เมื่อมีเงินเก็บ เริ่มต้นลงทุนอะไรดี?
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เมื่อมีเงินเก็บ เริ่มต้นลงทุนอะไรดี?

icon-access-time Posted On 06 พฤศจิกายน 2563
By Krungsri the COACH
หลังจากที่เราเริ่มต้นมีเงินเก็บแล้ว ปัญหาอย่างหนึ่งที่นักลงทุนมือใหม่ต้องเจอแน่นอน คือ “ไม่รู้ว่าจะนำเงินไปลงทุนอะไรก่อนดี” เพราะถ้าเราลองมองทางเลือกในการลงทุนที่มีอยู่ในตลาดลงทุนแล้วมีหลากหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น เงินฝาก ประกันต่าง ๆ กองทุนรวม ตราสารทุน (หุ้น) ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ น้ำมัน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์การเงินที่มีความซับซ้อนอย่างตราสารอนุพันธ์ต่าง ๆ

เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าเราควรนำเงินไปซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินตัวไหน เราควรจะต้องรู้ก่อนว่า ‘เป้าหมายทางการเงิน’ คืออะไร เพราะถ้าเรารู้ว่าเป้าหมายการเงินแล้ว เราก็จะรู้ว่าควรเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินตัวไหนให้เหมาะกับตัวเรา

ผลิตภัณฑ์การเงินแต่ละตัวนั้นก็มีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป อย่างประกันชีวิตต่าง ๆ ก็ยืนหนึ่งเรื่องการช่วยบริหารความเสี่ยง ด้วยความคุ้มครองในแบบต่าง ๆ ที่ไม่มีสินทรัพย์การเงินตัวไหนสามารถทำได้ หรือจะเป็นเงินฝากออมทรัพย์ ที่เรารู้อยู่แล้วว่าดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้สูง แต่ก็มีข้อดีเรื่องสภาพคล่องในการเบิกถอนได้อย่างรวดเร็วเพื่อไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือเป็นแหล่งเก็บเงินสำรองฉุกเฉินได้เป็นอย่างดี
เมื่อมีเงินเก็บ เริ่มต้นลงทุนอะไรดี
แต่หากเป้าหมายการเงิน คือ ต้องการให้เงินลงทุนงอกเงย สำหรับมือใหม่แนะนำว่าให้เริ่มที่ “กองทุนรวม” จะเหมาะสมที่สุด เนื่องจากข้อดีของกองทุนรวมนั้นช่วยทำให้มือใหม่ลงทุนได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการมีมืออาชีพคอยดูแลเงินลงทุนให้ ช่วยกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย มีระดับความเสี่ยงให้เลือกลงทุนตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำไปจนถึงเสี่ยงสูง และยังให้นักลงทุนเริ่มต้นลงทุนได้ง่าย ๆ แค่มีเงิน 500 บาทก็เริ่มลงทุนผ่านกองทุนรวมได้แล้ว

แต่การลงทุนต้องดูเรื่องของ ‘ความเสี่ยง’ ควบคู่กันด้วยเสมอ เป้าหมายการลงทุนที่ต่างกัน ระยะเวลาไม่เท่ากัน ความเสี่ยงที่รับได้ย่อมไม่เท่ากัน สมมติว่าถ้าเราอายุ 30 ปี มีเวลาอีกมากกว่า 20 ปีกว่าจะเกษียณ แน่นอนว่าหน้าตาของพอร์ตการลงทุนก็ย่อมจะมีสัดส่วนสินทรัพย์อย่างหุ้นในสัดส่วนที่มากกว่า แต่ถ้าเราอายุ 50 ปี แล้วมีเวลาอีกประมาณ 5-10 ปี ก็เกษียณอายุแล้ว เราก็ควรจะลงในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำลงมาอย่าง ‘ตราสารหนี้’ ในสัดส่วนที่เยอะขึ้น
เมื่อมีเงินเก็บ เริ่มต้นลงทุนอะไรดี
‘ช่วงวัย’ ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งที่มีผลต่อความสามารถในการรับความเสี่ยงอย่างมาก ซึ่งถ้าเราเอาช่วงวัยมาเป็นตัวช่วยในการจัดสรรพอร์ตการลงทุนว่าจะมีหน้าตาอย่างไร

วัยเริ่มต้นทำงาน อายุ 21-30 ปี

เป็นวัยที่ถือว่ามีระยะเวลาในการลงทุนยาวนานกว่าวัยอื่น ๆ ภาระความรับผิดชอบยังน้อย สามารถจัดพอร์ตการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงได้ โดยสามารถลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ ในอัตราส่วนที่สูงกว่า 90% ได้ และลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้ เงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง อีก 10%

วัยสร้างครอบครัว อายุ 31-40 ปี

วัยนี้เริ่มมีภาระทางการเงินที่สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นการแต่งงาน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ สร้างครอบครัวต่าง ๆ เมื่อภาระความรับผิดชอบเพิ่มสูงขึ้น ความสามารถในการรับความเสี่ยงก็ย่อมลดลงเป็นเรื่องปกติ การจัดสรรพอร์ตลงทุนแนะนำว่าให้ลดสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงอย่างหุ้นเหลือเพียง 50% โดยเน้นไปลงทุนในกองทุนรวม และลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำที่ 50%

วัยมั่นคง อายุ 41-50 ปี

เป็นช่วงที่มีรายได้สูงที่สุด ประกอบกับภาระทางการเงินเริ่มน้อยลงเรื่อย ๆ แต่ช่วงวัยนี้จะเป็นวัยช่วงใกล้เกษียณอย่างเต็มที่เหลือเวลาเตรียมตัวอีกไม่กี่ปี ทำให้ความสามารถรับความเสี่ยงน้อยลง แนะนำว่าให้จัดสรรสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงได้ไม่เกิน 30% แต่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 70% ขึ้นไป

วัยเกษียณ อายุ 55 ปีขึ้นไป

วัยเกษียณเป็นวัยที่รายได้ขาดหายไป เป็นช่วงที่จะทยอยถอนเงินที่เราสะสมไว้ออกมาใช้เรื่อย ๆ และก็ยังมีรายจ่ายบางรายการที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะค่ารักษาสุขภาพต่าง ๆ ดังนั้น เป็นวัยที่แทบจะรับความเสี่ยงไม่ได้เลย เนื่องจากถ้าการลงทุนผิดพลาดไปโอกาสแก้ตัวทำให้พอร์ตกลับมามีโอกาสน้อยมาก ไม่ควรจัดสรรการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงเกิน 10% เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำจะเหมาะสมที่สุด
เมื่อเรารู้ระดับความเสี่ยงที่เราสามารถรับได้แล้ว จากนั้นเราสามารถเข้าไปได้ ที่นี่ เพื่ออัปเดตสัดส่วนการลงทุนที่ทางธนาคารกรุงศรีฯ แนะนำ ซึ่งจะมีการอัปเดตให้เป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้นักลงทุนสามารถปรับพอร์ตตามสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

แต่ถ้าใครไม่มีเวลาติดตามการลงทุน แนะนำว่าให้เลือกลงทุนผ่าน ‘กองทุนผสม’ ที่จะช่วยกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความหลากหลาย โดยที่เราไม่ต้องปวดหัวจัดสัดส่วนการลงทุนเอง การกระจายการลงทุนช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ นอกจากนี้ยังมีผู้จัดการกองทุนคอยปรับพอร์ตให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องด้วย สามารถดูข้อมูลกองทุนรวมเพิ่มเติมได้ คลิกที่นี่
หากอยากรู้ว่าคุณรับความเสี่ยงในการลงทุนได้เท่าไร ทำแบบประเมินความเสี่ยงในการลงทุน คลิกเลย
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา