เดี๋ยวนี้ใคร ๆ เขาก็
อยากลงทุนเพื่ออนาคตกันทั้งนั้น เพราะด้วยหลาย ๆ ปัจจัยที่ทำให้คนหันมาสนใจเรื่องลงทุนกันมากขึ้น และกองทุนที่ถูกพูดถึงกันไม่น้อยเลยก็คือ SSF (Super saving fund) แล้วเจ้ากองทุนตัวนี้ต้องซื้อยังไง แล้วจะเหมาะกับการลงทุนของเราไหมนะ ไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลย
5 ข้อต้องรู้ก่อนซื้อกองทุน SSF
SSF คืออะไร
SSF (Super saving fund)
กองทุนที่มีจุดประสงค์เพื่อการออมที่มาแทนที่กองทุน LTF ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นในการลงทุน เนื่องจากสามารถลงทุนได้ในหลาย ๆ สินทรัพย์ทั้งในหุ้นไทย และหุ้นต่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งการลงทุนในกองทุน SSF นี้จะต้องถือลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี
5 ข้อต้องรู้ก่อนซื้อกองทุน SSF มีอะไรบ้าง?
1. SSF ลดหย่อนภาษีสูงสุด 30% ของเงินได้
หากอยากลงทุนในกองทุน SSF เพื่อ
ใช้ลดหย่อนภาษีและสามารถลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อนำมารวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ (ได้แก่ กองทุน RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., กองทุนสงเคราะห์ครูฯ, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ) จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท เรามาดูตัวอย่างไปพร้อม ๆ กันเลยเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น
กรณีที่ 1: นาย ก. มีรายได้ 350,000 บาทต่อปี จะซื้อกองทุน SSF เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีได้ 105,000 สูงสุดที่ 30% ของเงินได้
กรณีที่ 2: นาย ข. มีรายได้ 2,000,000 บาทต่อปี จะซื้อกองทุน SSF เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีได้เพียงแค่ 200,000 บาทเท่านั้น เพราะเนื่องจากว่าเพดานการลดหย่อนภาษีของกองทุน SSF จะต้องไม่เกิน 200,000 บาท ถึงแม้ว่า 30% ของ 2,000,000 คือ 600,000 บาทก็ตาม
แต่ทั้งนี้ ทั้งนาย ก. และ นาย ข. สามารถเลือกลงทุนในจำนวนเงินที่เหมาะกับฐานภาษีและเงินในกระเป๋าของตนเอง โดยไม่ต้องซื้อสูงสุดตามสิทธิ์ได้
2. ถือครอง 10 ปี นับจากวันซื้อ
ในการซื้อกองทุน SSF จะต้องถือครบเป็นระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อ เหตุผลที่จะต้องถือครองเป็นระยะยาวแบบนี้เพราะจุดประสงค์ของกองทุนคือเป็นการเน้นออมแบบระยะยาว และจะเก็บเงินส่วนนี้ไว้ใช้หลังเกษียณ วิธีการนับระยะเวลาการซื้อกองทุนเป็นไปได้ตามตัวอย่างดังต่อไปนี้
ซื้อกองทุน SSF วันที่ 5 มกราคม 2566 กองทุนจะครบกำหนด วันที่ 5 มกราคม 2576 แต่ถ้าหากเราทำการถอนก่อนที่จะครบกำหนด จะเป็นการผิดเงื่อนไขลดหย่อนภาษี เราจะต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับลดหย่อนไป และต้องจ่ายเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน ของจำนวนเงินภาษีที่ได้รับลดหย่อนนับตั้งแต่เดือน เม.ย. ของปีที่ได้รับลดหย่อนภาษีจนถึงเดือนที่ยื่นคืนภาษีให้แก่กรมสรรพากร และต้องนำกำไรที่ได้จากการขายคืน (ถ้ามี) ไปรวมเป็นเงินได้ในปีที่ขายเพื่อเสียภาษี เพราะฉะนั้นเงินที่จะเอาไปลงทุนจะต้องเป็นเงินเย็นจริง ๆ ที่เราคิดว่าเราจะไม่ถอนออกมาจนกว่าจะครบกำหนด 10 ปี
3. ลงทุนได้ในทุกประเภทสินทรัพย์
การลงทุนในกองทุน SSF เราสามารถเลือกที่จะลงทุนได้ในทุกประเภทสินทรัพย์การลงทุนเลย ไม่ว่าจะเป็นหุ้นต่างประเทศ หุ้นไทย ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ หุ้นกู้ พันธบัตร ฯลฯ ด้วยความที่กองทุน SSF มีความหลากหลาย ผู้ลงทุนจึงสามารถที่จะใช้กองทุน SSF ในการจัดพอร์ตหรือปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
4. แบบปันผลและแบบสะสมมูลค่า
ในการลงทุนในกองทุน SSF จะมีวิธีการจ่ายผลตอบแทนออกมาสองแบบ คือ แบบปันผล และแบบสะสมมูลค่า ส่วนกองทุนที่เราลงทุนนั้นเป็นแบบไหน ก็ให้ดูที่นโยบายการจ่ายเงินปันผลในหนังสือชี้ชวนของกองทุนนั้น ๆ เราไปดูแบบแรกกันก่อนเลย
แบบปันผล คือ เมื่อเราลงทุนในกองทุนมีนโยบายจ่ายเงินปันผล และกองทุนได้รับดอกผลจากการลงทุน หรือมีกำไร ก็จะมีการจ่ายเงินปันผลออกมาให้กับผู้ลงทุน โดยเงินปันผลจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10%
แบบสะสมมูลค่า คือ เมื่อเราลงทุนในกองทุนไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล และกองทุนได้รับดอกผลจากการลงทุน หรือมีกำไรนั้น ผู้จัดการกองทุนจะสะสมผลตอบแทนไว้ในกองทุน และนำดอกผลส่วนนั้นไปลงทุนต่อ เพื่อโอกาสในการสร้างผลตอบแทนเพิ่ม
5. ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี
กองทุน SSF ไม่จำเป็นจะต้องซื้อทุกปีแบบกองทุน RMF ตัวอย่างเช่น ถ้าหากในปี 2023 เราซื้อกองทุน SSF เป็นจำนวน 50,000 บาท แต่ในปี 2024 เรายังไม่อยากซื้อเราจะเว้นก็เว้นได้ และไปซื้ออีกครั้งในปี 2025 หรือ 2026 ก็ได้ โดยที่ยอดในการซื้อไม่จำเป็นจะต้องเท่ากับ 50,000 บาทยอดแรกที่เราซื้อกองทุน เราจะซื้อในยอด 20,000 บาทก็ย่อมได้ แต่ก็อย่าลืมกันนะว่าเงินที่ซื้อกองทุนจะใช้หลักเกณฑ์เข้าก่อนออกก่อนหรือ “First in, First out” เพราะฉะนั้นเงินจำนวน 50,000 บาทก้อนแรกจะครบกำหนดก่อน ส่วนเงิน 20,000 บาท จะครบกำหนดช้ากว่าเพราะจะต้องถือให้ครบ 10 ปีนั่นเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อครบกำหนด 10 ปี ของกองทุน SSF ที่เราซื้อแล้ว และเรายังไม่อยากที่จะขายคืนออกมาก็สามารถถือลงทุนไว้ได้เรื่อย ๆ ยาว ๆ ไปก็ได้ อยู่ที่ความสะดวก หรือความต้องการใช้เงินของแต่ละบุคคลเลย
เป็นไงกันบ้างกับ 5 ข้อควรรู้ก่อนที่จะซื้อกองทุน SSF พอจะเข้าใจกองทุนนี้เพิ่มมากขึ้นกันบ้างแล้วใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี รวมถึงเงื่อนไขในการลงทุน ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว สนใจลงทุนแล้วแต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไงดี
ขอแนะนำกองทุน SSF กับธนาคารกรุงศรี คลิกเพื่ออ่านข้อมูลได้เลย
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน
- SSF เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออม ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน