เช็กกันหน่อย ควรออมเงินกี่เท่าดี? ถึงจะรอดทุกวิกฤต
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เช็กกันหน่อย ควรออมเงินกี่เท่าดี? ถึงจะรอดทุกวิกฤต

icon-access-time Posted On 16 มีนาคม 2565
by Krungsri The COACH

วิกฤต Covid-19 ทำให้เราทุกคนตระหนักได้ว่า ไม่ว่าอาชีพไหนก็มีความเสี่ยงที่จะขาดรายได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพนักงานออฟฟิศที่มีความมั่นคง ลูกเรือสายการบินที่รายได้สูง นักธุรกิจที่กำลังรุ่งเรือง ศิลปินที่มีงานกันทั้งปี พ่อค้าแม่ค้าทั้งหลาย คนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยต้องขาดรายได้กะทันหัน เพราะผลกระทบจากวิกฤตนี้


เมื่อขาดรายได้กะทันหัน สิ่งจำเป็นที่สุดที่เราต้องมีคือ เงินสำหรับใช้จ่ายในช่วงที่เราไม่มีรายได้ เพราะหากเราไม่มีเงินจะยิ่งทำให้ชีวิตของเรายิ่งยากลำบากมากขึ้นไปอีก หลาย ๆ คน ต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบเพื่อมาประทังชีวิต กลายเป็นวิกฤตซ้ำซ้อน เพราะรายได้ก็ไม่มี และยังต้องเป็นหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยสูงอีก

ในเมื่อเหตุการณ์วิกฤตสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เราจึงต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมืออยู่เสมอ โดยวิธีการที่ดีที่สุดในการรับมือกับวิกฤต คือการมีเงินออมสำรองฉุกเฉิน สำหรับใช้จ่ายในยามที่เราขาดรายได้ หรือในสถานการณ์ที่มีค่าใช้จ่ายฉุกเฉินเกิดขึ้น เรียกได้ว่าเงินออมสำรองฉุกเฉินเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะต้องมี เพื่อเป็นอีกหนึ่งหลักประกันความมั่นคงในชีวิต

โดยเงินออมสำรองฉุกเฉินนี้มีข้อดีหลายประการ ในภาวะที่เราขาดรายได้ เช่น มีเงินไว้ใช้จ่ายระหว่างที่หางานใหม่ ลดความวิตกกังวล ลดความเสี่ยงจากปัญหาทางสุขภาพจิต ลดความเสี่ยงจากการเจอปัญหาซ้ำซ้อน และยังเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพใหม่ หากเรามีเงินทุนเพียงพอ รวมไปถึงการมีเงินสำรองไว้สำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น

เมื่อเห็นข้อดีเช่นนี้แล้ว เราจึงควรที่จะเริ่มออมเงินเพื่อสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉินกัน และถ้าใครยังไม่รู้ว่าจะออมเงินไว้สักเท่าไรดี ลองประเมินตามปัจจัยในการคำนวณเงินออมสำรองฉุกเฉิน เพื่อพิจารณาว่าควรออมเงินส่วนนี้เท่าไร จึงจะเพียงพอที่จะผ่านพ้นทุกวิกฤตไปได้ ดังนี้

ปัจจัยในการคำนวนเงินออมสำรองฉุกเฉิน
 
  1. ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เป็นตัวตั้งต้นในการคำนวณเงินออมสำรองฉุกเฉิน เพื่อที่เราจะสามารถประเมินได้ว่าเมื่อเราขาดรายได้แล้ว เราจะมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่เท่าไร จะมีเงินเพียงพอใช้จ่ายอีกกี่เดือน ในระหว่างที่หารายได้ใหม่ โดยค่าใช้จ่ายที่นำมาคำนวณในส่วนนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายประจำที่เราต้องใช้จ่ายเพื่อดำรงชีพในแต่ละเดือน เช่น ค่ากิน ค่าที่อยู่อาศัย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ภาระการผ่อนชำระหนี้สินรายเดือน ค่าประกันสุขภาพ (ใครที่ไม่มีประกันสุขภาพ ต้องเตรียมเงินไว้มากกว่าปกติ เผื่อเจ็บป่วยฉุกเฉิน) เป็นต้น

  2. ความมั่นคงของรายได้ จะบ่งบอกว่าเราควรเตรียมเงินสำรองไว้กี่เท่าของค่าใช้จ่ายประจำในแต่ละเดือน โดยอาชีพที่มีความมั่นคงมากกว่า เช่น พนักงานประจำ อาจจะเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินไว้ 3-6 เท่า ของค่าใช้จ่ายประจำในแต่ละเดือน แต่หากเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงน้อยกว่า เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ เจ้าของกิจการ อาจเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินไว้ 6-12 เท่า ของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เพราะมีโอกาสขาดรายได้มากกว่าพนักงานประจำ โดยสัดส่วนตรงนี้อาจเพิ่มขึ้นได้ หากเผชิญกับสถานการณ์วิกฤต

  3. สินทรัพย์สภาพคล่องอื่นที่มี จะช่วยลดจำนวนเงินออมสำรองฉุกเฉินที่เราต้องเตรียมไว้ได้ เพราะหากเรามีสินทรัพย์สภาพคล่องที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายใน 1-3 วัน เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์เหล่านี้เป็นเงินสดเพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ระหว่างที่ขาดรายได้ เช่น เงินลงทุนในกองทุนรวม เงินฝากประจำ ทองคำ กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีมูลค่าเวนคืน เป็นต้น แต่ทั้งนี้เราต้องคำนึงถึงเป้าหมายของการออมเงินในด้านอื่น ๆ ด้วย เพราะหากเรานำสินทรัพย์ที่ลงทุนไว้เพื่อเป้าหมายอื่น มาสำรองไว้เผื่อฉุกเฉิน เช่น นำเงินออมเพื่อเกษียณ มาใช้จ่ายฉุกเฉิน อาจจะทำให้เราไม่บรรลุเป้าหมายนั้น ๆ ได้ตามเวลาที่ต้องการ

  4. ปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องและควรนำมาพิจารณาเพิ่มเติม อาทิ
    • กรณีเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย อาจจะต้องเตรียมเงินสำหรับภาระการซ่อมแซมบ้านไว้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นจากการผุพังตามอายุ หรืออุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น หากบ้านเราอยู่ในเขตเสี่ยง
    • หัวหน้าครอบครัว ต้องสำรองเงินไว้มากกว่าปกติ เผื่อคนในครอบครัวเจ็บป่วย หรือจำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉิน เพราะเป็นสิ่งที่เราคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับใครบ้าง
    • ในภาวะวิกฤต เช่น โรคระบาดอย่าง Covid-19 หรือหากมีสัญญาณวิกฤตทางเศรษฐกิจ เราอาจจะเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินไว้มากกว่าปกติ ในขณะที่เรายังมีรายได้อยู่ เพราะเราเห็นกันแล้วว่าบางวิกฤต กินระยะเวลายาวนานเกินกว่าที่เราจะสามารถประเมินได้ เช่น วิกฤต Covid-19 เป็นต้น
เมื่อประเมินปัจจัยทั้ง 4 ด้านข้างต้นแล้ว ลองมาคำนวณในเบื้องต้นว่า เราควรจะมีเงินออมสำรองฉุกเฉินไว้เท่าไรดี โดยจะยกตัวอย่าง การเตรียมเงินออมสำรองฉุกเฉิน สำหรับพนักงานประจำ ดังนี้

ตัวอย่างการเตรียมเงินออมสำรองฉุกเฉิน สำหรับพนักงานประจำ

ตัวอย่างเช่น เราเป็นพนักงานประจำ มีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 15,000 บาท และประเมินแล้วว่ายังอยู่ในสถานการณ์ปกติ ไม่มีสัญญาณของวิกฤตใด ๆ เราควรจะมีเงินออมสำรองฉุกเฉินอยู่ที่ 45,000-90,000 บาท (3-6 เท่า ของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน)

นอกจากนี้เราควรจะประเมินความเสี่ยงจากการขาดรายได้ เป็นระยะ ๆ เพราะเราได้เห็นแล้วว่าในช่วงวิกฤต เช่น วิกฤตโรคระบาด Covid-19 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเรื่องความมั่นคงของอาชีพ มีพนักงานประจำที่มีความมั่นคงจำนวนไม่น้อย ประสบปัญหาขาดรายได้จากการที่บริษัทไม่จ่ายค่าจ้าง หรือถึงขั้นตกงานเพิ่มขึ้นมากมาย เพราะหลายบริษัทแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว ดังนั้นหากเราเห็นสัญญาณของการเกิดวิกฤต เราอาจจะปรับระดับการออมเงินมาอยู่ที่ 90,000-180,000 บาท (6-12 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน) เพื่อให้เราสามารถเอาตัวรอดได้ทุกวิกฤต แล้วมุ่งมั่นที่จะหาทางสร้างรายได้กลับมาอีกครั้ง ส่วนในเรื่องของสินทรัพย์สภาพคล่องอื่นที่มี หรือปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง หากเราประเมินได้แล้วว่ามีอะไรบ้าง มูลค่าประมาณเท่าไร เราสามารถนำมาบวก ลบ กับเงินออมสำรองฉุกเฉินที่ควรเตรียมไว้ได้

หลังจากรู้แล้วว่าควรออมเงินเท่าไรเพื่อมีไว้สำหรับใช้จ่ายยามฉุกเฉิน หลายคนอาจเกิดคำถามว่าควรจะออมเงินแบบไหนดี เพราะหากเราปล่อยเงินไว้เฉย ๆ จะทำให้เราเสียโอกาสในการหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่หากเรานำไปลงทุนระยะยาวก็อาจจะทำให้เราไม่สามารถนำเงินมาใช้ได้ทันทีในยามฉุกเฉิน หรืออาจเสียประโยชน์จากการที่เราจะไม่ได้รับผลตอบแทน หากเรานำเงินออกมาใช้ก่อนครบกำหนดระยะเวลา ดังนั้น เราควรจะออมเงินกับสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ความเสี่ยงต่ำ สามารถใช้เงินได้ทันที และได้รับผลตอบแทนระหว่างทาง เช่น การออมเงินโดยการฝากออมทรัพย์ดิจิทัล ที่ได้ดอกเบี้ยสูง หรือจะเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ ที่มีความเสี่ยงไม่สูงนัก และยังมีสภาพคล่องในการเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย เป็นต้น

สุดท้ายนี้สำหรับใครที่กำลังมองหาทางเลือกในการลงทุนที่มีสภาพคล่องสูงและความเสี่ยงต่ำ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับเงินออมสำรองฉุกเฉิน หรือใครที่อยากมีวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยไม่สูง เตรียมไว้เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการจัดการกับวิกฤต สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ธนาคารกรุงศรีฯ www.krungsri.com
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา