ติดดอยคืออะไร ทำไมใคร ๆ ก็กลัว
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ติดดอยคืออะไร ทำไมใคร ๆ ก็กลัว

icon-access-time Posted On 10 เมษายน 2560
By พรทิพย์ กองชุน
ร้อนอย่างนี้ หนีไปเที่ยวดอยกันดีกว่า! แต่มีคนกลุ่มหนึ่งเข็ดขยาดหรือกลัวกันมากที่จะขึ้นดอย นั่นก็คือนักลงทุนทั้งหลาย เพราะอะไรเหรอคะ ก็เพราะว่าคำว่า “ติดดอย” นั้นเป็นคำแสลงของนักเล่นหุ้นที่มักจะพูดกัน เวลาที่ซื้อหุ้นมาในราคาที่สูงหรือราคาแพงมาก เสมือนขึ้นไปอยู่บนยอดดอยนั่นแหละ แต่พอจะขาย ราคาหุ้นมันดันร่วงต่ำลงมาอย่างมาก และมีแนวโน้มต่ำลงเรื่อย ๆ จนใกล้จะถึงตีนดอยกันเลย ทำให้ตัดสินใจขายไม่ได้ เพราะต้องขาดทุนหนักแน่ ๆ ได้แต่ทำใจถือไปเรื่อย ๆ ถ้าคุณมีหุ้นแบบนี้ คุณก็ได้ไปเที่ยวและติดอยู่บนดอยแล้วล่ะค่ะ
ร้อนอย่างนี้ หนีไปเที่ยวดอยกันดีกว่า! แต่มีคนกลุ่มหนึ่งเข็ดขยาดหรือกลัวกันมากที่จะขึ้นดอย นั่นก็คือนักลงทุนทั้งหลาย เพราะอะไรเหรอคะ ก็เพราะว่าคำว่า “ติดดอย” นั้นเป็นคำแสลงของนักเล่นหุ้นที่มักจะพูดกัน เวลาที่ซื้อหุ้นมาในราคาที่สูงหรือราคาแพงมาก เสมือนขึ้นไปอยู่บนยอดดอยนั่นแหละ แต่พอจะขาย ราคาหุ้นมันดันร่วงต่ำลงมาอย่างมาก และมีแนวโน้มต่ำลงเรื่อย ๆ จนใกล้จะถึงตีนดอยกันเลย ทำให้ตัดสินใจขายไม่ได้ เพราะต้องขาดทุนหนักแน่ ๆ ได้แต่ทำใจถือไปเรื่อย ๆ ถ้าคุณมีหุ้นแบบนี้ คุณก็ได้ไปเที่ยวและติดอยู่บนดอยแล้วล่ะค่ะ
 

ไปติดอยู่บนดอยกันได้ไง


ก็เพราะดันไปซื้อหุ้นตอนที่ราคามันเกือบจะสูงสุดของวงจรราคาหุ้นน่ะสิ เหตุการณ์นี้มักจะเกิดกับคนที่ซื้อหุ้นโดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลของหุ้นตัวนั้นอย่างดีพอ หลายคนไม่สามารถบอกได้ว่า ราคาหุ้นนั้นถูกหรือแพง รู้แค่ว่า มีคนมาบอกข่าวดี ก็ไปไล่ซื้อหุ้นตัวนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนซื้อหุ้น ควรจะศึกษา วิเคราะห์ดูว่า หุ้นตัวนั้นเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดีหรือไม่ ราคาที่เหมาะสมที่ควรเข้าซื้อเป็นเท่าไหร่
มาดูตัวอย่างกันจากภาพนี้ค่ะ หากเราซื้อหุ้นตัวนี้ในช่วงก่อนหรือช่วงจุดยอดดอยในเดือนพฤษภาคม ปี 2013 ราคาหุ้นอยู่ที่ 15 บาท (Jitta Line เส้นสีฟ้า) ซึ่งเป็นราคาที่แพงกว่าราคาที่เหมาะสม หรือ Fair price (Jitta Line เส้นประสีดำ) อยู่มาก หลังจากนั้นราคาได้ร่วงต่ำลงอย่างรวดเร็ว และลดลงมาเรื่อย ๆ ถ้าเรายังถืออยู่ก็จะติดดอย และขาดทุนสูงถึง 86% กันเลยทีเดียว
กราฟหุ้นจาก jitta.com
ตัวอย่างกราฟหุ้นจาก jitta.com
ในทางกลับกัน หากเรารู้ว่าหุ้นตัวนี้เป็นหุ้นที่คุณภาพไม่ดี และราคาหุ้นแพงกว่าราคาที่เหมาะสมของหุ้นไปมาก เราก็จะไม่ซื้อหุ้นนี้ตั้งแต่แรก หรือเมื่อซื้อแล้วก็จะปรับพอร์ตได้ทัน เช่น ในไตรมาสที่ 3 หรือ 4 ของปี 2013 นั้น ราคาที่เหมาะสมของหุ้นตัวนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง พื้นฐานหุ้นก็เปลี่ยนไป เราก็ขายออกจากพอร์ตได้ ไม่ถือต่อโดยหลอกตัวเองว่าหุ้นจะกลับขึ้นมาอีก เรียกว่า ไถลลงจากดอยแบบไม่เจ็บตัวหนัก
แล้วจะลงจากดอยแบบซื้อถัวเฉลี่ยขาลงได้ไหม วิธีนี้จะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อเรามั่นใจว่าราคาที่ลดลงมานั้นไม่เกี่ยวข้องกับผลการดำเนินงานของบริษัทที่ยังคงดีอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น แต่หากไปดูหลายปัจจัย เช่น ผลกำไรขาดทุน แนวโน้มของธุรกิจที่จะไม่มีแววไปได้อีก เราก็ประเมินได้ว่าราคาหุ้นจะแย่ลง ๆ ก็ไม่ควรไปซื้อเพิ่ม เพราะเราจะยิ่งขาดทุนหนักขึ้น อาจจะเป็นการไปถมดอยอินทนนท์ ให้เป็นยอดเขาเอเวอเรสต์ได้นะคะ
 

ไม่อยากขึ้นลงดอยบ่อย ๆ ต้องทำอย่างไร


1. เลือกลงทุนในหุ้นดี ราคาถูก ไว้ก่อน

เลือกลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพ มีผลประกอบการที่ดีต่อเนื่องมาหลายปี หากใครอ่านงบการเงินหรือวิเคราะห์พื้นฐานหุ้นไม่เป็น แนะนำให้ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ ที่ใช้เทคโนโลยีประมวลผลจากงบการเงิน เช่น ในกรณีของ Jitta ให้เลือกลงทุนในบริษัทที่มี Jitta Score มากกว่า 5 (คะแนนเต็ม 10) และราคาหุ้นอยู่ต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสม (ต่ำกว่า Jitta Line) เพราะนั่นคือหุ้นที่พื้นฐานดี และราคายังถูก (undervalued) ยิ่งต่ำกว่าเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะความเสี่ยงก็จะต่ำลงไปด้วย
ที่สำคัญให้เลือกลงทุนในหุ้นหลายตัวเพื่อกระจายความเสี่ยงในการขาดทุน เพราะต่อให้เราเลือกลงทุนในหุ้นที่ดี ในราคาที่เหมาะสมแล้ว ก็ยังมีความเสี่ยงได้เสมอ ดังนั้น การซื้อหรือทุ่มเงินไปกับหุ้นตัวเดียว มีความเสี่ยงสูงมากที่จะขาดทุน ควรกระจายให้มีหุ้นในพอร์ตอย่างน้อย 5 บริษัท เพราะหากมีหุ้นใดติดดอยขาดทุน เราก็ยังสามารถทำกำไรจากหุ้นตัวอื่นได้อยู่

2. ติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทนั้น

ในอนาคตอะไร ๆ ก็ไม่แน่นอน บริษัทที่เคยทำผลงานดี อาจจะแย่ลงเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะฉะนั้นหลังจากที่เราได้เลือกลงทุนในบริษัทที่ดีตามข้อ 1 แล้ว เราก็อย่างนิ่งนอนใจ จะต้องติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ (Follow) ติดตามฐานะทางการเงินของบริษัททุกไตรมาสว่า ยังมีความสามารถในการทำกำไรดีเหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า

3. ปรับกลยุทธ์เมื่อราคาหุ้นลดต่ำลง

เมื่อราคาหุ้นร่วงต่ำลงมาในระดับที่ผิดปรกติ เราต้องพิจารณาก่อนว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลงแบบชั่วคราวหรือถาวร เพราะราคาหุ้นอาจผันผวนตามตลาด หรือมีข่าวร้ายมากระทบ แต่ผลประกอบการหรือภูมิต้านทานของบริษัทยังดีอยู่ เราก็ไม่ต้องทำอะไร รอให้ราคาหุ้นกลับมา แต่หากเป็นเพราะพื้นฐานของบริษัทเปลี่ยน ขาดทุนต่อเนื่อง เราก็ตัดสินใจขายเพื่อนำเงินไปลงทุนในบริษัทที่ดีกว่า
คุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ มีกฎ 2 ข้อในการลงทุน นั่นคือ 1. ห้ามขาดทุน และ 2. อย่าลืมกฎข้อแรก ดังนั้นถ้าจะให้ดี ก็ไม่ควรขาดทุนหรือขาดทุนให้น้อยที่สุด เพราะเรายังมีโอกาสทำกำไรแล้วกลับมามีเงินต้นเท่าเดิมได้ เช่น ขาดทุนสัก 20% ต้องมีกำไร 25% ถึงจะได้เงินต้นเท่าเดิม ซึ่งพอจะมีความเป็นไปได้ แต่หากเราขาดทุนมากกว่านั้น การทำกำไรเพื่อให้มีต้นทุนเท่าเดิมจะยิ่งยากขึ้น จนเราท้อและต้องถอยออกจากตลาดไปเลย
สติค่ะสติ สิ่งที่สำคัญในการลงทุน นักลงทุนควรตัดอารมณ์ ตัดความกลัวแล้วใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ มีสติในการเลือกบริษัทที่จะลงทุน อย่าเชื่อข่าวลือ เมื่อเกิดปัญหาหรือสิ่งไม่คาดฝันก็จงใช้สติเป็นเครื่องนำทางในการแก้ปัญหา หากมีเวลาก็อ่านบทความเสริมความรู้เรื่องหุ้นและการลงทุนเพิ่มเติม หากเราทำได้ตามนี้ก็จะทำให้เราลงทุนได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น จะได้ไม่ต้องไปเที่ยวดอยบ่อย ๆ นะคะ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา