ชวนเริ่มต้น กับปี 2022 ปีแห่งโอกาสและความท้าทาย
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ชวนเริ่มต้น กับปี 2022 ปีแห่งโอกาสและความท้าทาย

icon-access-time Posted On 26 มกราคม 2565
By นิ้วโป้ง อธิป กีรติพิชญ์

ปีขาล 2022 คือ ปีแห่งโอกาสและความท้าทายในการลงทุน

  • ที่ว่าเป็นโอกาส คือ เรายังคงอยู่ในช่วงที่สภาพคล่องทางการเงินล้นระบบ และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งเอื้อต่อการลงทุนอย่างมาก นักลงทุนยังคงมุ่งหาผลตอบแทน (search for yield) ทั้งในตลาดหุ้นสหรัฐ ยุโรป เอเชีย รวมทั้งประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่สินทรัพย์ทางเลือกอย่างสินทรัพย์ดิจิทัล (Crypto Asset) ที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่างเหรียญ Bitcoin, Ethereum, Ripple หรือเหรียญไทยอย่าง KUB JFIN และ SIX เป็นต้น แนวโน้มการมุ่งหาผลตอบแทนในสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีมากในปี 2021 ยังคงมีแรงส่งมาสู่ปี 2022 อย่างชัดเจน
  • ที่ว่าเป็นความท้าทาย คือ หลังจากโควิดผ่านไป 1 ปี โลกมีการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน ในรูปแบบ K-Shape กล่าวคือมี K ขาขึ้น และ K ขาลง โดยตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Market : DM) อย่างตลาดหุ้นอเมริกา ยุโรป เป็น K ขาขึ้น ฟื้นขึ้นผ่านระดับก่อนเกิดโควิด และทะลุทำ All Time High ในขณะที่ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market : EM) หลายประเทศโดยเฉพาะในอาเซียน เป็น K ขาลง ฟื้นตัวได้ช้ากว่า ดัชนีตลาดหุ้นส่วนใหญ่เพิ่งผ่านจุดก่อนเกิดโควิดเท่านั้น ยังห่างไกลจากจุด All Time High อยู่มาก นับเป็นความท้าทายสำหรับผู้ลงทุนในตลาดหุ้นเหล่านี้ รวมทั้งไทยที่ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินการคลังของประเทศพัฒนาแล้ว ที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในปี 2022 นี้
ชวนเริ่มต้น กับปี 2022 ปีแห่งโอกาสและความท้าทาย
ตลาดหุ้นชอบดอกเบี้ยต่ำ ไม่ชอบดอกเบี้ยสูง
  • การกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโควิด 2 ปีที่แล้ว ธนาคารกลางทั่วโลก มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาสู่ระดับต่ำ ซึ่งส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งผลดีต่อตลาดหุ้นด้วย
  • สำหรับนักลงทุน ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ตลาดหุ้น ไม่ชอบการขึ้นดอกเบี้ย โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ ที่จัดเป็นยานแม่ของการติดตามเรื่องนี้ โดยนักลงทุนทั่วโลกจะติดตามผ่านผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (FED)
  • ในเชิงธุรกิจ การขึ้นดอกเบี้ยทำให้ต้นทุนทางการเงินของกิจการสูงขึ้น และกระทบการตัดสินใจในการลงทุนขยายกิจการ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผลประกอบการ
  • ในเชิงการวัดมูลค่าหุ้น (Valuation) มูลค่ากิจการคือมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดอิสระที่กิจการจะทำได้ตลอดอายุ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้การคำนวณมูลค่าปัจจุบันได้น้อยลง มูลค่าหุ้นจึงลดน้อยลง
ปัจจัยสำคัญคือ เงินเฟ้อ และทิศทางดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ
  • เงินเฟ้อ คือสาเหตุหลักของการขึ้นดอกเบี้ยแทบทุกรอบ เมื่อเกิดเงินเฟ้อ ราคาสินค้าแพงขึ้น อัตราเงินเฟ้อเกินเป้าหมายระยะยาวของ FED จะเป็นที่มาของการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น โดยในช่วงเดือน ธ.ค. 2021 ที่ผ่านมา FED เริ่มส่งสัญญาณชัดเจนว่า จะเริ่มใช้นโยบายที่เข้มงวดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2022 ไม่ว่าจะเป็นการสิ้นสุดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (Quantitative Easing : QE) ภายในไตรมาสสองของปี 2022 และจะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่เร่งตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกระทั่งมาอยู่ที่ 6.2% ทั้งที่ค่าเฉลี่ยก่อนโควิด อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2% เท่านั้น (ดังรูปที่ 1)
ชวนเริ่มต้น กับปี 2022 ปีแห่งโอกาสและความท้าทาย
รูปที่ 1 อัตราเงินเฟ้อ USA Inflation Rate
Source: https://tradingeconomics.com
  • จากสถิติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED ในปี 2018 พบว่า ปรับดอกเบี้ยขึ้นทั้งหมด 4 ครั้งในปีเดียว ส่งผลให้ผลตอบแทนตลาดหุ้นในปี 2018 เกือบทั่วโลกติดลบกันถ้วนหน้า เช่น Dow Jones -5.6%, S&P500 -6.2%, DAX เยอรมัน -18.3%, FTSE อังกฤษ -12.5%, จีน -24.6%, ฮ่องกง -13.6% และ SET ไทย -10.8% เป็นต้น
  • อย่างไรก็ตาม นักลงทุนหุ้นไทยยังไม่ต้องตกใจกลัวอะไร เพราะในช่วงปี 2018 ตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีความเชื่อมโยงกันสูงมาก ยังไม่ถูกแยกจากกันเป็นรูป K-Shape จากโควิด ในขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มแยกชั้นออกจากกันในปี 2020 จากวิกฤตโควิดและความสามารถในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลแต่ละประเทศ ในปี 2022 ที่ FED เตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก
  • นอกจากนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย FED ในรอบนี้อาจไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะเป็นการปรับขึ้นจากฐานดอกเบี้ยที่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ในระดับ 0-0.25% (ดังรูปที่ 2) สุดท้ายแล้วการลงทุนในตลาดหุ้น ยังคงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอยู่ดี
ชวนเริ่มต้น กับปี 2022 ปีแห่งโอกาสและความท้าทาย
รูปที่ 2 อัตราดอกเบี้ยนโยบาย FED
Source: https://fred.stlouisfed.org
  • เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปัจจุบัน อาจเป็นภาวะชั่วคราว ที่เกิดจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของความต้องการ (Pent Up Demand) ในขณะที่ภาคการผลิตยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกทยอยกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น แรงกดดันเงินเฟ้อน่าจะชะลอลง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยการลงทุนที่นักลงทุนควรติดตาม
ปี 2022 อาจจะเป็นปีสุดท้ายของความกังวลโควิด
  • แม้ว่าโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม แต่สถานการณ์การระบาด การรักษา การรับวัคซีน และความกังวลต่อโควิด กำลังลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ที่ระบาดเร็วและง่าย แต่อัตราการเสียชีวิตต่ำ ทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่กำลังระบาดเป็นจำนวนมาก แต่การปิดเมืองหรือควบคุมการเคลื่อนที่ของคนกลับลดลงอย่างชัดเจน กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไป ตลาดหุ้นอเมริกาและตลาดหุ้นยุโรปก็ทำ new high ต่อเนื่องได้ในสัปดาห์แรกของปี 2022
  • จำนวนคนทั่วโลกที่ได้รับวัคซีน รวมทั้งคนไทยเองก็ฉีดไปแล้วเกินครึ่ง อีกทั้งยังมีการพัฒนายารุ่นใหม่ และวัคซีนรุ่นใหม่ ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสที่โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปในที่สุด และการเดินทางระหว่างประเทศจะเติบโตขึ้นได้อีกครั้ง ซึ่งนั่นจะเป็นโอกาสมหาศาลของธุรกิจบริการในยุคหลังโควิด
ชวนเริ่มต้น กับปี 2022 ปีแห่งโอกาสและความท้าทาย
ส่องปัจจัยตลาดหุ้นไทย
  • ตลาดหุ้นไทยก็ยังคงมีความน่าสนใจและน่าลงทุน เพราะ SET Index ที่ระดับประมาณ 1650 ยังคงอยู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด อีกทั้งเศรษฐกิจไทยในยุคหลังโควิด ก็มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะฟื้นตัวจากฐานต่ำในปี 2021 ไปสู่การเติบโต 2-3 ปีต่อเนื่อง เพื่อกลับไปสู่ระดับเดียวกับระดับก่อนเกิดโควิดนั่นเอง
  • ในมุม Fund Flow หรือเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติ (Foreign Investor) ก็มีโอกาสไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยมีสูง เพราะเศรษฐกิจไทยมีโอกาสในการฟื้นตัวในฐานะประเทศท่องเที่ยวที่จะได้รับประโยชน์จากยุคหลังโควิด ยังไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ ยังไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้กระแส Fund Flow จากนักลงทุนต่างชาติ เริ่มทยอยเข้ามาแล้วตั้งแต่ไตรมาสสามปี 2021 หากนับจากกลางเดือนสิงหาคม ต่างชาติทยอยซื้อสุทธิหุ้นไทยแล้วมากกว่า 57,000 ล้านบาท (ดังรูปที่ 3)
ชวนเริ่มต้น กับปี 2022 ปีแห่งโอกาสและความท้าทาย
รูปที่ 3 มูลค่าซื้อขายสุทธิของนักลงทุนสี่ประเภท
Source: SETSMART
ลงทุนอย่างไรในปี 2022 นี้
  • การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อย่างเช่น หุ้นและกองทุนรวมหุ้น ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะเศรษฐกิจโลกและกิจการในตลาดหุ้นกำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เพื่อกลับสู่ระดับยอดขายและกำไรในระดับก่อนเกิดโควิด และอัตราดอกเบี้ยแม้อาจจะมีการปรับขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ ไม่เป็นอันตรายต่อการลงทุน
  • ควรเน้นลงทุนระยะยาวในหุ้นคุณค่า ที่มีความเป็น Good Stock at Good Price มีผลประกอบการฟื้นตัว เติบโตไปสู่จุดก่อนโควิด ยิ่งกิจการผูกขาด หรือกินขาด ยิ่งดี มีราคาที่ไม่แพงเกินไป และจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ นี่คือกลยุทธ์การลงทุนที่ปลอดภัยและคาดหวังผลตอบแทนได้ดี
  • กิจการผูกขาด ให้ลองนึกถึงกิจการที่แทบไม่มีคู่แข่ง ตัวอย่างเช่น สนามบิน รถไฟฟ้า ทางด่วน โทรคมนาคม เป็นต้น กิจการกินขาด ให้นึกถึงกิจการผู้ชนะที่ใหญ่โตมากจนกระทั่งนำคู่แข่งเบอร์ 2 แบบทิ้งห่าง หากประเทศฟื้น การท่องเที่ยวฟื้น กิจการเหล่านี้แหละที่ยืนอยู่แถวหน้าสุดของผู้รับผลประโยชน์ เพราะเครือข่ายที่กว้างที่สุด ขนาดของกิจการที่ใหญ่ที่สุด เป็นผู้นำตัวจริงในอุตสาหกรรมนั้น ตัวอย่างเช่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า สปา โรงหนัง ฯลฯ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา