วางแผนมรดก เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
เพื่อคุ้มครองคุณและครอบครัว
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

วางแผนมรดก เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

icon-access-time Posted On 28 พฤศจิกายน 2562
by Krungsri The COACH

คนมากมายให้ความสำคัญกับการวางแผนการเกษียณ แต่เชื่อหรือไม่ว่าการวางแผนมรดกเองก็สำคัญไม่แพ้กัน ทว่ากลับถูกเลี่ยงที่จะพูดถึงด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น โชคลาง ความไม่มั่นใจ ไปจนถึงผู้ที่คิดว่า ทำไม? ถึงต้องวางแผน มาดูกันก่อนว่าทำไมเราถึงอยากให้คุณ “วางแผนมรดก” มันสำคัญขนาดไหนกันแน่

ความสำคัญของการวางแผนมรดก

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมีความไม่แน่นอน แม้ว่าทรัพย์สมบัตินับหลายร้อยล้านก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้หากไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า มรดกนั้นไม่ได้หมายถึงเพียงการรับสืบทอดทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังมีการจัดการอื่นๆ อยู่ เช่น ภาษีมรดก ภาษีการให้ หนี้สินที่มีก็เป็นมรดกเช่นกัน 

ซึ่งตามข้อกฎหมายแล้วทุกๆ คนจะต้องมีการดำเนินการไปในแนวทางเดียวกันไม่ว่าจะรวยหรือจน ดังนั้นการวางแผนมรดกจึงไม่ใช่แค่เรื่องของคนรวยหรือมีทรัพย์สินมาก แต่เป็นเรื่องของคนทุกคน

ซึ่งการวางแผนมรดกจำต้องมีสิ่งที่รู้ 5 ประการ ดังนี้

5 รู้ เพื่อการวางแผนมรดก

1. รู้สินทรัพย์และหนี้สินที่มี

หลายคนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับการทำบัญชีรายรับรายจ่าย แต่หากนานวันเข้าเมื่อมีสินทรัพย์เยอะขึ้นขอแนะนำให้จดบันทึกสินทรัพย์และหนี้สิน ที่กระจัดกระจายให้รวมเป็นที่เดียวกัน ว่าเรามีสินทรัพย์และหนี้สินอะไรบ้าง? เป็นจำนวนเงินเท่าไร? อยู่ที่ไหน? อยู่กับใคร? ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย นอกจากจะสามารถวางแผนได้ว่าเราสามารถปลดหนี้ได้เมื่อไหร่ เงินที่ใช้หลังการเกษียณจนถึงบั้นปลายชีวิตมีมากแค่ไหน

สินทรัพย์และหนี้สินสามารถแบ่งออกไปได้หลายรูปแบบ โดยสามารถจดบันทึกในรูปแบบง่ายๆ ตามตารางด้านล่างดังนี้

สินทรัพย์และหนี้สิน
การจดบัญชีสินทรัพย์ทุกอย่างครบตามตารางข้างต้น นอกจากจะทำให้เราสามารถจัดการสินทรัพย์และหนี้สินต่างๆ ได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้คนในครอบครัวเข้าใจการเงินภายในบ้าน และสามารถแบ่งสินทรัพย์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมเมื่อถึงเวลาจำเป็นอีกด้วยครับ

2. รู้จักภาษีการให้และภาษีมรดก

ภาษีที่เกี่ยวเนื่องกับการให้และรับมรดกนั้นมีด้วยกัน 2 อย่างครับ คือ

ข้อควรรู้เกี่ยวกับภาษีการให้และภาษีมรดก
ที่มา : พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558 กรมสรรพากร

ผู้มีทรัพย์สินหลายคนเลือกโอนมรดกบางส่วนให้ลูกหลานก่อนในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ และเหลือไว้บางส่วนไว้เป็นมรดกเพื่อมอบหลังเสียชีวิต คล้ายการแตกยอดสินทรัพย์ เพื่อเลี่ยงภาษีมรดก แต่รัฐก็รู้ทันจึงออกภาษีมาอีกตัวพร้อมๆ กับภาษีมรดก เพื่อป้องกันการทำแบบนี้ ก็คือ “ภาษีการรับการให้” ที่กำหนดว่าผู้รับทรัพย์สินต้องเสียภาษี 5% ของส่วนที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท แต่ถ้าผู้รับทรัพย์สินเป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส จะขยายเพดานเป็นส่วนที่เกิน 20 ล้านบาทจึงต้องเสียภาษี 5%

หากต้องการทราบรายละเอียดภาษีการให้และภาษีมรดกเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

3. รู้กฎหมายมรดก

หลักกฎหมายที่เกี่ยวกับมรดก นอกจากเรื่องภาษีและสินทรัพย์ สิ่งที่เป็นใจความสำคัญคือการรับมอบมรดก โดยอ้างอิงจากเจ้ามรดกเป็นสำคัญ หรือก็คือการทำพินัยกรรม และหลักเกณฑ์ในการรับมรดก เช่น หากผู้ตายมีคู่สมรสจะต้องแบ่งสินสมรสครึ่งหนึ่งก่อน จึงแบ่งทรัพย์มรดกให้ผู้รับมรดก

สำหรับผู้ที่ต้องการจัดการมรดกจะลืมเรื่องพินัยกรรม ทายาท และการแบ่งทรัพย์สินไม่ได้ โดยการแบ่งทรัพย์มรดกจะมีผู้รับใหญ่ๆ อยู่ 2 ฝั่ง คือ ทายาทโดยธรรม และผู้รับพินัยกรรม (เป็นทายาทหรือไม่ก็ได้)

ทายาทโดยธรรมจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้ตายตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำไว้แต่พินัยกรรมนั้นไร้ผลตามที่กล่าวมาข้างต้น

ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกนั้นมีสภาพบุคคลจะมี 6 ลำดับ คือ
  1. ผู้สืบสันดาน (บุตรตามกฎหมาย บุตรนอกกฎหมายที่มีการรับรอง บุตรบุญธรรม)
  2. บิดามารดา
  3. พี่น้องร่วมบิดามารดา
  4. พี่น้องร่วมแต่บิดามารดา
  5. ปู่ ย่า ตา ยาย
  6. ลุง ป้า น้า อา

การรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมใช้หลัก “ญาติสนิทตัดญาติห่าง”
ทายาทโดยธรรมทั้ง 6 ลำดับนั้นไม่ได้มีสิทธิรับมรดกกันทุกคน เพราะหากทายาทลำดับต้นยังมีชีวิตอยู่ ก็เฉพาะแต่ทายาทลำดับ 1-2 เท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดก ทายาทในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกเลย

ผู้รับพินัยกรรมในพินัยกรรมควรมีการระบุชัดว่ามอบมรดกให้ “ผู้รับพินัยกรรม (ที่อาจจะเป็นทายาทหรือไม่ก็ได้)” เป็นจำนวนเท่าใด หากมอบให้หมด ทายาทลำดับต่อๆ มาจะไม่มีสิทธิ์ในการรับมรดก

4. รู้วางแผนการส่งมอบมรดก

ทยอยส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินในแต่ละปีเป็นจำนวนเงินที่เหมาะสมโดยไม่เกินวงเงินที่ต้องเสียภาษีการรับการให้ เช่น มีมรดก 200 ล้านบาทและทายาท 2 คน ก็สามารถทยอยมอบให้ปีละ 20 ล้านบาทจำนวน 5 ปี ก็จะไม่เสียภาษีจากส่วนเกินมูลค่าทรัพย์สินที่จะให้เป็นมรดกทั้งนี้ ในการวางแผนมรดกควรพิจารณารายละเอียดกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ

ไม่ควรให้มรดกชิ้นเดียวกันใส่ชื่อทายาทหลายๆ คนเพราะอาจจะเกิดปัญหาระหว่างทายาทตามมาได้ เช่น ที่ดินผืนเดียวกันใส่ชื่อทายาทหลายๆ คน ควรตัดแบ่งโฉนดและระบุชื่อให้เรียบร้อยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง หรือโอนก่อนเสียชีวิตในกรณีที่ไม่ได้ทำพินัยกรรม รวมทั้งไม่ควรรีบ ส่งมอบมรดกเพราะกลัวการจ่ายภาษีจนเราเกิดความลำบากเมื่อทรัพย์สินถูกแจกจ่ายไปแล้ว

วางแผนมรดก

5. รู้ส่งต่อมรดกแบบได้ประโยชน์ทางภาษี

สำหรับผู้ที่มีมรดกเป็นจำนวนมาก และเป็นทรัพย์สินที่ทยอยมอบให้ได้ยาก ขอแนะนำให้เปลี่ยนทรัพย์สินให้เป็นประกันชีวิตครับ
 
เนื่องจากการทำประกันชีวิตนั้นไม่มีการเสียภาษี รวมถึงใช้เวลาในการรับมอบน้อยกว่าการทยอยให้มรดกแก่ผู้สืบสกุล นอกจากจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้วยังไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดปัญหาจากเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ต้องจากไปกะทันหันด้วย
 
และนั่นคือ 5 รู้สำหรับการวางแผนมรดกที่ไม่ควรมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นการจัดการสินทรัพย์ ภาษี ข้อกฎหมาย ทายาท และการส่งต่อแบบได้ประโยชน์ทางภาษีเป็นสิ่งจำเป็นแทบทั้งสิ้น การวางแผนมรดกจึงไม่ได้จบแค่ “ให้ใครบ้าง” แต่เป็นการ “ส่งต่ออย่างมีคุณภาพ” ให้ผู้ที่เป็นทายาทและคนรุ่นหลังจากเรารับมอบอย่างสบายใจครับ
บทความโดย
ปริตา ธิติปรีชาพล
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา