เงินน้อย เงินมาก ก็มั่งคั่งได้ด้วย DCA
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เงินน้อย เงินมาก ก็มั่งคั่งได้ด้วย DCA

icon-access-time Posted On 14 มิถุนายน 2559
By Tar Kawin (กวิน สุวรรณตระกูล)
กวิน สุวรรณตระกูล
ผมเชื่อว่า ทุกคนอยากสร้างความร่ำรวยและความมั่งคั่งนะ แต่พอเราพูดถึงเรื่องการลงทุนแล้วก็มักจะคิดว่ามันเป็นเรื่องของคนรวยที่มีเงินหนา ๆ เท่านั้นที่จะสามารถสร้างผลกำไรในการลงทุนได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น เรามีเครื่องมือการลงทุนที่หลากหลายขึ้น ประกอบกับวิธีคิดทางการลงทุนที่เปลี่ยนไป การลงทุนจึงไม่ใช่เรื่องของคนรวยเท่านั้น คนทั่วไปมีเงินน้อยก็สามารถทยอยสะสมความมั่งคั่งด้วยการลงทุนได้เช่นกัน
การลงทุนแบบ Dollar Cost Average (DCA) เป็นวิธีการลงทุนที่ใช้กันมานานแล้ว เพียงแต่เราหลาย ๆ คนอาจจะไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นหนึ่งในขั้นตอนการ DCA ก็เท่านั้น เช่น การทำงานเป็นพนักงานประจำในหลาย ๆ บริษัทจะมีการหักเงินเดือนเข้าไปสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเราเองในระยะยาว นอกเหนือจากนี้แล้ว วิธีการนี้สามารถใช้ในการลงทุนด้วยตัวเองได้เช่นกัน

วิธีคิดในการลงทุนแบบ DCA เป็นอย่างไร?


ถ้าผมจะอธิบายให้ง่ายสุดก็คือ การลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินใด ๆ หรือเริ่มต้นออมหุ้นแบบ DCA นั้นเป็นการต่อยอดจากการออมเงินรายเดือนเพื่อเป้าหมายในการสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้น ลองคิดดูเล่น ๆ นะครับว่า หากเราออมเงินได้เดือนละ 5,000 บาท พอเวลาผ่านไป 1 ปีเราจะมีเงินเก็บ 60,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยเงินฝากเล็กน้อย ถ้าเงินจำนวนนี้คิดคำนวณหลาย ๆ ปี เช่น ทำงานทั้งชีวิตมา 40 ปีและเก็บเงินเพื่อยามเกษียณ โดยมีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เฉลี่ยที่ 1% เราจะมีเงินเก็บอยู่ที่ 2,962,514.23 บาท ซึ่งแน่นอนว่าเงินจำนวนนี้ไม่เพียงพอหากเราจะต้องใช้ชีวิตต่อหลังเกษียณไปอีก 20 ปีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น วิธีคิดแรกที่ผมมักจะบอกให้คนลองมองใน 3 เรื่องที่เป็นสูตรการสร้างความมั่งคั่งด้วยการเริ่มต้นออมแบบ DCA ง่าย ๆ ได้แก่
  • เราจะเพิ่มผลตอบแทนในการลงทุนอย่างไรให้เพียงพอต่อเป้าหมาย พูดง่าย ๆ ก็คือ หากเรามีเงินเก็บรายเดือนแล้วจะเอาเงินก้อนนี้ไปลงทุนอะไรที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ได้บ้าง หากผลตอบแทนที่ทำได้คือเฉลี่ย 10% ต่อปี ก็จะทำให้เราเก็บเงินไปถึงเป้าหมายได้เร็วยิ่งกว่าเดิม
  • เราจะออมเงินอย่างไรให้มากขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องอยู่ที่หลักการบริหารเงินของเราแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตั้งใจทำงานเพื่อเพิ่มเงินเดือน การลดรายจ่ายให้มีเงินออมมากขึ้น และใช้แนวคิดขั้นตอนการ DCA มาปรับใช้โดยนำเงินจำนวนนั้นมาเพิ่มในการลงทุนในแต่ละปีเพื่อให้เราสะสมความมั่งคั่งได้มากขึ้น
  • เราจะสร้างวินัยการลงทุนให้ลงทุนในระยะยาวได้อย่างไร สิ่งหนึ่งเราต้องไม่ลืม คือ การลงทุนนั้นไม่มีใครที่จะรวยอย่างรวดเร็วได้ในระยะเวลาอันสั้น ยกเว้นเราจะเพิ่มความเสี่ยงในการลงทุนให้มากขึ้น ซึ่งผมไม่แนะนำให้ใครทำ แต่ถ้าเราจะลงทุนอย่างปลอดภัย การใช้ระยะเวลาให้ทรัพย์สินเราค่อย ๆ งอกเงยจะทำให้เราเกิดความมั่งคั่งที่มั่นคงได้
องค์ประกอบทั้ง 3 อย่างนี้เป็นแนวคิดแรกที่นักลงทุนแบบ DCA จะต้องมีขั้นตอนการ DCA นั้นเริ่มตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายและดูว่า จะเปลี่ยนเงินออมเป็นเงินลงทุนด้วยเครื่องมือทางการลงทุนอย่างไร ระหว่างทางจะเพิ่มความมั่งคั่งจากเงินออมที่มากขึ้นได้ไหม และต้องมีความอดทนรวยในอนาคตเช่นกัน

หลักการในการลงทุนแบบ DCA เริ่มอย่างไร?


เมื่อเราเข้าใจวิธีคิดในการสร้างความมั่งคั่งแล้ว วิธีการลงทุนแบบ DCA จะเข้ามาตอบโจทย์การลงทุนของเราได้ง่าย ๆ เพราะขั้นตอนการ DCA ก็คือ การลงทุนอย่างมีวินัยด้วยการเริ่มต้นกำหนดจำนวนเงินที่จะลงทุนในแต่ละช่วงระยะเวลา ถ้าง่ายที่สุดสำหรับมนุษย์เงินเดือนก็คือ การกำหนดเงินที่จะลงทุนรายเดือนในช่วงวันที่เงินเดือนออกเพื่อตัดเงินออมไปลงทุนทันที หรือเราจะลงทุนรายไตรมาสซื้อปีละ 4 ครั้ง หรือซื้อรายปีแบบปีละครั้งเหมือนกับหลาย ๆ คนที่ซื้อ LTF เพื่อลดหย่อนภาษีก็ได้ ซึ่งสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมาก ๆ ก็คือ
  • จะต้องลงทุนในทรัพย์สินที่มีการเติบโตในระยะยาว: ถ้าจะลงทุนในหุ้นก็ต้องลงทุนในหุ้นที่เติบโตอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรลงทุนในหุ้นที่เป็นวัฏจักรหรือหุ้นประเภทลุ้นผลประกอบการ หากเราลงทุนในกองทุนรวมหุ้น นอกเหนือจากนโยบายการลงทุนที่เราเห็นว่าเหมาะกับตัวเรา ก็ควรเลือกกองทุนที่มีผลการดำเนินงานที่ดีเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ของตัวเราในการพิจารณาในการเลือกนะครับ เราอาจจะดูผลประกอบการย้อนหลังก็ได้ว่า หุ้น หรือกองทุนหุ้นที่เราสนใจนั้นมันอยู่ในเทรนด์ของการเติบโตแบบไหนและมีปัจจัยความเสี่ยงอย่างไรที่เราจะต้องระวังในการลงทุน
  • คิดจะเริ่มต้นออมหุ้นแบบ DCA ต้องลงทุนอย่างสม่ำเสมอโดยไม่สนใจอารมณ์ของตลาด: สิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนทั้งที่เลือกทรัพย์สินที่มาลงทุนเป็นอย่างดีแล้วก็คือ เรื่องปัจจัยอารมณ์ของตลาด การลงทุนแบบ DCA นั้นจะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ หากเราลงทุนแบบเอาเงินทุ่มไปในครั้งเดียวหากกำไรก็กำไรเยอะ แต่ถ้าขาดทุนก็จะขาดทุนเยอะเช่นกัน นั่นคือ ทำให้หลายคนทำอะไรไม่ถูกอยู่ในวังวนว่า จะขายทิ้งดีไหมหรือจะถือต่อไปอย่างไรดี แต่ถ้าหากเราลงทุนแบบ DCA นั้น เราจะตัดอารมณ์ของตลาดได้เลย เราจะมีความสุขในทุกสภาพการลงทุนไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือหุ้นจะลง
เมื่อเราเลือกทรัพย์สินที่ดี ในช่วงที่ตลาดไม่ดีเราจะซื้อหน่วยลงทุนในราคาที่ถูกขึ้น แต่ในกรณีกลับกัน หากทรัพย์สินที่เราลงทุนราคาสูงขึ้น การออมหุ้นแบบ DCA จะช่วยลดความเสี่ยงในการซื้อหุ้นแพง และหากทรัพย์สินที่เราลงทุนนั้นเติบโตระยะยาวแล้วก็จะทำให้เราสร้างความมั่งคั่งได้สำเร็จตามเป้าหมาย
ตัวอย่างของการลงทุนจริงแบบ DCA ในกองทุนรวม KFVALUE
ตัวอย่างของการลงทุนจริงแบบ DCA ในกองทุนรวม KFVALUE
หากเราลองทดสอบย้อนหลังการลงทุนในระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ 2005 - 2015 จะพบว่า ในช่วงเริ่มต้นของการลงทุนนั้น ต้นทุนเฉลี่ยนั้นจะเกาะอยู่กับราคา NAV แต่เมื่อลงทุนไปเรื่อย ๆ จะพบว่าการลงทุนมีการผันผวนเกิดขึ้น เช่น ในช่วงปี 2008 ที่เกิดวิกฤติทางการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ทำให้หน่วยลงทุนถูกขายจนราคาลดลงไปมากกว่า 50%
ข้อดีของการหันมาเริ่มต้นออมหุ้นแบบ DCA มีมากมาย หลัก ๆ คือ เราสามารถได้หุ้นจำนวนมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวและต้นทุนเฉลี่ยถูกถ่วงน้ำหนักให้ต่ำลงเช่นกัน หากเราเข้าใจว่า DCA เริ่มอย่างไร มีลักษณะการลงทุนแบบไหน และไม่ตกใจขายไปก่อนก็จะทำให้เราซื้อหุ้นได้เป็นจำนวนมาก และเมื่อวิกฤติกาลจากไป การลงทุนมีความคึกคักมากขึ้นก็จะทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการปรับตัวของราคาหน่วยลงทุนมากขึ้น ส่วนประโยชน์อื่น ๆ สามารถอ่านต่อได้ที่นี่
ทั้งนี้ ในช่วงที่ราคาปรับตัวขึ้น หากเราเข้าใจว่า DCA เริ่มอย่างไร มีหลักการลงทุนแบบไหน ก็จะทำให้เราซื้อหน่วยลงทุนต่อครั้งได้น้อยลง ความเสี่ยงในการลงทุนในช่วงราคาแพงก็จะน้อยลง ต้นทุนเฉลี่ยในการลงทุนก็ไม่ได้ปรับตัวเพิ่มตามมากในระยะยาว ทำให้พอร์ตการลงทุนเกิดผลกำไรได้
วิกฤติทางการเงินสหรัฐอเมริกา
จากตัวอย่างการลงทุนนี้ หากลงทุนด้วยเงินเพียง 5,000 บาทต่อเดือน แล้วเก็บเงินเอาไว้เฉย ๆ จะสร้างเงินเก็บได้เพียง 600,000 บาทเท่านั้น แต่หากนำไปลงทุนในทรัพย์สินที่มีการเติบโต เช่น กองทุนรวมหุ้น KFVALUE จะมีความมั่งคั่งรวมในปลายปี 2015 ได้ถึง 1,057,475.66 บาท คิดเป็นผลตอบแทนถึง 76% (เฉลี่ยปีละ 7.6%)
แน่นอนว่า ด้วยข้อพิสูจน์ดังกล่าว หากเราสามารถนำขั้นตอนการ DCA ไปประยุกต์ใช้ในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่มากขึ้น มีการเพิ่มเงินลงทุนในแต่ละปีที่มากขึ้น รวมถึงสะสมในระยะยาวที่ยาวขึ้นมากกว่าตัวอย่างที่แสดงไว้ ย่อมทำให้ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ไม่ว่าจะทำอาชีพใด ๆ มีเงินเก็บมากน้อยแค่ไหนก็ตาม
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา