มีปัจจัยอะไรบ้างนะที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับฐานลง แล้วจะต้องรับมือกับตลาดหุ้นยังไงกันเมื่อตลาดมีความผันผวนแบบนี้…
ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่ไม่ได้ขึ้นลงตามปัจจัยพื้นฐานแต่เพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการเข้าออกของเงินทุน และจิตวิทยามวลรวมส่วนหนึ่ง ฉะนั้นการลงทุนที่ดีควรมีทักษะการดูกราฟหุ้น ซึ่งการดูกราฟหุ้นเป็นประจำก็ไม่ได้หมายความว่าจะซื้อหุ้นได้ตามใจ หรือไม่มีการปรับพอร์ตเลย เนื่องจากการทิ้งพอร์ตไว้โดยที่ไม่สนใจอาจจะทำให้พอร์ตเสียได้ และในเวลาที่ตลาดหุ้นผันผวนอาจจะทำให้เราสูญเสียเงินทุนไปได้เลย ก่อนอื่นเราไปดูพร้อมกันก่อนดีกว่าว่า
ตลาดหุ้นปรับฐานคืออะไร? จะมีวิธีรับมือยังไงบ้าง
ตลาดหุ้นปรับฐาน คืออะไร?
ตลาดหุ้นปรับฐาน (Market Correction) คือ การที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับฐานลดลงกว่า 10% และจะไม่ถึง 20% โดยปกติแล้วจะยึดตาม S&P 500 ที่จะเป็นดัชนีตัวชี้วัด การที่หุ้นปรับฐานจะมาแค่ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หรือนานเป็นเดือนก็ย่อมเกิดขึ้นได้ และถ้าลองมองย้อนกลับไปในปี 2000 จะพบว่าตลาดหุ้นมีการปรับฐานถึง 11 ครั้ง แต่ละครั้งระยะเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 เดือน โดยที่ตลาดหุ้นปรับฐานแต่ละครั้งทำให้นักลงทุนระยะสั้นมักที่จะขาดทุน แต่ในทางกลับกันก็ถือเป็นโอกาสดีสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่จะเข้ามาช้อนซื้อหุ้นในราคาที่ถูก เพื่อที่จะเอาไปเก็งกำไร และรอผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวนั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับฐานลง
การผันผวนของตลาดหุ้น ส่วนมากมักจะเกิดจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อตลาดหุ้น ณ เวลานั้น ซึ่งเป็นปกติอยู่แล้วเมื่อกำลังขายมากกว่ากำลังซื้อจะทำให้ราคาหุ้นปรับฐานลง และการที่ตลาดเกิดภาวะ Bear Market มีแนวโน้มจากเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก ทำให้นัก
ลงทุนมีความรู้สึกว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับขึ้นมามากเกินกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น ฯลฯ เลยทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจต่อผลตอบแทนในอนาคต จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนขายหุ้นที่ลงทุนอยู่ออกไป ตลาดหุ้นเลยปรับฐานลง
สำหรับใครที่สนใจฟังเนื้อหาแบบรวดเดียวจบเกี่ยวกับวิธีรับมือเมื่อตลาดหุ้นปรับฐานขอแนะนำ
“Krungsri The COACH Ep.58 6 วิธีเอาตัวรอดเมื่อหุ้นปรับฐาน” เข้าไปฟังกันต่อได้เลย
เราไปดูส่วนต่อไปกันเลยว่าจะมีวิธีรับมือยังไงบ้าง!
6 วิธีรับมือเมื่อตลาดหุ้นปรับฐาน
1. เก็บกำไรไว้บางส่วน เมื่อตลาดหุ้นขึ้นสูง
เมื่อตลาดหุ้นปรับฐานลง แล้วเป็นจังหวะที่เงินเราหมดพอดีเราก็จะเสียโอกาสไปได้ เนื่องจากช่วงที่ตลาดหุ้นขึ้นอาจจะเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น และเมื่อ
ตลาดหุ้นปรับฐานลงมานั้นอาจจะไม่นานมากนัก ฉะนั้นควรมีเงินสำรองไว้ประมาณ 10-20% ของพอร์ตลงทุน ซึ่งการทำแบบนี้เป็นอีกหนึ่งวินัยที่เราควรมีและควรทำให้ได้ เพราะเมื่อโอกาสมาถึงแล้วเราต้องการที่จะช้อนซื้อหุ้นไว้เพื่อที่จะนำไปเก็งกำไรต่อก็จะไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ก่อนที่จะนำเงินที่สำรองไว้ไปลงทุนช้อนซื้อหุ้นตัวใหม่ ก็อย่าลืมดูกราฟหุ้นให้ดีว่ามันจบช่วงตลาดขาลงแล้วหรือยัง
ตัวอย่างการ
ปรับพอร์ตหุ้น ในช่วงเวลาตลาดแดง ตัวอย่างเช่น พอร์ตเรามีขนาด 2 ล้านบาท เราควรมีเงินสดสำรองเอาไว้ประมาณ 2-4 แสนบาท และเมื่อหุ้นในพอร์ตเรามีมูลค่าสูงขึ้น อาจขึ้นไปเป็น 2.4 ล้านบาท สิ่งต่อไปที่ควรทำคือเราควรแบ่งขายหุ้นออกมาอย่างน้อย 2 แสนบาท จะทำให้เรามีเงินสดในมือ 2 แสนบาท และเมื่อตลาดหุ้นปรับฐานกะทันหัน เราสามารถนำเงิน 2 แสนบาททยอยซื้อหุ้นดีที่มีราคาต่ำเอาไว้ได้ เพราะฉะนั้นควรที่จะบริหารจัดการ และเก็บเงินสำรองไว้ในพอร์ตบ้าง เพราะเมื่อใดที่ตลาดหุ้นปรับฐานลง เราก็จะไม่มีเงินซื้อ และเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดายในที่สุด “ตลาดหุ้นขึ้นก็ต้องมีหุ้นในมือขาย ตลาดหุ้นลงก็ต้องมีเงินซื้อหุ้น”
2. ทำการบ้านหาราคาเป้าหมาย
เราจะต้องหาข้อมูลราคาเป้าหมาย เช่น เราไปศึกษาโบรกเกอร์ต่าง ๆ เอาไว้เราอาจจะได้ราคา Entry Price หรือราคาที่เราเตรียมจะซื้อเราก็ทำลิสต์เอาไว้ เพราะเมื่อช่วงหุ้นกำลังปรับฐานอยู่ เราก็ทำการบ้านเอาไว้ เมื่อถึงเวลาที่ใช้เราก็จะได้ช้อนซื้อเอาไว้ได้ทัน และในราคาที่เราเล็งเอาไว้ได้
3. ตลาดหุ้นปรับฐาน ต้องพิจารณา Cut loss
มือใหม่อาจจะต้องพิจารณาการ Cut loss ดูเพราะเมื่อตอนแรกที่เราเข้าไปซื้อนั้น อาจจะเป็นการซื้อแบบ Technical เป็นหลัก อาจจะไม่ได้ดูเรื่องพื้นฐานของ
หุ้นตัวนั้น ๆ อย่างชัดเจน เช่น หุ้นที่ซื้อตามข่าว ฯลฯ หุ้นเหล่านี้อาจจะต้องพิจารณา Cut loss ก่อนที่จะขาดทุนไปมากกว่าเดิม
4. การบริหารความเสี่ยง แบ่งขายหุ้นในพอร์ต
โดยพื้นฐานแล้วพอร์ตนักลงทุนระยะยาวควรที่จะมีหุ้นในพอร์ตอย่างน้อยไม่เกิน 10 ตัว ณ เวลาที่ตลาดหุ้นปรับฐาน โดยหุ้นแต่ละตัวนั้นเราควรที่จะศึกษามาเป็นอย่างดีแล้ว เพราะในเวลาที่หุ้นตกแบบกะทันหัน ราคาหุ้นแต่ละตัวจะลดลงไม่เท่ากัน ซึ่งนักลงทุนนิยมที่จะปรับพอร์ตด้วยการขายหุ้นตัวที่ตกน้อยออกไปก่อน เพื่อที่จะไปช้อนซื้อหุ้นที่ตกลงมากกว่า และวิธีนี้นักลงทุนสามารถที่จะทำกำไรได้ แต่ก็ต้องแล้วแต่กรณีไปเพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้กำไร และคืนทุนทั้งหมด ทั้งนี้ก็ควรพิจารณาถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจให้ดี ๆ ก่อนที่จะแบ่งเงินมาลงทุนทุกครั้ง
5. อย่ารีบซื้อหุ้นเกินไป เมื่อตลาดหุ้นปรับฐาน
เมื่อตลาดหุ้นปรับฐานแบบกะทันหัน อย่าเพิ่งไปช้อนซื้อ เพราะเมื่อตลาดหุ้นตกชั่วคราวในวันนี้ ไม่ได้หมายความว่าวันถัดมากราฟหุ้นจะเด้งกลับมาในวันต่อมา เพราะฉะนั้นเราไม่ควรใจร้อน และรีบซื้อในช่วงแรกที่หุ้นปรับฐานลงเพราะเราอาจจะเจ็บตัว และเสียดายทีหลังก็ได้
6. ทุกวิกฤติ ย่อมมีโอกาส
ต่อเนื่องจากข้อที่สองที่กล่าวไว้ว่าทำการบ้านหาราคาเป้าหมายเอาไว้ เพราะโอกาสในที่นี้ก็คือเมื่อเราศึกษามาแล้วและมี Watch List อยู่ในมือ และถ้า ณ ตอนนั้นตลาดหุ้นปรับฐานลงตรงนี้แหละที่เราจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ โดยการเข้าไปช้อนซื้อไว้ในราคาที่ถูก
และทั้งหมดคือวิธีการรับมือเมื่อตลาดหุ้นปรับฐาน ดังนั้น การตัดสินใจที่จะเข้าไปช้อนซื้อ หรือรอไปก่อน ควรที่จะมีสติในทุก ๆ การตัดสินใจ และคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก อย่าปล่อยให้ความกลัวที่จะขาดทุนครอบงำนำความคิด เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง เราต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ประกอบการตัดสินใจให้ดีทุกครั้งก่อนเลือกลงทุน