เพื่อคุ้มครองคุณและครอบครัว
ในปัจจุบันหลายคนที่ตัดสินใจซื้อประกันชีวิตโดยคาดหวังการคุ้มครองชีวิตจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ประกันชีวิตจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางการลงทุนที่มีความสำคัญและน่าสนใจอย่างมาก โดยทุกวันนี้ เราก็มีประกันชีวิตอีกประเภทหนึ่งที่ตอบโจทย์สำหรับคนที่อยากทำการลงทุนควบคู่ไปกับการมีตัวช่วยในการคุ้มครองชีวิตไปด้วย และยังมีความแตกต่างในเรื่องข้อจำกัดที่เคยมีในประกันชีวิตรูปแบบเดิม ๆ นั่นก็คือ ประกันชีวิตแบบ “ควบการลงทุน” หรือ “Unit Linked (ยูนิตลิงค์)”
Krungsri The COACH ขอพาทุกคนมา
ทำความรู้จักกับประกันชีวิตแบบ Unit Linked ในทุกแง่มุม เพื่อให้ทุกคนได้รู้จัก เข้าใจ และสามารถวางแผนทำประกันชีวิตแบบ Unit Linked ได้เหมาะกับความต้องการและเป้าหมายการเงินของตัวเองมากที่สุด
ประกันชีวิตแบบ Unit Linked คืออะไร?
Unit Linked (ยูนิตลิงค์) คือ ประกันชีวิตควบการลงทุน โดยที่ผู้เอาประกันสามารถเลือกหรือออกแบบรูปแบบความคุ้มครองเองได้ ว่าต้องการจ่ายเบี้ยเท่าไร (โดยไม่น้อยกว่าขั้นต่ำที่กำหนด) และต้องการความคุ้มครองชีวิตสูงเป็นกี่เท่าของเบี้ยที่จ่าย (โดยไม่เกินขั้นสูงสุดที่กำหนด) รวมถึงระยะเวลาจ่ายเบี้ยที่ต้องการ และเงินส่วนที่เหลือจากการทำประกันชีวิต ผู้เอาประกันสามารถเลือกการลงทุนใน
กองทุนรวมได้ ซึ่งทำให้แบบประกันยูนิตลิงค์มีความยืดหยุ่นกว่าประกันชีวิตแบบอื่น ๆ
เบี้ยประกันชีวิตแบบ Unit Linked ที่จ่ายไป จะถูกนำไปบริหารจัดการอย่างไร
สำหรับประกันชีวิตแบบ Unit Linked หลังจากที่เราจ่ายเบี้ยประกันไปแล้ว เบี้ยประกันที่จ่ายไป จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
- ส่วนที่หักเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อความคุ้มครองชีวิต
- ส่วนที่หักเป็นค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่บริษัทประกันเรียกเก็บ
- ส่วนที่เหลือหลังจากถูกหักค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียม จะถูกนำไปลงทุนในกองทุนรวม ที่บริษัทประกันคัดเลือกมา โดยที่ผู้ซื้อประกันสามารถเลือกได้ว่า จะลงทุนกองทุนรวมอะไร เป็นสัดส่วนเท่าไรบ้าง ตามความคาดหวังของผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ จึงทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าประกันชีวิตในรูปแบบอื่น ๆ
จะเห็นว่านโยบายการลงทุนของประกันชีวิตแบบ Unit Linked มีส่วนที่นำไปใช้ลงทุนในกองทุนรวมที่บริษัทประกันคัดเลือกมาให้ ทำให้ประกันชีวิตแบบ Unit Linked นี้มีโอกาสรับผลตอบแทนที่มากกว่าการซื้อประกันชีวิตแบบทั่วไป โดยเมื่อผู้ซื้อประกันต้องการรับผลตอบแทนจากกรมธรรม์ ก็สามารถสั่งขายหน่วยลงทุน เพื่อรับเงินจากกรมธรรม์ได้ โดยที่หากจ่ายเบี้ยมาตามจำนวนปีที่กำหนดแล้ว ก็จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการถอนเงินจากกรมธรรม์ หรือเมื่อต้องการหยุดพักชำระเบี้ยอีกด้วย
ประกันชีวิตแบบ Unit Linked มีกี่รูปแบบ?
โดยทั่วไปจะมี 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
- แบบชำระเบี้ยครั้งเดียว (Single Premium : SP)
- แบบชำระเบี้ยรายงวด (Regular Premium : RP)
เปรียบเทียบความแตกต่างโดยรวมของประกันชีวิตแบบ Unit Linked ทั้ง 2 แบบ จะขอสรุปไว้ตามตาราง ดังนี้
สรุปแล้ว แบบชำระเบี้ยครั้งเดียว (SP) จะเป็นแบบที่มีความคุ้มครองชีวิตค่อนข้างต่ำ เบี้ยประกันที่จ่ายไปจะถูกหักไปเป็นค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการ
ทำประกันชีวิตค่อนข้างน้อย จึงเหลือเบี้ยในส่วนที่เอาไปลงทุนสูง จึงเหมาะกับผู้ที่ไม่ได้ต้องการความคุ้มครองสูงมากนัก เน้นเงินลงทุนมากกว่า และมีเงินก้อนที่สะดวกจะจ่ายเบี้ยเพื่อทำประกันครั้งเดียวจบ
ในขณะที่แบบชำระเบี้ยรายงวด (RP) จะเหมาะกับผู้ที่ต้องการออกแบบเองว่าจะสร้างความคุ้มครองสูงต่ำแค่ไหน และสร้างความคุ้มครองชีวิตได้สูงกว่าแบบชำระเบี้ยครั้งเดียว (SP) รวมถึงสะดวกกับการทยอยจ่ายเบี้ยเป็นประจำหลายงวดมากกว่านั่นเอง
ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจซื้อประกันชีวิตแบบ Unit Linked
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอยากเริ่มลงทุนในประกันชีวิตแบบ Unit Linked หรือประกันชีวิตควบการลงทุน Krungsri The COACH มี 5 เรื่องที่ควรรู้ก่อนทำประกันชีวิตควบคู่การลงทุนแบบ Unit Linked เพื่อให้เราเตรียมพร้อมวางแผนทำประกันตัวนี้ได้อย่างสบายใจ
1. ประกันชีวิตควบการลงทุน ไม่ใช่ ประกันเพื่อการลงทุน
เนื่องจากประกันชีวิตแบบ Unit Linked ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุน แต่เป็นประกันชีวิตที่ได้ทั้งการคุ้มครองและการลงทุน ดังนั้นผู้ซื้อประกัน Unit Linked ควรทำความเข้าใจระดับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการลงทุน เปรียบเทียบกับโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว
2. มีความยืดหยุ่น สามารถเลือกวางแผนการลงทุนได้เอง
ซึ่งจะต่างจากประกันชีวิตแบบทั่วไปที่บริษัทประกันเป็นผู้กำหนดนโยบายการลงทุนตามกฎเกณฑ์จากทาง คปภ. ดังนั้นผู้ซื้อประกันจึงสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมได้หลากหลายประเภท เช่น กองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ หรือกองทุนรวม ตามที่บริษัทประกันเสนอ
3. ลดหย่อนภาษีได้เพียงบางส่วน
เบี้ยประกันชีวิตแบบ Unit Linked สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เฉพาะค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมของกรมธรรม์เท่านั้น ได้แก่ เบี้ยประกันส่วนที่เป็นค่าดำเนินการของบริษัทประกัน และส่วนเงินคุ้มครอง โดยไม่เกินสิทธิ์ที่สรรพากรกำหนด และเงินส่วนที่นำไปลงทุนจะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
4. ความโปร่งใสที่ผู้ซื้อประกันสามารถตรวจสอบค่าใช้จ่ายได้
ผู้ซื้อประกันจะเห็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการทำประกันได้อย่างโปร่งใส ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ประกันทราบถึงจำนวนเงินหลังจากหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไปแล้วจะเหลือเท่าไร และจะเหลือเงินเท่าไรเพื่อนำไปลงทุนต่อ ซึ่งค่าใช้จ่ายสำหรับการทำประกันชีวิตในปีแรกอาจจะมีจำนวนสูงกว่าปกติ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของการคุ้มครองชีวิต
เมื่อเราได้คำตอบแล้วว่า ประกันชีวิตแบบ Unit Linked นี่แหละที่เหมาะกับเรา ขั้นตอนต่อไปคือการวางแผนการทำประกันให้ตอบโจทย์ความต้องการของเรามากขึ้น
4 ขั้นตอนวางแผนทำประกันชีวิตแบบ Unit Linked
Krungsri The COACH ขอแนะนำ 4 ขั้นตอนในการวางแผนการทำประกันชีวิตแบบ Unit Linked เพื่อให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ดังนี้
1. ประเมินความต้องการว่าเน้นความคุ้มครองหรือเน้นลงทุน
ถ้าหากเราต้องการ
เน้นความคุ้มครองสูง ๆ เมื่อเทียบกับเบี้ยที่จ่ายไป เราก็ควรจะเลือกทำแบบชำระเบี้ยรายงวด (RP) หากต้องการ
เน้นลงทุน ไม่ได้ต้องการความคุ้มครองสูงมากนัก เราก็อาจจะเลือกทำแบบชำระเบี้ยครั้งเดียว (SP) ถ้าเรามีเงินก้อนใหญ่จำนวนหนึ่ง และต้องการเน้นการลงทุน แต่อยากจ่ายเบี้ยประกันเป็นรายงวดก็สามารถทำประกันแบบชำระเบี้ยรายงวด (RP) ได้เช่นกัน โดยเลือกความคุ้มครองต่ำ ๆ เพื่อให้เหลือเบี้ยไปลงทุนเพิ่มขึ้น
2. วางแผนเลือกจำนวนเบี้ยที่จ่าย และระยะเวลาจ่ายเบี้ย
เมื่อเลือกแบบประกันได้แล้ว เราก็ต้องมาวางแผนต่อว่า จะจ่ายค่าเบี้ยเท่าไร เป็นระยะเวลากี่ปี ด้วยอัตราผลตอบแทนประมาณเท่าไร ถึงจะมีโอกาสมีมูลค่าเงินในกรมธรรม์ เพียงพอจะสร้างความคุ้มครองดังกล่าวภายในระยะเวลาความคุ้มครองที่ต้องการ
หากเราเลือกที่จะจ่ายเบี้ยสั้น (น้อยกว่า 10 ปี) เราก็อาจจะต้องจ่ายเบี้ยต่อปีสูงขึ้น แต่ถ้าเราต้องการจ่ายเบี้ยต่อปีน้อยลง เราก็อาจจะต้องเลือกจ่ายเบี้ยยาวขึ้น เพื่อให้มูลค่าเงินกรมธรรม์มีมากพอกับแผนความคุ้มครองที่เราต้องการ
3. เลือกแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่รับได้
แผนการลงทุนที่เราเลือกควรจะสอดคล้องกับแผนความคุ้มครองที่เราต้องการ โดยที่ถ้าเราต้องการความคุ้มครองสูง (เทียบกับเบี้ยที่จ่ายไป) เราก็ควรเลือกแผนการลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีและความเสี่ยงไม่สูงมากนัก (ไม่ควรคาดหวังผลตอบแทนเกิน 4-5% ต่อปี) เพื่อป้องกันไม่ให้มูลค่ากรมธรรม์ในส่วนที่เป็นการลงทุนมีความผันผวนสูงเกินไป โดยหากเราไม่ได้ต้องการความคุ้มครองสูงมาก เราอาจจะเลือกแผนลงทุนที่เสี่ยงสูงขึ้นได้ (แต่ก็ไม่ควรเสี่ยงสูงมากนัก แนะนำไม่ควรคาดหวังเกิน 8% ต่อปี) ซึ่งหากเรามีความรู้ในการวางแผนจัดพอร์ตการลงทุน เราก็สามารถเลือกสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์เองได้
แต่หากเราไม่แน่ใจ ก็สามารถเลือกแผนการลงทุนสำเร็จรูป ที่ทางบริษัทประกันแนะนำมาให้ได้เช่นกัน โดยแผนที่มีการจัดสรรสัดส่วนลงตราสารหนี้เยอะ มีสัดส่วนในหุ้นน้อย ก็ย่อมจะสามารถคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยได้ต่ำกว่า แต่ก็มีความเสี่ยงและความผันผวนน้อยกว่าแผนที่จัดสรรสัดส่วนลงในหุ้นเยอะกว่า
ดังนั้นการจัดสรรพอร์ตการลงทุนของเราก็ควรขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่เรารับได้ และระยะเวลาในการลงทุนเพื่อตอบโจทย์แผนการเงินของเรา
4. เลือกกองทุนรวมที่ผลการดำเนินงานดี สม่ำเสมอ มาลงทุนตามแผนที่วางไว้
เลือกกองทุนที่เหมาะสมมาลงทุนตามแผนที่เลือก โดยควรดูจากผลตอบแทนในอดีตที่ค่อนข้างดีอย่างสม่ำเสมอ ภายใต้ค่าธรรมเนียมกองทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมถึงอาจดูนโยบายการลงทุนของกองนั้น ว่ามีสไตล์การลงทุนที่แตกต่างจากกองทุนอื่นอย่างไร เพื่อให้เลือกสไตล์การลงทุนตามที่เราต้องการ
จุดเด่นของประกันชีวิตแบบ Unit Linked
- มีความยืดหยุ่นสูงกว่าประกันชีวิตประเภทอื่น สามารถเลือกออกแบบเองได้ว่าต้องการจ่ายเบี้ยกี่ปี สร้างความคุ้มครองกี่ปี
- มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าประกันชีวิตแบบทั่วไป
- สามารถออกแบบแผนการลงทุน ผ่านการเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ต้องการได้
- มีระบบปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนแบบอัตโนมัติ (Auto-Rebalancing) ทำให้ช่วยบริหารความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุนได้ดี
- สามารถหยุดพักชำระเบี้ยได้ เลือกลงทุนเพิ่มได้ มีเงินโบนัสเพิ่มเติมหากจ่ายเบี้ยตามเงื่อนไข
- ตอบโจทย์เรื่องความคุ้มครอง และการลงทุนระยะยาวไปพร้อม ๆ กันในที่เดียว
ประกันชีวิตแบบ Unit Linked เหมาะกับใคร?
- ผู้ที่ต้องการทั้งเรื่องความคุ้มครองและการลงทุนแบบระยะยาวในกรมธรรม์เดียว โดยมีคนช่วยคัดเลือกกองทุน และบริหารการปรับสมดุลในพอร์ตการลงทุนให้
- ผู้ที่ต้องการออกแบบความคุ้มครองด้วยตัวเอง และเป็นแบบประกันที่มีความยืดหยุ่นสามารถปรับสัดส่วนความคุ้มครองและการลงทุนได้เอง
- ผู้ต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าแบบประกันชีวิตอื่น ๆ โดยสามารถรับความเสี่ยงและความผันผวนจากการลงทุนได้
- ผู้ที่ต้องการตัวช่วยในการบริหารทรัพย์สินเพื่อส่งต่อให้ลูกหลานในอนาคตได้
สำหรับผู้ที่สนใจและมองหาการทำประกันชีวิตแบบ Unit Linked ทาง Krungsri The COACH มีแบบประกัน Unit Linked ให้เลือกถึง 4 แบบ ตามความต้องการที่แตกต่างกัน ดังนี้
สรุปจุดเด่น กรุงศรี ประกันยูนิตลิงค์ ในแต่ละแบบ
สรุปแล้วประกันชีวิตแบบ Unit Linked ถือเป็นการทำประกันชีวิตในรูปแบบใหม่ ที่เปิดโอกาสให้เราสามารถออกแบบแผนความคุ้มครองชีวิตได้เอง ช่วยเพิ่มโอกาสให้เรามีแผนความคุ้มครองชีวิตที่ตอบโจทย์เฉพาะสำหรับตัวเราได้มากกว่าเดิมไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มโอกาสสะสมเงินออม ผ่านทางการลงทุนในกองทุนรวม เพื่อตอบโจทย์แผนการเงินอื่น ๆ ในอนาคต เช่น แผนการศึกษาบุตร หรือแผนเกษียณ ที่สามารถทำครบ จบ ได้ ในผลิตภัณฑ์เดียว
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจ ก็จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของโครงสร้างแบบประกันให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน มีความเข้าใจในธรรมชาติของการลงทุน และสามารถรับความเสี่ยงและความผันผวนของมูลค่าเงินในกรมธรรม์ได้ Unit Linked ก็อาจจะเป็นเครื่องมือที่เหมาะสม ที่ช่วยตอบโจทย์การวางแผนการเงินระยะยาวของเราได้เป็นอย่างดี
อ้างอิง