กองทุนรวม (Mutual Fund) เป็นการรวบรวมเงินทุนจากนักลงทุนทั่วไป รวมเป็นเงินก้อนขนาดใหญ่ แล้วนำเงินที่รวบรวมไปลงทุนในหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์ต่าง ๆ ตามนโยบายที่ได้ตกลงกับนักลงทุนไว้ ซึ่งการลงทุนในกองทุนรวม เป็นอีกช่องทางในการออมเงินของมนุษย์เงินเดือนที่ต้องการให้เงินทำงาน ทำกำไรให้งอกเงย และเป็นการลงทุนที่ไม่ยากจนเกินไป คือแบบว่าไม่ต้องมานั่งศึกษากันแบบละเอียด แต่ศึกษาให้พอรู้ก็สามารถลงทุนได้แล้ว เพราะเป็นการเอาเงินไปให้ผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพเขาบริหารจัดการเงินทุนของเราให้ได้ผลกำไร แต่การลงทุนในกองทุนรวมก็มีหลายชนิดที่แต่ละกองก็จะมีการลงทุนที่แตกต่างกันไป ตรงนี้แหละครับที่เราต้องศึกษา ทำความเข้าใจให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน
เรามาดูกันว่าเราต้องศึกษา ต้องรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวม
1. ต้องรู้เป้าหมายการลงทุนของตัวเองก่อนว่าระยะเวลาของการลงทุนเป็นอย่างไร เช่น ลงทุนระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว และสำรวจเงินทุนว่ามีเท่าไหร่ที่จะลงทุน โดยต้องเป็นเงินก้อนที่เราไม่มีแผนที่จะเอามาใช้ หรือมีการวางแผนว่าจะใช้เงินก้อนนี้เมื่อไหร่ก็ระบุให้ชัดเจน เพราะว่ามันมีผลกับการเลือกกองทุน เพราะกองทุนมี 2 แบบ คือ
- กองทุนปิด เป็นกองทุนที่ขายให้นักลงทุนครั้งเดียวตอนเริ่มโครงการ ซึ่งในระหว่างเวลาที่ถือหน่วยลงทุนจะไม่สามารถซื้อเพิ่มได้ และไม่สามารถขายคืนจนกว่าจะครบกำหนดตามที่กองทุนกำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน และเมื่อครบกำหนดเวลาของหน่วยลงทุน ทางบริษัทจัดการกองทุนจะรับซื้อตามมูลค่าที่ครบกำหนดซึ่งอาจจะมากขึ้นหรือลดลงก็ได้
- กองทุนเปิด เป็นกองทุนที่ขายให้นักลงทุนไม่กำหนดเวลาในการไถ่ถอน นักลงทุนสามารถซื้อเมื่อเริ่มโครงการ และในระหว่างเวลาที่ถือหน่วยลงทุนสามารถซื้อเพิ่มได้หรือขายเมื่อไหร่ก็ได้เพราะไม่มีกำหนด (วางแผนการลงทุนให้มั่นใจได้ที่นี่)
จากที่บอกไป เราก็ต้องเลือกกองทุนที่เหมาะกับแผนการเงินของเรา ถ้ามีเงินก้อนเป็นเงินเก็บยาว ๆ ก็สามารถเลือกกองทุนปิดได้ แต่ถ้ามีเงินเก็บไม่มาก และอาจต้องใช้เงินก็เลือกประเภทกองทุนเปิด
2. ต้องรู้ความเสี่ยงของการลงทุน เรารับความเสี่ยงได้มากแค่ไหนเพราะแต่ละกองทุนจะมีการลงทุนที่แตกต่างกันไป ถ้าต้องการผลตอบแทนที่สูง ก็ต้องรับความเสี่ยงสูงได้ ถ้าเรายอมรับได้ก็สามารถเลือกกองทุนที่ลงทุนในหุ้น แต่ถ้าเราเป็นประเภทไม่อยากเสี่ยงเน้นเงินต้นไม่หาย ก็ต้องไปเลือกกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งแต่ละกองทุนเขาก็จะมีระดับคะแนนความเสี่ยงให้เราทราบว่าเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย
3. ถ้าคุณเป็นมนุษย์เงินเดือนควรเลือกมองหากองทุนประเภท LTF/RMF เพราะนอกจากจะไว้ลงทุนสำหรับการถือยาวแล้ว ยังสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย โดยเงินลงทุนในกองทุน LTF สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในปีภาษีนั้น และต้องไม่เกิน 500,000 บาท และในส่วนของกองทุน RMF สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในปีภาษีนั้น เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุน กบข. และประกันชีวิตแบบบำนาญ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท (
อ่าน LTF/RMF กองทุนที่ขาดไม่ได้ช่วงปลายปี)
4. ต้องรู้จักศึกษาหาข้อมูลผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนที่เราสนใจ ว่ามีผลดำเนินงานเป็นอย่างไร สามารถสร้างผลตอบแทนได้สม่ำเสมอหรือไม่ ถ้าเป็นกองทุนที่มีปันผล สามารถที่จะปันผลได้สม่ำเสมอหรือไม่ ถ้าเราดูแล้วกองทุนที่เราสนใจมีประวัติที่ดีก็น่าสนใจที่จะลงทุน
5. ต้องรู้จักวิเคราะห์แนวโน้มสภาพปัจจัยต่าง ๆในปัจจุบันที่กองทุนนั้นกำลังลงทุนอยู่ว่าเหมาะสมที่จะลงทุนตอนนี้ไหม เช่น กองทุนที่ลงทุนในน้ำมัน ทองคำ หรืออสังหาริมทรัพย์ ก็ต้องดูว่าช่วงนี้น่าสนใจหรือไม่ มองทิศทางแนวโน้มเป็นอย่างไร เหมาะแก่การลงทุนหรือไม่ หากทิศทางไม่ค่อยดี ก็ควรจะเปลี่ยนไปลงทุนในกองทุนที่น่าจะทำกำไรได้มากกว่าในเวลาเดียวกัน แต่ถ้าลองวิเคราะห์ดูแล้วช่วงนี้เป็นช่วงขาลงแต่มีแนวโน้มที่จะกลับตัวขึ้นไปใหม่ได้ในอนาคต ก็สามารถที่จะเข้าลงทุนสะสมไว้ได้
6. ต้องรู้จักวางแผนการลงทุนที่ยืดหยุ่น บริหารเงินทุนให้มีประสิทธิภาพ ให้เงินทำงานแทนเราอย่างเต็มที่ เช่น เราจะไม่ลงทุนในกองทุนครั้งเดียวทั้งหมด ให้แบ่งเงินสำหรับการลงทุนและไม่ลงทุนในกองทุนเดียว ควรกระจายความเสี่ยงลงทุนหลาย ๆ กอง เช่น เราลงทุนกองทุน LTF ก็สามารถที่จะทยอยซื้อในแต่ละเดือนได้ หรือช่วงจังหวะที่ตลาดหุ้นลงก็ทยอยสะสม และมองหากองทุน LTF ที่น่าสนใจมากกว่า 1 กองเพื่อกระจายความเสี่ยง เพราะที่เราเห็นผลงานในอดีตออกมาดี เขาก็บอกอยู่แล้วว่าอนาคตมันอาจจะไม่ดีเหมือนในอดีตก็ได้ ก็ต้องเลือก ๆ ไว้ รวมถึงการลงทุนในกองทุนประเภทต่าง ๆ ก็อาจจะมีซื้อกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นไว้ เพื่อที่จะถอนได้ง่ายและได้ผลตอบแทนด้วย อาจจะมีซื้อกองทุนต่างประเทศ ที่เราได้ศึกษาแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงสูงที่จะลงทุน ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่เราจัดการเงินทุน จัดการเวลาในการลงทุน เหมาะสมและได้ผลตอบแทนตามเป้าหมายที่วางไว้