มารู้จักกับกองทุน SSF และ SSF พิเศษ กองทุนที่มาทดแทน LTF
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

มารู้จักกับกองทุน SSF และ SSF พิเศษ กองทุนที่มาทดแทน LTF

icon-access-time Posted On 15 พฤษภาคม 2563
By Krungsri the COACH
หลายคนอาจกำลังมองหาตัวช่วยลดหย่อนภาษี วันนี้จะมาอธิบายถึงตัวช่วยลดหย่อนภาษีตัวใหม่ นั่นก็คือ SSF กองทุนเพื่อการออม และ SSF Extra กองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ
หลายคนอาจกำลังมองหาตัวช่วยลดหย่อนภาษี วันนี้จะมาอธิบายถึงตัวช่วยลดหย่อนภาษีตัวใหม่ นั่นก็คือ SSF กองทุนเพื่อการออม และ SSF Extra กองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ
แต่ก่อนอื่นนั้นขออธิบายถึง SSF (Super Save Fund) กันก่อน โดย SSF เป็นกองทุนที่เน้นการออมระยะยาวและเป็นตัวช่วยในการลดหย่อนภาษีที่มาทดแทนกองทุน LTF ที่หมดอายุไปเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา

เงื่อนไขสำคัญของ SSF

  • ใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท (รวมกับกองทุน RMF กองทุนบำเหน็จบำนาญ และกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท) เช่น หากมีรายได้ 500,000 บาท/ปี จะซื้อ SSF เพื่อลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% หรือไม่เกิน 150,000 บาท แต่หากมีรายได้เกิน 700,000 บาท/ปี จะซื้อ SSF เพื่อการลดหย่อนภาษีได้สูงสุดแค่ 200,000 บาท

  • ซื้อแล้วต้องถือให้ครบ 10 ปี เช่น ซื้อกองทุน SSF วันที่ 1 สิงหาคม 2563 จะครบกำหนด 10 ปี ในวันที่ 1 สิงหาคม 2573 ทั้งนี้ เนื่องจากกองทุนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นการออมระยะยาวและการเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณ หากขายก่อนครบกำหนด ถือว่าผิดเงื่อนไขลดหย่อนภาษี จะต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นทั้งหมดทันทีอีกด้วย

  • กองทุนสามารถลงทุนในหลักทรัพย์อะไรก็ได้ ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ กองทุนดัชนี กองทุนทองคำ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ทำให้กองทุนมีความยืดหยุ่นสูงในการลงทุนและปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และผลตอบแทนที่ดีที่สุดในแต่ละช่วงเวลา

  • ไม่มีเงินลงทุนขั้นต่ำ และไม่จำเป็นต้องลงต่อเนื่องทุกปี
มาถึงกองทุน SSF พิเศษ หรือกองทุน SSF เฉพาะกิจ หรือเรียกย่อไปอีกว่า SSFX กองทุนนี้เกิดจากไอเดียของกระทรวงการคลัง กับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนไทย ที่ก่อนหน้านี้ดัชนีการซื้อขายตกลงไปอย่างมาก จากเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤตโรคร้ายนั่นเอง ซึ่งมีเงื่อนไขการลงทุนที่คล้ายกับกองทุน LTF นั่นคือกำหนดเงื่อนไขการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไทยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ

ประโยชน์ของ SSF พิเศษ

  • ผู้ลงทุนสามารถนำเงินที่ลงทุนใน “SSF พิเศษ” มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มขึ้นอีก 2 แสนบาท ซึ่งสิทธิ์ลดหย่อนนี้แยกจากวงเงินลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF และ SSF ปกติ แต่มีข้อแม้ว่าต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 63 และถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี

    สมมติว่านาย A ลงทุนในกองทุน SSF ปกติครบวงเงิน 2 แสนบาทแล้ว ก็ยังสามารถซื้อกองทุน SSF พิเศษเพิ่มเติมได้อีกไม่เกิน 2 แสนบาท เท่ากับว่านาย A มีสิทธิ์ลดหย่อนภาษีสำหรับปี 2563 สูงสุดถึง 4 แสนบาท

  • กองทุน SSF พิเศษนี้ ยังส่งผลถึงนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากนโยบายระบุว่าต้องลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% หมายความว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งจากกลุ่มนักลงทุนที่เรียกว่า “นักลงทุนกลุ่มสถาบัน” เข้ามาช่วยหนุนซื้อหุ้นไทย ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะมีส่วนช่วยทำให้ราคาของ “หุ้นพื้นฐานดี” จะไม่ดิ่งลงจนน่าตกใจเหมือนช่วงก่อนหน้านี้
เปรียบเทียบกองทุน SSF แบบปกติ และ SSF แบบพิเศษ

กองทุนเหล่านี้เหมาะกับใครบ้าง?

  • ผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษี โดยเฉพาะผู้ที่มีฐานเงินเดือนสูง และใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากกองทุน อื่น ๆ หรือแม้กระทั่งกองทุน SSF เต็มจำนวนแล้ว กองทุน SSF พิเศษก็เป็นอีกตัวเลือกในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้

  • ผู้ที่มีเงินลงทุนในระยะยาว และสามารถคงสถานะการเงินเพื่อลงทุนได้ 10 ปีขึ้นไป รวมไปถึงต้องเป็นคนที่สามารถรับความเสี่ยงในการลงทุนได้

  • ผู้ที่อายุต่ำกว่า 50 ปี แน่นอนว่าเงื่อนไขของกองทุนนี้คือต้องถือครองขั้นต่ำ 10 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แนะนำว่าให้เลือกกองทุน RMF จะดีกว่า เพราะเงื่อนไขการถือครองแค่ 5 ปี
สุดท้ายนี้อย่าลืมว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ ควรศึกษาและอ่านรายละเอียดให้ถี่ถ้วนทุกครั้งก่อนลงทุน โดยควรเลือกการลงทุนที่มีนโยบายการลงทุนสอดคล้องกับความเสี่ยงที่สามารถรับได้นั่นเอง
ลงทุน SSFX / SSF ให้พอแล้วชิลล์ต่อที่บ้านให้สุด
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุน ก่อนตัดสินใจลงทุน
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา