ใครบ้างกำลังมองหาว่า… มี
วิธีการออมเงินง่าย ๆ ที่ได้ผลจริงไหมนะ
ถ้าใช่ บทความนี้จะเป็นเข็มทิศนำทางวิธีการออมเงินดี ๆ ที่เราจะพลาดไม่ได้เลย โดยที่ขั้นแรกเราต้องมีเป้าหมายในการออมเงิน และมีความมุ่งมั่นเพื่อสร้างให้เป็นนิสัยกันเสียก่อน แต่ถึงอย่างไรก็ยังเสี่ยงที่จะตกหลุมพรางให้กับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตั้งแต่ของจำเป็นต้องมีไปจนถึงของที่ไม่จำเป็นแต่อยากได้
ดังนั้นจะทำอย่างไรดีเพื่อให้การออมเงินเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น?
สำหรับผู้เริ่มต้น เราขอแนะนำ “กฎการออม 30 วัน” ซึ่งเป็นวิธียอดนิยมที่จะช่วยให้จัดสรรเงินได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งวิธีการออมนั้นง่ายมาก เช่น ถ้าหากอยากได้ของชิ้นหนึ่งแบบสุด ๆ ให้ลองรอให้ครบ 30 วันก่อน โดยนำเงินส่วนที่จะไปซื้อนำไปออมแทน เมื่อถึงเวลาซื้อแต่ความอยากได้หมดไปนั่นแสดงว่าเงินจะคงอยู่ในบัญชีออมทรัพย์กลายเป็นเงินออมเพื่ออนาคตไปอย่างถาวร วิธีนี้จะช่วยให้ประหยัดเงินได้มากขึ้นเมื่อเราทำเป็นประจำในเวลาที่อยากช้อป
แต่ก่อนที่จะใช้กฎการออม 30 วัน สิ่งสำคัญ คือ ต้องเข้าใจกฎการใช้จ่ายด้วยแรงกระตุ้น 30 วันกันก่อน ซึ่งเราเตรียมมาให้ทุกคนได้อ่านกันแล้ว
กฎการใช้จ่ายด้วยแรงกระตุ้น 30 วัน คืออะไร? การออมเงินเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยสิ่งนี้
เราทุกคนถูกล่อลวงด้วย รูป กลิ่น เสียง จากโฆษณา และสื่อต่าง ๆ บางทีเราอาจเดินเข้าไปในร้านค้าแล้วเจอของที่อยากซื้อ หรือบางทีอาจเห็นโฆษณาที่น่าสนใจบอกเล่าผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ จนเกิดการอยากทดลองใช้
ถ้าพบว่าตัวเองกำลังคิดที่จะซื้อ หรือใช้จ่ายเงิน โดยมีอารมณ์ของตัวเองเป็นหลักมากกว่าดูเรื่องงบประมาณที่เรามี นั่นก็เข้าข่ายการถูกชักจูงให้ซื้อตามสิ่งกระตุ้นแล้วล่ะ ซึ่งการซื้อของด้วยสิ่งกระตุ้นอาจทำให้เงินในส่วนที่จะออมหมดไปอย่างง่ายดาย หรือแม้กระทั่งทำให้กลายเป็นหนี้สะสมมากขึ้นจนจ่ายไม่ไหว นี่คือจุดที่กฎการใช้จ่ายตามแรงกระตุ้น 30 วัน ออกฤทธิ์แล้วนั่นเอง
เพื่อหลีกเลี่ยงการซื้อตามแรงกระตุ้น ให้บอกตัวเองอยู่เสมอว่า “จะต้องรอเป็นเวลา 30 วัน” โดยหยิบกระดาษโน้ตหนึ่งแผ่น แล้วจดชื่อสินค้าหรือบริการที่หมายตาเอาไว้ รวมถึงราคาในตอนนั้น แปะโน้ตในที่ที่เห็นง่าย ๆ เช่น ตู้เย็น กระจก ฯลฯ และตั้งเป้าไว้ว่าในอีก 30 วันข้างหน้าจะกลับมาซื้อแน่นอน
เมื่อครบกำหนดวันที่ต้องกลับไปซื้อ หากยังคงรู้สึกว่าต้องการอยู่ก็ให้ซื้อไปได้เลย แต่ในทางกลับกันถ้าหากความต้องการจางหายไปจากในความคิดแล้วแสดงว่ากฎการออมเงิน 30 วันทำงานได้ผลเต็มร้อย ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีการออมเงินแบบง่าย ๆ ที่น่าเอาไปปรับใช้กันได้ทุกคนเลย
กฎการออมเงิน 30 วันมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับกฎการใช้จ่ายด้วยแรงกระตุ้น 30 วัน?
ขณะที่เรากำลังคิดว่าจะซื้อของที่เกิดจากแรงกระตุ้นในช่วง 30 วัน ให้เริ่มโยกเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ซะ แล้วมองว่าเงินก่อนนี้ คือ เงินที่จะใช้ในการซื้อ หากครบ 30 วันแล้ว ยังอยากซื้ออยู่ก็สามารถนำเงินออกไปซื้อได้เลย แต่เงินนั้นจะไม่ใช่เงินออมเพื่ออนาคตอีกต่อไป กฎนี้ถือเป็นการสร้างโอกาสที่ง่ายที่สุดในการออมอย่างสม่ำเสมอ และเป็นการวัดใจเรื่องนิสัยการช้อปไปในตัว ซึ่งเราจะรู้เลยว่าของสิ่งนั้นแค่อยากได้หรือจำเป็นต้องมี
ทำไมเราถึงอยากให้ทุกคนลองมาใช้กฎนี้ นั่นก็เพราะเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน เราจะมีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากมาย ไหนจะค่ากิน ค่าเดินทาง ค่าบ้าน หรือค่ารถ การมีเงินออมจะช่วยทำให้เราอุ่นใจเมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องใช้เงิน
4 วิธีออมเงิน เพิ่มความสนุกให้กับกฎการออมเงิน 30 วัน
การออมเงิน แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน แต่การสร้างความท้าทายจะเพิ่มความสนุกให้กับการออมได้มากยิ่งขึ้น… ถ้าพร้อมแล้วไปดูพร้อมกันเลย
1. เก็บเงินทอน
หากเราต้องการเพิ่มเงินออม จะต้องทำให้เกิดการออมเงินให้ถี่ขึ้น ให้เท่าที่ใช้จ่ายเงินออกไป ทุกครั้งที่ซื้อของ ให้เก็บเงินทอนไว้ทุกครั้งเพื่อนำไปออมเงิน การเก็บเงินทอน หรือเหรียญอาจจะฟังดูไม่มาก แต่จำนวนเงินจะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปอย่างแน่นอน เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นวิธีการออมเงินแบบง่าย ๆ แล้ว
ส่วนที่ดีที่สุด คือ เราสามารถเพิ่มความท้าทายในการออมเงินนี้ด้วยการปัดเศษ เช่น ได้เงินทอนมา 57 บาท ก็ปัดให้เป็น 60 บาท และนำเงินส่วนนี้ไปเก็บเป็นเงินออม
2. ชาเลนจ์ไม่ทานอาหารนอกบ้าน
เราใช้เงินไปกับการทานอาหารนอกบ้านเท่าไหร่ในแต่ละวัน? กินบุฟเฟต์กี่ครั้งต่อสัปดาห์? หรือทานอาหารนอกบ้านกับครอบครัวทุกวันศุกร์หรือไม่?
การใช้จ่ายทั้งหมดเหล่านี้ ถ้าลองมาคำนวณดู เราจะแปลกใจเลยที่ได้เห็นว่า รายจ่ายใช้ไปกับร้านอาหารเป็นจำนวนไม่น้อยเลยในเวลา 30 วัน
การแก้ไขปัญหานี้ก็ไม่ยาก แค่จะต้องตั้งเป้า และตั้งใจที่จะทานอาหารที่บ้านให้มากขึ้นเป็นเวลา 30 วัน และมาดูผลลัพธ์ว่าจะสามารถประหยัดได้มากแค่ไหน ซึ่งสิ่งที่ควรทำเลย คือ การทำอาหารทานเองที่บ้านในทุก ๆ มื้อ
จำนวนเงินที่เหลือจากการไม่ได้ทานอาหารนอกบ้าน สามารถนำมาคาดการณ์จำนวนเงินที่จะประหยัด และตั้งค่าการโอนเงินออมอัตโนมัติเข้าบัญชีเงินฝากประจำได้ ซึ่ง
การตั้งค่าการหักเงินออมอัตโนมัติสามารถทำได้ง่าย ๆ ผ่านแอปฯ โมบายแบงก์กิ้ง
KMA-Krungsri Mobile App ได้อีกด้วย
3. ออมเงิน 100 บาท ใน 30 วัน
การออมเงิน 100 บาท ใน 30 วัน เป็นการเริ่มต้นการออมที่ดี เนื่องจากการออมเงิน 100 บาททุกวัน ภายในระยะเวลา 30 วัน จะเป็นสิ่งที่การันตี และช่วยคุณในยามฉุกเฉินได้ อีกทั้งยังมีเงินออมเพิ่มขึ้นในทุก ๆ วันอีกด้วย โดยที่กุญแจสู่ความสำเร็จ คือ การทำลายเป้าหมาย 100 บาท และกำหนดจำนวนเงินออมรายสัปดาห์ หรือรายวันให้เพิ่มขึ้น
เช่น คุณสามารถประหยัดเงินได้เพียง 50 บาท หรือ 60 บาท ต่อวัน หรือ 350 บาท ต่อสัปดาห์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการออม 100 ที่ตั้งไว้นั้นเอง
มากไปกว่านั้นยังสามารถดูงบประมาณ และดูว่ามีค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่สามารถตัดออกเพื่อประหยัดได้
มีอีกเทคนิคหนึ่งที่สามารถใช้ร่วมกับกฎ 30 วันได้นั้นก็คือ “การออมเงินแบบ 50-30-20”
4. เทคนิคการออมเงิน 50-30-20
การออมเงิน 50-30-20 คือ
- 50% ของรายรับ จะเป็นรายจ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นรายจ่ายประเภทที่ขาดไม่ได้ อาทิ ค่าน้ำมันรถ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต และอื่น ๆ
- 30% ของรายได้ คือในส่วนของสิ่งที่เราอยากได้ ซึ่งจะเป็นรายจ่ายทางเลือกที่ควบคุมได้ในกฎ 30 วัน
- 20% ของรายรับ คือเงินฉุกเฉินในอนาคต หรือเงินออมเพื่อต่อยอด ออมเพื่อลงทุนนั่นเอง
ซึ่งเงิน 20% หลายคนมักจะนำไปลงทุน ซื้อกองทุน หรือฝากประจำกันอยู่แล้ว แต่รายจ่ายในส่วน 30% หากสามารถประหยัดรายจ่ายส่วนนี้ได้ จะช่วยเสริมให้เงินออมเพิ่มมากขึ้น และมีเงินเก็บแต่ละเดือนมากกว่า 20% นั่นเอง
สรุป การออมด้วยกฎ 30 วันเป็นการเริ่มต้นที่ดี หากเราสามารถประหยัดเงินได้มากขึ้นภายในระยะเวลา 30 วัน ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี จะช่วยให้เรามีวินัยในการออมเงินอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาหลายเดือน หรือหลายปี
ก่อนจะปิดหน้านี้ไป การออมจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าทุกคนไม่ได้นำไปลองปรับใช้กัน ซึ่งเราได้แนะนำวิธีการออมแบบง่าย ๆ ให้แล้ว ต่อไปคือตาเราที่จะเริ่มลงมือออมเงินด้วย กฎการออม 30 วัน ด้วยตัวเอง