เพื่อคุ้มครองคุณและครอบครัว
โฆษณาประกันชีวิตผู้สูงอายุหลากหลายรูปแบบทุกวันนี้มีจำนวนมากพอๆ กับการแชร์ปัญหาจากประสบการณ์ตรงของลูกค้าในโลกออนไลน์ว่า บริษัทประกันส่วนใหญ่เคลมยากและไม่ยอมจ่ายเงินให้ตามเงื่อนไขที่โฆษณา ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าคุณได้เลือกทำ
ประกันชีวิตที่ดีที่สุดให้กับพ่อแม่ที่คุณรักและป้องกันปัญหาน่าปวดหัวที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง จึงจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลและทำความเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับประกันชีวิตผู้สูงอายุแบบต่างๆ ให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจซื้อ
ถ้าอยากรู้ว่ามีข้อควรระวังก่อนเลือกทำ
ประกันชีวิตให้พ่อแม่สูงวัยในเรื่องใดบ้าง บทความนี้มีคำตอบ
7 ข้อควรระวังก่อนเลือกทำประกันชีวิตให้พ่อแม่สูงวัย
การเลือกทำประกันชีวิตผู้สูงอายุให้กับพ่อแม่อาจเป็นเรื่องยุ่งยากและชวนปวดหัวสำหรับใครหลายคน เนื่องจากเงื่อนไขที่ซับซ้อนเเละเข้าใจยาก จึงอาจทำให้เกิดความสับสนและนำไปสู่การตัดสินใจเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ผิดพลาด ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ตอนแรก
เรามาดูกันว่า 7 ข้อควรระวังที่ต้องใส่ใจก่อนเลือกทำประกันชีวิตให้พ่อแม่สูงวัยมีอะไรบ้าง
1. ช่วงอายุที่ทำประกันชีวิตผู้สูงวัยได้
ประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะกำหนดช่วงอายุที่สามารถทำประกันได้ตั้งแต่ 50-70 ปี โดยจะได้รับความคุ้มครองไปจนถึงอายุ 80-90 ปี หรือตลอดชีพขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกัน ดังนั้น หากแบบประกันใดๆ ที่สามารถทำสัญญาได้ก่อนอายุ 50 ปี หรือหลังอายุ 70 ปี จะถือว่าเป็นประกันในรูปแบบทั่วไป ไม่ใช่ประกันสำหรับผู้สูงอายุ แม้ว่าจะมีระยะเวลาคุ้มครองในช่วงอายุ 50-90 ปีก็ตาม เช่น
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ ทำได้จนถึงอายุ 50 ปี
- ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ ทำได้ก่อนอายุ 50 ปีจนถึง 70 ปี
- ประกันอุบัติเหตุผู้สูงอายุ ทำได้จนถึงอายุ 75 ปี
2. “ประกันชีวิตผู้สูงอายุ” ไม่ใช่ประกันสุขภาพ
หลายคนตัดสินใจซื้อประกันชีวิตให้พ่อแม่เพราะคิดว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมเรื่องค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะประกันชีวิตผู้สูงอายุถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนอาวุโสที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว ซึ่งทำประกันชีวิตแบบทั่วไปไม่ได้หรือไม่มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะจ่ายเบี้ยประกันแพงๆ แต่ยังต้องการความคุ้มครองเมื่อเสียชีวิต
ด้วยเหตุนี้ ประกันชีวิตผู้สูงอายุจึงจ่ายเงินเอาประกันในกรณีเสียชีวิตเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงการเบิกค่ารักษาพยาบาลหรือการรักษาตัวภายในโรงพยาบาล จึงไม่ใช่ทั้งประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุอย่างที่หลายคนอาจเข้าใจผิด
ดังนั้น หากคุณต้องการแสดงความห่วงใยและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านสุขภาพและค่ารักษาพยาบาลของพ่อแม่สูงวัยที่ไม่ได้คาดฝันในอนาคต ควรทำประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุควบคู่กันไปด้วย โดยอาจเลือกซื้อสัญญาเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมความต้องการ ซึ่งสามารถสอบถามรายละเอียดค่าเบี้ยประกันและผลประโยชน์เพิ่มเติมจากตัวแทนประกันที่คุณไว้วางใจ
3. เลือกแบบประกันให้ตรงกับเป้าหมายที่ต้องการ
ประกันชีวิตในปัจจุบันแบ่งได้เป็นสองประเภทหลัก คือ
- ประกันชีวิตแบบเน้นความคุ้มครอง บริษัทประกันจะจ่ายเงินต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตกรณีเดียวเท่านั้น เช่น ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ แต่ถ้ามีการทำประกันสุขภาพหรือประกันอุบัติเหตุเป็นสัญญาเพิ่มเติม บริษัทประกันจะให้ความคุ้มครองเรื่องเงินค่ารักษาเมื่อผู้สูงอายุเข้าโรงพยาบาลด้วย
- ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นประกันแบบออมเงินที่จะให้เงินปันผลคืนตามสัญญาที่ได้ระบุไว้ เช่น 5 ปี 10 ปี หรือเมื่อครบกำหนดเเล้วผู้สูงอายุยังเเข็งเเรง ไม่ได้เสียชีวิตก็จะได้รับเงินคืนตามสัญญาเช่นกัน ส่วนในกรณีที่ผู้สูงอายุเสียชีวิตภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดก็จะได้รับเงินก้อนเป็นมรดกส่งต่อให้ลูกหลานที่เป็นผู้รับผลประโยชน์ นอกจากนี้ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ยังสามารถเลือกระยะเวลาในการชำระเบี้ยประกัน และเลือกรับเงินคืนระหว่างปีหรือไม่ก็ได้อีกด้วย
ดังนั้น การตัดสินใจเลือกซื้อประกันชีวิตผู้สูงอายุเเบบไหนดีที่สุดจึงขึ้นอยู่กับเป้าหมายของคุณและพ่อแม่ว่า มีข้อจำกัดด้านสุขภาพและการเงินหรือไม่ อยากได้สิทธิประโยชน์และความคุ้มครองตรงกับประกันชีวิตแบบไหนมากที่สุด สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
เปรียบเทียบประกันชีวิตผู้สูงอายุ ซื้อแบบไหนถึงจะดีที่สุด?
4. เปรียบเทียบวงเงินเอาประกันกับค่าเบี้ยประกันที่จ่ายไหว
วงเงินเอาประกันคือเงินที่บริษัทประกันจะจ่ายให้คุณเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เข้าเงื่อนไขตามข้อตกลงในกรมธรรม์ ซึ่งเงินจำนวนนี้จะสอดคล้องกับเบี้ยประกันที่คุณต้องจ่าย หากคุณเลือกจ่ายเบี้ยประกันแพงก็จะได้รับความคุ้มครองเเละวงเงินเอาประกันที่สูงขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ อัตราเบี้ยประกันทั้งประกันแบบทั่วไปและประกันผู้สูงอายุมักจะแปรผันตามอายุของผู้เอาประกัน ยิ่งอายุมากค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายก็จะเพิ่มขึ้นตามความเสี่ยง ดังนั้น ยิ่งคุณทำประกันให้พ่อแม่ได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสได้รับผลประโยชน์และความคุ้มค่าที่มากขึ้นเท่านั้น
5. ประกันชีวิตผู้สูงอายุมีระยะเวลารอคอย
เนื่องจากประกันชีวิตผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักโฆษณาโดยเน้นจุดขายเรื่องการไม่ต้องตรวจสุขภาพ และไม่ต้องตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติสุขภาพก่อนทำประกันเพื่อดึงดูดใจลูกค้าสูงวัย จึงมักพ่วงเงื่อนไขเรื่อง “ระยะเวลารอคอย” ลงในสัญญา ส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ประมาณ 1-2 ปี นับจากวันที่กรมธรรม์อนุมัติ ซึ่งเป็นวิธีบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกัน และป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุที่มีโรคภัยไข้เจ็บรุมเร้าอยู่ก่อนหน้าแล้วมาทำประกันชีวิตเพื่อหวังได้รับเงินประกันในวงเงินสูงๆ เมื่อเสียชีวิต
แต่ในบางครั้งผู้ทำประกันหลายคนก็ไม่ได้ใส่ใจรายละเอียดเรื่องระยะเวลารอคอย และอาจไม่ได้รับการอธิบายอย่างชัดเจนจากตัวแทนขายประกัน จึงไม่ทราบว่าในกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยด้วยโรคอะไรก็ตามที่ไม่ใช่อุบัติเหตุภายในระยะเวลารอคอยนับจากวันทำสัญญา จะได้รับเงินคืนเฉพาะค่าเบี้ยที่ส่งไปแล้วกับผลตอบแทนเพิ่มเติมอีกประมาณ 2-5% ไม่ใช่จำนวนเงินตามทุนประกันที่ทำไว้
6. พิจารณาเงื่อนไขการจ่ายเงินประกัน
เงื่อนไขการจ่ายเงินประกันชีวิตผู้สูงอายุโดยทั่วไปจะจ่ายเฉพาะกรณีเสียชีวิตเท่านั้น หากเสียชีวิตภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่อนุมัติในกรมธรรม์ บริษัทประกันจะจ่ายตามเงื่อนไข ดังนี้
- กรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จะได้รับเงินเอาประกันเต็มจำนวนรวมค่าเบี้ยประกันที่คุณจ่ายไปทั้งหมดเเละเงินเพิ่มเติมอีก 2-5% ของค่าเบี้ยที่จ่ายไปแล้ว
- กรณีเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บ จะได้รับแค่ค่าเบี้ยประกันที่คุณจ่ายไปทั้งหมดเเละเงินเพิ่มเติมอีก 2-5% ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทประกัน
ส่วนถ้าเสียชีวิตหลังจาก 2 ปี นับตั้งแต่วันที่อนุมัติในกรมธรรม์ บริษัทประกันจะจ่ายเงินเอาประกันเต็มจำนวนในทุกกรณี
7. อย่าลืมตรวจสอบรายละเอียดและเงื่อนไขแนบท้ายอื่นๆ
ประกันชีวิตผู้สูงอายุของแต่ละบริษัทมีหลายรูปแบบ รวมทั้งมีเงื่อนไขเเละรายละเอียดในเอกสารเเนบท้ายที่ต่างกันด้วย ดังนั้น คุณควรตรวจสอบและอ่านข้อมูลให้ครบถ้วน เพราะบางครั้งปัญหาการเคลมประกันก็เกิดจากการที่ผู้ทำประกันไม่ทราบว่าประกันชีวิตผู้สูงอายุที่มีอยู่ให้ความคุ้มครองมากน้อยไหน และมีเงื่อนไขในการได้รับสิทธิประโยชน์อย่างไรบ้าง การอ่านเอกสารและเงื่อนไขต่างๆ ให้รอบคอบและครบถ้วนจึงเป็นวิธีป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นภายหลังได้ดีที่สุด
นอกจากนี้ เมื่อคุณได้รับกรมธรรม์ หากตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆ แล้วไม่พึงพอใจหรือไม่ตรงตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกับตัวแทนขายประกัน ถ้าซื้อผ่านทางโทรศัพท์สามารถแจ้งยกเลิกกรมธรรม์ได้ภายใน 30 วัน แต่ถ้าซื้อผ่านตัวแทนขายประกันต้องแจ้งยกเลิกภายใน 15 วัน
สรุป
ประกันชีวิตผู้สูงอายุเป็นหลักประกันที่ดีให้กับตัวคุณเองและพ่อแม่ที่คุณรัก เป็นตัวช่วยให้คุณมีวินัยในการเก็บเงินและกระจายความเสี่ยงในการลงทุน รวมทั้งทำให้พ่อแม่ของคุณมั่นใจได้ว่าจะมีอิสระทางการเงินและคุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลาย เพราะถ้าทำประกันชีวิตควบคู่กับประกันสุขภาพก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย หรือหากเสียชีวิตก็ยังเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่ส่งต่อเป็นมรดกให้กับลูกหลานได้อีกด้วย
ทั้งนี้ คุณสามารถขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาทางการเงินที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านประกันชีวิตและประกันสุขภาพ เพื่อให้ได้กรมธรรม์ประกันชีวิตของพ่อแม่สูงวัยที่สอดคล้องกับงบประมาณและความต้องการเฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น เพราะการใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างสงบสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาและการมีกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ดีจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ตามต้องการ
หากคุณมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับประกันชีวิตผู้สูงอายุหรือต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับประกันชีวิตเพิ่มเติม สามารถติดต่อ ที่ปรึกษาทางการเงินธนาคารกรุงศรี ผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ
คลิก
บทความโดย
ปริตา ธิติปรีชาพล
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา