มีเงิน 5 แสนบาทจะลงทุนอะไรดี อะไร...ที่จะทำให้เรามีชีวิตที่ดี มีเงินทองใช้ในยามที่ต้องการหรือในยามเกษียณ และประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว อะไร...จะทำให้เงินก้อน 5 แสนงอกเงยกลายเป็นเงินล้านภายในไม่กี่ปี
หลายคนติดภาพการ “เล่นหุ้น” ในแง่ลบ เพราะได้ยินมาเยอะ ว่านักเล่นหุ้นขาดทุน หมดตัว หรือมีหนี้สินล้นพ้นจากการ “ขายหมูตลอด” “ตกรถไฟ” “ติดดอยเป็นประจำ” “ซื้อแพง ขายถูก” ถึงแม้วิธีลงทุนนี้จะสร้างผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนแบบอื่น ๆ แต่ความเสี่ยงก็มีมากเช่นเดียวกัน อย่างที่ว่ากันว่า high risk, high returns ทำให้ไม่กล้านำเงิน 5 แสนนี้ไปต่อยอดในตลาดหุ้น
ทั้งที่จริงแล้ว “นักเล่นหุ้น” กับ “นักลงทุนในหุ้น” นั้นต่างกัน นักลงทุนจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าแก่นการลงทุนคืออะไร หุ้นคืออะไร เราจะลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น โดยมีความเสี่ยงน้อยได้อย่างไร เพราะการลงทุนในหุ้นไม่ใช่การพนัน ที่เดิมพันเงิน 5 แสนโดยไม่รู้ว่าจะได้อะไรกลับมาหรือไม่ ความรู้ความเข้าใจในการลงทุน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนต้องศึกษาให้ดี
เริ่มต้นด้วยการออกแบบและตั้งเป้าหมายการลงทุนก่อน
รูปแบบการลงทุนที่จะทำให้เงินงอกเงยมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับเป้าหมาย ผลตอบแทนที่เราต้องการ และความเสี่ยงที่เรารับได้ ที่เราต้องทำ คือ วางแผนให้ดี ไม่มีใครวางแผนให้การลงทุนล้มเหลว แต่การลงทุนที่ล้มเหลวเพราะไม่ได้วางแผนต่างหาก
โชคดีที่ชีวิตในยุคดิจิทัลมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ดังเครื่องมือวางแผนการเงิน ที่ Krungsri มีบริการภายใต้ชื่อ
Plan Your Money เพียงเลือกรูปแบบการลงทุนเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งและเลือกเครื่องมือที่เราต้องการ เช่น ลงทุนง่าย ๆ สไตล์คุณ ที่จะแนะนำว่าเราจะสามารถสร้างพอร์ตการลงทุนให้งอกเงยได้อย่างไร เพียงแค่ใส่เงินลงทุนตั้งต้น ระยะเวลาในการลงทุน และความเสี่ยงที่รับได้ ระบบก็จะคำนวณและแนะนำพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมมาให้กับเรา หากเราต้องการลงทุนในรูปแบบที่ต้องการผลตอบแทนสูงและรับความเสี่ยงที่สูงได้ ระบบก็จะแนะนำการลงทุนในหุ้น หรือกองทุนตราสารทุนมาด้วย
แต่ก่อนจะเปิดพอร์ตการลงทุน นักลงทุนมือใหม่ทุกคนมาเช็คกันดีกว่าว่า เราเข้าใจในการลงทุนในหุ้นมากน้อยเพียงใด
แรกเริ่มที่ไม่ควรมองข้าม
คำถามแรกที่เราต้องตอบให้ได้ คือ หุ้นคืออะไร? และราคาหุ้นนั้นแท้จริงแล้วจะขึ้นจะลงเพราะอะไร? ถ้าเราเข้าใจแล้ว การลงทุนก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้วค่ะ
หุ้นในตลาดหุ้น คือ ส่วนหนึ่งของความเป็นเจ้าของในธุรกิจนั่นเอง ไม่ต่างจากการเป็นหุ้นส่วนในบริษัทที่เราไปลงทุนกับเพื่อน ๆ ของเราเลยค่ะ เช่น บริษัท A มีหุ้นทั้งหมด 1,000,000 หุ้น ถ้าหากเราถือหุ้นในบริษัท A อยู่ 10,000 หุ้น เท่ากับเราเป็นหุ้นส่วนร่วมกับผู้ถือหุ้นอื่น ๆ ในบริษัท A ในสัดส่วน 1%
ดังนั้น เบื้องหลังตัวย่อหุ้นที่เราเห็นกันในตลาดหุ้นเช่น CPALL, BBL, BDMS ก็คือ บริษัทต่าง ๆ ที่มีการทำธุรกิจจริง ๆ มีการบริหารโดยคนจริง ๆ มีรายได้ มีกำไร มีทรัพย์สินต่าง ๆ จริง ไม่ต่างจากธุรกิจที่เราพบเห็นทั่วไปในชีวิตประจำวันค่ะ ซึ่งเราสามารถเข้าไปซื้อหุ้น และกลายเป็นหุ้นส่วนของบริษัทเหล่านี้ได้ ผ่านทางการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง
ราคาหุ้นนั้นแท้จริงแล้วจะขึ้นจะลงเพราะอะไร
เมื่อหุ้นที่มีการซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้น คือ หุ้นส่วนของบริษัทต่าง ๆ ราคาหุ้นจะขึ้นลง ก็ต้องเป็นไปตามผลประกอบการหรือผลกำไรที่บริษัททำได้ในแต่ละปี ถ้าบริษัททำกำไรได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บริษัทก็จ่ายเงินปันผลได้มากขึ้น ทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น เพราะมีแต่คนมาขอซื้อหุ้นต่อจากเรา แต่ถ้าบริษัทขาดทุนหลายปีติดต่อกัน ก็ไม่มีใครอยากจะมาเป็นหุ้นส่วน ทำให้มูลค่าหุ้นที่เราถือลดลงไปเรื่อย ๆ และถ้าบริษัทเจ๊ง มูลค่าหุ้นที่เราถืออยู่ก็จะกลายเป็น 0 ทันที
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเราสามารถทำกำไรจากการลงทุนในหุ้นได้ 2 แบบ ได้แก่
- เงินปันผล เลือกลงทุนในธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานดี ทำกำไรได้ดี จะได้ปันผลคืนทุกปี
- กำไรส่วนต่าง เลือกลงทุนในอนาคตของบริษัท โดยการซื้อหุ้นในราคาที่เหมาะสม เมื่อกิจการดำเนินไปได้ดี มูลค่าหุ้นก็จะสูงขึ้น ก็จะสามารถขายเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างระหว่างราคาที่เราซื้อมาและราคาขายได้
หลักการลงทุนที่จะทำให้เราได้กำไรจากตลาดหุ้นคืออะไร
คุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนอันดับหนึ่งของโลกได้สรุปหลักการลงทุนที่ทำให้เค้าประสบความสำเร็จว่า
กล่าวง่าย ๆ คือ ให้เราซื้อหุ้นของบริษัทที่ดี ที่สามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ ปีแล้วปีเล่านั่นเอง เพราะจากที่เราได้เห็นกันไปแล้วว่า ถ้ากำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น ราคาหุ้นก็จะต้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น ถ้าหากเราซื้อหุ้นของบริษัทที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ ในราคาที่เหมาะสม ไม่แพงเว่อร์จนเกินไป ในระยะยาวแล้ว เราก็จะได้กำไรจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นเองค่ะ รวมทั้งในแต่ละปีก็มีสิทธิ์ได้รับเงินปันผลที่บริษัทจ่ายออกมาให้กับผู้ถือหุ้นด้วย
อะไรคือธุรกิจที่ยอดเยี่ยม และราคาที่เหมาะสม
ธุรกิจที่ยอดเยี่ยม น่าลงทุน มักจะมีคุณสมบัติ ดังนี้
- Strong Brand: มีสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพเหนือกว่าคู่แข่ง มีแบรนด์ที่ดี สามารถขึ้นราคาสินค้าได้โดยไม่ถูกควบคุม
- Economies of Scale: มีการประหยัดจากขนาด ยิ่งขยายธุรกิจ ยิ่งมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง ทำให้คู่แข่งใหม่ ๆ เข้ามาแข่งด้วยยาก
- Cash Business: ทำธุรกิจที่ได้รับเงินสดเร็ว มีลูกค้าจำนวนมาก สามารถนำกระแสเงินสดที่ได้มาขยายธุรกิจ หรือส่งกลับให้กับผู้ถือหุ้นได้
- Strong Financial Status: มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ทำให้บริษัทสามารถเอาตัวรอดในภาวะที่เศรษฐกิจมีปัญหาได้ดี
- Great Management Team: ผู้บริหารมีความสามารถในการบริหารธุรกิจ และตัดสินใจโดยมองผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก
ราคาที่เหมาะสม มีหลักการคิดง่าย ๆ คือ ถ้าหากเราลงทุนซื้อทั้งกิจการ (ซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท) เราจะต้องซื้อในราคาที่จะได้รับเงินลงทุนทั้งหมดคืนในระยะเวลา 10 ปีจากกระแสเงินสดที่บริษัทสร้างได้ตลอดระยะเวลานั้น แล้วทำไมต้อง 10 ปี เหตุผลแรกเพราะว่าในโลกของการลงทุนแล้ว เวลาจะลงทุนควรให้ได้กำไรกลับมาอย่างน้อย 10% ของเงินต้นต่อปีเสมอเพื่อทำให้เกิดความมั่งคั่งในระยะยาวได้ ประเด็นนี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ บอกว่า ทุกครั้งที่ตัดสินใจลงทุน ต้องมั่นใจว่าจะได้รับผลตอบแทนไม่น้อยกว่า 10% ของเงินที่ลงทุนไปในทุกปี
จะเห็นได้ว่าการลงทุนตามหลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ตามที่คุณปู่กล่าวไว้เหมือนจะง่าย แค่ดูว่าบริษัทไหนดีก็ซื้อหุ้นเก็บไว้ จากนั้นนั่งรอรับเงินปันผลทุกปี แต่ทุกวันนี้มีนักลงทุนจำนวนมากไม่สามารถลงทุนตามคุณปู่บอกไว้ได้ เพราะเมื่อลงทุนจริง ๆ แล้วกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะไม่มีเวลาที่จะอ่านและวิเคราะห์งบการเงินของบริษัท ทั้งงบกำไรขาดทุน งบดุล และงบกระแสเงินสด จึงไม่รู้ว่าธุรกิจไหนเป็นธุรกิจที่ยอดเยี่ยม และการที่จะคำนวณมูลค่าเหมาะสมนั้นก็จำเป็นต้องมีความรู้ในธุรกิจ มีประสบการณ์อย่างลึกซึ้ง และที่สำคัญคนส่วนใหญ่ไม่มีเวลาหรือไม่ได้ติดตามว่าธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นหรือแย่ลง ทำให้มองการลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องยาก
แต่สำหรับผู้อ่าน
Plearn เพลิน by Krungsri Guru เรามีเคล็ดลับวิธีขจัดปัญหาเหล่านี้ และมองเห็นภาพการลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่สามารถนำไปปฏิบัติ เพื่อให้เราสามารถลงทุนใน
“ธุรกิจที่ยอดเยี่ยมในราคาที่เหมาะสม” ได้ในตอนต่อไป การลงทุนเป็นเรื่องไม่ยากเมื่อเรามีความรู้ ความเข้าใจ และมีการวางแผนเป็นอย่างดี เราก็จะก้าวเข้าสู่ตลาดหุ้นแบบไม่บาดเจ็บ ลงทุนอย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จค่ะ