“ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน” ประโยคที่เหล่านักลงทุนมักคุ้นหูกันดี เพราะแน่นอนว่าการที่เราจะตัดสินใจจะลงทุนอะไรสักอย่างนั้นมักมาพร้อมความเสี่ยงเสมอ โดยการลงทุนที่ยอดนิยมหลัก ๆ คงหนีไม่พ้นการลงทุนหุ้น หรือกองทุนรวม ซึ่งทั้ง 2 ต่างก็มีความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป โดยที่ทั้งหุ้นและกองทุนรวมต่างก็มีวิธีการลงทุนที่แตกต่างกันออกไป และแน่นอนว่าวิธีดำเนินงานก็มีความแตกต่างกัน เช่นเดียวกับสิ่งที่คุณคาดหวังได้ในระยะยาว
แล้วความเสี่ยงที่ใคร ๆ ก็กังวลเหล่านั้นคืออะไรล่ะ? มันคงจะดีกว่าหากบทความนี้ขออาสาพาเหล่านักลงทุนทุก ๆ ท่านไปไขข้อควรรู้สู้ความเสี่ยงระหว่างการลงทุนใน “หุ้น” และ “กองทุนรวม” 2 รูปแบบการลงทุนที่มักได้รับความนิยมเป็นส่วนใหญ่ โดยก่อนอื่นเราจะพาทุก ๆ ท่านไปรู้จักกับ
“หุ้น” ก่อน
หุ้น และกองทุนแตกต่างกันอย่างไร?
หุ้น คือ หลักทรัพย์ที่แสดงความเป็นเจ้าของส่วนหนึ่งในบริษัทนั้น ๆ โดยราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงได้จากหลายปัจจัย ตัวอย่างเช่น ผลประกอบการของบริษัท สภาวะเศรษฐกิจความคาดหวังของนักลงทุน เป็นต้น หรือหากพูดแบบให้เข้าใจได้ง่าย ๆ สมมติว่าถ้าเราอยากเป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่ ๆ สักธุรกิจ เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำธุรกิจเหล่านั้นเอง เพราะการเปิดกิจการเองไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีเงินทุนในการตั้งกิจการ ต้องซื้อวัตถุดิบในการผลิตสินค้า ต้องจ้างพนักงาน ต้องทำการตลาด และอื่น ๆ อีกมากมายหลายอย่าง เราสามารถนำเงินไปลงทุนในหุ้นธุรกิจต่าง ๆ ที่เราใฝ่ฝันได้ผ่านตลาดหุ้น โดยเงินลงทุนตั้งต้นที่ใช้ก็น้อยกว่า แถมไม่ต้องบริหารกิจการเอง ให้ผู้บริหารของกิจการเหล่านั้นซึ่งมีความรู้ความสามารถในธุรกิจนั้น ๆ อยู่แล้วเป็นคนบริหาร ส่วนนักลงทุนอย่างเราก็รอรับเงินปันผลเมื่อกิจการมีผลการดำเนินงานที่ดีหรือมีกำไรนั่นเอง ไม่ใช่เพียงเฉพาะมือใหม่ นักลงทุนทุกคนควรทำความเข้าใจก่อนการลงทุน เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง
เราก็มาต่อกันที่
“กองทุนรวม”
กองทุนรวม คือ การระดมเงินจากเหล่านักลงทุนหลาย ๆ คน นำไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพื่อจัดตั้งกองทุนเหล่านั้นขึ้นมา โดยมี “ผู้จัดการกองทุน” เป็นคนที่คอยบริหารการลงทุนให้นั่นเอง ข้อดีหลัก ๆ ของกองทุนรวม คือ มีหลากหลายนโยบายการลงทุนให้เลือก ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ น้ำมัน เป็นต้น จึงสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกระจายความเสี่ยงได้ อีกทั้งใช้เงินลงทุนไม่มาก แค่เพียง 500 บาท ก็เริ่มต้นลงทุนได้แล้วสำหรับบางกองทุน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกองทุนรวม
เมื่อเราทำความรู้จักกับทั้ง 2 ไปแล้วเราก็มาเข้าสู่หัวใจหลักของบทความนี้กันเลย นั่นก็คือความเสี่ยงของ “หุ้น” และ “กองทุนรวม”
โดยเราจะเริ่มเล่าจากความเสี่ยงของการลงทุนใน “หุ้น” กันก่อน ซึ่งความเสี่ยงจะขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดหุ้นในช่วงเวลานั้น ๆ
และในส่วนความเสี่ยงของการลงทุนใน “กองทุนรวม” จะขึ้นอยู่กับ
1. ความเสี่ยงจากภาวะตลาด (Market Risk) ตรงนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ, การเมือง หรือสังคม ที่อาจส่งผลต่อภาคธุรกิจ จนทำให้ภาวะตลาดเปลี่ยนแปลงไปจนมีผลกระทบต่อสินทรัพย์ที่กองทุนได้ลงทุนไว้
2. ความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business Risk) ความเสี่ยงที่เกิดจากการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ (หุ้น) เนื่องมาจากผลการดำเนินงานหรือฐานะการเงินรวมทั้งความสามารถในการทำกำไรและนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทผู้ออกหุ้น ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อราคาซื้อ/ขายหุ้น
ถัดมาเรื่องของผลตอบแทนจากการลงทุน เริ่มจากการลงทุนในหุ้นกันก่อน
ผลตอบแทนจากการ “ลงทุนหุ้น”
การลงทุนในหุ้นเปิดโอกาสในการรับผลตอบแทนที่น่าสนใจ โดยเรามีโอกาสได้รับทั้ง
เงินปันผล (Dividend) หากบริษัทที่เราลงทุนมีผลประกอบการที่ดีและมีการจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุน รวมถึงมีโอกาสได้รับกำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้น (Capital Gain) จากการขายหุ้นในราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อมาตอนแรก
เรามาต่อกันที่ผลตอบแทนจาก “กองทุนรวม”
การ
ลงทุนในกองทุนรวมก็เปิดโอกาสในการรับผลตอบแทนลักษณะเดียวกับการลงทุนในหุ้น คือ มีทั้งในรูปของเงินปันผล (Dividend) หากกองทุนที่เราลงทุนมีนโยบายจ่ายเงินปันผล และในรูปกำไรส่วนเกินมูลค่าหน่วยลงทุน (Capital Gain) เมื่อขายคืนหน่วยลงทุนให้กับบริษัทจัดการในราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อมาตอนแรก
อ่านมาถึงตรงนี้เพื่อให้นักลงทุนเห็นภาพได้ง่ายขึ้น เรามาสรุปกันว่าการลงทุนแบบไหนเหมาะสมกับใคร
หุ้น
- เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง
- เหมาะกับคนมีเวลาศึกษาเรื่องของการลงทุน
กองทุนรวม
- เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ทุกระดับ เนื่องจากมีหลากหลายสินทรัพย์ให้เลือกลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
- เหมาะกับคนไม่ค่อยมีเวลา มืออาชีพคอยบริหารจัดการลงทุนให้
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจลงทุนกับอะไรเราอยากฝากไว้ว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง แต่เราจะเผชิญกับความเสี่ยงที่ยิ่งกว่าหากเราเลือกการลงทุนที่ไม่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตัวเราเอง
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน