โดยทั่วไปแล้วเวลาเราลงทุนสินทรัพย์อะไร เราก็จะเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้น เช่น ถ้าซื้อหุ้นบริษัทไหน เราก็จะได้เป็นเจ้าของร่วมของบริษัทนั้น แต่ถ้าเป็นตราสารหนี้ ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ จะได้เป็นเจ้าหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้นั้น มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืน แล้วเอ๊ะ! ตราสารหนี้คืออะไร ตราสารหนี้มีอะไรบ้าง และมีความเสี่ยงยังไงบ้างนะ? ไปดูพร้อมกันเลย
ตราสารหนี้คืออะไร มีความเสี่ยงสูงจริงรึเปล่า?
ตราสารหนี้ คือ สินทรัพย์ทางการเงินที่ออกให้กับผู้ลงทุนเพื่อแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งผลตอบแทนที่ผู้ถือตราสารหนี้จะได้รับคือ “ดอกเบี้ย” ดังนั้นเมื่อครบอายุตามที่กำหนดก็จะได้รับเงินต้นคืน โดยที่สถานะผู้ลงทุนจะถูกเรียกว่า
“เจ้าหนี้” ซึ่งบริษัทจะกลายเป็น “ลูกหนี้” โดยปริยาย ในหลายครั้งตราสารหนี้อาจจะถูกเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า “สัญญาเงินกู้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้”
โดยอัตราดอกเบี้ยที่จะถูกกำหนดในตราสารหนี้นั้น จะขึ้นอยู่กับว่าบริษัทมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เพราะถ้าหากมีความน่าเชื่อถือมาก โอกาสผิดนัดชำระหนี้ก็จะต่ำ ซึ่งจะทำให้สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงมาได้ และผู้ลงทุนยังสนใจแม้จะได้ดอกเบี้ยน้อยเพราะมั่นใจว่าจะได้เงินต้นคืน
แต่ถ้าบริษัทมีความเสี่ยงสูงมากขึ้น ก็จะยอมให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น เพื่อเป็นการชดเชยความเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น โดยปกติแล้วเราสามารถดูความเสี่ยง หรือความน่าเชื่อถือของบริษัทได้จาก “อันดับเครดิต” ยิ่งมีอันดับเครดิตสูงนั่นยิ่งแปลว่ามีความมั่นคงสูง
อ่านมาจนถึงตรงนี้ก็พอจะเข้าใจความหมายของตราสารหนี้กันบ้างแล้วใช่ไหม แต่เดี๋ยวก่อนตราสารหนี้ไม่ได้มีเพียงประเภทเดียวเท่านั้นนะ ไปดูในหัวข้อถัดไปกันเลย
ตราสารหนี้มีกี่ประเภท?
หลักการฉบับเข้าใจง่ายเลยคือ ตราสารหนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามผู้ออกตราสาร ก็คือ “ตราสารหนี้ภาครัฐ” และ “ตราสารหนี้ภาคเอกชน” โดยที่ตราสารหนี้ที่รัฐบาลออกเรามักจะคุ้นหูในชื่อว่า “พันธบัตรรัฐบาล” ในทางกลับกันตราสารหนี้ที่บริษัทเป็นผู้ออกเราจะมักจะคุ้นหูในชื่อว่า “หุ้นกู้เอกชน”
“ตราสารหนี้ภาครัฐ” (Government Bond)
ตราสารหนี้ภาครัฐหน่วยงานที่เป็นผู้ออกพันธบัตร คือ กระทรวง หรือหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งจะมีชื่อเรียกที่ต่างกันออกไป ได้แก่
- พันธบัตรรัฐบาล ในส่วนนี้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ออกเพื่อทำการกู้ยืมเงินจากประชาชน เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ และเป็นการชดเชยการขาดดุลงบประมาณ หรือปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะของประเทศ มีอายุสัญญาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
- พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจจะเป็นผู้ออก ซึ่งจะมีการค้ำประกันโดยกระทรวงการคลัง เพื่อนำมาลงทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของประเทศ
- พันธบัตรออมทรัพย์ ซึ่งผู้ออกจะเป็นกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการออม และการลงทุน เช่น ในปี 2565 นี้ กระทรวงการคลังได้มีการออกพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “ออมเพิ่มสุข (รอบพิเศษ)” เป็นต้น
- พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกโดย ธปท. เพื่อนำไปใช้ดูแลสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่สมดุล
- ตั๋วเงินคลัง ผู้ออกคือกระทรวงการคลัง โดยที่จะเป็นตราสารหนี้ระยะสั้นมีอายุไม่เกิน 1 ปี ตั๋วเงินคลังจะจ่ายในราคาที่ถูกกว่าราคาหน้าตั๋ว ตัวอย่างเช่น ราคาหน้าตั๋วเงินคลัง คือ 200 บาท แต่ว่าซื้อจริง 195 บาท เมื่อครบกำหนดจะสามารถขายได้ในราคาหน้าตั๋วก็คือ 200 บาท ดังนั้น ผู้ซื้อจะได้ผลตอบแทน 5 บาท นั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วไหนใครเริ่มสนใจอยากจะลงทุนในตราสารหนี้กันบ้างแล้ว แต่ก่อนลงทุนต้องศึกษาให้ครบทุกมิติก่อนนะ ขอแนะนำ
“เคลียร์ชัด ๆ กองทุนตราสารหนี้เสี่ยงต่ำจริงไหม Krungsri The COACH Ep.50” ไปฟังกันต่อได้เลย
“ตราสารหนี้เอกชน” (Corporate Bond) หรือ “หุ้นกู้”
ผู้ออกคือบริษัทเอกชน ซึ่งจะระดมทุนเพื่อการขยายกิจการ โดยที่ต้นทุนทางการเงินของผู้ออกตราสารหนี้ จะมีราคาที่ถูกกว่าการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ โดยส่วนใหญ่จะมีการกำหนดระยะเวลาการออก ตัวอย่างเช่น 3 ปี 5 ปี 7 ปี 10 ปี 20 ปี เป็นต้น
มากไปกว่านั้นหากไม่มีกำหนดระยะเวลาที่เรียกว่า
“หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” (Perpetual Bond) นักลงทุนสามารถศึกษารายละเอียดตราสารหนี้ที่ออกขายในปัจจุบันได้ที่สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)
“ตราสารหนี้” แบบไหนที่น่าลงทุน?
ถ้าหากผู้ที่สนใจที่จะลงทุนในตราสารหนี้แล้วนั้น จะเหมาะมากกับนักลงทุนที่มีเงินออมที่มีจำนวนมากหน่อย เนื่องจากผู้ออกจะกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการลงทุนแต่ละครั้งเป็นจำนวนค่อนข้างสูง หากไม่ได้มีเงินลงทุนจำนวนมาก แต่สนใจตราสารหนี้ ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ได้ เพราะกองทุนรวมจะไม่ได้กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำไว้สูง บางกองทุนเริ่มต้นที่ 500 บาทเท่านั้น สามารถทยอยลงทุนได้ และเลือกกองทุนได้ โดยดูจากนโยบายการลงทุนว่ากองทุนนั้นลงทุนในตราสารหนี้ประเภทไหน มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ผู้ที่ลงทุนในตราสารหนี้จะเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งจะได้รับสัญญาการกู้ยืมเงิน โดยที่จะระบุเงินต้น ดอกเบี้ย และความถี่ในการจ่ายดอกเบี้ย รวมไปถึงอายุของหนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจะไม่ได้ระบุเอาไว้ถึงความสามารถในการชำระหนี้ และความเข้มแข็งทางการเงินของลูกหนี้ (ผู้ออกตราสาร)
ดังนั้น จึงต้องมีการจัดอันดับเครดิต (Credit Rating) ของตราสารหนี้ เพื่อที่นักลงทุนจะได้ทราบข้อมูลนี้ก่อนตัดสินใจ
โดยที่อันดับความน่าเชื่อถือ อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้
1. Investment Grade (กลุ่มระดับลงทุน)
กลุ่มที่มีเรทติ้งในระดับที่น่าลงทุน จะเริ่มตั้งแต่ AAA กล่าวคือ อันดับความน่าเชื่อถือสูงสุด มีความเสี่ยงต่ำสุดที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด รองลงมาจนถึงระดับ BBB มีอันดับความน่าเชื่อถือปานกลาง ซึ่งจะมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ในเกณฑ์ปานกลาง
2. Non-Investment Grade (กลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุน)
หรืออีกชื่อคือ “Speculative Grade (กลุ่มที่ลงทุนเพื่อการเก็งกำไร)” เป็นตราสารหนี้ที่จะให้ผลตอบแทนที่สูงเลยทีเดียว
มีเรทติ้งตั้งแต่ BB ลงไป ถือได้ว่าเป็นตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำลงมา และจะมีความเสี่่ยงสูงขึ้นที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ในส่วนของเรทติ้ง C มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ต่ำที่สุด มีความเสี่ยงค่อนข้างมากที่สุดที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
ในขณะเดียวกันอันดับเครดิตต่ำที่สุด คือ D ซึ่งจะจัดอยู่ในตราสารที่อยู่ในสถานะผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นได้ตามกำหนดนั่นเอง
3. กลุ่ม Unrated Bond (ไม่มีการจัดอันดับเครดิต)
เป็นตราสารหนี้ที่ไม่ได้ส่งไปจัดอันดับ หรือเป็นตราสารหนี้ที่ขอให้ทำการจัดอันดับแล้ว แต่ไม่ได้รับการพิจารณา โดยตราสารหนี้กลุ่มนี้จะจูงใจผู้ซื้อด้วยผลตอบแทนที่สูงมาก แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่สูงมากเหมือนกัน ซึ่งจะเสนอขายเฉพาะให้แบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement) กับกลุ่มนักลงทุนสถาบัน และบุคคลที่มีสินทรัพย์ 50 ล้านบาทขึ้นไป
โดยสรุปแล้วตราสารหนี้นั้นมีความเสี่ยงเทียบเท่ากับ
การลงทุนหุ้นไหม ก็คงต้องบอกว่า มีความเสี่ยงแต่เป็นความเสี่ยงคนละรูปแบบกันนั่นเอง ไม่ว่าจะลงทุนในหุ้น หรือตราสารหนี้ก็ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงทั้งนั้น และเพื่อเป็นการป้องกันผลลัพธ์ที่ทุกคนไม่อยากจะพบเจอ ก็ควรที่จะศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนที่จะลงทุน เพราะไม่ว่าลงทุนอะไรก็ควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน ติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลาเพื่อประกอบการตัดสินใจทุกครั้งใน
การลงทุน
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน