หากคุณยังคงจดๆ จ้องๆ หรือยังไม่มั่นใจ กับการลงทุนในกองทุนรวม วันนี้เราขอนำเสนอ 4 วิธีสร้างโอกาสผลตอบแทนจาก
กองทุนรวม ตามมาเลย
วิธีที่ 1 ใช้กองทุนรวมเป็นที่พักเงินแทนบัญชีออมทรัพย์
สำหรับใครที่ยังฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ อยากให้ลองพิจารณาขยับขยายเงินไปไว้ในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีสภาพคล่องสูง เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่ให้โอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปที่ให้ดอกเบี้ยประมาณ 0.25% ต่อปี* ในส่วนของสภาพคล่อง สามารถซื้อ-ขายได้ทุกวันทำการ กองทุนสองประเภทนี้ โดยปกติจะได้รับเงินในวันที่ T+1 คือ ขายกองทุนภายในวันและเวลาทำการของกองทุน เงินจะโอนเข้าบัญชีในวันทำการถัดไป นับว่ามีสภาพคล่องสูงทีเดียว
วิธีที่ 2 โอกาสรับผลตอบแทนด้วยหลากหลายนโยบายการลงทุน
เราสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมได้หลากหลาย ตามความสนใจและความเสี่ยงที่รับได้ เช่น ถ้ารับความเสี่ยงได้สูง อาจเลือกกองทุนรวมหุ้น หรือกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือลงทุนเฉพาะหุ้นในหมวดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการแพทย์ ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ โดยทุกๆ กองทุนจะมีผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญคอยดูแลการลงทุนให้เรา ที่สำคัญข้อดีของกองทุนรวม คือใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่สูง โดยหลายกองทุนมีมูลค่าขั้นต่ำในการซื้อเพียง 500 บาท
กองทุนรวมที่น่าสนใจ
วิธีที่ 3 ซื้อกองทุนรวมที่มีเป้าหมายสร้างรายรับอย่างสม่ำเสมอ (Passive income)
วิธีนี้เป็นการลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ เช่น ตราสารหนี้ หุ้นที่จ่ายปันผลต่อเนื่อง หรือตราสารในหมวดอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น โดยผลกำไรที่กองทุนทำได้ในระหว่างปีจะถูกจัดสรรและจ่ายคืนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นอัตราร้อยละตามที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน โดยอาจจะได้รับกลับมาในรูปของเงินปันผล ในกรณีที่ลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล หรือในรูปของกำไรจากส่วนต่าง ในกรณีที่ลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (Auto Redemption) โดยข้อแตกต่างระหว่างสองอย่างนี้ คือ กำไรจากส่วนต่างที่ได้จากการขายคืนกองทุนนั้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ส่วนของเงินปันผลจะต้องเสียภาษี หัก ณ ที่จ่าย 10%
กองทุนรวมที่น่าสนใจ
วิธีที่ 4 รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีผ่านการลงทุนในกองทุนรวม SSF / RMF
สำหรับใครที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ก็เป็นทางเลือกที่สร้างโอกาสรับกำไรถึงสองต่อ
- ต่อแรก คือ รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี
- ต่อที่สอง คือ รับส่วนต่างของมูลค่าหน่วยลงทุนของราคาในวันที่ขายกับราคาซื้อ ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ทั้งกำไรและขาดทุน
โดยกองทุนรวม SSF จะขายคืนได้เมื่อถือหน่วยลงทุนครบ 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ ส่วนกองทุน RMF มีเงื่อนไขต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี และจะขายคืนได้เมื่อผู้ถือหน่วยลงทุนมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และมีการลงทุนอย่างน้อย 5 ปีต่อเนื่อง ดังนั้น เงินลงทุนในกองทุนสองประเภทนี้ต้องเป็นเงินเย็นที่พร้อมจะลงทุนระยะยาว 5-10 ปีขึ้นไป หรือจนครบอายุ 55 ปี หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วจะซื้อกองทุนรวม SSF / RMF เมื่อไหร่ดี? ในเมื่อราคาหน่วยลงทุนปรับตัวทุกวันตามราคาสินทรัพย์ในตลาด หนึ่งในวิธีง่าย ๆ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง คือ ทยอยลงทุนเป็นงวดๆ ในจํานวนเงินที่เท่าๆ กัน หรือที่เรียกว่า
DCA (Dollar Cost Averaging) ด้วยวิธีนี้ ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะดีกว่าการคอยจับจังหวะลงทุนด้วยตัวเอง แถมยังช่วยสร้างวินัยและทำให้เกิดความต่อเนื่องในการลงทุน
หวังว่า 4 วิธีสร้างเงินจากกองทุนรวมที่เราหยิบมาแนะนำจะเป็นประโยชน์ให้กับใครที่อยากสร้างเงินจาก
กองทุนรวม โดยผู้ที่สนใจอยากได้ข้อมูลการลงทุนเพิ่มสามารถขอรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญฟรีได้ที่บริการที่
ปรึกษาทางการเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา โทร. 02-296-5959 ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-17.00 น. สอบถามจนมั่นใจแล้วค่อยเริ่มลงทุนก็ได้นะ
หรือหากต้องการเริ่มลงทุน และมีบัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงศรีอยุธยาอยู่แล้ว ก็สามารถเปิดบัญชีกองทุนรวม และซื้อ-ขาย ดูพอร์ตการลงทุนด้วยตัวเองผ่าน
KMA-Krungsri Mobile App ได้เลย (ถ้าใครยังไม่มีบัญชีสามารถดาวน์โหลด KMA แล้วกดเปิดบัญชีออนไลน์ พอเปิดบัญชีเสร็จ ก็สามารถเปิดบัญชีกองทุนรวม และซื้อ-ขายต่อได้ทันที)
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุน ก่อนตัดสินใจลงทุน | SSF เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออม RMF ลงทุนเพื่อเกษียณอายุ ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หากไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน | KF-INCOME และ KFGBRAND-A ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน จึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ | KFHHCARE-A ลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรม จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนทำการลงทุน
*อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ตามประกาศธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประกาศ ณ วันที่ 20 เม.ย. 65
**การจ่ายผลตอบแทนรายเดือนขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของกองทุน ซึ่งอาจมีโอกาสที่นักลงทุนจะไม่ได้รับผลตอบแทนรายเดือนในบางช่วงเวลา
บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา