สำหรับเพื่อน ๆ นักลงทุนมือใหม่ที่สนใจจะลงทุนในกองทุนรวม เคยเป็นไหมครับที่เวลาอยากจะเข้าไปถามรายละเอียดกองทุนกับบริษัทหลักทรัพย์ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไรดี เรามาประดับความรู้ด้านศัพท์เทคนิคของกองทุนรวมด้วยกันครับ
คำศัพท์เทคนิคด้านประเภทกองทุน
เริ่มกันที่ประเภทกองทุน กองทุนปิด คือ กองทุนรวมที่บริษัทหลักทรัพย์ หรือเรียกย่อ ๆ ว่า บลจ. เสนอขายหน่วยลงทุนเพียงครั้งเดียวตอนเริ่มต้นโครงการ และจะไม่รับซื้อหน่วยลงทุนคืนจนกว่าจะครบกำหนดอายุกองทุน ดังนั้น เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนตามแผนการลงทุนจนครบโครงการ นักลงทุนในกองทุนปิดควรวางแผนให้ดีว่าจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนนั้นในช่วงระยะเวลาการลงทุน ส่วนกองทุนเปิด เป็นกองทุนรวมที่บลจ. รับขายและซื้อหน่วยลงทุนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในโครงการ โดยบางกองทุนเปิดให้ซื้อขายได้ทุกวันทำการ หรือบางกองทุนซื้อขายได้รายสัปดาห์ ซึ่งทำให้นักลงทุนในกองทุนเปิดมีสภาพคล่องมากกว่ากองทุนปิด Trigger fund คือ กองทุนที่มีเป้าหมายการทำกำไรภายในระยะเวลาที่แน่นอน เช่น 8% ภายใน 8 เดือน หากครบกำหนดแล้วยังไม่สามารถทำกำไรได้ตามเป้าหมาย กองทุนอาจเปลี่ยนสภาพเป็นกองทุนเปิด หรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน หรือสลับไปลงทุนในกองทุนอื่น ทั้งนี้แล้วแต่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน
คำศัพท์เทคนิคด้านการเลือกกองทุน
ในการเลือกกองทุน ผู้ลงทุนสามารถหารายละเอียดของกองทุนได้จากหนังสือชี้ชวน โดยมีสาระสำคัญ เช่น นโยบายการลงทุน ซึ่งจะกล่าวถึงแนวทางที่ผู้จัดการกองทุนจะนำเงินลงทุนจากนักลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด เช่น กองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารตลาดเงิน กองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ นโยบายการลงทุนนี้มีผลกับความเสี่ยงของกองทุน หรือโดยทั่วไปก็คือ ความผันผวนของราคาสินทรัพย์ในกองทุนนั่นเอง เช่น กองทุนพันธบัตรรัฐบาลมีความเสี่ยงต่ำกว่ากองทุนทองคำ เนื่องจากพันธบัตรมีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างคงที่ ในขณะที่ราคาทองที่มีราคาขึ้นลงทุกวัน
คำศัพท์เทคนิคด้านการซื้อขายกองทุน
สำหรับการซื้อขายหน่วยลงทุน ราคาหน่วยลงทุนสำหรับซื้อขายครั้งแรก (IPO) จะถูกระบุอยู่ในหนังสือชี้ชวน แต่หากเป็นการซื้อขายหลังจากระยะเปิดโครงการแล้ว เราสามารถตรวจสอบราคาซื้อขายได้จากเว็บไซต์ของบลจ. มูลค่าหน่วยลงทุน หรือ NAV (เอ็นเอวี) หมายถึง มูลค่าจริงของหน่วยลงทุน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มูลค่าสินทรัพย์สุทธิหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของกองทุนรวมนั้น ณ วันที่ทำการคำนวณ (NAV Date) โดยหากเราต้องการจะซื้อหน่วยลงทุนให้ดูที่ ราคาขายหน่วยลงทุน (Offer) ซึ่งเป็นราคา NAV หักด้วยค่าธรรมเนียมการขาย (ถ้ามี) ในทางตรงข้าม หากต้องการจะขายหน่วยลงทุนให้ดูที่ ราคารับซื้อหน่วยลงทุน (Bid) ซึ่งก็คือ NAV บวกด้วยค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน (ถ้ามี) เช่นเดียวกันกับการสับเปลี่ยนกองทุนทั้งในกรณีสับเปลี่ยนเข้า หรือสับเปลี่ยนออกที่อาจมีค่าธรรมเนียมเช่นกัน การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน คือ การขายคืนหน่วยลงทุนจากกองทุนหนึ่งเพื่อซื้อหน่วยลงทุนของอีกกองทุนหนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มบลจ.เดียวกัน โดยรายการทั้งสองจะเกิดขึ้นภายในวันเดียวกัน และไม่มีขั้นตอนในการรอรับค่าขายคืนหน่วย เพื่อนำเงินไปซื้อหน่วยของอีกกองทุน
คำศัพท์เทคนิคด้านรายละเอียดกองทุน
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ การขาย หรือการสับเปลี่ยนเงินทุนล้วนแล้วแต่มีมูลค่าขั้นต่ำ โดยรายละเอียดจะถูกระบุอยู่ในหนังสือชี้ชวน การซื้อขายกองทุนรวมสามารถทำได้เป็นจำนวนของหน่วยลงทุน หรือเป็นจำนวนเงิน สำหรับการขายหน่วยลงทุนนั้น ระยะเวลาการรับเงินจากการขายหน่วยลงทุน มักจะระบุเป็น T+จำนวนวัน เช่น ขายหน่วยลงทุนในวันพุธ โดยกองทุนกำหนดระยะเวลาโอนเงิน T+4 วันทำการ หมายความว่า เราขายหน่วยลงทุนในราคาขาย ณ สิ้นวันทำการในวันพุธ (T) แต่เงินจะโอนเข้าบัญชีในวันที่ 4 หลังจากวันที่คำสั่งขายได้รับการยืนยัน ซึ่งก็คือ วันอังคารในสัปดาห์ถัดไปนั่นเอง เพื่อความสะดวกในการซื้อขายกองทุนนั้นเราสามารถผูกบัญชีกองทุนกับบัญชีธนาคารของเรา เพื่อให้กองทุนหักเงินออกหรือโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมการโอน หรือที่เรียกว่า ระบบบัญชี ATS - Automatic Transfer System ครับ
นอกจากผลกำไรที่ได้จากส่วนต่างของราคาซื้อกับราคาขายหรือที่เรียกว่า Capital Gain แล้ว หากเป็นกองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล (Dividend) ผู้ถือหน่วยลงทุนก็จะได้รับเงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงาน
ผู้ถือหน่วยลงทุนจะมีสิทธิ์ได้รับเงินปันผลตามจำนวนหน่วยลงทุนที่ถือครอง ก็ต่อเมื่อมีการถือหน่วยลงทุน
ณ วันที่ปิดสมุดทะเบียน หรือที่เรียกว่า วัน XD
โดยกองทุนจะประกาศจ่ายเงินปันผลล่วงหน้า เพื่อให้ข้อมูลของประมาณการของเงินปันผลที่จะจ่ายวัน XD และวันที่จ่ายปันผล
เมื่อมีผลตอบแทน แล้วมีค่าใช้จ่ายหรือไม่ คำตอบคือ มีครับ การบริหารกองทุนรวมมีรายจ่าย หรือที่เรียกว่า ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม ซึ่งรายละเอียดจะถูกเขียนอยู่ในหนังสือชี้ชวน โดยหลักแล้วจะมีสองส่วนครับ ส่วนแรก คือ ค่าธรรมเนียมการจัดการในการบริหารเงินลงทุนของกองทุน ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะถูกคิดจากกองทุนรวม ซึ่งทำให้มีผลต่อค่า NAV อีกส่วนหนึ่ง คือ ค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุน และค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ซึ่งก็คือ ค่าธรรมเนียมที่เราต้องเสียเพิ่มจาก NAV เมื่อทำการซื้อหน่วยลงทุน หรือหักออกจากเงินที่ได้จากการขายหน่วยลงทุน
เราสามารถตรวจสอบดูผลการดำเนินงานของกองทุนเพื่อดูความสม่ำเสมอในการทำรายได้จากผลการดำเนินงานย้อนหลัง ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบ NAV ในปัจจุบัน กับ NAV ของแต่ละช่วงเวลาในอดีต โดยคำนวณเป็น % เช่น 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี และตั้งแต่เริ่มจัดตั้ง ทั้งนี้พึงตระหนักว่า ผลการทำงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงการดำเนินงานในอนาคต เพราะผลการดำเนินงานขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้จัดการกองทุน ซึ่งสามารถมีการเปลี่ยนแปลงบุคคลกันได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อดูความสามารถของผู้จัดการกองทุน เราสามารถนำผลการดำเนินงานของกองทุน ไปเปรียบเทียบกับ เกณฑ์มาตรฐาน หรือ benchmark เช่น ใช้ SET Index / SET 50 Index เป็น benchmark ของกองทุนรวมหุ้น SET 50 หรือ ใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เป็น benchmark สำหรับกองทุนรวมตลาดเงิน อย่าลืมว่าในการเปรียบเทียบกับ benchmark นั้นต้องเปรียบเทียบภายใต้กรอบเวลาเดียวกัน เช่น เปรียบเทียบตัวเลขเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว กับปัจจุบัน SET Index เพิ่มขึ้น 3% ในขณะที่ NAV ของกองทุนเพิ่มขึ้น 5% แสดงว่ากองทุนทำผลงานชนะตลาดครับ
วันนี้ได้ศัพท์เทคนิคกันไปมากมาย หวังว่าเพื่อน ๆ นักลงทุนมือใหม่จะมีความเข้าใจในกองทุนรวม และมีความมั่นใจมากขึ้นนะครับ