คู่มือนักเทรดหุ้นแบบมือโปร มัดรวมทุกเรื่องที่นักเทรดต้องรู้
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

คู่มือนักเทรดหุ้นแบบมือโปร มัดรวมทุกเรื่องที่นักเทรดต้องรู้

icon-access-time Posted On 13 ตุลาคม 2558
by Krungsri The COACH
หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่อยากเล่นหุ้น แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี วันนี้ เรามีคำแนะนำเบื้องต้นมาฝากกันครับ

ทำความรู้จักการเทรดหุ้น คืออะไร

การเล่นหุ้น หรือการเทรดหุ้น คือ การซื้อหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในการเทรดหุ้นนั้นมีอยู่ด้วยกันสองตลาด คือ ตลาดแรก และตลาดรอง การซื้อขายในตลาดแรก หรือการเทรดหุ้น IPO (Initial Public Offering) เกิดจากการที่บริษัทต้องการระดมทุนจากนักลงทุนเพื่อขยายกิจการ โดยราคาหุ้นจะถูกกำหนดไว้ให้นักลงทุนมาจับจอง ในการซื้อหุ้น IPO นั้นจะต้องจองซื้อผ่านผู้จัดจำหน่ายเท่านั้น เช่น บริษัทหลักทรัพย์ หรือตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์แต่งตั้ง ส่วนการเทรดหุ้นหลังจากนั้น จะเป็นการซื้อขายหุ้นในตลาดรอง ซึ่งเป็นการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ นั่นเอง ราคาของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จะเปลี่ยนแปลงตามผลการดำเนินการของบริษัท และสภาวะตลาดตามหลักของ demand supply ครับ
 

ก่อนเทรดหุ้น ต้องคำนึงถึงอะไรบ้างก่อนตัดสินใจซื้อขายหุ้น

 

1. ผลตอบแทน

ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นนั้น โดยหลัก ๆ แล้ว มี 2 ประการ อันดับแรก คือ Capital Gain หรือกำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้นที่เราซื้อมากับราคาที่เราขายไป ส่วนที่สอง คือ เงินปันผล (Dividend) หรือเงินส่วนแบ่งผลกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปีที่นำมาจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้น
 

2. เล่นหุ้นมีความเสี่ยง

ความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นหรือการเทรดหุ้นอาจมองได้เป็น 2 ส่วนเช่นกัน คือ ความเสี่ยงจากปัจจัยภายใน และความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ความเสี่ยงจากปัจจัยภายใน เกิดจากตัวบริษัทเอง เช่น การดำเนินการของบริษัท หรือคณะผู้บริหาร ส่วนความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกมีได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม อัตราแลกเปลี่ยนเงินกรณีเป็นบริษัทที่มีธุรกรรมกับต่างประเทศ หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อธุรกิจ เช่น น้ำท่วม พายุ ความกดดันทางการเมือง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลต่อราคาหุ้น
 

3. นักลงทุนมีหลายประเภท

ด้วยปัจจัยความเสี่ยงที่กล่าวมานี้ ทำให้นักลงทุนต้องมีการคัดสรรหาหุ้นที่ดี โดยแนวทางในการเลือกหุ้นนั้นมีอยู่หลายกลุ่ม เช่น นักลงทุนที่เทรดหุ้นสาย Fundamentals คือ กลุ่มที่เลือกซื้อหุ้นโดยพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน ผลการดำเนินงานบริษัท ให้ความสำคัญกับการอ่านงบกำไรขาดทุน งบดุล และงบกระแสเงินสด รอจังหวะเข้าซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาที่เหมาะสม แล้วรอขายเมื่อราคาสูงเกินกว่าความเป็นจริง โดยระหว่างทางก็เก็บเงินปันผลไปเรื่อย ๆ ส่วนนักลงทุนที่เทรดหุ้นสาย Technical Analysis จะเน้นดูกราฟราคาย้อนหลัง ร่วมกับเครื่องมือในการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์เพื่อหาสัญญาณในการเข้าซื้อ และจุดขายทำกำไร ส่วนเราจะเป็นนักเทรดหุ้นสายไหนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การลงทุน และนิสัยส่วนบุคคลครับ
 

4. เปิดบัญชีหุ้น

ในการเทรดหุ้น หรือซื้อขายหุ้นนั้น เราต้องเปิดบัญชีหุ้นกับโบรกเกอร์ หรือที่เรียกกันว่า เปิดพอร์ต นั่นเอง โบรกเกอร์ คือ บริษัทหลักทรัพย์ที่ทำหน้าที่รับคำสั่งการเทรดหุ้นหุ้นจากผู้ลงทุน แล้วส่งไปเข้าระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้จับคู่คำสั่งซื้อขายโดยอัตโนมัติ ชำระเงินค่าซื้อหุ้น และนำหุ้นเข้าบัญชีของผู้ลงทุน โดยบัญชีหุ้นนั้น มีสามประเภท คือ
  1. บัญชีวางเงินล่วงหน้า หรือ Cash Balance บัญชีนี้เป็นแบบตรงไปตรงมา มีเงินในบัญชีเท่าไหร่ เราก็สามารถซื้อหุ้นได้จำนวนเท่านั้น โบรกเกอร์จะหักเงินจากบัญชีในวันที่ 3 หลังจากวันที่คำสั่งซื้อได้รับการยืนยันโดยไม่นับวันหยุด (T+3) เช่นเดียวกันกับการขาย บริษัทจะโอนเงินเข้าบัญชีด้วยระยะเวลา T+3 เช่นกันครับ ยกตัวอย่างเช่น เราสั่งซื้อหุ้น A ในวันศุกร์ เงินค่าซื้อหุ้นจะถูกตัดออกจากบัญชีในวันพุธในสัปดาห์ถัดไปครับ
  2. บัญชีเงินสด หรือ Cash Account ในวันที่ส่งคำสั่งซื้อ เราต้องมีเงินหรือหุ้นในบัญชีเป็นมูลค่า 20% ของหุ้นที่ต้องการจะซื้อ ซึ่งต่างกับ Cash balance ที่ต้องมีเงินสดเท่ากับมูลค่าที่ต้องการซื้อ โดยนักลงทุนต้องโอนเงินซื้อภายใน 3 วันหลังจากคำสั่งซื้อได้รับการยืนยัน ส่วนในกรณีการขาย นักลงทุนจะได้รับเงิน T+3 เช่นเดียวกับ Cash balance ครับ
  3. บัญชีกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ Credit Balance Account หรือบัญชีมาร์จิ้น เป็นบัญชีสำหรับผู้ที่ต้องการมีอำนาจซื้อหุ้นมากกว่าเงินที่ตัวเองมีอยู่ โดยใช้เงินหรือหลักทรัพย์ของตัวเองส่วนหนึ่งมาวางเป็นหลักประกัน โดยนักลงทุนต้องเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินส่วนที่กู้ยืมด้วยนะครับ

เนื่องจาก บัญชี credit balance นั้นมีรายละเอียดและกฎระเบียบเกี่ยวกับการวางเงินหลักประกันที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มอีกมาก ดังนั้น เพื่อนนักลงทุนมือใหม่ แนะนำให้เปิดบัญชี Cash Balance หรือ Cash Account ก่อนครับ ส่วนรายละเอียดของบัญชีข้างต้นอาจมีข้อแตกต่างกันในแต่ละโบรกเกอร์ เราควรตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่อีกครั้งครับ นอกจากนี้เพื่อความสะดวกในการเทรดหุ้น รวมถึงการรับเงินบัญชี เราสามารถผูกบัญชีหุ้นเข้ากับบัญชีธนาคาร เพื่อให้โบรกเกอร์หักเงินออก (กรณีซื้อหุ้น) หรือโอนเงินเข้า (กรณีขายหุ้น และการรับเงินปันผล) บัญชีธนาคารของเราได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมการโอน หรือที่เรียกว่า ระบบบัญชี ATS – Automatic Transfer System ครับ
 

ซื้อขายหุ้นออนไลน์

เมื่อเปิดบัญชีในการเทรดหุ้นแล้ว โบรกเกอร์จะแนะนำให้เปิดใช้บริการทาง internet เพื่อใช้ในการเทรดหุ้นได้ด้วยตัวเอง บางโบรกเกอร์อาจจะมีโปรแกรมเป็นของตัวเอง หรือหลายโบรกเกอร์จะให้ account เพื่อเข้าใช้โปรแกรม StreamingPro หรือ eFinance ซึ่งโดยทั่วไปโปรแกรมเหล่านี้จะมีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับหุ้น เช่น ข่าว ราคาหุ้นแบบ real time กราฟ เครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิค ข้อมูลพื้นฐานบริษัทจดทะเบียน เช่น งบการเงิน ผู้ถือหุ้น คณะกรรมการบริษัท บ้างมีบทวิเคราะห์จากทางหลักทรัพย์ โดยทั้งหมดนี้เพื่อให้ข้อมูลแก่นักลงทุนในการตัดสินใจคัดกรองหุ้น เพื่อซื้อเข้าพอร์ตนั่นเองครับ
 

ซื้อขายผ่านนายหน้า

นอกเหนือจากการส่งคำสั่งซื้อขายด้วยตัวเองผ่านทาง internet แล้ว เรายังสามารถเทรดหุ้นผ่าน Marketing หรือนายหน้าของโบรกเกอร์ได้เช่นกัน ข้อดีของการติดต่อ Marketing คือ Marketing มักจะมีข้อมูลหุ้นมาคอยให้คำแนะนำ รวมถึงโอกาสผิดพลาดในการคีย์ข้อมูลจะน้อยกว่า แต่การซื้อขายผ่าน Marketing นั้นจะมีค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่สูงกว่าค่าธรรมเนียมของการเทรดผ่าน internet ด้วยตัวเอง ค่าคอมมิชชัน หรือค่าธรรมเนียมการซื้อขายนั้น มีราคาที่แตกต่างกันในแต่ละโบรกเกอร์ นี่คือหนึ่งในข้อควรพิจารณาการเลือกโบรกเกอร์ ร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความน่าเชื่อถือและได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) การให้บริการ ความเสถียรของระบบซื้อขาย และการให้ข้อมูลวิเคราะห์ครับ

เมื่อบัญชี และเครื่องมือพร้อมแล้ว อย่าลืม เตรียมตัวให้พร้อมโดยการเพิ่มเติมความรู้สำหรับการลงทุนอยู่เสมอ เพราะความรู้จะทำให้มือใหม่ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา