สรุป 4 วิธีเลือกประกันชีวิตแบบไหนดีให้พ่อแม่สูงวัย
เพื่อคุ้มครองคุณและครอบครัว
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

สรุป 4 วิธีเลือกประกันชีวิตแบบไหนดีให้พ่อแม่สูงวัย

icon-access-time Posted On 27 พฤษภาคม 2567
By Krungsri The COACH
หลายคนเมื่อเริ่มทำงานมีรายได้เป็นของตัวเองก็อยากดูแลคุณพ่อคุณแม่ด้วยการทำประกันชีวิต ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เราใช้คุ้มครองชีวิตให้กับคนในครอบครัว ปัจจุบันมีทางเลือกในการทำประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ จนบางครั้งทำให้เราเลือกไม่ถูก ไม่รู้ว่าควรเลือกประกันชีวิตแบบไหนดี หรือแบบไหนคุ้มค่าที่สุด วันนี้ทาง Krungsri The COACH จึงมีคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากทุกคน
ประกันชีวิตแบบไหนดีที่เหมาะกับผู้สูงอายุ

ทำไมเราควรให้ความสำคัญกับประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ

เมื่อคุณพ่อคุณแม่เริ่มเข้าสู่ช่วงสูงอายุ โอกาสที่จะพบกับโรคภัยไข้เจ็บ หรืออาจเกิดอุบัติเหตุย่อมมีมากขึ้น ทำให้การทำประกันเพื่อบริหารความเสี่ยงมีความสำคัญมากขึ้น เราควรทำประกันชีวิตแบบไหนดี เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน หากสวัสดิการที่มีอยู่ไม่ครอบคลุมเพียงพอ

ประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุมีกี่แบบ?

ก่อนที่จะเลือกได้ว่าประกันชีวิตแบบไหนดีสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เราควรรู้ก่อนว่าประกันในปัจจุบันมีกี่แบบ แต่ละแบบให้ความคุ้มครองต่างกันอย่างไร แบบไหนเหมาะกับความต้องการของผู้สูงอายุของเรา โดยประกันชีวิตในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 4 แบบพื้นฐาน ได้แก่
 

1. แบบชั่วระยะเวลา

แบบประกันที่ ให้ความคุ้มครองจำกัดอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เป็นแบบประกันที่เน้นให้ความคุ้มครองชีวิตในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นเสาหลักในการหารายได้ของครอบครัว เนื่องจากแบบประกันแบบชั่วระยะเวลาโดยส่วนใหญ่จะให้ความคุ้มครองสูง เบี้ยประกันถูก ทำให้มีเงินเหลือไปใช้จ่ายในครอบครัวได้อีก หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในช่วงระยะเวลาที่ทำประกันไว้ ครอบครัวก็จะได้รับเงินตามความคุ้มครองที่ทำเอาไว้
 

2. แบบตลอดชีพ

แบบประกันที่ ให้ความคุ้มครองตลอดชีพ ถึงอายุ 90 ปี หรือ 99 ปี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกัน เป็นแบบประกันที่เน้นให้ความคุ้มครองชีวิต ยาวนาน กรณีที่ยังมีชีวิตอยู่ถึงอายุ 90 หรือ 99 ปี บริษัทประกันจะจ่ายเงินตามความคุ้มครองที่ได้ทำไว้ให้กับผู้รับประโยชน์กรณีผู้เอาประกันเสียชีวิต หรือหากผู้เอาประกันไม่เสียชีวิตเงินทุนประกันก็จะคืนกลับมาในปีที่อายุครบ 90 หรือ 99 ปี แบบประกันนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองตลอดชีวิต เพื่อเป็นมรดกให้กับคนข้างหลัง หรือผู้ที่ต้องการซื้อเป็นประกันชีวิตหลักเพื่อซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติม
 

3. แบบสะสมทรัพย์

แบบประกันที่เน้นการออมเงินในรูปแบบประกันชีวิตเพื่อเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว โดยอาจจะมีเงินคืนระหว่างสัญญา และมีเงินคืนเมื่อครบกำหนด ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแบบประกัน พร้อมรับความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตก่อนครบกำหนดสัญญาด้วย บริษัทประกันจะจ่ายเงินตามความคุ้มครองที่ทำไว้ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเก็บเงิน พร้อมได้รับความคุ้มครองไปด้วยขณะเก็บเงิน
 

4. แบบบำนาญ

แบบประกันที่เน้นการออมเงินในรูปแบบประกันชีวิต เพื่อประโยชน์เงินคืนหลังเกษียณ โดยแบบประกันประเภทนี้ผู้เอาประกันจะได้รับเงินคืนหลังเกษียณทุก ๆ ปีไปตามระยะเวลาที่แบบประกันแต่ละแบบกำหนด โดยปกติจะการันตีการจ่ายบำนาญอยู่ที่ 15 – 25 ปี หรือจนกว่าผู้เอาประกันจะอายุครบ 85 หรือ 90 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับแบบประกันที่แต่ละบริษัทกำหนด แบบประกันประเภทนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการวางแผนให้มีเงินใช้หลังเกษียณ

นอกจากแบบประกันพื้นฐาน 4 แบบข้างต้นแล้ว ในปัจจุบันมีแบบประกันควบการลงทุนเพิ่มเติมเข้ามา โดยผู้ทำประกันมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเพิ่มเติมจากการเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่บริษัทประกันจัดหาให้ และยังสามารถออกแบบให้เหมาะกับเป้าหมายทางการเงินอย่างเฉพาะเจาะจงได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้จะไม่ได้นำแบบประกันควบการลงทุนมาเปรียบเทียบให้ดู เนื่องจากเป็นแบบประกันที่ค่อนข้างซับซ้อน หากผู้อ่านท่านใดสนใจเกี่ยวกับประกันประเภทนี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก krungsri.com

หลังจากได้ทราบเงื่อนไขความคุ้มครองในประกันแต่ละแบบแล้ว เพื่อน ๆ คิดว่าแบบประกันแบบไหนดี แบบไหนเหมาะสำหรับคุณพ่อคุณแม่สูงวัยกันบ้าง หากยังเลือกไม่ได้ ไปดูกันต่อว่าประกันชีวิตแต่ละแบบบริษัทประกันขายให้กับลูกค้าช่วงอายุใดบ้าง

รู้ก่อนซื้อ! ประกันชีวิตแต่ละแบบ ซื้อได้ถึงอายุเท่าไร?

แบบประกัน ชั่วระยะเวลา ตลอดชีพ สะสมทรัพย์ บำนาญ
อายุที่ซื้อประกันได้ ไม่เกิน 59 ปี ไม่เกิน 70 ปี ไม่เกิน 75 ปี ไม่เกิน 55 ปี
หมายเหตุ อายุที่แสดงข้างต้นเป็นเพียงการแสดงตัวอย่างเท่านั้น โดยอายุที่ซื้อประกันได้ของแต่ละแบบประกันจะขึ้นอยู่กับข้อกำหนดเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกัน

จะเห็นว่าถ้าทำประกันตอนอายุน้อยกว่า 55 ปี จะสามารถเลือกทำประกันได้ทุกแบบที่มีอยู่ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่อายุเกิน 60 ปี เราจะเหลือแบบประกันให้เลือกแค่เพียง 2 แบบเท่านั้น คือ แบบตลอดชีพ กับแบบสะสมทรัพย์ ดังนั้นทางที่ดี เราควรทำประกันให้กับคุณพ่อคุณแม่ ในตอนที่พวกท่านยังอายุไม่ถึง 55 ปี
 
จะเลือกทำประกันชีวิตแบบไหนดีให้เหมาะกับแต่ละคนในครอบครัว

เพราะเป็นผู้สูงอายุ จึงมีเรื่อง “สุขภาพ” เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำประกันชีวิต

ในขั้นตอนของการทำประกันชีวิต บริษัทประกันอาจมีคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่ เพื่อจะได้ทราบว่าท่านยังมีสุขภาพดีอยู่หรือไม่ มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรที่น่ากังวลหรือไม่ Krungsri The COACH แนะนำให้ตอบคำถามสุขภาพตามความเป็นจริง หากมีการปกปิด หรือให้ข้อมูลเท็จ อาจส่งผลให้โดนยกเลิกกรมธรรม์ได้

กรณีที่คุณพ่อคุณแม่ เริ่มมีโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อบริษัทประกันพิจารณาแล้ว อาจมีเงื่อนไขเพิ่มเติมในการทำประกันได้ โดยเงื่อนไขดังกล่าวอาจทำให้ได้ความคุ้มครองไม่ครบถ้วนอย่างที่ต้องการ หรือบริษัทประกันอาจไม่รับประกัน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีประกันชีวิตบางแบบที่ไม่ต้องตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพ แต่ก็มีให้เลือกไม่มากนัก

ดังนั้นทางที่ดี ควรทำประกันชีวิตตั้งแต่ช่วงที่สุขภาพยังแข็งแรงดี และถ้ายิ่งมีสุขภาพดีกว่ามาตรฐาน ก็ยังมีโอกาสได้รับส่วนลดค่าเบี้ยประกันด้วย
 
เงื่อนไขในการทำประกันชีวิตของแต่ละคน

เตรียมเงินสำหรับเบี้ยประกันชีวิตคุณพ่อคุณแม่เท่าไรดี?

เบี้ยประกันชีวิต ขึ้นอยู่กับระยะเวลาชำระเบี้ยประกัน แบบประกัน เพศ อายุขณะทำประกัน และความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตเป็นหลัก ส่วนข้อมูลด้านสุขภาพมีส่วนในการปรับเพิ่ม/ลดเบี้ยประกัน และอาจมีผลกับเงื่อนไขความคุ้มครอง อาจมีการยกเว้นการรับประกันสำหรับบางโรค หรืออาจไม่รับประกัน เพื่อให้เห็นความแตกต่าง และตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ว่าสำหรับคุณพ่อคุณแม่สูงวัยควรเลือกประกันชีวิตแบบไหนดี ขอยกตัวอย่างดังนี้

ตัวอย่าง การเปรียบเทียบเบี้ยประกันสำหรับประกันแบบตลอดชีพ และประกันแบบสะสมทรัพย์ สำหรับผู้ชายอายุ 55 ปี
 

 
แบบประกัน ตลอดชีพ สะสมทรัพย์
ชื่อแบบประกัน กรุงศรีประกันตลอดชีพ มรดกเพิ่มทรัพย์ 90/5 กรุงศรีประกันสะสมทรัพย์ เพื่อคุณและคนที่คุณรัก 20/5(+)
ระยะเวลาเอาประกัน คุ้มครองถึงอายุ 90 ปี 20 ปี
ระยะเวลาชำระเบี้ยประกัน 5 ปี 5 ปี
จำนวนเงินเอาประกัน (บาท) 500,000 500,000
อายุ (ปี) 55 55
เบี้ยประกันรายปี (บาท) 69,670 130,000
จากตารางจะเห็นว่า เบี้ยประกันแบบสะสมทรัพย์ สูงกว่าแบบประกันตลอดชีพอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากแบบประกันแบบสะสมทรัพย์เป็นแบบประกันที่เน้นการออมเงินเพื่อเป้าหมายทางการเงิน พร้อมผู้เอาประกันยังมีโอกาสได้รับเงืนคืนระหว่างสัญญา และครบกำหนดสัญญาเพิ่มเติม ดังนั้นเบี้ยประกันจึงค่อนข้างสูงเพื่อให้บริษัทสามารถนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนนำกลับมาจ่ายคืนผู้เอาประกันตามแบบประกันที่กำหนด

เมื่อพิจารณาเบี้ยประกันชีวิตแล้ว หลายคนคงมีคำถามอยู่ในใจว่า เราควรจะจ่ายเบี้ยประกันสำหรับคุณพ่อคุณแม่กี่บาท ถึงจะดูเหมาะสมกับรายได้ Krungsri The COACH ขอให้คำแนะนำโดยทั่วไปว่า เบี้ยประกันทั้งปีไม่ควรเกิน 10-15% ของรายได้ (รวมทั้งเบี้ยประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรง ประกันอุบัติเหตุ) เช่น ถ้าเรามีรายได้ทั้งปี 500,000 บาท เบี้ยประกันทั้งปี ไม่ควรเกิน 50,000-75,000 บาทเป็นต้น

ประกันชีวิตแบบไหนดี แบบไหนถึงเหมาะกับคุณพ่อคุณแม่สูงวัย

จากรายละเอียดที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า เราอาจจะยังไม่สามารถบอกได้ว่า ประกันชีวิตแบบไหนดีที่สุด แต่เราสามารถเลือกประกันชีวิตที่เหมาะสมกับคุณพ่อคุณแม่สูงวัยได้ผ่าน 4 วิธีนี้

4 วิธีในการเลือกประกันชีวิตแบบไหนดี ให้คุณพ่อแม่สูงวัย

เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง และตอบคำถามให้ได้ว่าประกันชีวิตแบบไหนดี ขอยกตัวอย่าง ขั้นตอนการเลือกประกันชีวิตตามโจทย์ตัวอย่าง ดังนี้

ตัวอย่าง
สมมติ นาย A อยากทำประกันชีวิตให้กับคุณพ่ออายุ 55 ปี ปัจจุบันคุณพ่อสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ อยากได้ประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองยาว ๆ ประมาณ 5 แสนบาท โดยสามารถจ่ายเบี้ยประกันไม่เกิน 50,000 บาทต่อปี

ขั้นตอนการค้นหาประกันชีวิตแบบไหนดี

1. ค้นหาวัตถุประสงค์ในการทำประกันชีวิต

นาย A ต้องการทำประกันชีวิตให้คุณพ่ออายุ 55 ปี เพื่อความคุ้มครองยาว ๆ
 

2. กำหนดความคุ้มครองที่ต้องการ

นาย A อยากได้ความคุ้มครอง 5 แสนบาท
 

3. เลือกแบบประกันที่เหมาะสม

ตัวอย่างการเลือกแบบประกันที่เหมาะสมตามวัตถุประสงค์
 
วัตถุประสงค์ ชั่วระยะเวลา ตลอดชีพ สะสมทรัพย์ บำนาญ
เก็บเงิน     X  
ความคุ้มครอง X X    
เงินหลังเกษียณ     X X
ซื้อประกันสุขภาพ   X    
เนื่องจากต้องการประกันชีวิตความคุ้มครองยาว ๆ
ดังนั้นแบบประกันที่เหมาะสมที่นาย A เลือกทำให้คุณพ่อ คือ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
 

4. เลือกเบี้ยประกันที่จ่ายได้ในระยะยาว

ขั้นตอนสุดท้ายหลังจากเลือกแบบประกันที่สามารถตอบโจทย์ตามวัตถุประสงค์ได้แล้ว ก็คือ การทำประกัน แต่ในการทำประกัน อย่าลืมว่า เบี้ยประกันควรอยู่ในช่วงประมาณ 10 - 15% ของรายได้ทั้งปี ถ้าเราเลือกแบบจ่ายเบี้ยประกันมากเกินไป จนเราไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ตามกำหนด อาจส่งผลทำให้ความคุ้มครองสิ้นสุดลงได้

ค้นหาแบบประกันที่เหมาะสม

แบบประกัน ตลอดชีพ ตลอดชีพ
ชื่อแบบประกัน กรุงศรีประกันตลอดชีพ มรดกเพิ่มทรัพย์ 90/5 กรุงศรีประกันตลอดชีพ มรดกเพิ่มทรัพย์ 90/10
ระยะเวลาเอาประกัน คุ้มครองถึงอายุ 90 ปี คุ้มครองถึงอายุ 90 ปี
จำนวนเงินเอาประกัน (บาท) 500,000 500,000
อายุ (ปี) 55 55
เบี้ยประกันรายปี (บาท) 69,670 41,195
จำนวนปีจ่ายเบี้ย (ปี) 5 10
เบี้ยประกันรวม (บาท) 348,350 411,950
นาย A ลองเทียบประกัน 2 ตัวระหว่าง กรุงศรีประกันตลอดชีพ มรดกเพิ่มทรัพย์ 90/5 และ กรุงศรีประกันตลอดชีพ มรดกเพิ่มทรัพย์ 90/10 พบว่า แบบประกันทั้ง 2 แบบ มีเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายอยู่ในช่วง 10-15% ของรายได้ทั้งปี หรือ ช่วง 50,000 - 75,000 บาท แบบนี้นาย A จะเลือกอย่างไรดี

กรณีแรก นาย A เลือกทำประกันตามความต้องการเดิม จ่ายเบี้ยประกันไม่เกิน 50,000 บาทต่อปี แบบประกันที่เหมาะสม คือ กรุงศรีประกันตลอดชีพ มรดกเพิ่มทรัพย์ 90/10 เนื่องจากสามารถให้ความคุ้มครอง 500,000 บาท ยาวนานตลอดชีพถึงอายุ 90 ปี และเบี้ยประกันต่อปีไม่เกิน 50,000 บาท ตรงตามความต้องการ

กรณีที่สอง หากนาย A บริหารจัดการค่าใช้จ่ายใหม่จนสามารถจ่ายเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 69,670 บาท นาย A ก็สามารถเลือกแบบประกันกรุงศรีประกันตลอดชีพ มรดกเพิ่มทรัพย์ 90/5 ได้เช่นกัน เนื่องจากให้ความคุ้มครองตามความต้องการ และสามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ นอกจากนี้ หากนาย A เลือกจ่ายเบี้ยปีละ 69,670 บาท โดยรวมแล้ว นาย A จะจ่ายเบี้ยลดลงได้อีกด้วย

สามารถศึกษาข้อมูลรายละเอียดความคุ้มครองเพิ่มเติม ได้ที่ กรุงศรีประกันตลอดชีพ มรดกเพิ่มทรัพย์ 90/5, 90/10
 
เลือกประกันชีวิตแบบไหนดีให้พ่อแม่สูงวัย

และนี่คือ 4 วิธีในการเลือกประกันชีวิต และตัวอย่างการเลือกประกันชีวิตแบบไหนดี ที่เริ่มจากการเลือกแบบประกันให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ ทั้งในเรื่องของความคุ้มครอง และเบี้ยประกันที่จ่ายไหวในระยะยาว และอย่าลืม Krungsri The COACH อยากแนะนำให้ทำประกันตั้งแต่อายุไม่มาก จะมีแบบประกันให้เลือกมากกว่า แถมยังได้รับความคุ้มครองมากด้วยเบี้ยประกันที่ไม่แพง

นอกจากแบบประกันที่ได้ยกตัวอย่างมาแล้ว เรายังมีแบบประกันชีวิตที่เหมาะกับเป้าหมายต่าง ๆ ให้เลือกซื้อ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผลิตภัณฑ์ประกัน


อ้างอิง
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา