มี
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

มี "ทองคำ" ในพอร์ตลงทุนถือว่าเป็นพอร์ตที่ดี จริงไหม?

icon-access-time Posted On 14 มีนาคม 2566
by Krungsri The COACH
ทองคำ ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหนก็ยังมีความต้องการสูงอยู่ตลอดมาเรื่อย ๆ เพราะเป็นสินทรัพย์ที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินโลกเป็นอย่างมาก เมื่อประเทศใดต้องการที่จะผลิตเงินเพิ่มจะต้องมีทองคำสำรองอยู่ด้วยตามระบบมาตรฐานทองคำ Gold Standard ซึ่งมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 ออนซ์ เทียบเท่ากับ 35 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อทองคำได้หลุดพ้นจากการควบคุมของรัฐบาลแต่ละประเทศ ทองคำก็เริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และได้ถูกนำมาเป็นสินทรัพย์ที่ถูกใช้ในการลงทุน มากไปกว่านี้ทองคำยังไม่ได้หาได้ง่าย ๆ เหมือนโลหะชนิดอื่น ๆ จึงได้รับความนิยมเป็นที่ต้องการมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยก่อนจนมาถึงปัจจุบัน และในหลาย ๆ ประเทศก็เลือกที่จะถือทองคำไว้เป็นทุนสำรองด้วยอย่างเจ้ามหาอำนาจ เช่น สหรัฐฯ, รัสเซีย ฯลฯ เห็นแบบนี้แล้วจะไม่มีทองคำไว้ในพอร์ตลงทุนไม่ได้แล้วนะ ถ้าอยากรู้เพิ่มตามไปอ่านกันเลย
 
มีทองคำในพอร์ตลงทุนถือว่าเป็นพอร์ตที่ดีจริงไหม

จะเห็นได้จากตัวอย่างเมื่อปี 2008 ตลาดหุ้นทั้งโลกอยู่ในขาลง แต่ว่าผลตอบแทนจากทองคำยังเป็นบวกอยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปตลาดหุ้นเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ผลตอบแทนของทองคำก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอยู่แต่จะไม่เท่ากับผลตอบแทนของหุ้น

จากบทวิเคราะห์ของสมาพันธ์ทองคำโลก ได้กล่าวไว้ว่า การที่มีทองคำในพอร์ตลงทุนประมาณ 5-10% นั้นช่วยลดความเสี่ยงการเหวี่ยงของผลตอบแทนในพอร์ตเราลงไปได้ ซึ่งจะรวมไปกับการลงทุนในหุ้นประเทศเศรษฐกิจใหม่ ตลาดหุ้นไทย ดังนั้นพอร์ตที่มีทองคำจะมีความน่าสนใจมากกว่าพอร์ตที่ไม่มีทองคำนั่นเอง แต่ถึงอย่างไรก็ตามสัดส่วนนี้สามารถปรับได้ตามกำลังทรัพย์ของเจ้าของพอร์ต และความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลไป และก็อยู่ที่เป้าหมายทางการเงินของแต่ละคนด้วย

จะหมายความได้ว่าการมีทองคำในพอร์ตหุ้นในสัดส่วนที่เหมาะสม สามารถสร้างกำไรให้กับเจ้าของพอร์ตได้ ในตอนที่ตลาดหุ้นอยู่ในขาลง หรือตอนที่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากทองคำนั้นมักที่จะมีผลตรงกันข้ามกับสภาวะเศรษฐกิจ ตลาดหุ้น หรือแม้แต่ราคาน้ำมัน ถ้าสิ่งเหล่านี้อยู่ในช่วงขาลงทองคำจะเป็นขาขึ้น
 
มีทองคำไว้ในพอร์ตลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ

ลดความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ

หนึ่งในเหตุผลหลักที่ควรมีทองคำไว้ในพอร์ตลงทุนของเราก็คือเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากทองคำเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยเราได้ในตอนที่มีภาวะเงินเฟ้อ อย่างที่ทุกคนทราบดีว่าราคาทองคำมักจะสวนทางกับค่าเงินดอลลาร์ ดังนั้นหากค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง ทองคำก็มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าทองคำจะไม่ได้พุ่งสูงขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว แต่ก็ยังถือว่าเป็นวิธีที่ดีในการป้องกันเราจากอัตราเงินเฟ้อได้อยู่

ลดความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืด

ภาวะเงินฝืด หมายถึง ช่วงเวลาที่ราคาลดลง กิจกรรมทางธุรกิจชะลอตัว และเศรษฐกิจมีภาระหนี้มากเกินไป และในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย กำลังซื้อทองคำจะเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่ราคาตลาดหุ้น หรืออื่น ๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว บ่งชี้ได้ว่าผู้คนเลือกที่จะเก็บเงินสด และสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดในการเก็บเงินสดในเวลานั้นคือทองคำ และหุ้นทองคำนั่นเอง
 
มีทองคำไว้ในพอร์ตลงทุนเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง

เป็นการกระจายความเสี่ยง

หากเราไม่คิดว่าพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นมีความหลากหลายเพียงพอ การลงทุนในทองคำเพิ่มเล็กน้อยก็จะสามารถช่วยให้เรารู้สึกสบายใจขึ้น เพราะทองคำมักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้ามกับตลาดหุ้น ดังนั้นหากตลาดหุ้นอยู่ในขาลง ทองคำมักจะสูงขึ้น หากเราต้องการเพิ่มความสมดุลให้กับพอร์ตลงทุนของเรา ลงทุนทองอาจเป็นวิธีหนึ่งที่ทำได้โดยการกระจายความเสี่ยงของเราในลักษณะที่ถือหุ้นทองคำไว้บ้างก็จะสามารถป้องกันเราจากเหตุการณ์ที่ตลาดหุ้น และสภาวะเศรษฐกิจไม่มีความเสถียรได้นั่นเอง

ควรมีทองในพอร์ตลงทุนเท่าไหร่นะ?

พอร์ตลงทุนของเราควรมีโครงสร้างในลักษณะที่ช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายระยะยาว การลงทุนทองคำอาจจะเป็นคำตอบที่ใช่ แต่ถึงอย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญหลายคนเตือนว่าเราควรระวังปริมาณทองคำที่จะมีไว้ในพอร์ตลงทุนของเรา กฎข้อหนึ่งคือการจำกัดทองคำไว้ไม่เกิน 5% ถึง 10% ของพอร์ตลงทุนของเรา ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของเราและความเสี่ยงที่เราจะยอมรับได้

ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์

ทองคำยังคงรักษามูลค่าของมันไว้ได้ ไม่เพียงแต่ในช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนทางการเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วย อย่างเช่นเหตุการณ์ยูเครน-รัสเซีย ซึ่งทองคำมักถูกเรียกว่า "สินค้าวิกฤต" เพราะผู้คนหนีไปยังที่ปลอดภัยเมื่อความตึงเครียดของโลกเพิ่มขึ้น ในช่วงเวลาดังกล่าว ทองคำมักจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนอื่น ๆ ราคาทองคำมักจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อความเชื่อมั่นในรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำ

ข้อจำกัดในการหา

อุปทานทองคำส่วนใหญ่ในตลาดตั้งแต่ทศวรรษ 1990 มาจากการขายทองคำแท่งจากคลังของธนาคารกลางทั่วโลก การขายโดยธนาคารกลางทั่วโลกชะลอตัวลงอย่างมากในปี 2551 ในขณะเดียวกัน การผลิตทองคำใหม่จากเหมืองก็ลดลงตั้งแต่ปี 2543 ข้อมูลจาก BullionVault ผลผลิตจากการขุดทองคำประจำปีลดลงเหลือ 2,444 เมตริกตันในปี 2550 จาก 2,573 เมตริกตันในปี 2543 หลังจากนั้นการผลิตทองคำก็เพิ่มขึ้นในรอบทศวรรษ โดยสูงสุดที่ 3,300 เมตริกตันในปี 2561 และ 2562 ก่อนจะลดลงเหลือ 3,000 เมตริกตันในปี 2564

การผลิตที่ลดลงเมื่อเร็ว ๆ นี้ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของแรงกดดันต่อการจัดหาทองคำทั่วโลก อาจใช้เวลา 5 ถึง 10 ปี ในการนำเหมืองใหม่เข้าสู่การผลิต ตามกฎทั่วไป การลดลงของอุปทานทองคำจะทำให้ราคาทองคำเพิ่มมากขึ้น
 
ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของทองคำ

ความต้องการที่เพิ่มขึ้น

ในปีก่อนหน้า ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ได้กระตุ้นความต้องการทองคำ ในหลายประเทศเหล่านี้ ทองคำเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมในประเทศจีน ซึ่งทองคำแท่งเป็นรูปแบบดั้งเดิมของการออม ความต้องการทองคำยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยที่อินเดียเป็นประเทศที่มีทองคำมากเป็นอันดับสองของโลก คนอินเดียมองว่าทองคำมีประโยชน์หลายอย่างรวมถึงเป็นเครื่องประดับยอดนิยมอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ฤดูกาลแต่งงานของอินเดียในเดือนตุลาคมจึงเป็นช่วงเวลาของปีตามธรรมเนียมที่กระตุ้นความต้องการทองคำสูงสุดทั่วโลก

ถึงอย่างไรก็ตามความต้องการทองคำก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันในหมู่นักลงทุน หลายคนเริ่มมองว่าสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะทองคำเป็นประเภทการลงทุนที่ควรจัดสรรเงินทุน ในความเป็นจริง SPDR Gold Trust (GLD) ได้กลายเป็นหนึ่งในกองทุน ETF ที่ใหญ่ที่สุดและมีการซื้อขายบ่อยที่สุดในสหรัฐอเมริกา
 

สรุป

ทองคำควรเป็นส่วนสำคัญของพอร์ตการลงทุนที่หลากหลาย เนื่องจากราคาจะเพิ่มขึ้นตามเหตุการณ์ต่าง ๆ และสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยลง เช่น ราคาหุ้น และพันธบัตรลดลง แม้ว่าราคาทองคำจะมีความผันผวนในระยะสั้น แต่ก็ยังคงรักษามูลค่าไว้ได้ในระยะยาว ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทองคำทำหน้าที่เป็นตัวป้องกันอัตราเงินเฟ้อ และสกุลเงินหลักอย่างสกุลเงินดอลลาร์เมื่อมีค่าอ่อนตัวลง ดังนั้นจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และควรมีติดพอร์ตลงทุนไว้อย่างน้อย 5-10%
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา