ดอยในการลงทุนนั้น มีหลายดอยครับ ไม่ว่าจะเป็นดอยหุ้น ดอยน้ำมัน ดอยทองคำ หรือแม้แต่ดอยหุ้นต่างประเทศ เรียกได้ว่าทุกสินทรัพย์ที่มีการซื้อขาย สามารถสร้างดอยได้ทั้งหมด เขาว่า ทองดีก็ซื้อบ้าง หุ้นตัวไหนแรงก็ตามไปด้วย พอมารู้ตัวอีกทีก็อยู่บนดอยเสียแล้ว ถึงแม้จะมีเพื่อนร่วมอาศัยบนดอยมากมาย ไม่ว่าจะอาศัยกันอยู่แถบเชิงดอย หรือยอดดอย ก็ไม่เคยทำให้เรารู้สึกอบอุ่นแต่อย่างใดจริงไหมครับ เช่นนั้นแล้ว วันนี้ เรามาหาทางลงดอยกันดีกว่าครับ
ขั้นตอนแรกก่อนการลงดอย เรามาตั้งสติ พิจารณาดูกันอีกทีว่า สินทรัพย์ที่ดอยอยู่นั้น ยังมีอนาคตและสมควรเก็บไว้ในครอบครองหรือไม่ เช่น กรณีของดอยหุ้น หากพบว่ายังเป็นหุ้นที่ดี มีอนาคต โดยราคาที่ลดลงน่าจะเกิดจากความผันผวนในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หรือเราอาจมองได้ว่า ราคาหุ้นตอนนี้เป็นเพียงดอยชั่วคราวเท่านั้น เช่นนี้ ให้ทำใจร่ม ๆ แล้วอดทนถือต่อไป ยิ่งถ้ามั่นใจในพื้นฐานหุ้นมาก ๆ รวมทั้งมั่นใจว่า ราคาหุ้นจะกลับมาในอนาคต การตัดสินใจซื้อหุ้นเพิ่มเพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุนก็ไม่ว่ากันครับ
แต่ถ้าดูแล้วพบว่าเป็นเพียงหุ้นที่ “เคย” ดีก็ตัดใจเสียเถิดครับ อย่าลืมว่า พื้นฐานหุ้นมันเปลี่ยนไปได้ ไม่ว่าจะด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หรือการมีสินค้าอื่นทดแทน ซึ่งย่อมทำให้กำไรที่เคยได้เป็นกอบเป็นกำ กลับลดลงจนน่าใจหาย ซึ่งหากเจอกรณีเช่นนี้ นับว่ามีโอกาสของความเป็นดอยถาวรเสียแล้ว กรณีนี้ ให้สูดหายใจลึก ๆ แล้วเตรียมลงดอยกันเลยครับ
วิธีที่ 1 เนื้อร้ายต้องตัดทิ้ง (Cut Loss) เมื่อพื้นฐานมันเปลี่ยนไปแล้ว แถมแนวโน้มราคา มีแต่จะปักหัวดิ่งลง ยิ่งช้ำใจกว่านั้นเมื่อเห็นราคาหุ้นตัวอื่นวิ่งขึ้นทั้งตลาด ในสถานการณ์เช่นนี้ ตัดใจขายเอาเงินไปซื้อหุ้นตัวอื่นเพื่อมาสร้างกำไร ชดเชยขาดทุนดีกว่าครับ จริง ๆ แล้ว การ Cut Loss นั้น เป็นหนึ่งในหลักการพื้นฐานของนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนสายเทคนิค ที่มักจะกำหนดลิมิตของการขาดทุนไว้ เช่น หากราคาหุ้น ลดลงไปจากราคาที่ซื้อไว้ 20% ต้องทำการ Cut Loss ทันที เพื่อจำกัดการขาดทุนนั่นเองครับ
วิธีที่ 2 ลดอาการบาดเจ็บด้วยการซื้อหุ้นเพิ่มเพื่อลดราคาต้นทุนให้ต่ำลง โดยวิธีการนี้ต้องดูแนวโน้มราคาหุ้นประกอบการตัดสินใจด้วยครับ เพราะการซื้อถัวควรทำในแนวโน้มขาขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น
- ซื้อหุ้น A ราคาหุ้นละ 1 บาท จำนวน 1,000 หุ้น ต้นทุน 1,000 บาท
- ต่อมา หุ้น A ราคาหุ้นละ 0.65 บาท ทำให้หุ้นในพอร์ตมีมูลค่า 0.65*1,000 = 650 บาท ขาดทุน 350 บาท
- คาดการณ์ว่า 0.65 บาท เป็นราคาต่ำสุดของหุ้น A แล้ว ตัดสินใจซื้อหุ้น A เพิ่ม 1,000 หุ้น ที่ราคาหุ้นละ 0.65 บาท ทำให้ต้นทุนหุ้นในพอร์ตรวม 1,000 + 650 = 1,650 บาท โดยหุ้นในพอร์ตมีมูลค่า 0.65*2,000 = 1,300 บาท หรือขาดทุน 350 บาท
- ต่อมา หุ้น A ราคาหุ้นละ 0.80 บาท ทำให้หุ้นในพอร์ตมีมูลค่า 0.8*2,000 = 1,600 บาท หรือขาดทุน 50 บาท จากตัวอย่าง การซื้อหุ้นในแนวโน้มขาขึ้นเพื่อถัวให้ราคาเฉลี่ยลดลง ช่วยลดความเสียหายของหุ้นในพอร์ตเหลือ 3% (ขาดทุน 50 บาท จากต้นทุน 1,650 บาท) แต่หากเราไม่ได้ทำอะไรเลย เราจะขาดทุน 20% (ขาดทุน 200 บาท จากต้นทุน 1000 บาท) ทั้งนี้ การคำนวณไม่ได้คิดค่าธรรมเนียมในการซื้อขายนะครับ
ความเสี่ยงจากการแก้พอร์ตด้วยวิธีนี้ คือ หากการคาดการณ์เราผิดพลาดโดยไปซื้อหุ้นเพิ่มในแนวโน้มราคาขาลง พอร์ตเราจะยิ่งติดดอยหนักขึ้นไปอีกครับ ถึงแม้เราจะได้ราคาต้นทุนต่ำลงไปเรื่อย ๆ แต่อย่าลืมว่า มูลค่าหุ้นที่ถือในปัจจุบัน ก็จะยิ่งต่ำลงไปเช่นกัน
วิธีที่ 3 Short Against Port เป็นการขายหุ้นออกบางส่วน เพื่อนำเงินกลับไปซื้อหุ้นตัวเดิมในราคาที่ถูกลงเพื่อให้มีจำนวนหุ้นในพอร์ตเพิ่มขึ้น วิธีนี้เป็นการลดความเสียหายของพอร์ต โดยไม่เพิ่มต้นทุน แต่ต้องอาศัยการคาดการณ์ที่แม่นยำของราคาแนวรับ แนวต้านครับ เช่น
- ซื้อหุ้น B ราคาหุ้นละ 1 บาท จำนวน 1,000 หุ้น ต้นทุนรวม 1,000 บาท
- ต่อมา หุ้น B ราคาหุ้นละ 0.7 บาท ทำให้หุ้นในพอร์ตมีมูลค่า 0.7*1,000 = 700 บาท ขาดทุน 300 บาท
- คาดการณ์ว่า ราคาหุ้น B จะลดลงต่ำกว่าแนวรับแรกที่ 0.7 บาท ตัดสินใจขายหุ้น B ออกไปก่อน 500 หุ้น ที่ราคาหุ้นละ 0.7 บาท ได้เงิน 350 บาท ทำให้ต้นทุนเหลือ 1,000 -350 = 650 บาท โดยขณะนี้หุ้นในพอร์ตมีมูลค่า 0.7* 500 = 350 บาท ขาดทุน 300 บาท
- ต่อมา หุ้น B ราคาหุ้นละ 0.5 บาท ทำให้หุ้นในพอร์ตมีมูลค่า 0.5*500 = 250 บาท ขาดทุน 400 บาท
- วิเคราะห์ว่า หุ้น B ที่ราคา 0.5 บาทเป็นจุดต่ำสุด นำเงินที่ขายหุ้น B 350 บาท กลับเข้าซื้อหุ้น B ที่ราคา 0.5 บาท ได้ 350 / 0.5 = 700 หุ้น ต้นทุนกลับมาเป็น 650+350 = 1,000 บาท โดยพอร์ตมีมูลค่า 0.5*(500+700) = 600 บาท
- หุ้น B ราคาเด้งกลับไปชนแนวต้านที่หุ้นละ 0.80 บาท ทำให้พอร์ตมีมูลค่า 0.8*1,200 = 960 บาท ขาดทุน 40 บาท
จากตัวอย่าง เราสามารถลดความเสียหายของพอร์ตเหลือ 4% (ขาดทุน 40 บาท จาก 1,000 บาท) แต่หากไม่ได้ทำอะไรเลย พอร์ตของเราจะขาดทุน 20% (ขาดทุน 200 บาท จาก 1,000 บาท) โดยวิธีนี้นอกจากการคาดการณ์ทิศทางแนวโน้มที่แม่นยำแล้ว การคาดการณ์แนวรับ แนวต้านก็สำคัญเช่นกันครับ
นี่เป็นเพียงแค่บางตัวอย่างสำหรับการแก้พอร์ตหุ้นด้วยหุ้น ยังมีวิธีที่เราสามารถนำ Derivative เข้ามาช่วยแก้พอร์ตได้ เช่น การ Short Futures ของหุ้นตัวที่เราถืออยู่ เพื่อให้กำไรจาก Futures มาหักล้างกับการขาดทุนจากราคาหุ้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ดอยสูงมาก ๆ การแก้พอร์ตอาจต้องใช้แรงงานและเวลาค่อนข้างมาก ดังนั้นแล้ว เราไม่ควรปล่อยให้พอร์ตขาดทุนมาก ๆ แล้วค่อยหาทางแก้ไข ถ้ารักจะเทรดหุ้นแล้ว อย่าลืมฝึกฝนตัวเองให้มีวินัยในการ Cut loss ด้วยนะครับ (อ่านบทความด้านการลงทุนอื่น ๆ ได้
ที่นี่)