ลงทุนกองทุนรวม วัยไหน ก็ลงทุนได้
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ลงทุนกองทุนรวม วัยไหน ก็ลงทุนได้

icon-access-time Posted On 17 สิงหาคม 2564
By Krungsri The COACH
ตั้งแต่มีวิกฤติโควิดเชื่อว่าหลายคนคงหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น วัยเรียนหรือวัยทำงาน เพราะได้รู้แล้วว่าการเตรียมความพร้อมเรื่องเงินเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันสำคัญขนาดไหน บางคนเริ่มวางแผนการเงิน เริ่มเก็บออมมากขึ้น และมีจำนวนไม่น้อยเลยที่หันมาเรียนรู้เรื่องการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อทำเงินที่มีให้งอกเงย
การวางแผนการเงินที่ดีนั้นไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราก้าวผ่านวิกฤติต่าง ๆ ไปได้ แต่ยังช่วยสร้างความมั่นคงในชีวิตให้เรา วันนี้กรุงศรีขอแนะนำการลงทุนใน “กองทุนรวม” ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการต่อยอดเงิน และสามารถสร้างผลตอบแทนให้เราได้มากกว่าการฝากเงินในบัญชีธนาคาร ที่นับวันอัตราดอกเบี้ยก็ลดลงเรื่อย ๆ
อันดับแรกเรามารู้จักกันก่อนว่ากองทุนรวมคืออะไร? อธิบายง่าย ๆ ก็คือการที่ บลจ. (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน) ซึ่งเป็นมืออาชีพด้านการลงทุน นำเงินของเราและผู้ลงทุนรายอื่น ๆ ไปลงทุนและช่วยดูแลบริหารจัดการให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้ และถ้าลงทุนแล้วเกิดผลตอบแทนขึ้น จะแบ่งให้ผู้ลงทุนตามสัดส่วนจำนวนหน่วยลงทุนที่ถือครอง ซึ่งเราสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนที่เราสนใจ และความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ เช่น ลงทุนในกองทุนรวมหุ้น ก็มีให้เลือกทั้งหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ หรือจะสนใจลงทุนในกองทุนรวมผสมที่ลงทุนผสมระหว่าง หุ้น ตราสารหนี้ เงินฝาก และทรัพย์สินอื่น ๆ ทั้งนี้ความเสี่ยงก็จะแตกต่างกันไป เมื่อรู้จักกันแล้วว่ากองทุนรวมคืออะไร ใครที่อยากเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม เตรียมตัวให้พร้อมแล้วไปต่อกันเลย

Lesson 1: มารู้จักกองทุนรวมแต่ละประเภทกันก่อน

กองทุนรวมแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามระดับความเสี่ยง และสินทรัพย์ที่ลงทุน ได้แก่

1. กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund)

รูปแบบการลงทุน: มีนโยบายการลงทุนในเงินฝาก หรือตราสารหนี้ระยะสั้น
เหมาะกับใคร: ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยมาก หรือผู้ที่ต้องการพักเงิน
ระดับความเสี่ยง: เสี่ยงต่ำ
กองทุนรวมที่น่าสนใจ: KFCASH-A, KFCASHPLUS
ลงทุนกองทุนรวม วัยไหน ก็ลงทุนได้

2. กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund)

รูปแบบการลงทุน: มีนโยบายลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล, พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ, ตั๋วเงินคลัง, บัตรเงินฝากของธนาคาร, ตั๋วสัญญาใช้เงิน, ตั๋วแลกเงิน, หุ้นกู้เอกชน
เหมาะกับใคร: ผู้ที่ลงทุนระยะยาวได้ ผู้ที่ต้องการกระจายความเสี่ยง หรือผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยงจากดอกเบี้ยขาลง
ระดับความเสี่ยง: ปานกลางค่อนข้างต่ำ
กองทุนที่น่าสนใจ: KFSMART, KFAFIX-A

3. กองทุนรวมผสม (Mixed Fund)

รูปแบบการลงทุน: มีนโยบายกระจายการลงทุนทั้งในตราสารหนี้ และตราสารทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงของเงินที่ลงทุน
เหมาะกับใคร: ผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง หรือผู้ที่ยังไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนในหุ้นมากนัก แต่ต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น
ระดับความเสี่ยง: เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง
กองทุนรวมที่น่าสนใจ: KFHAPPY-A, KFGOOD หรือ KFFLEX-D

4. กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund)

รูปแบบการลงทุน: มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนประเภทต่าง ๆ เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิ หน่วยลงทุนของกองทุนรวม มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 80%
เหมาะกับใคร: ผู้ที่ต้องการผลตอบแทนสูงและรับความเสี่ยงได้สูง ผู้ที่ชอบการลงทุนในหุ้น แต่ไม่มีเวลาบริหารการลงทุน
ระดับความเสี่ยง: เสี่ยงสูง
กองทุนรวมที่น่าสนใจ: KFTSTAR-A, KFENS50-A, KFSDIV หรือ KFSEQ

5. กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund)

รูปแบบการลงทุน: มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเป็นการกระจายการลงทุน และเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทน
เหมาะกับใคร: ผู้ที่ต้องการกระจายการลงทุนไปยังประเทศ หรือภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งนี้ ต้องสามารถรับความเสี่ยงได้สูงและรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินได้
ระดับความเสี่ยง: เสี่ยงสูง
กองทุนรวมที่น่าสนใจ: KFGBRAND-A, KF-HEUROPE หรือ KFINNO-A

6. กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก

รูปแบบการลงทุน: ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากสินทรัพย์พื้นฐาน เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ ทองคำ น้ำมัน ตราสารอนุพันธ์ที่ไม่ใช่เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุน
เหมาะกับใคร: ผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูงมาก หรือผู้ที่ต้องการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวม
ระดับความเสี่ยง: เสี่ยงสูงมาก
กองทุนที่น่าสนใจ: KF-OIL หรือ KF-GOLD

7. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)

รูปแบบการลงทุน : เป็นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว ที่ให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ เมื่อลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร โดยมีข้อดีคือ ไม่กำหนดจำนวนขั้นตํ่าในการซื้อต่อปี และไม่บังคับซื้อต่อเนื่อง แต่เมื่อซื้อแล้วต้องถือครองเป็นเวลา 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ
เหมาะกับใคร: ผู้ที่ต้องการสิทธิ์ลดหย่อนภาษี
ระดับความเสี่ยง: สามารถเลือกได้ทั้งความเสี่ยงต่ำ เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงสูง
กองทุนที่น่าสนใจ: KFAFIXSSF, KFHAPPYSSF, KFACHINSSF

8. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

รูปแบบการลงทุน: เป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่ส่งเสริมให้มีการออมเงินในระยะยาวสำหรับยามเกษียณ นโยบายการลงทุนมีหลากหลาย สามารถลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตลาดเงิน ตราสารหนี้เอกชน หุ้น หุ้นต่างประเทศ ทองคำ เป็นต้น
เหมาะกับใคร: ผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษี ที่สามารถลงทุนได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และรอได้จนอายุครบ 55 ปี จึงจะขายคืนกองทุนรวมออกได้
ระดับความเสี่ยง: สามารถเลือกได้ทั้งความเสี่ยงต่ำ เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงสูง
กองทุนที่น่าสนใจ: KFSINCRMF, KFS100RMF, KFGBRANRMF
ลงทุนกองทุนรวม วัยไหน ก็ลงทุนได้

Lesson 2: อยากเริ่มลงทุนในกองทุนรวมต้องทำอย่างไร

เมื่อเรารู้จักกับกองทุนรวมประเภทต่าง ๆ แล้ว เราอยากแนะนำให้ใครที่สนใจไปลองทำแบบประเมินความเสี่ยง เพราะจะได้รู้ว่าตัวเราเองรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน จะได้เลือกกองทุนรวมที่เหมาะสมได้ แต่ก่อนจะเริ่มลงทุนได้นั้น เราต้องมีบัญชีกองทุนรวมก่อน ซึ่งขั้นตอนก็ไม่ยุ่งยาก สามารถเปิดได้ง่าย ๆ ทั้งที่ธนาคารกรุงศรี หรือในช่วงนี้ที่โควิดยังคงอยู่กับเรา ก็สามารถเปิดบัญชีและเริ่มซื้อ-ขายกองทุนรวมได้ด้วยตัวเองที่บ้าน ผ่าน KMA-Krungsri Mobile App เพียงมีบัญชีออมทรัพย์กับธนาคารกรุงศรี (ใครยังไม่มีก็เปิดบัญชีออมทรัพย์ผ่าน KMA ได้) แล้วทำตามขั้นตอน เท่านี้ก็เริ่ม ซื้อ-ขายกองทุนรวมผ่าน KMA ได้เลย สะดวกมาก นอกจากนี้หากเราอยากได้ข้อมูลการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเราก็สามารถขอคำแนะนำการลงทุนจากฟีเจอร์ Smart advisor ใน KMA ได้ฟรี ๆ
ลงทุนกองทุนรวม วัยไหน ก็ลงทุนได้

Lesson 3: “เทคนิคดี ๆ กับแผนการลงทุนอย่างปลอดภัย”

นอกจากการเลือกกองทุนรวมที่เหมาะสมกับตัวเราแล้วนั้น เรายังอยากให้ทุกคนได้รู้จักเทคนิคดี ๆ ในการลงทุน เพราะเราเข้าใจว่าเมื่อลงทุนแล้วเราทุกคนก็อยากได้ผลตอบแทนดีที่สุด ซึ่งสำหรับกองทุนรวมเราอาจใช้เทคนิค DCA (Dollar-cost averaging) หรือการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน คือไม่จำเป็นต้องลงทุนครั้งเดียวเยอะ ๆ แต่เป็นการทยอยลงทุนเป็นงวด ๆ เช่น เป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือน ด้วยจำนวนเงินลงทุนที่เท่า ๆ กัน โดยไม่สนใจว่าราคาหน่วยลงทุนที่เราจะซื้อ ณ ตอนนั้น ว่าจะเป็นราคาเท่าไหร่ ทำแบบนี้ติดต่อกันไปเรื่อย ๆ เงินที่เรา DCA จะไปถัวเฉลี่ยให้ราคาต้นทุนกองทุนรวมถูกลงนั่นเอง ซึ่งยังเป็นการสร้างวินัยในการลงทุนให้เราอีกด้วย
ขอฝากไว้สุดท้ายว่าก่อนที่จะเลือกลงทุนในกองทุนรวม เราควรศึกษาข้อมูล หรือนโยบายการลงทุนให้เข้าใจ และหมั่นติดตามข่าวสาร เพื่อจะได้รู้ว่ากองทุนรวมที่เราเลือกนั้นมีผลการดำเนินการอย่างไร ตอนไหนถึงเวลาที่เราควรปรับพอร์ตการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดทุน หรือใครอยากวางแผนการเงินก่อนเริ่มต้นลงทุนก็สามารถใช้บริการ Krungsri Plan your money จากธนาคารกรุงศรี ที่จะช่วยแนะนำการจัดการเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ให้เราวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายการลงทุน เพื่อให้เราถึงเป้าหมายที่เราฝันไว้ ไม่ว่าจะเป็นการมีเงินใช้ในวัยเกษียณ หรือมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงขึ้น ทั้งนี้หากอยากศึกษาข้อมูลการลงทุนในกองทุนรวมเพิ่มเติม สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก
คำเตือน
  • ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน
  • KFSMART, KFAFIX-A, KFAFIXRMF, KFAFIXSSF, KFHAPPY-A, KFGOOD, KFHAPPYSSF, KFSINCRMF อาจลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Non-investment grade) หรือที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Bond) ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร ซึ่งส่งผลให้ผู้ลงทุนขาดทุนจากการลงทุนบางส่วน หรือทั้งจำนวนได้ และในการขายคืนหน่วยลงทุนอาจไม่ได้รับเงินคืนตามที่ระบุไว้ในโครงการ
  • KFGBRAND-A, KFGBRANRMF, KFACHINSSF, KF-GOLD, KF-OIL, อาจทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินในหลักทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศที่กองทุนถืออยู่ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทจัดการซึ่งอาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมฯ โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และในกรณีที่ไม่ได้ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
  • KFACHINSSF ลงทุนกระจุกตัวในตราสารผู้ออกจึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก
  • KFGBRAND-A, KFGBRANSSF, KFGBRANRMF, KFACHINSSF, KFSINCRMF เป็นกองทุนที่ลงทุนกระจุกตัวในประเทศ หรือกลุ่มประเทศที่กองทุนลงทุน ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย
  • SSF เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออม และ RMF ลงทุนเพื่อเกษียณอายุ ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน
  • KF-GOLD, KF-OIL ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนทำการลงทุน
  • สำหรับ KF-GOLD
    • กองทุนนี้ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน SPDR Gold Trust ซึ่งซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยบริษัทจัดการจะคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนด้วยราคาปิดของ SPDR Gold Trust ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ซึ่งราคาปิด ณ ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ อาจจะมีราคาที่แตกต่างจากราคาปิดของทองคำ (Gold Commodities) หรือราคาปิดของ SPDR Gold Trust ที่ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ ดังนั้น ผู้ลงทุนอาจจะได้ราคาหน่วยลงทุนที่แตกต่างจากราคาทองคำ หรือราคาของ SPDR Gold Trust ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ ได้
  • สำหรับ KF-OIL
    • กองทุนนี้ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Invesco DB Oil Fund ซึ่งเป็นกองทุนรวมอีทีเอฟ (Exchange Traded Fund) ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา โดยกองทุนหลักมีนโยบายลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี DBIQ Optimum Yield Crude Oil Index Excess Return ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนตามความเคลื่อนไหวของราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ (Oil Futures) อาจไม่เท่ากับการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันที่เห็นที่จุดบริการน้ำมัน
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา