เลือกหุ้นตามกูรูหุ้น
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เลือกหุ้นตามกูรูหุ้น

icon-access-time Posted On 27 พฤษภาคม 2564
By นิ้วโป้ง อธิป กีรติพิชญ์
ช่วงปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากช่วงต้นโควิด และยังได้รับแรงส่งจากกระแสหุ้นไอพีโอที่ร้อนแรง จึงมีนักลงทุนหน้าใหม่จำนวนมากมุ่งสู่ตลาดหุ้น โดยพกพากระบวนท่า อาวุธ วิธีคิด และแทคติคที่หลากหลาย เพื่อมาใช้ในสนามการลงทุน ที่ทุกคนเดิมพันกันด้วยเงินจริง ซึ่งมีนักลงทุนจำนวนไม่น้อย เลือกใช้วิชาปัจจัยพื้นฐาน หรือสายเน้นคุณค่าแบบวีไอ (Value Investing) ซึ่งเป็นหนึ่งในสายการลงทุน ที่ได้รับความนิยมอย่างมากไปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย
ช่วงปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากช่วงต้นโควิด และยังได้รับแรงส่งจากกระแสหุ้นไอพีโอที่ร้อนแรง จึงมีนักลงทุนหน้าใหม่จำนวนมากมุ่งสู่ตลาดหุ้น โดยพกพากระบวนท่า อาวุธ วิธีคิด และแทคติคที่หลากหลาย เพื่อมาใช้ในสนามการลงทุน ที่ทุกคนเดิมพันกันด้วยเงินจริง ซึ่งมีนักลงทุนจำนวนไม่น้อย เลือกใช้วิชาปัจจัยพื้นฐาน หรือสายเน้นคุณค่าแบบวีไอ (Value Investing) ซึ่งเป็นหนึ่งในสายการลงทุน ที่ได้รับความนิยมอย่างมากไปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย
 
การลงทุนแบบเน้นคุณค่า คือ การเลือกลงทุนกับกิจการที่แข็งแกร่ง มั่นคง มีโอกาสจะเติบโตในระยะยาว มีรายได้เพิ่ม กำไรเพิ่ม และราคายังต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง หากเราสามารถค้นพบหุ้นลักษณะนี้ให้ทยอยลงทุน และถือไว้ระยะยาว จะสร้างกำไรได้มหาศาล
 
นักลงทุนต้นแบบของสายวีไอ ปัจจัยพื้นฐาน ที่เรามักจะคุ้นเคยกันในระดับโลกมีหลายคน แต่ที่เป็นที่รู้จักและเป็นผู้เผยแพร่ความรู้ความคิดทางการลงทุนเป็นวงกว้าง น่าจะต้องมีชื่อกูรูทั้ง 3 คนนี้ เราไปศึกษาแนวคิดการลงทุน ในแบบกูรูทั้งสามท่านนี้กันเลยครับ!

1. ฟิลิป ฟิชเชอร์ (Philip Fisher)

 
  • นักลงทุนชาวอเมริกันที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง เป็นที่รู้จักจากผลงานการเขียนหนังสือ Common Stocks and Uncommon Profits ที่ยังคงตีพิมพ์มาตลอดนับตั้งแต่มีการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1958 ที่เป็นที่รู้จักของนักลงทุนไปทั่วโลก เป็นผู้ก่อตั้งกองทุน Fisher & Co และลูกชายของเขา Ken Fisher ก็เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทจัดการลงทุนชื่อดัง Fisher Investments
  • เป็นนักลงทุนที่เสนอแนวคิดการลงทุนเพื่อการเติบโต (growth investing) คนแรก ๆ เป็นผู้ที่รับรู้ถึงศักยภาพในการเติบโตของหุ้นจากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน เชื่อกันว่าเขาเป็นหนึ่งในสองกูรูที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ใช้ยึดถือเป็นแบบอย่างในการลงทุน (อีกคนหนึ่งคืออาจารย์ของบัฟเฟต “เบนจามิน เกรแฮม”)
  • หุ้นที่เขาชื่นชอบ คือหุ้นของกิจการที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่นยืน (Durable Competitive Advantage) สามารถสร้างการเติบโตให้กับบริษัทและผู้ถือหุ้นได้อีกมากในอนาคต เมื่อเจอแล้วก็จะถือหุ้นเหล่านี้เป็นระยะเวลานานมาก
  • เวลาที่จะขายหุ้นที่ยอดเยี่ยม ก็ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขหนึ่งในสามข้อนี้ คือ หนึ่ง บริษัทสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน สอง พบโอกาสที่ดีกว่าในธุรกิจอื่น และ สาม บริษัทไม่สามารถเติบโตกว่าอุตสาหกรรมได้อีก
  • ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการซื้อหุ้นที่ยอดเยี่ยม คือ ในยามที่เกิดเหตุร้ายกับบริษัทเป็นการชั่วคราว ตลาดตกต่ำและตกใจเป็นการชั่วคราว เช่น โรคระบาด เหตุการณ์ไม่สงบ ภัยธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งทำให้ราคาหุ้นตกลงไปอย่างมีนัยสำคัญ และจะฟื้นขึ้นได้เมื่อเหตุร้ายเหล่านั้นผ่านไป หลังจากที่ซื้อมาถือไว้แล้ว ก็ให้ติดตามผลการดำเนินงานและพัฒนาการของกิจการอย่างใกล้ชิด จงถือหุ้นดีที่ต้นทุนต่ำเหล่านั้นไว้ตราบเท่าที่มันยังเป็นบริษัทที่ดี
  • หลายคนสงสัยว่า “การติดตามผลการดำเนินงานและพัฒนาการของกิจการ” ให้ทำอย่างไร นอกจากการติดตามผลการดำเนินงานผ่านงบการเงินแล้ว ฟิชเชอร์ยังแนะนำวิธีการ Scuttlebutt ที่แปลความหมายได้ว่า “สืบเสาะเจาะข้อมูล” มันคือการหาข้อมูลของบริษัทที่เราสนใจลงทุน ติดตามในทุกแง่ทุกมุม ตั้งแต่ลองใช้สินค้าหรือบริการของบริษัท เทียบกับคู่แข่ง สังเกตจากพนักงาน หน้าร้าน ผู้บริหาร ฯลฯ
  • การได้ข้อมูลเชิงลึกจากประสบการณ์ใช้จริงเหล่านี้ แม้จะใช้เวลามาก แต่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะถ้าเราไม่รู้จักบริษัทที่เรากำลังจะนำเงินจริงไปลงทุน จะไม่สามารถลงทุนได้อย่างมั่นใจ สิ่งสำคัญที่ฟิชเชอร์แนะนำ คือ เราควรจะเข้าใจในธุรกิจที่กำลังลงทุนให้มากที่สุดนั่นเองครับ

2. วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffet)

 
  • ผู้ก่อตั้งบริษัท Berkshire Hathaway และเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของโลก ซึ่งติดอันดับในรายชื่อมหาเศรษฐีของฟอร์บส์มาอย่างต่อเนื่อง มีชื่อเสียงในหลากหลายบทบาท ทั้งในฐานะนักธุรกิจ นักลงทุน และผู้ใจบุญ
  • ความมั่งคั่งของเขาเกิดจากการบริหารการลงทุนที่ยอดเยี่ยม โดยเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่อายุ 11 ปี และก่อตั้งกองทุนของตัวเองตั้งแต่อายุ 26 ปี ประสบการณ์การลงทุนอันยาวนานและความสำเร็จที่จับต้องได้ ทำให้เขาได้รับการยอมรับในฐานะนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน
  • ในทุก ๆ ปี บัฟเฟตต์จะประกาศผลการดำเนินงานของ Berkshire ผ่านจดหมายถึงผู้ถือหุ้นของ Berkshire Hathaway ที่เขียนถึงนักลงทุน นอกจากเรื่องผลประกอบการแล้ว สิ่งที่หลายคนเฝ้ารอก็คือ หลักคิดด้านการลงทุนของเขา ที่อัพเดทขึ้นตามกาลเวลา และแฝงข้อคิดบางอย่างเสมอ ซึ่งมีประโยชน์ต่อนักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐานอย่างยิ่ง
  • กลยุทธ์การลงทุนของวอร์เรนบัฟเฟตต์จัดว่าเป็น “ระดับตำนาน” เขาเผยแพร่ปรัชญาการลงทุนและหลักการที่สำคัญหลายอย่าง ที่มีการปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบแนวคิดการลงทุนของบัฟเฟตต์มาก เมื่อพิจารณาดูจะพบกว่าหลักการต่าง ๆ มีความสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง
  • หลักการลงทุนของบัฟเฟตต์ ที่น่าศึกษาและนำมาปรับใช้ในการลงทุนมีมากมาย เช่น
    • เราซื้อธุรกิจไม่ใช่ซื้อหุ้น จงจำไว้ว่าเมื่อคุณซื้อหุ้น คุณได้ซื้อส่วนหนึ่งของธุรกิจนั้นจริง ๆ เพราะหุ้นคือส่วนหนึ่งของกิจการ
    • จงตัดสินใจลงทุนด้วยตัวคุณเอง ไม่ควรลงทุนโดยฟังจากผู้เชี่ยวชาญในตลาด (นักวิเคราะห์ โบรคเกอร์) โดยปราศจากการคิดวิเคราะห์เอง ต้องเชื่อตัวเองด้วย
    • จงหาข้อมูล ศึกษา และวิเคราะห์ เมื่อได้ข้อมูลกิจการมาเราต้องนำมาวิเคราะห์ และตัดสินใจด้วยเหตุผล รวมทั้งต้องศึกษาพื้นฐานของบริษัทให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน
    • จงเลือกความเรียบง่ายมากกว่าความซับซ้อน เมื่อลงทุน ทำให้เรียบง่ายและชัดเจน อย่าพยายามทำให้มันซับซ้อนโดยไม่จำเป็น
    • จงมีสติและวินัยอยู่เสมอ ในยามที่ตลาดมีความผันผวนสุดโต่ง จงตั้งสติและมีวินัย ปล่อยให้คนอื่น ๆ ตื่นตกใจไปกับตลาด ไม่ว่าจะขึ้นหรือลง สติและวินัยคือสิ่งสำคัญ เมื่อปัจจัยต่าง ๆ ในตลาดหุ้นไม่ได้เป็นไปตามที่คาดไว้ในตอนแรก อย่าอ่อนไหวไปกับความผันผวนของตลาดโดยขาดสติ แล้วเมื่อตลาดสงบกลับเข้าสมดุล เราจะได้ประโยชน์จากมัน
    • จงอดทน การลงทุนคือการหาบริษัทดี ๆ ไม่กี่บริษัท (เช่น 5 บริษัท) ทยอยซื้อแล้วอยู่กับมัน คุณต้องหาบริษัทที่ดีมาก ๆ ให้เจอ ลงทุนแล้วถือมันไว้ให้นาน และเมื่อเวลาที่มันราคาตกก็ทยอยซื้อเก็บไว้ รอให้ผู้คนในตลาดค่อย ๆ มองเห็นมูลค่าที่แท้จริง
    • จงมองหาบริษัทที่มีแฟรนไชส์ บริษัทที่มีแฟรนไชส์ คือ ธุรกิจที่มีสิทธิพิเศษบางอย่างและสามารถรับประกันความสำเร็จของธุรกิจได้ เสมือนธุรกิจที่มีกำแพงและคูเมืองล้อมรอบ สามารถป้องกันและต้านทานศัตรูคู่แข่งได้
    • จงลงทุนในธุรกิจที่เข้าใจง่าย หรือคุณเข้าใจมันดี บัฟเฟตต์ชอบธุรกิจที่สามารถทำความเข้าใจง่าย มั่นคงด้วยกระแสเงินสดที่พอจะประมาณการได้ ไม่มีหวือหวาเหวี่ยงขึ้นลงจนเกินไป แต่เป็นธุรกิจที่ดี เข้มแข็งและไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง มีรายได้และผลกำไรที่เติบโตขึ้นทุก ๆ ปี
    • อย่าจับจ้องที่ราคาหุ้นจนเกินไป ถ้าคุณเป็นเจ้าของหุ้นในธุรกิจที่ดี คุณไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับราคาหุ้นในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวนั้น พื้นฐานธุรกิจจะเป็นผู้กำหนดราคาหุ้นเอง

3. ปีเตอร์ ลินช์ (Peter Lynch)

ปีเตอร์ ลินช์ (Peter Lynch)
ปีเตอร์ ลินช์ (Peter Lynch)
 
ปีเตอร์ ลินช์ (Peter Lynch)
www.amazon.com
  • นักลงทุนและผู้จัดการกองทุน Magellan Fund สังกัดบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน Fidelity Investments สามารถทำผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยต่อปีได้ 29.2% ต่อปี ตลอดช่วงเวลา 13 ปี ที่เขาบริหารกองทุน
  • ปีเตอร์ ลินช์มีผลงานหนังสือหลายเล่ม เช่น Learn to Earn, One Up on Wall Street และ Beat the Street เป็นหนังสือที่ควรค่าแก่การอ่านซ้ำเรื่อย ๆ เพราะทุกครั้งที่อ่านก็จะพบข้อคิดใหม่ ๆ ยิ่งประสบการณ์ด้านการลงทุนของเรามีมากขึ้นก็จะเข้าใจประสบการณ์ที่อธิบายในหนังสือมากยิ่งขึ้น
  • แนวคิดในการลงทุนของปีเตอร์ ลินซ์ มีความเป็นรูปธรรม ปฏิบัติตามได้ง่าย เช่น หลักการ "จงลงทุนในสิ่งที่คุณรู้” ที่ บอกว่านักลงทุนรายย่อยอย่างเรา ๆ ได้เปรียบกว่าผู้จัดการกองทุนที่อยู่ใน Wall Street เพราะไม่ได้นั่งดูแต่ราคาหุ้นในตลาด แต่สามารถใช้ชีวิตประจำวัน ศึกษาสังเกตความเป็นไปของธุรกิจรอบ ๆ ตัวได้ทุกวัน เพื่อจะดูว่าเราควรลงทุนกับอะไร
  • หลักการลงทุนของปีเตอร์ ลินช์ ที่น่าศึกษาและนำมาปรับใช้ในการลงทุนมีมากมาย เช่น
    • ให้เลิกซื้อหุ้นตามผู้เชี่ยวชาญ... ต่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญตลาดหุ้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเลือกหุ้นได้เก่งกว่าคนธรรมดาทั่วไปในทุกครั้ง และการซื้อหุ้นตามผู้เชี่ยวชาญมีข้อเสียหลายอย่าง เช่น เขาอาจจะคิดผิด (ซึ่งไม่แปลก), เขาอาจจะมีต้นทุนที่ต่ำก่อนจะเผยแพร่ข้อมูลแนะนำซื้อ (ต้นทุนเขาต่ำกว่าเรา), และ เขาอาจจะเปลี่ยนใจขายหุ้นไปโดยไม่ได้บอกเราเหมือนตอนแนะนำให้เราเข้าซื้อ
    • จงพยายามเลือกหุ้นด้วยตัวเอง... ไม่ว่าเราจะคิดถูกหรือคิดผิด เราจะรู้ได้ว่าหุ้นที่เราเข้าซื้อ มันน่าซื้อ เพราะเหตุปัจจัยใด เมื่อราคาหุ้นพุ่งขึ้นหรือลดลงไป เมื่อมีปัจจัยใหม่มากระทบ เราจะตัดสินใจได้ว่า ควรจะซื้อ(ถัว) ถือรอ หรือ ขายทิ้งดี แต่ถ้าเราลอกหุ้นจากผู้เชี่ยวชาญมา เราจะไปไม่เป็น เพราะไม่รู้ว่าซื้อหุ้นตัวนี้เพราะอะไรมาตั้งแต่แรก
    • เราไม่จำเป็นต้องเลือกหุ้นถูกตัวทุกครั้ง ...แม้ว่าการเลือกหุ้นให้ถูกตัว เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนดี แต่ไม่จำเป็นต้องเลือกหุ้นถูกแทบทุกครั้ง ถึงจะประสบความสำเร็จ เพราะแม้แต่ปีเตอร์ลินช์เอง ก็เลือกหุ้นผิดตัวบ่อยเช่นกัน ขอให้เลือกหุ้นถูก 6 ใน 10 ครั้ง (ผิดได้ 4 ครั้ง) ก็มากพอที่จะประสบความสำเร็จแล้ว
    • ตัดสินใจท่ามกลางข้อมูลที่ยังไม่ครบถ้วน...จริงอยู่ว่า ในตลาดหุ้นนั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่ถ้ามัวรอให้ทุกอย่างคลี่คลายชัดเจน จนไม่มีความเสี่ยงใด ๆ เหลืออยู่ แล้วค่อยเข้าลงทุน ก็มักจะช้าไปแล้ว คนที่รอจนทุกอย่างดูดีหมดแล้วค่อยกล้าลงทุนมักจะขาดทุน เพราะซื้อหุ้นแพงเสมอ
    • สำหรับนักลงทุนระยะยาว... สิ่งที่คุณไม่ควรทำ คือ พอเจอกับภาวะตลาดหุ้นตกต่ำผันผวนหนัก ก็รีบขายล้างพอร์ตหนีออกมา หรือ พอหุ้นที่ซื้อไปแล้วราคาขึ้นมาได้เพียงเล็กน้อย ก็ทนไม่ไหว รีบขายทำกำไรนิดหน่อยออกมาทันที ทั้งที่ตั้งใจจะลงทุนระยะยาว ปีเตอร์ลินช์บอกไว้ว่า ตลาดหุ้นนั้นเต็มไปด้วยความผันผวนตลอดเวลา หากทำความคุ้นชินกับความผันผวนไม่ได้ ก็เป็นนักลงทุนระยะยาวไม่ได้
    • จงลงทุนอย่างอดทน ... ในระยะสั้น ราคาหุ้นอาจไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ กับพื้นฐานที่แท้จริงของกิจการต่อให้เป็นระยะเวลา 2-3 ปีก็ตาม แต่สุดท้ายแล้ว ราคาหุ้นจะต้องเป็นไปตามพื้นฐานกิจการที่แท้จริงเสมอ อดทนรอให้เป็น และคนที่ขี้ตกใจ ชอบล้างพอร์ตขายทิ้งทุกราคาหนีไปในช่วงที่ตลาดหุ้น crash ทุกครั้ง ไม่เหมาะจะลงทุนในหุ้น
    • จงซื้อหุ้นดีที่ราคาสมเหตุผล…ถ้าคุณเลือกซื้อแต่หุ้นดีที่มีราคาสมเหตุผลเท่านั้น เวลาที่หุ้นส่วนใหญ่ในตลาดมีราคาแพงจัดเป็นฟองสบู่ คุณจะทำใจซื้อหุ้นไม่ลงเองโดยอัตโนมัติ จงเคร่งครัดในกฎข้อนี้
    • หุ้นเติบโตที่ดี ต้องมั่นคงด้วย... เลือกซื้อหุ้นเติบโตที่มีความมั่นคง คือ นอกจากพิจารณาจากโอกาสการเติบโตในอนาคตของธุรกิจนั้นแล้ว มันต้องเป็นธุรกิจที่มีรายได้และกำไรดีพอ และมีงบดุลที่แข็งแกร่งด้วย เพราะนี่คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การเติบโตนั้นเป็นไปอย่างยั่งยืน
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา