กระจายลงทุนให้ถูกหลักด้วยการทำ Asset Allocation
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

กระจายลงทุนให้ถูกหลักด้วยการทำ Asset Allocation

icon-access-time Posted On 07 กุมภาพันธ์ 2565
by Krungsri The COACH

แม้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะเริ่มต้นกับสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม หุ้น หรือตราสารหนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง หลายคนก็เริ่มอยากที่จะเพิ่มสินทรัพย์ในรูปแบบอื่น ๆ เข้ามาในพอร์ตโฟลิโอ สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องเข้าใจเมื่อคิดจะขยายขอบเขตการลงทุนของตัวเองคือการจัดการสินทรัพย์หรือ Asset Allocation ที่จะทำให้การลงทุนนั้นเป็นระบบมากขึ้นและคาดการณ์ผลตอบแทนได้ดีขึ้นกว่าเดิม


บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับการจัดการสินทรัพย์หรือ Asset Allocation พร้อมทั้งแผนการในการทำ Asset Allocation เบื้องต้นที่คุณสามารถนำไปวางแผนจัดการพอร์ตโฟลิโอของคุณได้ทันที
 

Asset Allocation คืออะไร


Asset Allocation หรือ “การจัดการสินทรัพย์” อธิบายได้ง่ายที่สุดในที่นี้คือการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนด้วยการกระจายเงินลงทุนไปในทรัพย์สินหลายรูปแบบ โดยการกระจายที่ว่านี้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในสเกลขนาดใหญ่อย่างการกระจายการลงทุนโดยรวมในสินทรัพย์สามรูปแบบหลัก ๆ คือ เงินสดหรือทรัพย์สินมีค่า กองทุนรวม และตราสารรูปแบบต่าง ๆ ไปจนถึงการกระจายการลงทุนภายในตัวสินทรัพย์เอง เช่น การกระจายการลงทุนในกองทุนรวมเป็นการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมตราสาร หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในสัดส่วนที่ต่างกัน
 
กระจายลงทุนให้ถูกหลักด้วยการทำ Asset Allocation
 

เวลาและความเสี่ยง: สองปัจจัยสำคัญในการทำ Asset Allocation


เหตุที่ Asset Allocation นั้นมีความจำเป็นกับนักลงทุนแทบทุกคน โดยเฉพาะกับนักลงทุนที่มีพอร์ตโฟลิโอขนาดใหญ่อยู่แล้ว หรือนักลงทุนที่ต้องการจะขยายพอร์ตโฟลิโอของตนเองให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ด้วยเหตุที่การลงทุนและผลตอบแทนที่คุณจะได้จากการลงทุนนั้นแปรผันไปตามสองตัวแปรที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ เวลา และความเสี่ยง


เวลา

ปัจจัยเวลาในที่นี้ส่งผลโดยตรงต่อผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุน ด้วยเหตุที่การลงทุนในสินทรัพย์แต่ละรูปแบบจะให้ผลตอบแทนในระยะเวลาที่ต่างกันไป บางอย่างอาจให้ผลตอบแทนในระยะสั้นอย่างหุ้นหรือตราสารหนี้ ส่วนบางอย่างอาจให้ผลตอบแทนในระยะยาว เช่นประกันชีวิตหรือเงินออมเพื่อการเกษียณ

การทำ Asset Allocation ในที่นี้จึงเป็นไปเพื่อทำให้พอร์ตโฟลิโอของคุณมีทั้งสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งเท่ากับว่าการลงทุนของคุณจะนำมาซึ่งผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ หรือหากความสม่ำเสมอไม่ใช่ปัจจัยหลักที่คุณกังวล คุณสามารถเลือกที่จะจัดการพอร์ตฟอลิโอให้เป็นไปตามความต้องการหรือความจำเป็นในการใช้เงินของคุณผ่านการเน้นไปที่สินทรัพย์ระยะสั้นหรือสินทรัพย์ระยะยาวเป็นพิเศษก็ได้เช่นกัน


ความเสี่ยง

ทุกผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นแลกมาด้วยความเสี่ยงเสมอ ซึ่งความเสี่ยงในที่นี้ก็คือความเสี่ยงที่คุณจะไม่ได้รับผลตอบแทนนั่นเอง อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงของสินทรัพย์แต่ละชนิดก็แตกต่างกันไปตามธรรมชาติของตัวสินทรัพย์นั้นเอง หรือแตกต่างตามอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับของแต่ละสินทรัพย์ โดยที่ส่วนมากแล้วยิ่งสินทรัพย์ใดให้ผลตอบแทนสูงก็จะมีความเสี่ยงสูงตามด้วย

การทำ Asset Allocation จึงเข้ามามีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงภายในพอร์ตโฟลิโอ ผ่านการ “ถัวเฉลี่ย” ความเสี่ยงด้วยสินทรัพย์ในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยที่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยในพอร์ตโฟลิโอ เช่น เงินฝากธนาคารหรือพันธบัตรรัฐบาล จะเป็นเครื่องมือในการช่วยหักลบความเสี่ยงจากสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงเช่นตราสารอนุพันธ์หรือเงินตราต่างประเทศ

Asset Allocation จึงเป็นประโยชน์ต่อการจัดพอร์ตฟอลิโอด้วยเหตุผลสองข้อ คือ การทำ Asset Allocation ช่วยออกแบบรูปแบบของผลตอบแทนจากการลงทุนให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงเวลา และการทำ Asset Allocation ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน ผ่านการกระจายความเสี่ยงออกไปยังสินทรัพย์หลายประเภท


หลักการสองข้อในการทำ Asset Allocation: Diversification และ Balancing


ในที่นี้ หลักการในการทำ Asset Allowcation อาจสรุปได้เป็นสองส่วนหลักๆ คือ


การกระจายความเสี่ยง (Diversification)

การกระจายความเสี่ยงในที่นี้เป็นผลมาจากการที่สินทรัพย์แต่ละประเภทมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น นอกจากนี้ สินทรัพย์แต่ละประเภทยังตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดคือความผันผวนทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไป

การกระจายความเสี่ยงในที่นี้ทำได้โดยการกระจายการลงทุนลงไปในทั้งสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ สินทรัพย์ความเสี่ยงปานกลาง และสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง โดยอาจกำหนดเป็นอัตราส่วนของสินทรัพย์แต่ละประเภท เช่น แบ่งเงินลงทุนในพอร์ตโฟลิโอเป็น 10 ส่วน นำไปลงทุนในเงินฝาก ที่เป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ 3 ส่วน ลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงปานกลางอย่างกองทุนรวม 5 ส่วน และลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งเป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง 2 ส่วน เป็นต้น

นอกจากนี้ การกระจายความเสี่ยงควรเพิ่มการกระจายภายในแต่ละประเภทของสินทรัพย์เอง เช่น การกระจายเงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นในพอร์ตโฟลิโอออกเป็นหลายส่วน ส่วนหนึ่งนำไปลงทุนในกองทุน SET50 ส่วนหนึ่งนำไปลงทุนในกองทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ และอีกส่วนหนึ่งนำไปลงทุนในกองทุนหุ้นสหรัฐอเมริกา เป็นต้น


การปรับสมดุล (Balancing)

การปรับสมดุลในที่นี้คือการปรับให้สินทรัพย์ในพอร์ตโฟลิโออยู่ในสัดส่วนที่สามารถถัวเฉลี่ยความเสี่ยงอยู่เสมอ โดยทำได้ทั้งขายสินทรัพย์ที่เกินสัดส่วนออกมา หรือซื้อสินทรัพย์ที่ไม่ถึงสัดส่วนเพิ่มให้ได้ตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ หรืออาจจะปรับสัดส่วนของสินทรัพย์ไปตามความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลาก็ได้เช่นกัน

หลักการพิจารณาในการปรับสมดุลพอร์ตโฟลิโออาจทำได้ตามสามเกณฑ์ คือ
  1. ใช้เกณฑ์เวลาในการปรับสัดส่วน เช่น ทำการปรับพอร์ตทุก 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี
  2. กำหนดเกณฑ์ส่วนที่เปลี่ยนแปลงเอาไว้ เช่น ปรับสมดุลพอร์ตเมื่อมีทรัพย์สินในพอร์ตเพิ่มจากเดิมอย่างน้อย 5%
  3. ใช้หลัก Constant Portfolio Propotion Insurance หรือการกำหนดอัตราส่วนขั้นต่ำของสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำเอาไว้ โดยที่ปรับสัดส่วนระหว่างสินทรัพย์ความเสี่ยงปานกลางและสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง เพื่อรักษาหลักประกันความเสี่ยงของพอร์ตฟอลิโอ พร้อมกับโอกาสที่ได้ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงสูงมากขึ้น
 
กระจายลงทุนให้ถูกหลักด้วยการทำ Asset Allocation


Asset Allocation กับ Value Investing ไม่เหมือนกันอย่างไร


ความแตกต่างระหว่างการจัดพอร์ตด้วยหลัก Asset Allocation กับหลัก Value Investing (VI) ที่แม้ว่าทั้งสองส่วนจะมีเป้าหมายในการลดความเสี่ยงในการลงทุนเหมือนกัน แต่ความแตกต่างในที่นี้คือการทำ Asset Allocation เน้นไปที่การกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เพื่อให้ความเสี่ยงของแต่ละสินทรัพย์ถัวเฉลี่ยกันให้ได้ความเสี่ยงของทั้งพอร์ตโฟลิโอที่ลดลง

ส่วนการลงทุนแบบ Value Investing นั้นจะเน้นการลดความเสี่ยงผ่านการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีมูลค่า ณ ปัจจุบันต่ำกว่าความเป็นจริง (Undervalue) โดยสินทรัพย์เหล่านี้มีแนวโน้มที่ราคาจะปรับขึ้นมาให้เท่ากับมูลค่าตามที่ควรจะเป็น ในที่นี้ Asset Allocation กับ Value Investing จึงเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกันที่สามารถนำไปใช้ในการจัดพอร์ตโฟลิโอได้


สูตรพื้นฐานสำหรับการทำ Asset Allocation


วิธีการทำ Asset Allocation นั้นมีอยู่หลายรูปแบบ แต่โดยคร่าว ๆ แล้วสามารถแบ่งสูตรการทำ Asset Allocation ได้เป็นหกแบบหลัก ๆ ประกอบไปด้วย


Strategic Allocation

Strategic Allocation คือวิธีการในการจัดการพอร์ตโฟลิโอขั้นพื้นฐานที่สุด โดยอาจกำหนดอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยเบื้องต้นไว้ เช่น 5% หรือ 7.5% ต่อปี แล้วพยายามจัดสรรสินทรัพย์ให้ได้ผลตอบแทนตามที่กำหนดไว้ ภายใต้ความเสี่ยงในระดับที่ต้องการ ทำให้ Strategic Allocation เป็นเหมือนการวางแผนขั้นพื้นฐานเพื่อให้พอร์ตฟอลิโอมีอัตราผลตอบแทนที่คงที่


Tactical Allocation

เนื่องจาก Strategic Allocation เป็นการจัดการที่เน้นไปที่เสถียรภาพในการให้ผลตอบแทนในระยะยาว Tactical Allocation จึงเกิดขึ้นเพื่อความยืดหยุ่นในการจัดการพอร์ตโฟลิโอในระยะสั้น โดยที่กำหนดสินทรัพย์ส่วนหนึ่งให้เป็นสินทรัพย์ที่สามารถใช้ในการทำกำไรระยะสั้นโดยที่ไม่ทำให้สัดส่วนผลตอบแทนในระยะยาวเปลี่ยนไป


Constant-Weighting Allocation

Constant-Weighting ในที่นี้หมายถึงการกำหนด “สัดส่วนคงที่” ให้กับสินทรัพย์ในพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งในที่นี้อาจเป็นได้ทั้งอัตราส่วนในพอร์ตโฟลิโอหรือมูลค่าสินทรัพย์ที่ตายตัวไว้ก็ได้ โดยพยายามรักษาให้สินทรัพย์ดังกล่าวอยู่ใน ‘สัดส่วนคงที่’ ให้ได้มากที่สุด ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ สามารถยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์


Dynamic Asset Allocation

วิธีนี้เป็นวิธีการจัดการพอร์ตโฟลิโอโดยอิงกับสถานการณ์ของตลาดในขณะนั้น หลักการสำคัญคือพยายามเก็บสินทรัพย์ที่อยู่ในช่วงขาขึ้นไว้ในพอร์ตโฟลิโอ ในขณะเดียวกันก็พยายามขายสินทรัพย์ในพอร์ตโฟลิโอที่อยู่ในช่วงขาลงหรือไม่ทำกำไรออกไป ทำให้ในพอร์ตโฟลิโอจะมีแต่สินทรัพย์ที่พร้อมทำกำไรแต่เพียงอย่างเดียว
 
กระจายลงทุนให้ถูกหลักด้วยการทำ Asset Allocation


Insured Asset Allocation

หลัก “ประกัน” ของวิธีการ Insured Asset Allocation ในที่นี้คือการประกัน “ผลตอบแทนขั้นต่ำ” ที่ได้จากพอร์ตโฟลิโอของคุณ โดยกำหนดอัตราขั้นต่ำของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและผลตอบแทนตายตัว เช่น เงินฝากประจำหรือพันธบัตรรัฐบาลในพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งเท่ากับว่าพอร์ตโฟลิโอนี่มีอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำที่ตายตัว และเพิ่มสัดส่วนในสินทรัพย์ในส่วนที่เหลือและรักษาให้ระดับอัตราผลตอบแทนไม่น้อยไปกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำที่มีอยู่เดิม


Integrated Asset Allocation

ขั้นสุดท้ายของการทำ Asset Allocation ในที่นี้คือการจัดการพอร์ตโฟลิโอให้เป็นไปตามสามปัจจัยคือ ผลตอบแทนที่ต้องการ ความเสี่ยงของสินทรัพย์ และสถานการณ์และแนวโน้มของตลาด โดยมีเป้าหมายคือการชิงความได้เปรียบจากตลาด เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดด้วยความเสี่ยงที่น้อยที่สุด ซึ่งต้องการการจัดสรรแบบยืดหยุ่นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
  สรุป
การกระจายสินทรัพย์หรือ Asset Allocation นั้นเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับนักลงทุนทุกคน โดยเฉพาะนักลงทุนที่ต้องการขยายพอร์ตโฟลิโอของตนเองด้วยสินทรัพย์หลายรูปแบบ การทำ Asset Allocation จะช่วยให้คุณออกแบบผลตอบแทนได้ตามที่ต้องการ ทั้งยังช่วยกระจายความเสี่ยงออกไปทำให้ความเสี่ยงของคุณน้อยลง

หากคุณมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการวางแผนการเงินสำหรับมีลูกหรือมีข้อสงสัยเรื่องการเงินและการลงทุน เรามีทีมงานที่จะเป็นผู้ช่วยในการวางแผนการเงินของคุณโดยเฉพาะ สามารถติดต่อเรา ผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ คลิก

บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา