เพื่อคุ้มครองคุณและครอบครัว
ประกันชีวิตและประกันสุขภาพในปัจจุบันมีให้เลือกหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นประกันแบบเน้นความคุ้มครองที่จ่ายเงินให้เมื่อเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิต ประกันสะสมทรัพย์ที่เน้นการได้รับเงินคืนเมื่อครบสัญญา ประกันชีวิตแบบตลอดชีพเพื่อส่งต่อมรดกให้ลูกหลาน ประกันบำนาญที่เน้นไปที่การจ่ายบำนาญหลังเกษียณ หรือประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์) เพื่อเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น ซึ่งทางกรุงศรีเองก็มีประกันหลายประเภทให้เลือกได้ตามความต้องการของคุณ
และในปัจจุบันที่หลายคนเริ่มวางแผนการเงินกันตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะการวางแผนชีวิตหลังเกษียณ หนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวข้องก็คือ ประกันชีวิตผู้สูงอายุที่ถูกออกแบบมาสำหรับวัยใกล้เกษียณและวัยเกษียณโดยเฉพาะ บทความนี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจถึงประกันชีวิตผู้สูงอายุ การเปรียบเทียบจุดแข็ง รวมไปถึงตอบคำถามที่ว่า “ถึงเวลาที่คุณควรจะมองหาประกันชีวิตผู้สูงอายุให้ตัวคุณเองหรือให้พ่อแม่ของคุณแล้วหรือยัง?”
ประกันทั่วไปกับประกันผู้สูงอายุต่างกันอย่างไร?
ลักษณะเฉพาะของแบบประกันสำหรับผู้สูงอายุที่แตกต่างจากประกันแบบทั่วไปคือ
- ช่วงอายุที่ผู้สูงอายุสามารถทำประกันได้อยู่ในช่วงอายุ ตั้งแต่ 50-70 ปี โดยจะได้รับความคุ้มครองยาวไปจนถึงอายุ 80 ปี 90 ปี หรือยาวนานจนตลอดชีพ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกัน
- การยกเว้นไม่ต้องตรวจหรือตอบคำถามสุขภาพ แบบประกันสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุนั้นจะถูกออกแบบมาสำหรับผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัวอยู่แล้วแยกออกมาจากประกันแบบทั่วไปซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะรับประกันลูกค้ากลุ่มนี้เข้าไป
อย่างไรก็ดี เงื่อนไขที่ตามมาของแบบประกันสำหรับผู้สูงอายุคือ หากผู้เอาประกันได้เสียชีวิตในระยะเวลา 2-3 ปีแรก ด้วยสาเหตุจากความเจ็บป่วย บริษัทจะไม่จ่ายเงินประกันตามกรมธรรม์ แต่จะคืนค่าเบี้ยประกันพร้อมส่วนต่างให้แทน ทั้งนี้เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกัน รวมไปถึงวงเงินประกันที่น้อยกว่าประกันชีวิตแบบทั่วไป
หากประกันในรูปแบบใดๆ ก็ตามที่สามารถทำสัญญาได้ก่อนอายุ 50 ปี หรือหลังจากอายุ 70 ปีไปแล้ว แม้ว่าจะมีช่วงระยะเวลาคุ้มครองในช่วงอายุ 50 ปี ถึง 90 ปี ก็ยังถือว่าเป็นประกันในรูปแบบทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิตตลอดชีพ (ทำได้จนถึงอายุ 65 ถึง 70 ปี) ประกันชีวิตแบบบำนาญ (ทำได้จนถึงอายุ 50 ปี) ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ (ทำได้จนถึงอายุ 70 ปี) หรือแม้แต่ประกันอุบัติเหตุผู้สูงอายุ (ทำได้จนถึงอายุ 75 ปี)
หมายเหตุ: เงื่อนไขดังกล่าวขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทที่รับประกัน
จุดสังเกตุง่ายๆ ของความแตกต่าง คือ อัตราเบี้ยประกันภัยที่ชำระสำหรับแบบประกันผู้สูงอายุมีแนวโน้มต่ำกว่าอัตราเบี้ยประกันภัยทั่วไป ได้ความคุ้มครองที่ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ อัตราเบี้ยประกันภัยทั้งประกันทั่วไปและประกันผู้สูงอายุจะแปรผันตามอายุของผู้เอาประกันภัย ยิ่งอายุมากค่าเบี้ยประกันที่จะต้องจ่ายก็เพิ่มสูงขึ้นตามความเสี่ยง ดังนั้น ประกันผู้สูงอายุยิ่งทำเร็วได้เท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น
ประกันชีวิตผู้สูงอายุ ทางเลือกเพื่อความมั่นคงของครอบครัว
ด้วยเหตุที่ชีวิตหลังเกษียณเป็นช่วงเวลาที่ไม่สามารถหารายได้เช่นเดียวกับวัยหนุ่มสาว ในขณะเดียวกันวัยเกษียณก็มีความเสี่ยงที่จะต้องเจอกับค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่ไม่คาดคิด เช่น ค่ารักษาจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง หรืออุบัติเหตุที่จำเป็นต้องจ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเป็นไปได้ที่คุณจะสูญเสียความมั่นคงทางการเงินในวัยชราจึงเป็นไปได้สูง ดังนั้นเพื่อบรรเทาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ประกันชีวิตผู้สูงอายุจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการวางแผนทางการเงินหลังเกษียณที่ดี โดยเฉพาะหากคุณตั้งใจที่จะส่งมอบมรดกไปยังลูกหลานหรือคนที่คุณรัก
ประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุยังให้ประโยชน์ในเวลาปัจจุบันอีกด้วย ด้วยเหตุที่ประกันชีวิตผู้สูงอายุเข้าข่ายเป็นประกันลดหย่อนภาษีทำให้การซื้อประกันชีวิตผู้สูงอายุสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้เช่นเดียวกับการลงทุนรูปแบบอื่นๆ ทั้งในกรณีที่ผู้ซื้อประกันยังอยู่ในวัยทำงานแล้วนำมาลดหย่อนให้ตัวเอง หรือส่งต่อสิทธิลดหย่อนภาษีให้กับบุตรที่ยังทำงานอยู่ได้เช่นกัน
ประโยชน์ทั้งหมดนี้แลกมาด้วยอัตราเบี้ยประกันภัยที่ถูกกว่า รวมไปถึงเงื่อนไขด้านสุขภาพที่น้อยกว่าประกันชีวิตแบบปกติทั่วไป และในปัจจุบันนี้ มีแบบประกันชีวิตผู้สูงอายุให้เลือกจำนวนมาก การแข่งขันในตลาดที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทประกันต่างนำเสนอสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอื่นๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาลหรือเงินชดเชยเมื่อเกิดอุบัติเหตุให้เป็นส่วนเสริมกับลูกค้าอีกด้วย
เปรียบเทียบประกันเน้นความคุ้มครองกับประกันสะสมทรัพย์ เลือกแบบไหนดี?
ประกันชีวิตในปัจจุบันอาจแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ
- ประกันชีวิตแบบเน้นความคุ้มครอง บริษัทประกันจะจ่ายเงินประกันเมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตกรณีเดียว เช่น ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
- ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นประกันแบบออมเงินซึ่งผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกระยะเวลาในการชำระเบี้ยฯ เลือกรับเงินคืนระหว่างปีหรือไม่ก็ได้ และหากเกิดเหตุไม่คาดฝันเงินออมก้อนนี้จะถูกส่งมอบให้กับผู้รับผลประโยชน์
หากเปรียบเทียบระหว่างประกันชีวิตเน้นความคุ้มครอง กับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เลือกทำตัวไหนดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้เอาประกันภัยว่าต้องการทำประกันแบบไหน
ทำประกันชีวิตผู้สูงอายุแล้ว ควรทำประกันสุขภาพผู้สูงอายุเพิ่มอีกหรือไม่?
โดยปกติแล้วบริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินประกันเฉพาะกรณีที่ผู้ทำประกันภัยเสียชีวิตเท่านั้น โดยที่ไม่คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รวมไปถึงเงินชดเชยจากความเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุอื่นๆ แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุที่ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยได้ง่าย รวมไปถึงการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจะทำให้ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก ในที่นี้ แบบประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ที่มีความคุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รวมไปถึงการจ่ายเงินชดเชยเมื่อเจ็บป่วยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ
คำแนะนำในที่นี้คือ ควรทำประกันผู้สูงอายุทั้งสองรูปแบบคือ ประกันชีวิตและประกันสุขภาพ หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือ การเลือกประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุที่พ่วงประกันสุขภาพเข้าไปด้วย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะได้สิทธิประโยชน์ในการเบิกค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุของแบบประกันสุขภาพซึ่งเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติม พร้อมๆ กับสิทธิประโยชน์ของแบบประกันชีวิตที่มีอยู่เดิม
เปรียบเทียบแบบประกันชีวิตผู้สูงอายุกับแบบประกันชีวิตทั่วไป เลือกทำแบบไหนดี?
หากเปรียบเทียบระหว่างแบบประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุและแบบประกันชีวิตแบบทั่วไป แบบประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะจะเหมาะกับคนที่อยู่ในช่วงอายุ 50 - 70 ปี ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว หรือมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาสุขภาพ ซึ่งโดยปกติแล้วจะทำประกันชีวิตแบบทั่วไปไม่ได้ หรือไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันในราคาสูงได้ แต่ยังคงต้องการความคุ้มครองเมื่อเสียชีวิต
แต่หากต้องการวงเงินประกันที่สูงกว่า โดยที่ผู้ทำประกันยังมีสุขภาพปกติดี และสามารถจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันที่สูงกว่าได้ ประกันชีวิตแบบทั่วไปมีเวลาครอบคลุมในช่วงอายุ 50 ปี ถึง 90 ปี จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าแบบประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ
จะซื้อประกันให้พ่อแม่ สามารถทำได้หรือไม่?
สำหรับบุตรหลานที่จะซื้อประกันให้กับพ่อแม่นั้นก็สามารถทำได้ทั้งแบบประกันทั่วไปและแบบประกันผู้สูงอายุ โดยที่พ่อแม่ต้องมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขของแบบประกันที่จะทำให้ เช่น อายุไม่เกินช่วงที่กำหนดไว้ หรือต้องมีผลตรวจสุขภาพประกอบการทำประกันด้วย และอย่าลืมที่จะตรวจสอบเงื่อนไขของกรมธรรม์นั้นๆ ให้ละเอียดก่อนที่จะตัดสินใจทำประกัน
ประกันที่ซื้อให้พ่อแม่นั้นสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ แต่จะต้องเป็นประกันสุขภาพเท่านั้น ซึ่งสามารถลดหย่อนได้สูงสุด 15,000 บาทต่อปี ภายใต้เงื่อนไขสามข้อ คือ ต้องเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายของพ่อแม่ พ่อแม่ต้องมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท และผู้ขอลดหย่อนหรือพ่อแม่คนใดคนหนึ่งต้องอยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีนั้นๆ ด้วย
ทั้งนี้ มีแบบประกันที่ลูกสามารถซื้อประกันให้กับพ่อแม่ ที่มีความคุ้มครองชีวิต ผู้ชำระเบี้ย(ลูก) หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ก็เท่ากับคุ้มครองชีวิตผู้เอาประกันภัย (พ่อแม่) และผู้ชำระเบี้ย (ลูก) อีกด้วย โดยตรวจสอบเงื่อนไขของกรมธรรม์ให้ละเอียดอีกครั้ง
สรุป
ประกันชีวิตผู้สูงอายุถือเป็นหลักประกันชั้นดีให้กับตัวคุณเองและคนที่คุณรัก ซึ่งเมื่อทำแล้วเกิดความคุ้มครองหากเสียชีวิตก็ยังส่งต่อเป็นมรดกให้กับลูกหลานได้ และในปัจจุบันที่การซื้อแบบประกันชีวิตผู้สูงอายุสามารถซื้อได้ตั้งแต่วันที่คุณยังไม่เข้าสู่วัยเกษียณ เท่ากับว่าการทำประกันชีวิตผู้สูงอายุย่อมให้ประโยชน์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยตั้งแต่เนิ่นๆ เช่นกัน
หากคุณมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับประกันชีวิตผู้สูงอายุหรือต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับประกันชีวิตเพิ่มเติมสามารถติดต่อผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ 9.00 น.- 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ
คลิก
บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา