Portfolio rebalancing ปรับพอร์ตลงทุน ลดความเสี่ยง เพิ่มโอกาสทำกำไร
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

Portfolio rebalancing ปรับพอร์ตลงทุน ลดความเสี่ยง เพิ่มโอกาสทำกำไร

icon-access-time Posted On 21 เมษายน 2565
by Krungsri The COACH
Portfolio rebalancing สิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรทราบ ปรับสมดุลให้กับสัดส่วนการลงทุนเพื่อให้พอร์ตการลงทุนเติบโตอย่างมั่นคง และได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้ในทุกจังหวะของการลงทุน แต่การทำ Portfolio rebalancing คืออะไร และมีวิธีอย่างไรอ่านต่อได้ในบทความนี้
 

Portfolio rebalancing คืออะไร ทำไมนักลงทุนถึงควรรู้

Portfolio rebalancing หรือเรียกสั้นๆ ว่า rebalancing คือ การปรับสัดส่วนของการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทั้งในด้านผลตอบแทนที่คาดหวังและการปรับระดับความเสี่ยงในการลงทุนให้เหมาะสมตามสถานการณ์
 

ทำไมถึงต้องทำ Portfolio rebalancing

สาเหตุที่นักลงทุนต้องปรับสมดุลของพอร์ตการลงทุน เนื่องจากสินทรัพย์แต่ละประเภทมีอัตราการเติบโต และการให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกัน อีกทั้งระดับความเสี่ยง ความผันผวนก็แตกต่างกันด้วย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อเป้าหมายในการลงทุนที่อาจได้รับผลกระทบหากไม่มีการปรับพอร์ต

ดังนั้นการทำ rebalancing จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ ผ่านการพิจารณาเลือกสินทรัพย์การลงทุนในแต่ละช่วง เพื่อลดความเสี่ยง เพิ่มช่องทางกำไร ปรับพอร์ตให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้
 

การทำ Portfolio rebalancing ช่วยลดความเสี่ยงได้อย่างไร

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าสินทรัพย์แต่ละประเภทมีอัตราการเติบโตที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นในภาวะที่สินทรัพย์บางประเภทปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนั้นสูงขึ้น และส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนที่ตั้งเป้าหมายในการลงทุนโดยรับความเสี่ยงได้ในระดับกลาง มีต้นทุนในการลงทุนอยู่ที่ 200,000 สรรสัดส่วนการลงทุนไว้ที่ หุ้น 50% (100,000 บาท) และกองทุนตราสารหนี้ 50% (100,000 บาท)

แต่เมื่อเวลาผ่านไปพบว่าตลาดหุ้นมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น 20% แต่กองทุนตราสารหนี้กลับไม่มีการเติบโต ส่งผลให้มูลค่าหุ้นในพอร์ตเพิ่มขึ้นเป็น 120,000 บาท และมูลค่าพอร์ตรวม 220,000 บาท ซึ่งส่งผลต่อสัดส่วนการลงทุนที่เปลี่ยนไป คือ สินทรัพย์เสี่ยงสูง (หุ้น) มีสัดส่วน 70% ของพอร์ต และสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่างกองทุนตราสารหนี้ มีสัดส่วนที่ลดลงคือ 30%
 
Portfolio rebalancing ปรับพอร์ตลงทุน ลดความเสี่ยง เพิ่มโอกาสทำกำไร

ดังนั้นพอร์ตจึงมีความเสี่ยงโดยรวมที่สูงขึ้น หากไม่มีการปรับพอร์ตใดๆ สัดส่วนของหุ้นในพอร์ตก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ตลาดหุ้นตก พอร์ตก็จะเสียหายหรือมีโอกาสขาดทุนตามสภาวะของตลาด
 

วิธีการทำ Portfolio rebalancing

สำหรับวิธีการปรับพอร์ตให้สมดุล ปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมายทำได้โดย 2 วิธีดังนี้
  1. ขายสินทรัพย์ส่วนเกินออกไป (Overweight) ในอัตราส่วนที่เกินมา เพื่อนำผลกำไรหรือเงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์นั้น ไปซื้อสินทรัพย์ประเภทอื่นให้มีอัตราส่วนเท่าเดิม
  2. นำเงินมาซื้อสินทรัพย์อื่นเพิ่ม (Underweight) วิธีนี้จะช่วยให้สินทรัพย์อื่นที่มีอัตราส่วนน้อยลงกลับมามีอัตราส่วนเท่าเดิมที่เคยกำหนดไว้ในตอนต้น
 

ยกตัวอย่างวิธีการทำ rebalancing

 
Portfolio rebalancing ปรับพอร์ตลงทุน ลดความเสี่ยง เพิ่มโอกาสทำกำไร

สรุปวิธีการทำ rebalancing คือ การปรับอัตราส่วนการลงทุนให้เท่าเดิมกับเป้าหมายแรกที่ตั้งไว้ เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน และสามารถสร้างผลตอบแทนอย่างมั่งคง ไม่ผันผวนตามสภาวะของตลาดทุน
 

Portfolio rebalancing ควรทำเมื่อไร

โดยส่วนใหญ่การปรับสมดุลของพอร์ตสามารถกำหนดได้ด้วยกัน 3 วิธีดังนี้
  1. ปรับตามช่วงเวลา เช่น กำหนดว่าจะปรับพอร์ตทุกไตรมาสหรือทุก 6 เดือน เป็นต้น
  2. ปรับตามการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนของการลงทุน เช่น เมื่อสินทรัพย์ในพอร์ตมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลง 10-15% จะต้องมีการปรับสัดส่วนการลงทุน เป็นต้น
  3. ปรับตามเป้าหมายการลงทุน เช่น เมื่อพอร์ตมีกำไร 10 หรือ 15% จะขายทำกำไร หรือจะปรับพอร์ตให้สมดุลเท่าเดิม เป็นต้น

ทั้งนี้การทำ rebalancing ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาทั้งความเสี่ยงในการลงทุน ที่อาจะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วง รวมถึง คุณภาพของสินทรัพย์ ที่อาจจะไม่มีศักยภาพเท่าเดิมแล้ว การปรับพอร์ตหรือการลงทุนเพิ่ม อาจทำให้เพิ่มโอกาสขาดทุนมากกว่าการสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุน

สรุป
กล่าวโดยสรุป Portfolio rebalancing คือ แนวทางการปรับสัดส่วนของพอร์ตการลงทุน ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่นักลงทุนตั้งไว้ เพื่อลดความเสี่ยง และรับมือความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงของตลาด ซึ่งถ้านักลงทุนคนไหนสนใจ ปรับพอร์ตการลงทุนในกองทุนรวม สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาหรือหาข้อมูลเพิ่มได้ที่ บริการที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรี

บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา