเวเนซุเอลาที่ IMF คาดว่าเงินเฟ้อทะยาน 1,000,000% ภายในสิ้นปี 2018 นี้ ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดแคลนสินค้าจำเป็นและสินค้ามีราคาแพงเว่อร์อย่างกาแฟตกแก้วละประมาณ 30,000 บาท เงินที่หามาทั้งชีวิตแทบไร้ค่าไร้ความหมาย เพราะหมดไปกับเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyper Inflation) สำหรับประเทศไทยในอนาคตก็ต้องเตรียมรับมือหากต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อสูงไว้ด้วย ทำให้ได้ข้อสรุปว่าควรกระจายเงินออมบางส่วนไปเก็บในทรัพย์สินรูปแบบอื่น เช่น ทองคำ กองทุนรวมสกุลเงินต่างประเทศ และอสังหาริมทรัพย์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากเงินเฟ้อสูงจนทำให้เงินที่ถืออยู่มีมูลค่าลดลง
3. ดัชนีหุ้น (Stock Index)
ตัวเลขระดับราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงเมื่อเทียบกับปีฐาน เช่น ดัชนีหุ้นไทย 1,750 จุดปรับตัวเพิ่มขึ้น 100 จุดจากเมื่อปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 6% ซึ่งดัชนีหุ้นขึ้นลงค่อนข้างผันผวนตามปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ แต่ก็เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมาพร้อมกับผลตอบแทนสูงตามไปด้วย
จากสถิติระยะยาวพบว่าผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 10% ต่อปีมากกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ดังนั้น ถ้าสามารถรับความเสี่ยงได้และอดทนถือหุ้นในระยะยาวก็มีโอกาสรับผลตอบแทนที่คุ้มค่า อย่างไรก็ตามต้องเป็นคนที่ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจเพื่อจำกัดความเสี่ยงในภาวะวิกฤติ ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ที่หุ้นไทยตกลงจากดัชนี 1,700 จุดลงเหลือแค่ 200 จุด ส่งผลให้บางกิจการถึงขั้นล้มละลาย หุ้นกลายเป็นเพียงเศษกระดาษ ทำให้ได้ข้อสรุปว่าควรกระจายเงินออมบางส่วนมาลงทุนหุ้นหรือกองทุนหุ้นเพื่อโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูง แต่ก็ต้องพร้อมปรับหรือลดพอร์ตการลงทุนถ้าสถานการณ์ดูไม่น่าไว้วางใจ
4. ราคาอสังหาริมทรัพย์ (Property price)
ตัวเลขระดับราคาบ้านและคอนโดตามทำเลต่าง ๆ โดยวัดเป็นราคาต่อยูนิตกับราคาต่อพื้นที่ เช่น คอนโด รัชดา-พระราม 9 ขนาด 1 ห้องนอน 30 ตร.ม. ราคา 3.6 ล้านบาทหรือเท่ากับ 120,000 บาทต่อตร.ม. ซึ่งการซื้ออสังหาฯ มีราคาสูงต้องรู้จักเปรียบเทียบความคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป โดยทั่วไปมักเทียบกับห้องที่ขายในโครงการเดียวกันและเทียบกับคอนโดอื่นที่อยู่ละแวกใกล้เคียงในเกรดเดียวกัน ทำให้เห็นว่าการรู้ราคาอสังหาฯที่เหมาะสมเป็นเรื่องยากเมื่อเทียบกับราคาหุ้น แต่ก็คุ้มที่จะทำเพราะอสังหาฯมีผลตอบแทนที่สูงเช่นกันและราคาผันผวนน้อยมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นทุกปี
เมื่อก่อนคอนโดในเมืองราคา 1 ล้านต้นยังหาซื้อได้ ผ่านไปไม่ถึง 10 ปีราคาคอนโดปรับขึ้นเป็น 3 ล้านขึ้นไป อย่างไรก็ตามต้องระวังเรื่องปัญหาฟองสบู่จากการเก็งกำไรกันมาก จนบริษัทอสังหาฯแห่เปิดโครงการเยอะเกินความต้องการที่แท้จริง ทำให้ได้ข้อสรุปว่าควรกระจายเงินออมบางส่วนมาเก็บไว้ในรูปแบบอสังหาฯเพื่อโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูง แต่ก็ต้องระวังเรื่องสภาพคล่องและความเสี่ยงฟองสบู่
5. ความมั่งคั่งสุทธิของตนเอง (Net Wealth)
ตัวเลขเงินสดและทรัพย์สินอื่น ๆ ที่มีตามราคาตลาดหลังจากหักหนี้สินแล้ว เช่น มีเงินสด 1 ล้านบาทและทรัพย์สินอื่น ๆ 4 ล้านบาท แต่มีหนี้ 2 ล้านบาท เท่ากับว่ามีความมั่งคั่งสุทธิ 3 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลที่ได้เกิดจากการทำบันทึกการเงินรวบรวมรายการทรัพย์สินและหนี้สินทุกอย่างมาไว้ที่เดียวกัน เพื่อให้รู้ฐานะการเงินที่แท้จริงของตนเองและวางแผนเพิ่มพูนความมั่งคั่งในอนาคต พอทำตัวเลขขึ้นมาจะเห็นภาพของตัวเองว่ามีสิ่งใดควรปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการตัดรายการค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
สุดท้ายนี้ข้อย้ำว่าตัวเลขเป็นภาษาสากลที่ใครล่วงรู้ความลับนำมาใช้งานได้อย่างถูกต้องก็สามารถเป็นเศรษฐีได้ครับ โดยต้องให้ความสนใจข้อมูลตัวเลขที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอย่าง เช่น ตัวเลขการเงิน 5 ชนิดที่ได้แนะนำไป ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่งคั่งของคุณแน่นอน
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา