ณ ปัจจุบันถือว่าเป็นช่วงจังหวะที่โลกเรากำลังเข้าสู่จุดที่ ‘ดอกเบี้ยนโยบายต่ำ’ ที่สุดเป็นประวัติการณ์ ถึงขนาดบางประเทศมีดอกเบี้ยนโยบายติดลบ เช่น ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งแน่นอนว่าการที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ ก็จะส่งผลทำให้ ‘ดอกเบี้ยเงินฝาก’ ประเภทต่าง ๆ ถูกปรับให้อยู่ในระดับต่ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การฝากเงินกับธนาคารเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถทำให้เราบรรลุทุกเป้าหมายการเงินอย่างที่เราตั้งใจได้อีกต่อไป
อีกหนึ่งปัจจัยที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้เลย นั่นก็คือ ‘อัตราเงินเฟ้อ’ ที่เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแล้วพบว่า อัตราเงินเฟ้อมีค่าสูงกว่ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่าถ้าเราฝากเงินในธนาคารเพียงอย่างเดียว เงินที่เราเก็บก็จะมีแต่ลดมูลค่าลงเรื่อย ๆ เนื่องจากโดยเฉลี่ยแล้ว เงินเราเติบโตไม่ทันราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ด้วยเหตุผลนี้ทำให้เรื่อง ‘การลงทุน’ ถูกพูดถึงและได้รับความนิยม แต่ปัญหาที่หลาย ๆ คนจะต้องเจอแน่นอน คือ ไม่รู้จะเริ่มลงทุนที่สินทรัพย์ไหนก่อนดี จากผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีให้เลือกมากมายทั้งเงินฝากประเภทต่าง ๆ ตราสารหนี้ หุ้น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ น้ำมัน ฯลฯ
สำหรับใครที่มีคำถามหรือกำลังประสบปัญหาแนวนี้ หนึ่งในวิธีที่จะช่วยคัดเลือกแหล่งการลงทุนที่เหมาะกับเรา คือ การใช้ ‘ระยะเวลา’ เข้ามาช่วยคัดเลือก โดยหลักการก็คือยิ่งเราลงทุนได้นานมากเท่าไหร่ ก็แปลว่าเราสามารถรับความเสี่ยงในการลงทุนหรือความผันผวนได้มากเท่านั้น
การลงทุนระยะสั้นเป็นการลงทุนตั้งแต่ 1 วันไปจนถึง 3 ปี สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการลงทุนระยะสั้นก็คือ ‘สภาพคล่อง’ และการ ‘รักษาเงินต้น’ มากกว่าเรื่องของผลตอบแทน เนื่องจากมีระยะเวลาการลงทุนที่สั้น ในกรณีที่เราไปลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตราสารทุนหรือหุ้น ถ้าเกิดว่ามีการลงทุนผิดจังหวะ อาจจะทำให้เงินลงทุนของเราขาดทุนได้ ดังนั้น สินทรัพย์การลงทุนที่เหมาะสมได้แก่
เงินฝากออมทรัพย์มีแต่ได้ หรือสำหรับใครที่สามารถรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยอาจจะลองเลือกพิจารณา ‘กองทุนรวมตลาดเงิน’ หรือ ‘
กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น’ เป็นต้น
การลงทุนระยะกลางเป็นการลงทุนตั้งแต่ 3 ปีไปจนถึง 7 ปี เมื่อเราสามารถลงทุนได้นานมากขึ้น แน่นอนว่าเราสามารถรับความเสี่ยงในการลงทุนได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งสินทรัพย์การลงทุนที่เหมาะสมสำหรับใครที่รับความเสี่ยงได้ไม่สูงมากแนะนำว่าสามารถใช้กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้สูงขึ้นมาเล็กน้อยก็สามารถใช้ ‘
กองทุนรวม (Balanced Fund)’ เพื่อช่วยเพิ่มผลตอบแทนคาดหวังให้กับเราได้ หรือถ้าใครสามารถลงทุนโดยตรงในหุ้น ตราสารหนี้ รวมถึงสินทรัพย์อื่น ๆ เองได้ก็สามารถ ‘จัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation)’ ตามระดับความเสี่ยงที่เหมาะกับเราได้เช่นกัน
การลงทุนระยะยาวเป็นการลงทุนตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป เพราะการลงทุนระยะยาวจะช่วยลดความผันผวนของตลาดที่เกิดขึ้นในระยะสั้นได้ และเมื่อเราไปดูสถิติ 10 ปีย้อนหลัง ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ถ้าเราสามารถลงทุนได้ยาว 7 ปีขึ้นไปจะไม่มีช่วงเวลาที่ขาดทุนเลย
ดังนั้นการลงทุนระยะยาว ยิ่งลงทุนได้นานมากเท่าไหร่โอกาสขาดทุนก็จะยิ่งน้อยลง แล้วการลงทุนระยะยาวก็ยังมีโอกาสช่วยทำให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น หรือง่าย ๆ ว่าถ้าเราลงทุนผิดจังหวะเรายังมีเวลาให้ดัชนีวิ่งปรับตัวกลับมาได้ รวมถึงก็ยังสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำแต่ช่วยสร้างผลตอบแทนที่สูงอย่างต่อเนื่องได้ในระยะยาวอย่างอสังหาริมทรัพย์ได้เพิ่มเติมด้วย
สินทรัพย์การลงทุนที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนระยะยาว ได้แก่ ตราสารทุน กองทุนรวมหุ้น อสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการ
ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) หรือจะเป็นกองทุนรวมที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่าง
กองทุนเพื่อการออม (SSF) หรือ
กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) รวมไปจนถึงสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ อย่าง ทองคำ น้ำมัน ในกรณีที่เรามีความถนัดในสินทรัพย์ต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย
สุดท้ายไม่ว่าจะการลงทุนระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาวก็ตาม อีกหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการลงทุนก็คือการ ‘
จัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation)’ เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ถ้าเราสามารถจัดสรรสินทรัพย์ได้ดีก็จะช่วยทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนลดลงได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การประเมินความเสี่ยงของตัวเราเองว่าเป็นอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา จากนั้นเราจะรู้เองว่าเราควร ‘จัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation)’ ในรูปแบบใด
และถ้าเราสามารถกำหนดเป้าหมายการลงทุนได้แล้วว่าเงินลงทุนก้อนนี้สามารถลงทุนได้ระยะสั้น ระยะกลาง หรือว่าระยะยาว จะช่วยทำให้เราสามารถเลือกสินทรัพย์การลงทุนที่เหมาะสมได้มากขึ้น ซึ่งถ้าเราลงทุนผิดระยะเวลาก็จะเกิดความเสี่ยงกับพอร์ตการลงทุนของเราได้ ถ้าเราเอาเงินลงทุนระยะยาวไปลงทุนระยะสั้นก็จะทำให้เสียโอกาสที่เงินเราจะเติบโตไป หรือถ้าเราเอาเงินลงทุนระยะสั้นไปลงทุนระยะยาวก็มีความเสี่ยงที่สูญเสียเงินลงทุนได้ ดังนั้นก่อนการลงทุน อย่าลืมกำหนด ‘ระยะเวลา’ การลงทุนของเงินลงทุนเราให้ดีทุกครั้ง