ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย ราคาน้ำมันโลกร่วง รัฐบาลประกาศอัตราภาษีใหม่ น้ำท่วมหรือไฟไหม้โรงงาน บางเหตุการณ์ก็สร้างแรงกระเพื่อมให้กับตลาดหุ้น หรือไม่ก็สร้างความผันผวนไม่น้อย ซึ่งอาจจะเกิดเป็นช่วงสั้น ๆ หรือมีผลกระทบต่อมูลค่าหุ้นในระยะยาวก็ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่ว่า บริษัทที่เราลงทุนจะแข็งแกร่ง สามารถรับมือกับผลกระทบจากเหตุการณ์นั้นได้ดีเพียงใด
นักลงทุนหลายคนที่ฟังข่าวมาก ๆ อาจจะเกิดอาการปวดเศียรเวียนเกล้า เพราะไม่รู้ว่าเหตุการณ์เหล่านั้นจะส่งผลกับหุ้นที่เราเลือกลงทุนอย่างไร ตั้งสติกันแล้วค่อย ๆ แยกแยะ เรียนรู้จากเหตุไปสู่ผลกัน ดังนี้ค่ะ
ในโลกการลงทุน มี 2 เหตุการณ์หลัก ที่ส่งผลกระทบต่อมูลค่าหุ้น
- เหตุการณ์ภายนอก คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบริษัทที่เราลงทุนไม่สามารถทำอะไรได้ หลัก ๆ ก็จะเป็นเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ ถ้าภาพรวมเศรษฐกิจดี หุ้นบริษัทก็จะมีราคาเพิ่มขึ้น เพราะประชาชนจะกล้าจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้น เมื่อยอดขายเพิ่มขึ้น กำไรก็เพิ่มขึ้นตามมา และท้ายที่สุด เมื่อบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น บริษัทก็จะสามารถจ่ายผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนได้มากขึ้นตามไปด้วย แต่การที่เศรษฐกิจจะดีได้หรือไม่นั้น ก็มาจากหลากหลายปัจจัยค่ะ ลองมาดูกันว่า มีปัจจัยมาจากอะไรบ้าง
- อัตราดอกเบี้ย หากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในขาขึ้น จะส่งผลให้ราคาหุ้นลดลง เพราะต้นทุนการกู้ยืมเพื่อการลงทุนของบริษัทต่าง ๆ ก็จะสูงขึ้นตาม
- อัตราแลกเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินมีทิศทางเดียวกันกับการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่อย่างไทยที่ต้องพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างชาติ คือ เมื่อค่าเงินอ่อนค่าลง ตลาดหุ้นก็จะปรับตัวลดลงด้วย
- เหตุการณ์ทางการเมืองก็มีผลเช่นกัน นโยบายของภาครัฐ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ เช่น การกำหนดอัตราภาษี การส่งเสริมการลงทุน และการเปิดตลาดต่างประเทศ
- เหตุการณ์ที่มีความไม่แน่นอน เช่น ภัยธรรมชาติรุนแรง น้ำท่วม การก่อการร้าย โรคติดต่อร้ายแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงภาวะเศรษฐกิจได้
- เหตุการณ์ภายใน ที่เกิดขึ้นในบริษัทนั้น ๆ เอง มักจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทนั้นโดยตรง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ วัฏจักรอุตสาหกรรม กลยุทธ์ของบริษัท และความสามารถของผู้บริหาร กล่าวคือ ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไม่ดี แต่หากผู้บริหารของบริษัทมีความสามารถสูง ก็อาจจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทลดลงไม่มาก และราคาหุ้นก็จะปรับตัวลดลงไม่มาก
ทั้ง 2 เหตุการณ์หลักที่กระทบมูลค่าหุ้นนี้ นักลงทุนจะมีแนวทางในการติดตาม หรือให้น้ำหนักต่อการตัดสินใจต่างกัน บางคนลงทุนด้วยการคาดการณ์วงจรของเศรษฐกิจ (Top-down) และบางคนก็เน้นวิธีการลงทุนด้วยการคัดเลือกหุ้นของบริษัทที่ดีเป็นรายตัว (Bottom-up) โดยให้ความสำคัญที่การดำเนินงานของบริษัทนั้น ๆ มากกว่า และยึดมั่นว่า จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้ผู้ลงทุนได้ในระยะยาว ถึงแม้ว่า จะมีเหตุการณ์ความน่ากังวลต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดหุ้น
ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากหุ้น Wells Fargo & Co ที่ปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ลงทุน จะเห็นได้ว่า หุ้นแบงก์ที่เก่าแก่ของสหรัฐนี้ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วง Hamburger Crisis ปี 2008 เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการเงินที่ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า แต่ด้วยความสามารถของผู้บริหาร และการดำเนินงานที่ดี ทำให้ธนาคารกอบกู้สถานการณ์ และราคาหุ้นก็ดีดกลับมาอย่างรวดเร็วหลังวิกฤตการณ์การเงินครั้งนั้น
เราจะคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น หรือรู้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นได้หรือไม่
“Predicting rain doesn't count; building arks does” - Warren Buffett
คำกล่าวนี้ของคุณปู่ แปลง่าย ๆ ว่า "การทำนายว่าฝนจะตกเมื่อไหร่ ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น แต่การสร้างเรือต่างหากที่ช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นได้" คุณปู่ก็ได้นำเรื่องนี้มาเปรียบเทียบกับการลงทุนเป็นนัย ๆ ว่า การพยายามไปคาดเดาว่า ตลาดจะตกเมื่อไหร่ ราคาน้ำมันจะร่วงไปแค่ไหน เศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไรในปีหน้า ไม่ค่อยได้ช่วยให้เราลงทุนได้ดีขึ้นเท่าไหร่ เพราะเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ได้ถูกต้องแม่นยำ
เพียงแต่สิ่งที่เรารู้แน่ชัดก็คือ ตลาดหุ้นนั้น มีวัฏจักรของตัวเอง ถ้าตลาดขึ้นมาสูงเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากเกินไป วันหนึ่งก็จะต้องตกลงมาเอง ดังนั้น สิ่งสำคัญไม่ใช่การพยายามคาดเดา แต่คือการเตรียมตัวให้พร้อมในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ร้าย ๆ ขึ้นมา เราจะมีกลยุทธ์ที่จะรับมือได้อย่างไร
เตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กระทบต่อมูลค่าหุ้นได้อย่างไร
เมื่อเรามีสติและเตรียมพร้อมไว้แล้ว เราก็จะสามารถตัดสินใจทุกอย่างได้อย่างมีเหตุมีผลในวันร้าย ๆ ไม่ถูกนายตลาดชักจูง และสามารถหาโอกาสจากนายตลาดได้นั่นเองค่ะ ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนควรจะทำเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้าย ๆ หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันในตลาด คือ
- ลดการใช้ Margin หรือการกู้เงินมาลงทุนเพื่อให้พอร์ตการลงทุนมีสภาพคล่องมากขึ้น
- ปรับพอร์ตหุ้นให้แข็งแกร่ง โดยพยายามถือครองเฉพาะหุ้นในบริษัทที่เราคาดการณ์ได้อย่างมั่นใจว่า รายได้และกำไร จะไม่น้อยลงในอีก 3-5 ปีข้างหน้า และบริษัทเหล่านั้นควรจะมีกระแสเงินสดดี มีหนี้สินน้อย ๆ (และถ้ามีจ่ายปันผลได้ทุกปี ก็จะยิ่งดี)
- ขายหุ้นของบริษัทที่ความแข็งแกร่งของกิจการน้อยหรือหุ้นของบริษัทที่มีราคาแพงกว่ามูลค่าที่แท้จริงมาก ๆ ออกไป ถ้าขายหุ้นไปแล้ว ไม่เหลือหุ้นที่ดีในราคาที่เหมาะสมให้ซื้อเลย ก็อาจจะถือครองเงินสดไว้ได้ แต่ถ้าหากมีหุ้นที่น่าลงทุนตามที่บอกไว้ในข้อ 2 ก็อาจจะนำไปลงทุนต่อได้ เพราะบริษัทดี ๆ เหล่านั้น เราสามารถถือลงทุนผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายไปแล้ว และเมื่อทุกอย่างผ่านพ้นไป ราคาของหุ้นเหล่านี้ก็จะกลับมาสูงขึ้นกว่าเดิมเอง
- ศึกษาหาข้อมูลหุ้นต่าง ๆ ให้ดี และเตรียมรายชื่อหุ้นของบริษัทดี ๆ ที่เราต้องการเป็นเจ้าของชั่วชีวิตเอาไว้ ถ้าเกิดว่า ราคาลงมาต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสม เราก็จะได้สามารถลงทุนได้ทันทีค่ะ
ถ้าจะสรุปง่าย ๆ ก็คือ พยายามถือแต่หุ้นที่เราจะถือได้อย่างสบายใจ แม้ว่าตลาดจะปิดทำการไปอีก 5 ปีข้างหน้า และเตรียมเงินสดส่วนหนึ่งให้พร้อมเพื่อที่จะหาโอกาสการลงทุนที่ดี แค่นี้เราก็จะมีความสุขกับ
การลงทุนแล้วค่ะ