กลยุทธ์ SAA และ TAA จัดพอร์ตกองทุนรวมให้รุ่งในทุกภาวะตลาด
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

กลยุทธ์ SAA และ TAA จัดพอร์ตกองทุนรวมให้รุ่งในทุกภาวะตลาด

icon-access-time Posted On 27 มิถุนายน 2567
By Krungsri The COACH
นักลงทุนหลายท่านคงเคยประสบปัญหา "ซื้อได้ บริหารไม่เป็น" คือ รู้ว่าสินทรัพย์ไหนน่าสนใจ แต่พอราคาผันผวนมาก ๆ กลับไม่รู้จะจัดการอย่างไร จนบางครั้ง "ซื้อแพง ขายถูก" ขาดทุนสะสม หรือบางทีก็ถือสินทรัพย์มากเกินไปจนบริหารจัดการยาก ไม่สอดคล้องกับผลตอบแทนที่คาดหวังและความเสี่ยงที่รับได้ ทำให้การลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

การบริหารการลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญ วันนี้ Krungsri The COACH ขอแนะนำให้รู้จักกับกลยุทธ์ SAA และ TAA ซึ่งเป็นวิธีจัดสรรสินทรัพย์หรือ Asset Allocation อีกรูปแบบหนึ่ง ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้คุณประสบความสำเร็จในการลงทุนกองทุนรวมทั้งระยะสั้นและระยะยาวจากทุกภาวะตลาด

SAA กลยุทธ์การลงทุนคู่ใจ สำหรับเป้าหมายลงทุนในระยะยาว

ลงทุนแบบ saa หรือ strategic asset allocation

“SAA หรือ Strategic Asset Allocation” คือ แบ่งสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เช่น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ หุ้น หรือ ทองคำ รวมเข้าไว้ด้วยกันด้วยสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมต่อเป้าหมายระยะยาว โดยกำหนดสัดส่วนสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับผลตอบแทนที่คาดหวัง และความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ระหว่างการลงทุนจะไม่มีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนสินทรัพย์ของ SAA ที่กำหนด จนกว่าปัจจัยพื้นฐานของสินทรัพย์จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่อาจมีการทบทวนเพื่อปรับสมดุลพอร์ต (Portfolio Rebalancing) อย่างน้อยปีละ 1 - 2 ครั้ง เมื่อสัดส่วนของสินทรัพย์ ณ ปัจจุบันเริ่มผิดเพี้ยนไปจากแผนที่วางไว้ โดยเปรียบเทียบจากผลการลงทุนในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ตัวอย่างการจัดพอร์ตลงทุนตามกลยุทธ์ SAA

สำหรับพอร์ต SAA (Strategic Asset Allocation) เราสามารถแบ่งประเภทของพอร์ต ตามผลตอบแทนและความเสี่ยง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและระยะเวลาลงทุนไว้ทั้งหมด 3 พอร์ต ดังนี้
 

1. พอร์ตสไตล์ Conservative

เป็นพอร์ตความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 3 - 4% ต่อปี เหมาะกับเป้าหมายที่มีระยะเวลาลงทุนไม่เกิน 3 - 4 ปี หรือสามารถรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างต่ำ
 

2. พอร์ตสไตล์ Moderate

เป็นพอร์ตความเสี่ยงปานกลาง คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 5 - 6% ต่อปี เหมาะกับเป้าหมายที่มีระยะเวลาลงทุนไม่เกิน 5 - 6 ปี หรือสามารถรับความเสี่ยงได้ปานกลาง
 

3. พอร์ต Aggressive

เป็นพอร์ตที่มีความเสี่ยงสูง คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 7 - 8% ต่อปี เหมาะกับเป้าหมายที่มีระยะเวลาลงทุนอย่างน้อย 7 ปีขึ้นไป หรือสามารถรับความเสี่ยงได้สูง

ตัวอย่างสัดส่วนแนะนำตามกลยุทธ์ SAA ของแต่ละพอร์ต

สินทรัพย์แนะนำ/สัดส่วน พอร์ต Conservative พอร์ต Moderate พอร์ต Aggressive
เงินฝาก/ตราสารหนี้ระยะสั้น 10% 5% 5%
ตราสารหนี้ระยะกลาง 64% 43% 20%
หุ้น 22% 45.5% 70%
สินทรัพย์ทางเลือก 4% 6.5% 5%
ที่มา : Data as of 20 May 2024. Source: Krungsri Investment Intelligent Office.

ข้อดีของกลยุทธ์ SAA

1. ลด/กระจายความเสี่ยงหรือความผันผวนของการลงทุน

ระหว่างเส้นทางการลงทุนระยะกลาง-ยาวได้ โดยที่ยังสามารถคาดหวังผลตอบแทนที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนได้อยู่ จากการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท
 

2. เพิ่มโอกาสในการได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น

กว่าการถือสินทรัพย์เดียวที่มีความเสี่ยงของการกระจุกตัว เพราะหากสินทรัพย์นั้นไม่ดีอย่างที่คาด ก็จะทำให้เงินลงทุนทั้งหมดของเราขาดทุนไปเต็ม ๆ แต่หากกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์อื่นที่มีโอกาสเติบโตเช่นกัน ก็ยังมีโอกาสที่เงินลงทุนของเราจะได้กำไรจากสินทรัพย์นั้นบ้างบางส่วน
 

3. ช่วยลดความเสี่ยงจากการกะเก็ง คาดเดา

หรือฝากความหวังไว้ที่สินทรัพย์ใดเพียงอย่างเดียวเป็นปี ๆ แล้วต้องเปลี่ยนสินทรัพย์ลงทุนไปเรื่อย ๆ ทุกปี ตามภาวะตลาด เมื่อคาดเดาพลาด เพราะได้กระจายการลงทุนไปถือสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตหลาย ๆ สินทรัพย์ไปพร้อมกัน

ข้อจำกัดของกลยุทธ์ SAA

  1. อาจพลาดโอกาสในการทำกำไรระยะสั้นตามภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลง หากกำหนดสัดส่วนสินทรัพย์ที่เติบโตดีในช่วงเวลานั้นไว้ในพอร์ตน้อยจนเกินไป
  2. หากรับความเสี่ยงและความผันผวนได้สูงอยู่แล้ว การจัดพอร์ต SAA เพื่อกระจายความเสี่ยง มีโอกาสที่จะทำให้ได้ผลตอบแทนระยะยาว น้อยกว่าการลงทุนกระจุกเพียงในบางสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตสูงจริง ๆ (แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงและความผันผวนที่สูงเช่นเดียวกัน)

กลยุทธ์ TAA เทคนิคการปรับพอร์ตระยะสั้น ระหว่างการลงทุน

กลยุทธ์การจัดพอร์ตการลงทุนเชิงรุก

TAA หรือ Tactical Asset Allocation คือกลยุทธ์การจัดพอร์ตการลงทุนใน "เชิงรุก" โดยจะมีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนสินทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนจากสัดส่วนหลักตาม SAA ที่วางไว้ ในบางช่วงเวลา จากการวิเคราะห์คาดการณ์ผลลัพธ์ที่น่าจะเกิดขึ้นตามภาวะตลาดในขณะนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น ด้วยการปรับเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์ที่มีโอกาสมีมูลค่าเพิ่มขึ้น หรือปรับลดสัดส่วนสินทรัพย์ที่มีโอกาสมีมูลค่าลดลงในช่วงนั้น

โดยวิธีการปรับสัดส่วนนั้นจะกำหนดไว้เป็นกรอบแคบ ๆ ในแต่ละสินทรัพย์ เช่น หากจะปรับเพิ่มสัดส่วน หรือ "overweight" หรือปรับลดสัดส่วน หรือ "underweight" ควรปรับเพิ่มหรือลด ไม่เกิน 5 - 10% จากสัดส่วนของสินทรัพย์นั้นตาม SAA ที่กำหนด ซึ่งจะมีการทบทวนหรือพิจารณาปรับสัดส่วนในการลงทุนระยะสั้น เช่น อาจจะเป็นประจำทุกเดือน หรือทุก ๆ ไตรมาส เป็นต้น

ตัวอย่างการปรับพอร์ตด้วยกลยุทธ์ TAA

ในการปรับพอร์ต TAA (Tactical Asset Allocation) ตามภาวะตลาด เราอาจอาศัยการศึกษาข้อมูลภาวะตลาด แล้ววิเคราะห์หรือตัดสินใจด้วยตัวเอง หรือศึกษาจากคำแนะนำของนักวิเคราะห์ โดยเมื่อมีปัจจัยอะไรที่มีโอกาสส่งผลกระทบเชิงบวก

โดยเราอาจจะกำหนดให้ overweight +5% ในสินทรัพย์เสี่ยงสูง ในพอร์ตเสี่ยงต่ำหรือเสี่ยงกลาง และอาจจะ +10% ในพอร์ตที่เสี่ยงสูง แต่หากมีผลกระทบเชิงลบต่อสินทรัพย์นั้น เราอาจจะกำหนดให้ underweight -10% สำหรับสินทรัพย์เสี่ยงในพอร์ตเสี่ยงต่ำหรือปานกลาง และอาจจะ -5% ในพอร์ตที่เสี่ยงสูง เป็นต้น

ตัวอย่างคำแนะนำของนักวิเคราะห์จาก Krungsri Investment Intelligent


 
ประเภทสินทรัพย์ สถานการณ์การลงทุนและคำแนะนำ กองทุนแนะนำ
ตลาดหุ้นไทย
(Local Equity)
Slightly Overweight
⚪⚪⚪🟢⚪
  • ภาคการท่องเที่ยวพื้นตัวได้ต่อเนื่องเป็นแรงส่งต่อการบริโภคและภาคบริการในประเทศ
  • ครม.อนุมัติ 6 มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ
  • กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า
  • กำไรงบไตรมาส 1 ออกมาดีกว่าคาดและมีโอกาสฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะถัดไป
  • แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเมื่อ SET Index ต่ำกว่า 1,400 จุด
  • ​KFDYNAMIC
  • TSF-A
ตลาดหุ้นโลก
(Global Equity)
Neutral
⚪⚪🟡⚪⚪
  • IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ ขณะที่ตัวชี้วัดส่วนใหญ่ชี้ไปที่การชะลอตัวแบบไม่รุนแรง
  • ECB ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยกลางปีนี้ แต่ Fed อาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 3 ครั้ง
  • ความผันผวนเพิ่มสูงขึ้นหลัง Fed ส่งสัญญาณไม่รีบลดดอกเบี้ยและความเสี่ยงต้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยกระดับขึ้น
  • แนะนำให้คงน้ำหนักการลงทุนเท่ากับระดับ SAA
  • KFWINDX-A
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
Moderate
⚪⚪🟡⚪⚪
  • การบริโภคเริ่มชะลอตัวและตลาดแรงงานลดความร้อนแรงลงทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวแต่คาดว่าจะไม่เกิดภาวะถดถอย
  • เงินเฟ้อมีความหนืดค่อนข้างมาก อาจทำให้ Fed ลดดอกเบี้ยไม่ถึง 3 ครั้งในปีนี้ แต่รายงานการประชุมเผยจะมีการลดมาตรการ QT
  • Valuation ค่อนข้างแพง และตลาดหุ้นถูกผลักดันด้วยหุ้นเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น
  • เราแนะนำให้ทยอยสะสมเมื่อดัชนีตลาดย่อตัวลง
  • KFUSINDX-A
  • KFNDQ-A

ผลการปรับสัดส่วนหุ้น ด้วยการ overweight ด้วยกลยุทธ์ TAA ตามการวิเคราะห์ภาวะตลาด

จากคำแนะนำของ Krungsri Investment Intelligent เราจะปรับสัดส่วน ตามกลยุทธ์ TAA ตามคำแนะนำดังกล่าว โดยจะปรับเพิ่มสัดส่วนหุ้น (ลดสัดส่วนสินทรัพย์ปลอดภัย คือ เงินฝากตราสารหนี้ระยะสั้น สำหรับแต่ละพอร์ต โดยผลของการปรับ จะเป็นไปตามตารางดังนี้ (สัดส่วนก่อนปรับ คือ ตามกลยุทธ์ SAA สัดส่วนหลังปรับ คือตามกลยุทธ์ TAA)
 
สินทรัพย์แนะนำ/สัดส่วน พอร์ต Conservative พอร์ต Moderate พอร์ต Aggressive
SAA TAA SAA TAA SAA TAA
เงินฝาก/ตราสารหนี้ระยะสั้น 10% 5% 5% 0% 5% 0%
ตราสารหนี้ระยะกลาง 64% 64% 43% 43% 20% 15%
หุ้น 22% 27% 45.5% 50.5% 70% 80%
สินทรัพย์ทางเลือก 4% 4% 6.5% 6.5% 5% 5%

ข้อดีของกลยุทธ์ TAA

1. ช่วยเพิ่มโอกาสที่ทำให้ผลตอบแทนโดยรวม

พอร์ตการลงทุนดีขึ้นในระยะสั้น จากจังหวะและโอกาสที่เอื้ออำนวยในการปรับเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์ในพอร์ตที่มีโอกาสเติบโตแรงในช่วงเวลานั้น ๆ
 

2. ช่วยลดความเสี่ยงและความผันผวนในพอร์ต

จากการปรับลดสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงในพอร์ตลงในช่วงเวลาที่ตลาดมีโอกาสมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ใกล้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญสำหรับพอร์ตการลงทุนที่ไม่สามารถลงทุนเพิ่มได้ หรือเป็นพอร์ตที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ เช่น พอร์ตเงินเกษียณ เป็นต้น
 

3. ช่วยผ่อนคลายความรู้สึกและความกังวลของผู้ลงทุน

ที่อาจจะมีความอึดอัดกับการที่ต้องทนถือสินทรัพย์ด้วยการอยู่เฉย ๆ ท่ามกลางกระแสข่าวสารทั้งในแง่บวกแง่ลบ ด้วยการเปิดโอกาสให้ลงมือจัดการอะไรบางอย่างกับพอร์ตของตัวเองได้บ้างบางส่วน

ข้อจำกัดของกลยุทธ์ TAA

  1. มีความเสี่ยงที่อาจจะให้ผลตอบแทนโดยรวมของพอร์ตแย่ลงกว่าเดิม
    จากการคาดการณ์ที่ผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการปรับสัดส่วนบ่อย หรือถี่จนเกินไป เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่เราจะคาดการณ์อย่างถูกต้องในทุก ๆ ครั้ง และอาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการปรับเปลี่ยนแต่ละครั้งค่อนข้างสูง อย่างเช่น การลงทุนในกองทุนรวม จึงควรจะพิจารณาปรับเฉพาะในยามจำเป็นหรือในจังหวะที่สำคัญจริง ๆ มากกว่า
  2. เพื่อให้การวิเคราะห์คาดการณ์เป็นไปได้อย่างแม่นยำให้ได้มากที่สุด ผู้ลงทุนจึงจำเป็นที่จะต้องติดตามข่าวสารข้อมูล ภาวะตลาด อยู่ตลอดเวลา
    เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในตลาดเป็นอย่างดี จึงเหมาะกับนักลงทุนเชิงรุกที่มีความกระตือรือร้น มากกว่าผู้ที่ต้องการลงทุนในเชิงรับด้วยการถือสินทรัพย์ด้วยสัดส่วนปกติไปยาว ๆ

กองทุนแนะนำ สำหรับพอร์ตการลงทุนที่วางแผนไว้

สำหรับการจัดพอร์ตตามกลยุทธ์ SAA ตามเป้าหมายที่ต้องการ หรือจะปรับสัดส่วนพอร์ตตามกลยุทธ์ TAA ทาง Krungsri THE COACH ก็ขอแนะนำกองทุนที่น่าสนใจ สำหรับในแต่ละสินทรัพย์จากทางกรุงศรี ไว้ดังนี้ :
 
สินทรัพย์ กองทุนแนะนำ
เงินฝาก/ตราสารหนี้ระยะสั้น KFCASH-A
ตราสารหนี้ระยะกลาง KFAFIX-A
หุ้นไทย KFDYNAMIC
หุ้นต่างประเทศ KFWINDX-A
KFUSINDX-A
สินทรัพย์ทางเลือก KF-HGOLD
จัดพอร์ตกองทุนรวมด้วยกลยุทธ์ saa และ taa

Krungsri The COACH สรุป

หากเปรียบการลงทุนกับการเดินทางไกล SAA คือ กลยุทธ์ที่ใช้กำหนดจุดหมายและเส้นทางหลักล่วงหน้า ส่วน TAA ก็คือ การปรับเปลี่ยนเส้นทางระหว่างการเดินทาง เพื่อความรวดเร็วเมื่อเจออุปสรรค เปรียบเหมือนการใช้ทางลัด ซึ่งไม่ว่าจะใช้กลยุทธ์ TAA หรือไม่ นักลงทุนก็สามารถไปถึงจุดหมายได้ เพียงแต่กลยุทธ์ TAA อาจช่วยเพิ่มโอกาสให้ถึงที่หมายเร็วขึ้น แลกกับความเสี่ยงระหว่างทางที่อาจจะสูงขึ้นบ้างเล็กน้อย

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการวางแผนการลงทุนอย่างมืออาชีพ หรือมีข้อสงสัยและต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถ “ขอคำปรึกษาฟรี” กับที่ปรึกษาการลงทุนของกรุงศรี ซึ่งพร้อมให้คำแนะนำทั้งการจัดพอร์ต Asset allocation ด้วยกลยุทธ์ SAA และการปรับพอร์ตด้วยกลยุทธ์ TAA รวมไปถึงการเลือกกองทุนรวมที่เหมาะสมจากหลากหลาย บลจ. ชั้นนำ

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
  • KFWINDX-A, KFGBRAND-A, KFNDQ-A ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน จึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
  • KFWINDX-A, KFHTECH-A ลงทุนกระจุกตัวในกลุ่มอุตสาหกรรม จึงอาจมีความเสี่ยงและความผันผวนของราคาสูงกว่ากองทุนรวมทั่วไปที่มีการกระจายการลงทุนในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยหากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก
  • KFHTECH-A, KF-HGOLD ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนทำการลงทุน


อ้างอิง
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา