ปลายปีแล้ว กองทุนไหนถูกใจมนุษย์เงินเดือน
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ปลายปีแล้ว กองทุนไหนถูกใจมนุษย์เงินเดือน

icon-access-time Posted On 26 กันยายน 2560
By Maibat

มีหลายวิธีที่มนุษย์เงินเดือนจะสามารถเก็บออมได้ หนึ่งในนั้นคือ การลงทุนในกองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า แต่ต้องรู้จักคัดสรรและเลือกกองทุนอย่างเหมาะสมด้วย

เผลอแป๊บเดียวก็ใกล้สิ้นปีแล้วถึงเวลาหากองทุนที่ถูกใจเอาไปลดหย่อนภาษีและเพิ่มเงินออมกันดีกว่า ผมในฐานะที่เป็นมนุษย์เงินเดือนโดยแท้ทำมาตั้งแต่เรียนจบจนถึงทุกวันนี้ จึงรู้ดีว่าไม่ค่อยมีเวลาว่างติดตามการลงทุน อยากได้กองทุนที่มีผลตอบแทนดีและไม่เสี่ยงจนเกินไป ผมใช้เวลาปีละ 2 ครั้งโดยประมาณเพื่อเรียนรู้กองทุนใหม่และปรับพอร์ตกองทุนตามสถานการณ์
น่าเสียดายที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักกองทุนรวมดีพอ เงินออมเกือบทั้งหมดยังอยู่ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยน้อยมาก เพราะไม่คุ้นเคยกับกองทุนมีหลายชนิดจนงงและศัพท์บางคำอ่านแล้วไม่เข้าใจ ผมอยากบอกว่าจริง ๆ แล้วไม่ได้ยากอย่างที่คิดอย่าปล่อยโอกาสทองหลุดมือไป กองทุนรวมเปิดโอกาสลงทุนในทรัพย์สินหลากหลายประเภททั่วโลก มีมืออาชีพมาคอยบริหารตามนโยบายการลงทุน และค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บก็ไม่แพง โดยครั้งนี้ผมขอแนะนำประเภทกองทุนที่น่าสนใจพร้อมด้วยชื่อกองทุนของบลจ.กรุงศรีเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนตามตารางด้านล่าง
ประเภทกองทุน ชื่อกองทุนและตัวย่อ ผลการดำเนินงาน ณ 30 มิ.ย. 60
3 เดือน 6 เดือน 1 ปี
ตราสารหนี้ กรุงศรีตราสารหนี้ระยะกลาง (KFMTFI) 0.68% 1.17% 1.4%
กรุงศรีแอคทีฟตราสารหนี้ (KFAFIX) 0.90% 1.53%  
LTF กรุงศรีหุ้นระยะยาวปันผล (KFLTFDIV) 2.07% 6.03% 11.37%
กรุงศรีหุ้นระยะยาว SET50 (KFLTF50) 0.63% 4.54% 11.97%
RMF กรุงศรีเฟล็กซิเบิ้ล 2 เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFFLEX2RMF) 2.18% 5.75% 9.92%
กรุงศรีทวีทรัพย์เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFTSRMF) 2.18% 5.81% 10.01%
ต่างประเทศ กรุงศรีโกลบอลคอลเล็คทีฟสมาร์ทอินคัม (KF-CSINCOM) 1.73% 3.74%  
กรุงศรีโกลบอลเทคโนโลยีอิควิตี้ (KF-GTECH) 7.41%    

กองทุนที่ควรมีติดพอร์ตอันดับแรกคือ “กองทุนรวมตราสารหนี้”


ปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ประมาณ 0.5% ต่อปี หากฝากเงิน 1 ล้านบาทจนครบปีได้ดอกเบี้ยแค่ 5,000 บาท เราจึงควรนำเงินบางส่วนย้ายมาออมไว้ในกองทุนรวมตราสารหนี้เพื่อรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยสภาพคล่องลดลงไปบ้างไม่มีบัตรเอทีเอ็มให้เบิกถอนได้ทันที แต่จะโอนคืนเข้าบัญชีออมทรัพย์ในวันทำการถัดไป (T+1) และความเสี่ยงเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งตราสารหนี้ก็ยังแบ่งเป็นประเภทย่อย ๆ ตามผู้ออกว่าเป็นรัฐหรือเอกชน แบ่งตามระยะเวลาไถ่ถอนว่าเป็นระยะสั้น กลาง หรือ ยาว และแบ่งตามอันดับความน่าเชื่อถือว่าเป็นเกรด AAA AA A B เป็นต้น เป็นไปตามกฎ High Risk High Return เสี่ยงสูงผลตอบแทนสูง
กองทุนของบลจ.กรุงศรี ได้แก่กรุงศรีตราสารหนี้ระยะกลาง (KFMTFI)เป็นกองทุนที่ได้รับความนิยม เพราะเน้นลงทุนในทรัพย์สินที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงและระยะเวลาไถ่ถอนปานกลาง ผลตอบแทน 1 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.4% ต่อปี และ กรุงศรีแอคทีฟตราสารหนี้ (KFAFIX)เป็นกองทุนที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่ลงทุนในทรัพย์สินคล้าย KFMTFI แต่ยอมรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ผลตอบแทนก็ขยับเพิ่มขึ้นด้วยโดย 6 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.53% ต่อปี

กองทุนที่ควรมีติดพอร์ตอันดับสองคือ “กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)”


มนุษย์เงินเดือนที่มีเงินได้สุทธิอยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษีควรซื้อ LTF มาช่วยลดหย่อนภาษี โดย LTF คือ กองทุนที่นำเงินไปลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ภายในระยะเวลา 7 ปีปฏิทิน ไม่บังคับซื้อทุกปี ซื้อปีไหนก็นำไปลดหย่อนภาษีปีนั้น โดยซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ หรือไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนของบลจ.กรุงศรี ได้แก่กรุงศรีหุ้นระยะยาวปันผล (KFLTFDIV) เป็นกองทุนที่ได้รับความนิยม เพราะเน้นลงทุนในหุ้นปันผลและผลตอบแทนระยะยาวทำได้ดี โดยผลตอบแทน 1 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 11.37% ต่อปี และ กรุงศรีหุ้นระยะยาว SET50 (KFLTF50) เป็นกองทุนที่เน้นสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี SET 50 โดยผลตอบแทน 1 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 11.97% ต่อปี

กองทุนที่ควรมีติดพอร์ตอันดับสามคือ “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)”


มนุษย์เงินเดือนที่มีเงินได้สุทธิอยู่ในฐานภาษีสูงควรซื้อRMF มาเป็นตัวช่วยเพิ่มเติมในการลดหย่อนภาษี โดย RMF คือ กองทุนที่นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ตามนโยบายกองทุนนั้น เช่น ตราสารหนี้ หุ้น น้ำมัน หรือ ทองคำ เป็นต้น โดยมีเงื่อนไขว่าต้องลงทุนอย่างน้อยปีเว้นปีต่อเนื่องจนถึงอายุครบ 55 ปี และปีที่ลงทุนต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ซื้อปีไหนก็นำไปลดหย่อนภาษีปีนั้น โดยซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับประกันชีวิตแบบบำนาญต้องไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนของบลจ.กรุงศรี ได้แก่กรุงศรีเฟล็กซิเบิ้ล 2 เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFFLEX2RMF) และ กรุงศรีทวีทรัพย์เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFTSRMF) เป็นกองทุนแบบผสมสามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนระหว่างหุ้นกับตราสารหนี้ให้เหมาะสมโดยผู้จัดการกองทุนเป็นผู้ตัดสินใจ ผลตอบแทน 1 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 9.92% และ 10.01% ต่อปีตามลำดับ
กองทุนที่ควรมีติดพอร์ตอันดับสี่คือ “กองทุนรวมต่างประเทศ”

บนโลกนี้ยังมีอีกหลายแห่งให้ลงทุนไม่ว่าจะ อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ฯลฯ ถือเป็นการแสวงหาโอกาสในการลงทุนพร้อมกระจายความเสี่ยง โดยมีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเข้ามา ซึ่งก็แล้วแต่กองทุนว่ามีนโยบายป้องกันความเสี่ยงหรือไม่ ถ้ามีก็ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องนี้ไปได้แต่ก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย และโดยปกติระยะเวลาขายคืนจะนานกว่าอยู่ที่ประมาณ 4 วันทำการ (T+4) ผมแนะนำให้มีติดพอร์ตไว้บ้างดีกว่าลงทุนในประเทศเพียงอย่างเดียว
กองทุนของบลจ.กรุงศรี ได้แก่กรุงศรีโกลบอลคอลเล็คทีฟสมาร์ทอินคัม (KF-CSINCOM) เป็นกองทุนที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่ลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลกผ่านกองทุนหลักที่มีชื่อว่า PIMCO GIS Income Fund ผลตอบแทน 6 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.74% ต่อปี และ กรุงศรีโกลบอลเทคโนโลยีอิควิตี้ (KF-GTECH) กองทุนที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่ลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งผ่านกองทุนหลักที่มีชื่อว่า Rowe Price Funds SICAV - Global Technology Equity Fund ผลตอบแทน 3 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 7.41% ต่อปี
สุดท้ายนี้ขอแนะนำเทคนิคการลงทุนในกองทุนรวมอีก 2 ข้อ
ข้อแรก คือ การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (DCA) โดยตัดเงินจากบัญชีออมทรัพย์หรือบัตรเครดิตเพื่อลงทุนในกองทุนเป็นประจำทุกเดือน ๆ ละเท่ากัน เพราะการขึ้นลงราคาเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยาก การลงทุนแบบนี้จะช่วยให้ได้ต้นทุนไม่สูงจนเกินไปนัก
ข้อสอง คือ การสับเปลี่ยนกองทุน (Switching) โดยย้ายจากกองทุนต้นทางไปกองทุนปลายทางเพื่อปรับพอร์ตกองทุน อันที่จริงแล้วเราไม่ควรเปลี่ยนบ่อยมากนักเพราะมีค่าธรรมเนียม แต่ควรกำหนดเปลี่ยนได้ปีละไม่เกิน 2 ครั้งตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา