Rebalancing พอร์ตกองทุนรวม ต้องทำทุกคนหรือไม่
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

Rebalancing พอร์ตกองทุนรวม ต้องทำทุกคนหรือไม่

icon-access-time Posted On 07 กุมภาพันธ์ 2567
By ปริตา ธิติปรีชาพล
ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มนิยมออมเงิน และลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ กันมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนรวม หุ้น หรือตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งกลยุทธ์สำคัญที่นักลงทุนควรรู้ และศึกษาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจก็คือ “Rebalancing Portfolio” แต่หลายคนอาจจะยังไม่ค่อยมีความรู้หรือประสบการณ์ว่า Rebalance คืออะไร

Rebalance Portfolio คือ การที่นักลงทุนปรับสัดส่วนการลงทุนของตนเองในสินทรัพย์แต่ละประเภท เพื่อให้เป็นไปตามพอร์ตที่วางแผนไว้ ซึ่งก็คือคำตอบของคำถามที่ว่า “การทำพอร์ต คืออะไร?” ซึ่งก็คือ การที่จะเริ่มต้นลงทุนนักลงทุนต้องเริ่มจากวางแผนการลงทุนตั้งแต่ช่วงแรก เช่น การคัดครองสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนตามที่คาดหวัง มีระดับความเสี่ยงในการลงทุนที่ยอมรับได้ อีกทั้งมีการเลือกสัดส่วนในการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองเอาไว้แล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผลตอบแทนและอัตราการเติบโตของแต่ละสินทรัพย์มักมีความผันผวน จึงต้องมีการปรับสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทให้เป็นไปตามแผนการลงทุนที่กำหนดไว้

Rebalancing พอร์ตกองทุนจำเป็นไหม?

หากถามว่าการทำ Rebalancing พอร์ตกองทุนนั้นมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน คงต้องตอบด้วยสถิติว่า พอร์ตกองทุนรวมที่มีการทำ Rebalancing มักจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนตามเป้าหมายมากกว่าพอร์ตกองทุนที่ไม่ได้มีการทำ Rebalancing โดยสามารถยกตัวอย่างให้เห็นภาพดังนี้

ในช่วงแรกของการลงทุนด้วยเงินลงทุน 500,000 บาท ผู้ลงทุนอาจจะแบ่งสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ 2 รูปแบบ ประกอบด้วย
  1. กองทุนหุ้น 60% คิดเป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท
  2. กองทุนตราสารหนี้ 40% คิดเป็นเงิน 200,000 บาท
แต่เมื่อเวลาผ่านไปกองทุนหุ้นมีกำไรเพิ่มขึ้น 50% ทำให้มีจำนวนเงินในพอร์ตหุ้นเพิ่มเป็น 450,000 บาท ในขณะที่กองทุนตราสารหนี้ไม่มีกำไรและไม่มีการขาดทุน ทำให้เงินลงทุนในพอร์ตกองทุนรวมเป็นเงินทั้งหมด 650,000 บาท สัดส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจะเป็น
  • กองทุนหุ้น 69%
  • กองทุนตราสารหนี้ 31%

สัดส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ เมื่อเวลาผ่านไป สินทรัพย์ก็อาจจะมีการผันผวนไปได้อีก ยิ่งเป็นกองทุนหุ้นก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นการทำ Rebalancing จะช่วยปรับพอร์ตกองทุนให้มีสัดส่วนการลงทุนตามแผนเดิมที่วางไว้ เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน และช่วยให้สามารถวางแผนการลงทุนในอนาคตได้อย่างมีระบบมากขึ้น ยังช่วยลดการใช้อารมณ์ในการลงทุนลง ดังนั้นไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุน การทำ Rebalancing จึงเป็นสิ่งจำเป็นอยู่เสมอ และนักลงทุนทุกคนควรทำ
 
3 ข้อดีของการ Rebalancing พอร์ตกองทุน

3 ข้อดีของการ Rebalancing พอร์ตกองทุน

ข้อดีของการ Rebalancing พอร์ตกองทุนนั้น สามารถแยกออกเป็น 3 ประเด็นสำคัญ เพื่อให้นักลงทุนเห็นภาพชัดเจนขึ้นได้ ดังนี้
 

1. ควบคุมพอร์ตกองทุนให้มีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ตลอดเวลา

การ Rebalance Portfolio คือ การปรับสัดส่วนการลงทุนของพอร์ตกองทุนรวมให้เท่ากับพอร์ตที่วางแผนไว้ตั้งแต่แรก ทำให้ไม่ว่าการลงทุนจะผ่านไปด้วยระยะเวลายาวนานแค่ไหน พอร์ตการลงทุนนี้ก็ยังคงมีระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนสามารถยอมรับได้เสมอ ไม่ต้องเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาตลาด เพราะมีการศึกษาความต้องการของตนเองมาอย่างดีแล้ว ตั้งแต่ตอนทำพอร์ตในช่วงแรก
 

2. สามารถปรับแผนการลงทุนได้ตามความเสี่ยงที่รับได้

อย่างที่ทราบกันดีว่า สินทรัพย์แต่ละประเภทมีอัตราการเติบโตในแต่ละช่วงเวลาไม่เท่ากัน ดังนั้น Rebalancing จะช่วยให้เราเลือกลงทุนในสินทรัพย์ได้ตามความเสี่ยงที่รับได้ เช่น ในบางช่วงเวลาเราอาจจะสามารถรับความเสี่ยงได้สูง ก็ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนและมีความเสี่ยงสูง เพื่อนำเอากำไรที่ได้มาต่อยอดการลงทุนเพิ่มเติม แต่หากอยู่ในช่วงวัยใกล้เกษียณ ก็อาจจะปรับพอร์ตกองทุนรวมให้มีระดับความเสี่ยงต่ำลง เพื่อรักษาเงินต้นไว้ให้ได้มากที่สุด
 

3. ช่วยให้สามารถกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ดี

อย่างที่เกริ่นไว้แล้ว การ Rebalancing จะช่วยให้ผู้ลงทุนตัดอารมณ์ออกจากการลงทุนได้ ไม่ไขว้เขวไปกับกระแส หรือข่าวสารชั่วคราว และจะสามารถลงทุนได้ตามสัดส่วนจริงที่กำหนดไว้ ทำให้เกิดการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย และมีการลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วยความเสี่ยงที่จำกัดไว้ตามเป้าหมายการลงทุนในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต
 
ใครที่ควร Rebalancing พอร์ตกองทุน

ใครบ้างที่ควรทำ Rebalancing พอร์ตกองทุน

สำหรับนักลงทุนที่กำลังสงสัยว่า ตัวเองนั้นจำเป็นต้อง Rebalancing พอร์ตกองทุนรวมหรือไม่ ต้องบอกเลยว่า นักลงทุนทุกคนสามารถทำการ Rebalancing พอร์ตการลงทุนได้ และเป็นเรื่องที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการปล่อยพอร์ตการลงทุนไว้โดยไม่สนใจดูแลปรับสัดส่วนการลงทุน มีแต่จะทำให้เสียโอกาสในการได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น หรือในกรณีเลวร้ายอาจจะติดดอย ทำให้ขาดทุนจากการลงทุนได้ ดังนั้นในเมื่อรักจะลงทุนแล้ว ก็ควรให้ความสำคัญของการดูแลจัดการบริหารพอร์ตด้วยการ Rebalancing เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์สูงสุดด้วย

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ช่วงไหนควรทำการ Rebalancing พอร์ตการลงทุน

แม้ว่าการทำ Rebalancing พอร์ตการลงทุนจะเป็นเรื่องที่ควรทำ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำแบบไม่มีหลักการ การทำ Rebalancing ในบางกองทุนอาจมีค่าธรรมเนียมในการสับเปลี่ยน หรือขายออก หากทำบ่อยเกินไป จากที่จะได้ประโยชน์อาจจะทำให้เสียผลประโยชน์โดยไม่ได้ตั้งใจก็เป็นได้ ส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนควรเลือกปรับสัดส่วนพอร์ตการลงทุนก็ต่อเมื่อมีปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
 

1. Calendar Based: ปรับตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

การกำหนดช่วงเวลาในการ Rebalance คือ อาจจะเลือกปรับสัดส่วนพอร์ตการลงทุนทุก ๆ ช่วงไตรมาส ครึ่งปี หรือ 1 ปี เป็นต้น โดยการปรับสัดส่วนด้วยวิธีการนี้ เหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ค่อยมีเวลามานั่งดูผลประกอบการของตลาดสินทรัพย์ตลอดเวลา โดยจะทำการปรับพอร์ตเมื่อถึงรอบปฏิทินที่กำหนดไว้เท่านั้น
 

2. Range Based: ปรับตามสัดส่วนการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปตามที่กำหนดไว้

การกำหนดช่วงของสัดส่วนการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป คือ การกำหนดการปรับพอร์ตด้วยอัตราการเติบของสินทรัพย์ในพอร์ต เช่น เมื่อใดก็ตามที่สัดส่วนการลงทุนเปลี่ยนแปลง ± 10% จะต้องมีการ Rebalance Portfolio เพื่อให้สัดส่วนกลับมาเท่ากับการลงทุนในช่วงแรก ซึ่งอาจจะทำโดยการขายสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เพื่อมาซื้อสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนลดลงแทน หรืออาจปรับสมดุลพอร์ตด้วยการเพิ่มเงินลงทุนเข้าไปในพอร์ต เพื่อซื้อสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนน้อยกว่าให้กลับมาเท่าเดิมตามแผนที่วางไว้ เป็นต้น
 

3. CPPI: ปรับสัดส่วนพอร์ตกองทุนตามแผนที่เปลี่ยนแปลงไป

Constant Proportion Portfolio Insurance (CPPI) คือ การปรับสัดส่วนพอร์ตกองทุนรวมตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น เมื่อระยะเวลาผ่านไป บางสินทรัพย์มีแนวโน้มอัตราเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนเองก็สามารถยอมรับระดับความเสี่ยงในการลงทุนได้สูงขึ้น ก็อาจจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์นั้น ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถไปถึงเป้าหมายการลงทุนได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตามการทำ CPPI ควรต้องมีการกำหนดสัดส่วนสูงสุดของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเอาไว้ด้วย เช่น สัดส่วนกองทุนตราสารหนี้จะต้องไม่ต่ำกว่า 30% เพื่อเป็นการรักษาเงินลงทุนบางส่วนเอาไว้ หากการลงทุนไม่เป็นไปตามแผน

การทำ Rebalancing เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญและจำเป็นกับนักลงทุนเป็นอย่างมาก สำหรับนักลงทุนท่านใดที่ต้องการปรับสัดส่วนการลงทุนของตนเองให้มีประสิทธิภาพ และมีความสมดุลอยู่ตลอดเวลา แต่อาจจะยังไม่ค่อยมีความมั่นใจ หรือท่านใดที่ยังไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นสร้างพอร์ตการลงทุนด้วยสัดส่วนแบบไหนดี สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ที่ช่องทางฮอตไลน์ 02-296-5959 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น.-17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับก็ได้เช่นกัน

บทความโดย
ปริตา ธิติปรีชาพล
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา