ถ้าพูดถึงนักเล่นหุ้นที่กล้าเสี่ยง คุณจะนึกถึงใครบ้างคะ
จอร์จ โซรอส พ่อมดการเงิน ผู้ทำกำไรพันล้านในวันเดียวจากการขายชอร์ตเงินปอนด์อังกฤษ หรือเหล่าผู้จัดการกองทุนในเรื่อง The Big Short ที่ทำรายได้เป็นพันล้านจากการชอร์ตตราสารซับไพร์ม
ดูเหมือนว่า คนที่จะทำกำไรมหาศาลจากตลาดหุ้นในระยะเวลาสั้น ๆ ต้องกล้าและบ้าบิ่นพอที่จะเอาเงินจำนวนมาก ไปเสี่ยงกับสิ่งที่มองไม่เห็นในอนาคต หากทำไปอย่างไม่ยั้งคิด ก็ไม่ต่างกับการเล่นการพนันนั่นเอง
นักลงทุนระดับพระกาฬจะไม่เสี่ยงกับโอกาสชนะเพียง 50% ค่ะ พวกเขาจะหาวิธีเพิ่มโอกาส ทำกำไรจาก 50% เป็น 60% หรือไม่ก็ 90% ยิ่งโอกาสชนะสูงมาก และโอกาสขาดทุนต่ำเท่าไหร่ ยิ่งควรค่าแก่การลงทุนมากเท่านั้น นี่คือสิ่งหนึ่ง ที่ไม่ว่าจะเป็นนักเล่นหุ้นแบบจอร์จ โซรอสหรือนักลงทุนระยะยาวแบบวอร์เรน บัฟเฟตต์เห็นตรงกัน
ดังนั้น ที่เข้าใจกันว่า นักเล่นหุ้นต้องกล้าได้กล้าเสี่ยง เป็นแค่การมองเหรียญเพียงด้านเดียวเท่านั้นค่ะ ยังมีอีกด้านของเหรียญ ด้านที่ประกอบด้วยความเข้าใจใน
การลงทุนในหุ้น ความระมัดระวัง ตรรกะและหลักการ มันคือ การประเมินโอกาสชนะและขาดทุนอย่างละเอียดรอบคอบ ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง
การลงทุนด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างระแวดระวังแบบนี้ ฟังดูไม่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่มันคือสิ่งที่คุณลุงโซรอสและคุณปู่บัฟเฟตต์ พร่ำสอนมือใหม่ตลาดหุ้นเสมอมา กฎข้อที่ 1 ของบัฟเฟตต์คือ “อย่าขาดทุน” ตามมาด้วยกฎข้อที่ 2 คือ “อย่าลืมกฎข้อที่ 1” ในขณะที่โซรอสบอกว่า “เอาตัวรอดก่อน ทำกำไรทีหลัง” แสดงให้เห็นว่า การรักษาเงินต้น คือ สิ่งที่สำคัญที่สุดของการลงทุน ไม่ใช่การทำกำไร
พูดให้ถูกก็คือจะเล่นหุ้น กล้าได้ กล้าเสี่ยงกับหุ้นที่เราวิเคราะห์มาแล้วอย่างดีเท่านั้นว่า มีโอกาสทำกำไรสูง และมีโอกาสขาดทุนหรือมีความเสี่ยงต่ำ
แล้วคุณจะลดความเสี่ยงในการลงทุนได้อย่างไร ?
1. ทำการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียด และจะเสี่ยงเมื่อมีโอกาสชนะสูงเท่านั้น
การวิเคราะห์คุณภาพและประเมินราคาของบริษัทที่เราต้องการลงทุนออกมา และลงทุนเมื่อมองเห็นแล้วว่า มีโอกาสที่จะขาดทุนน้อยมาก แม้จะขาดทุนจริง ๆ ก็เป็นเงินไม่มาก ในขณะที่โอกาสที่จะกำไรมีเยอะกว่า และเวลาได้กำไร ก็จะทำกำไรจำนวนมาก
เหมือนที่บัฟเฟตต์เคยกล่าวไว้ค่ะว่า “ความเสี่ยงเกิดขึ้นจากการที่คุณไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่” ความไม่รู้ทำให้คนลงทุนกับจินตนาการ ความเชื่อ และความคาดหวังของคนอื่น ปล่อยให้อารมณ์เข้ามาแทนที่เหตุผล ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถเห็นผลในเชิงรูปธรรมได้
2. ใช้เหตุผลในการตัดสินใจเท่านั้น ไม่ใช้อารมณ์
นักลงทุนที่ดีนั้นไม่ยึดติดกับอะไรทั้งสิ้น และไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นเลย แม้ว่าจะชอบบริษัท A สักแค่ไหน ถ้าหากราคาแพงเกินไป ก็ไม่มีทางเข้าไปลงทุนโดยเด็ดขาด การตัดสินใจทุกอย่างอยู่ที่ข้อมูลเพียงอย่างเดียวว่า สุดท้ายแล้วต้องได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการเท่านั้นถึงจะเข้าไปลงทุน และเมื่อไหร่ที่ลงทุนไปแล้วแต่บริษัท A ไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ ก็พร้อมที่จะขายออกทันที ไม่มีการคิดมาก
3. ติดตามผลและพร้อมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์
หลังจากลงทุนไปแล้ว ก็ต้องหมั่นคอยติดตามข่าวสาร อ่านงบการเงินบริษัท เพื่อดูว่า บริษัทนั้นดีขึ้นหรือแย่ลง มูลค่ามากขึ้นหรือลดลงเพื่อจะได้นำมาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่า จะซื้อเพิ่มหรือขายดี
4. มีการบริหารและกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
การลงทุนที่ดีต้องมีการบริหารและกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ซึ่งนักลงทุนก็จะต้องมีการปรับสัดส่วนหุ้นในพอร์ตตนเองอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เงินลงทุนนั้นกระจุกอยู่ที่หุ้นตัวใดตัวหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเป็นพิเศษ เช่น ไม่ลงทุนหุ้นตัวใดเกิน 50% ของเงินลงทุนทั้งหมด และจำนวนหุ้นไม่มากเกินไป เพราะจะทำให้ผลตอบแทนโดยรวมลดลง
จะเห็นว่า สาเหตุหลักที่ทำให้คนมีโอกาสขาดทุนสูงมีแค่ข้อเดียว นั่นก็คือข้อ 1 เพราะหากเราไม่สามารถวิเคราะห์คุณภาพและมูลค่าของกิจการได้ดีแล้ว เราก็ไม่มีทางทำข้อ 2, 3 และ 4 ให้ถูกต้องได้เลยค่ะ ดังนั้น ลองกลับไปคิดดูนะคะว่า ปัจจุบันที่เรากำลังซื้อขายหุ้นอยู่นั้น เราเป็นเหมือนนักพนันที่นานไปจะหมดตัว หรือเป็นนักลงทุนที่สร้างผลกำไรอย่างยั่งยืนกันแน่
คุณลุงโซรอสเคยพูดว่า
“สิ่งที่ชี้วัดได้ยากที่สุดคือ เสี่ยงเท่าไหร่ ถึงเรียกว่าปลอดภัย”
ความเสี่ยงเพียง 10% ก็อาจทำเงินคุณหายไปต่อหน้าต่อตาได้ นั่นหมายถึงถ้าโอกาสการลงทุนใดไม่ถึงมาตรฐานของคุณหรือเกินความเข้าใจของคุณ ต่อให้ใครว่าโอกาสดีแค่ไหน คุณยอมพลาดโอกาสนั้นไปดีกว่าค่ะ จะได้ไม่ต้องเผชิญความเสี่ยง ที่คุณเองก็คาดการณ์ความเลวร้ายไม่ได้เลย
ดังนั้น ความกล้าได้ กล้าเสี่ยง เป็นแค่ภาพที่คนภายนอกเห็นแค่นั้น แต่นักลงทุนที่เก่งและรวยจริง ๆ จะเสี่ยงมากเมื่อมีโอกาสชนะสูงมาก ๆ เท่านั้น คนที่กล้าได้ กล้าเสี่ยง โดยไม่วิเคราะห์อะไรเลย ควรจะไปเล่นพนันที่มาเก๊าดีกว่ามาเป็นนักลงทุนค่ะ !