ประกันสะสมทรัพย์ ตัวช่วยลดหย่อนภาษีและทางเลือกใหม่ของการออม
เพื่อคุ้มครองคุณและครอบครัว
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ประกันสะสมทรัพย์ ตัวช่วยลดหย่อนภาษีและทางเลือกใหม่ของการออม

icon-access-time Posted On 24 มีนาคม 2566
by สิรภัทร เกาฏีระ CFP®, AISA
อยากมีเงินเก็บต้องทำอย่างไร? วิธีที่ง่ายที่สุดคือการหยอดกระปุกออมสิน ถ้าอยากอัปเลเวลขึ้นมาหน่อยก็เป็นการเปิดบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงหรือเปิดบัญชีฝากประจำ ทว่ายังมีอีกวิธีหนึ่งที่ดียิ่งกว่านั้นคือ การซื้อ “ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์” ที่ทำได้ทั้งออนไลน์และซื้อกับตัวแทน ซึ่งวิธีนี้ไม่เพียงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ต้องการซื้อประกันชีวิตรับความคุ้มครองพร้อมการออมทรัพย์เท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความมั่นคง พร้อมยังทำหน้าที่เป็นประกันลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

เมื่อพูดถึงประกัน หลาย ๆ คนคงนึกถึงประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือประกันรถยนต์ เพราะเป็นประเภทของประกันที่พวกเราคุ้นเคยกันดีและได้ยินผ่านหูอยู่บ่อย ๆ ความจริงแล้วประกันมีหลากหลายประเภทกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นประกันการเดินทาง ประกันวินาศภัย หรือประกันที่เรากำลังจะพูดถึงในบทความนี้อย่าง “ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

ไขข้อสงสัย ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์คืออะไร?

 
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ คืออะไร สามารถลดหย่อนภาษีได้ไหม

คนเราทำประกันเพื่ออะไร? คำตอบคือ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มความมั่นคงให้กับอนาคต อย่างประกันสะสมทรัพย์ก็เป็นการจ่ายวันนี้เพื่อออมทรัพย์ไว้ลดความเสี่ยงในวันหน้า เพราะไม่แน่ว่ารายได้ในอนาคตของเราจะเป็นอย่างไร ถ้ามีมากก็ดี แต่หากมีน้อย หรือไม่มีเลย ก็จะมีเงินจากประกันประเภทนี้ไว้ใช้จ่าย โดยทั่วไปแล้วประกันชีวิตประเภทนี้จะนิยมทำตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป หรือถ้าใครอยากวางแผนอนาคตในวัยเกษียณให้มั่นคงไว้ก่อนก็สามารถเริ่มทำได้ตามความพอใจ

ประกันสะสมทรัพย์เป็นประกันชีวิตรูปแบบหนึ่ง เหมาะสำหรับผู้ที่เน้นออมเงิน โดยผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินคืนทั้งระหว่างสัญญาที่ได้รับความคุ้มครองและเมื่อครบกำหนดสัญญาตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ระยะเวลาการชำระเบี้ยประกันภัยก็มีหลากหลาย เช่น ประกันชีวิตระยะสั้น 5 ปี 8 ปี หรือ 10 ปี เป็นต้น

ทำไมต้องประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์?

เหตุผลที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินไม่แนะนำให้คุณออมเงินด้วยการหยอดกระปุกออมสิน ไม่ใช่แค่เพราะการเก็บเงินด้วยตัวเองนอกจากจะเสี่ยงต่อการอดใจไม่ไหวทุบกระปุกออกมาใช้ก่อนเวลาแล้ว ยังเป็นเพราะวิธีนี้ไม่ช่วยให้เงินงอกเงยด้วย สมมติว่าคุณมีเงินเก็บอยู่ 5,000 บาท เวลาผ่านไป 1 ปี เงินในกระปุกก็จะยังคงเป็น 5,000 บาทเท่าเดิม แต่หากคุณนำเงินนั้นไปฝากกับธนาคาร ไม่ว่าดอกเบี้ยจะมากหรือน้อย เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี เงินของคุณก็จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 5,000 บาทแน่นอน

แล้วบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงกับเปิดบัญชีฝากประจำล่ะ ยังน่าสนใจไม่พอหรือ?

บัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงและบัญชีฝากประจำจะมีดอกเบี้ยให้ตั้งแต่ 1-2% ต่อปี แน่นอนว่ามีน้อยย่อมดีกว่าไม่มี แต่ดอกเบี้ยจำนวนเท่านี้ไม่ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการมีเงินเก็บและเพิ่มความมั่งคั่งในอนาคต การเปิดบัญชีทั้ง 2 ประเภทเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้เงินในอนาคตอันใกล้มากกว่า เช่น เก็บเงินไปเที่ยวปีหน้า เก็บเงินไว้สมัครเรียน การเปิดบัญชีเหล่านี้จะช่วยฝึกวินัยการออมและเพิ่มเงินค่าขนมให้คุณเล็ก ๆ น้อย ๆ พอชื่นใจ

จากทั้งสองกรณีจะเห็นว่า หากแพลนชีวิตของคุณไม่ใช่การออมเงินเพื่อชีวิตในไม่อีกกี่ปีข้างหน้า แต่เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อตัวเองในระยะยาว การทำประกันชีวิตสะสมทรัพย์ที่ทำให้เก็บเงินปีต่อปี ย่อมทำให้เพิ่มประโยชน์ได้มากกว่าการออมทั่ว ๆ ไป จึงตอบโจทย์ได้มากกว่า เพราะได้ทั้งความมั่นคงและความอุ่นใจจากการคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันชีวิต สามารถเลือกได้ทั้งการคุ้มครองตลอดชีพหรือตามช่วงระยะเวลา โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้เอาประกันเอง

ข้อดีของประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

  1. สร้างวินัยการออม ด้วยการทำประกันชีวิตออมทรัพย์ ชำระเบี้ยแบบราย 3 เดือน ราย 6 เดือน หรือรายปี เป็นระยะเวลาติดต่อกันตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
  2. ลดหย่อนภาษี เนื่องจากเป็นรูปแบบหนึ่งของประกันชีวิต จึงสามารถนำเบี้ยประกันภัยไปลดหย่อนภาษีได้ โดยประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่มีระยะเวลาคุ้มครองตลอดชีพ หรือมากกว่า 10 ปีขึ้นไป จะสามารถนำเบี้ยประกันภัยมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด
  3. ได้รับเงินคืนระหว่างปี ข้อนี้นับเป็นจุดเด่นของประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ คือ ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินคืนระหว่างสัญญาที่ได้รับความคุ้มครอง โดยจะได้เป็นรายปีไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งครบกำหนดสัญญา (เมื่อถึงตอนนั้นก็จะได้รับเงินก้อนอีกจำนวนหนึ่ง) ทั้งนี้ เงินคืนระหว่างสัญญาจะได้จำนวนเท่าไรขึ้นอยู่กับที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย อย่างไรก็ตาม ยังมีประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์แบบที่ไม่มีเงินคืนระหว่างสัญญาด้วย เราสามารถตรวจสอบเงื่อนไขได้จากรายละเอียดประกันหรือสอบถามกับเจ้าหน้าที่ เพื่อเลือกแบบประกันที่เหมาะกับเราที่สุด
  4. ได้รับความคุ้มครองชีวิต เนื่องจากเป็นประเภทหนึ่งของประกันชีวิต ผู้ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์จึงได้รับสิทธิ์ในการคุ้มครองชีวิตด้วย กล่าวคือหากเราเสียชีวิตในช่วงที่กรมธรรม์ยังมีผลบังคับ ผู้รับผลประโยชน์ที่เราระบุไว้ตอนทำประกันก็จะได้รับเงินทดแทนไปตามผลประโยชน์ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต ณ ปีที่ผู้รับผลประโยชน์เสียชีวิต

เหตุผลที่ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์น่าสนใจกว่าการฝากเงินกับธนาคารในแง่ของการออม เพราะเมื่อสิ้นสุดการคุ้มครองแล้ว จำนวนรวมของเงินที่ได้รับ ไม่ว่าจะเงินคืนระหว่างสัญญาหรือเงินก้อนครบกำหนดสัญญาประกันชีวิต มักมีจำนวนรวมสูงกว่าดอกเบี้ยธนาคาร หากยังรู้สึกว่าไม่กระจ่าง สามารถทำความเข้าใจว่า “ประกันเงินออม” ต่างจาก “การออมเงิน” อย่างไร? กันต่อได้ที่นี่

อย่างไรก็ตาม การออมเงินด้วยวิธีนี้ เราไม่สามารถถอนเงินออกมาได้อย่างสะดวกเหมือนการฝากเงินกับธนาคาร ผู้เอาประกันภัยสามารถขอเงินคืนก่อนครบกำหนดได้ด้วยวิธีที่เรียกว่า เวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย แต่จำนวนเงินที่ได้รับจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ จุดนี้เองที่อาจส่งผลกับสภาพคล่องทางการเงินของคุณ ในระหว่างที่ยังอยู่ในสัญญาของประกันชีวิตและต้องชำระเบี้ยประกันภัย ฉะนั้นก่อนตัดสินใจซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์จึงควรศึกษารายละเอียดกรมธรรม์ให้ดีก่อน

ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่ไหนดี?

 
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์แผนไหนดี

ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์มีให้เลือกร้อยแปดพันเก้า จุดที่แตกต่างกันมีทั้งจำนวนเงินเอาประกันภัย ระยะเวลาในการชำระเบี้ยประกันภัย ระยะเวลาที่จะได้รับเงินคืน เราสามารถเลือกได้ตามความพึงพอใจของเรา ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของกำลังจ่าย ช่วงเวลาที่ต้องการใช้เงินก้อน ฯลฯ โดยทั่วไปเราสามารถแจ้งความต้องการของเรากับพนักงานขาย และขอคำแนะนำหรือข้อเสนอที่เหมาะสมกับเราได้ เช่น สะดวกซื้อประกันชีวิตที่จ่ายเบี้ยไม่แพงหรือเหมาจ่ายได้ หรือต้องการประกันชีวิตเบี้ยคุ้มที่ให้ทุนประกันขั้นต่ำประมาณ 1 ล้านบาท รวมไปถึงความต้องการที่จะซื้อประกันชีวิตแบบพ่วงสัญญาเพิ่มเติมความคุ้มครองโรคร้าย เช่น มะเร็ง หรือชดเชยรายได้เมื่อนอนโรงพยาบาล หรือให้ความคุ้มครองตามระยะหรือเหมาจ่าย เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นตัวอย่างการแจ้งเจตจำนงต่อพนักงาน เพื่อให้ได้รับคำแนะนำผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบโจทย์และเหมาะสมมากที่สุดนั่นเอง

ตัวอย่างประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่น่าสนใจ

กรณีที่อยากจ่ายเบี้ยประกันภัยสั้น ๆ แต่คุ้มครองยาว ๆ อาจเลือกเป็นแผนกรุงศรีประกันสะสมทรัพย์ เพื่อคุณและคนที่คุณรัก 20/5 (+) และ กรุงศรีประกันสะสมทรัพย์ เพื่อคุณและคนที่คุณรัก 20/10 (+) ซึ่งตัวเลข 20/5 และ 20/10 โดยตัวเลขด้านหน้า หมายถึงระยะเวลาความคุ้มครอง คือ 20 ปี และตัวเลขด้านหลัง หมายถึงระยะเวลาการชำระเบี้ย คือ 5 ปี หรือ 10 ปี สิ้นสุดสัญญาในปีที่ 20 จุดเด่นของแผนนี้คือ
  • ประกันชีวิตเบี้ยเริ่มต้นหลักพัน รับความคุ้มครองหลักแสน
  • คุ้มครองทั้งเจ้าของกรมธรรม์และผู้ชำระเบี้ย หากเกิดเหตุไม่คาดฝันกับเรา (ผู้ชำระเบี้ย) โดยที่ยังชำระเบี้ยไม่ครบ ความคุ้มครองและผลประโยชน์ทั้งหมดของสัญญาประกันชีวิตยังเหมือนเดิม (ไม่ต้องจ่ายเบี้ยต่อก็ยังได้รับความคุ้มครอง)
  • ครบกำหนดสัญญารับเงิน 120% ของจำนวนเงินเอาประกันภัยจากประกันชีวิต หรือ 101% ของเบี้ยประกันที่ชำระ
  • โอกาสรับเงินปันผลรายปีตั้งแต่สิ้นปีที่ 2-20 และเงินปันผลเมื่อครบกำหนดสัญญา
  • เบี้ยประกันที่ชำระสามารถนำไปลดหย่อนภาษีตามกฎเกณฑ์สรรพากร
* รายละเอียดและความคุ้มครองเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของบริษัท

หรือหากต้องการเงินก้อนเร็วขึ้นหน่อย กรุงศรีประกันสะสมทรัพย์ เซฟวิ่งส์ แพลน 12/5 อาจเป็นแผนที่ตอบโจทย์ เพราะเป็นประกันชีวิตระยะสั้น ชำระเบี้ยประกันภัย 5 ปี คุ้มครองนาน 12 ปี วันครบรอบปีกรมธรรม์ที่ 1 - 11 รับเงินคืนปีละ 3% ของจำนวนเงินเอาประกันภัยและรับเงินครบกำหนดสัญญา 480% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย แผนนี้น่าสนใจตรงที่มีโอกาสได้รับเงินปันผลในวันครบรอบปีกรมธรรม์ที่ 2 - 11 และเมื่อครบกำหนดสัญญา (ถ้ามี)

จะเห็นว่าประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นประกันที่มีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนประกันตามความเข้าใจทั่วไปแต่เหมือนการออมเงินมากกว่า เพียงแต่แทนที่จะออมเงินกับธนาคาร จะเป็นการออมเงินกับบริษัทประกันแทน ด้วยเหตุนี้บางคนจึงเรียกประกันชีวิตประเภทนี้ว่าประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ หรือประกันเงินออม

ไม่ว่าจะเป็นการออมเงินกับธนาคารหรือการซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ แค่เริ่มต้นก่อนก็ถือว่าเข้าใกล้เงินก้อนก่อนแล้ว ฉะนั้นหากสนใจจะทำประกันชีวิตสะสมทรัพย์ขึ้นมาแล้ว อย่ารอช้า! เริ่มออมทรัพย์ตั้งแต่วันนี้ เพื่ออนาคตที่ดี มีเงินก้อนเอาไว้ใช้กันเถอะ

หากต้องการปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมในด้านวางแผนทางการเงิน สร้างความคุ้มครองชีวิต การลงทุน ทางธนาคารกรุงศรีมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินโดยเฉพาะ ที่สามารถปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรี ติดต่อกลับ ติดต่อกลับ นอกจากนี้ยังสามารถซื้อประกันชีวิตและประกันอื่น ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์กับธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ที่บ้านอีกด้วย ติดตามข่าวสารต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่ Krungsri The COACH “โค้ชเรื่องเงิน ให้เป็นเรื่องง่าย”

หมายเหตุ ลูกค้าควรทำความเข้าใจในรายละเอียด ความคุ้มครองและเงื่อนไข ก่อนตัดสินใจสมัครทำประกันภัย

บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา