บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

31 พฤษภาคม 2565

 

เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวจากวิกฤตหลายด้าน คาดสหรัฐฯและยูโรโซนจะทยอยปรับนโยบายการเงินอย่างยืดหยุ่นในระยะข้างหน้าตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

 

เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่ 2 มีสัญญาณลบที่ชัดเจนขึ้น จากสงครามยูเครน การล็อคดาวน์ในจีน รวมถึงวิกฤตอาหารที่รุนแรงขึ้น ในเดือนพฤษภาคมดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของกลุ่มประเทศแกนหลักฝั่งตะวันตกต่างปรับตัวลงตาม PMI ในภาคการผลิตและภาคบริการที่ลดลง ทั้งสหรัฐฯ (53.8 ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน) ยูโรโซน (54.5 ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน) และอังกฤษ (51.8 ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน) ส่วนญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้น (51.4 สูงสุดในรอบ 5 เดือน) ตามสถานการณ์แพร่ระบาดที่คลี่คลายหลังประเทศเศรษฐกิจหลักแห่งอื่น

เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่ 2 มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะในภาคการผลิต ซึ่ง PMI ต่างปรับตัวลง ทั้งในสหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น โดยองค์ประกอบย่อยของ PMI ด้านผลผลิตและยอดสั่งซื้อใหม่อ่อนแอลงขณะที่ด้านต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลจากวิกฤตยูเครนที่ยืดเยื้อ การคว่ำบาตรที่รุนแรง รวมถึงมาตรการควบคุมการระบาดหลายระลอกในจีน ทำให้ปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกรุนแรงขึ้น สินค้าโภคภัณฑ์บางประเภทมีราคาสูงจากปริมาณการผลิตที่ไม่สมดุลกับความต้องการ เงินเฟ้อที่เพิ่มต่อเนื่องยังกดดันภาคการผลิตและลดทอนกำลังซื้อลง ล่าสุดปัญหาวิกฤตอาหารอาจช้ำเติมปัญหาข้างต้น ขณะนี้กว่า 30 ประเทศทั่วโลกใช้มาตรการจำกัดการส่งออกอาหารซึ่งจะกดดันให้ราคาสูงขึ้นอีก ด้านการสู้รบอาจเลวร้ายลงโดยรัสเซียกำลังรุกคืบพื้นที่ยูเครนฝั่งตะวันออกมากขึ้น ส่วนการล็อคดาวน์ในจีนยังมีผลกระทบต่อเนื่อง ขณะที่นายกรัฐมนตรีจีนระบุว่าอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ 5.5% ได้ ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นความเสี่ยงที่กดดันภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป



 

สหรัฐฯยังเผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อ ด้านเฟดส่งสัญญาณปรับดอกเบี้ยยืดหยุ่นขึ้นหลังการประชุมเดือนกันยายน ในเดือนเมษายนดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานเพิ่มขึ้น 4.9% YoY โดยชะลอตัวสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ด้านการใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ล่าสุดจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 พฤษภาคมอยู่ที่ 1.34 ล้านรายทรงตัวใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อนที่แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2512

ตัวเลขเงินเฟ้อที่คำนวณจาก Core PCE เดือนเมษายนแม้จะชะลอลงแต่ยังอยู่ในระดับที่เกินเป้าหมายกว่า 2 เท่า ขณะที่ตลาดแรงงานตึงตัวต่อเนื่องหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป สอดคล้องกับรายงานการประชุมของเฟดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมโดยคณะกรรมการประเมินว่าการขึ้นดอกเบี้ย50 bps ในการประชุมสองครั้งถัดไปมีความเหมาะสม แต่มีความเห็นว่า “จุดยืนของการขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไปนั้น จะประเมินจากแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น” สะท้อนว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังการประชุมเดือนกันยายนนั้นจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นและให้ความสำคัญกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจตามข้อมูลในขณะนั้น



 

ECB ส่งสัญญาณออกจากดอกเบี้ยติดลบในเดือนกันยายน คาดทยอยปรับนโยบายการเงินเพื่อสร้างสมดุลกับความเสี่ยงต่อการเติบโต ในเดือนมีนาคมการนำเข้าของยูโรโซนเพิ่มสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.6 แสนล้านยูโรจากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นเป็นปัจจัยหลัก โดยการนำเข้าขยายตัวถึง 35.4% YoY ขณะการส่งออกเพิ่มขึ้น 14.0% สำหรับในเดือนเมษายนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทรงตัวจากเดือนก่อนในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7.4%

เครื่องชี้ของยูโรโซนสะท้อนแรงกดดันด้านราคาที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะจากการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าหมวดพลังงาน ปัจจัยดังกล่าวสร้างความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์อาจไม่ยึดเหนี่ยวกับเป้าหมายหากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน ล่าสุดประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกรกฎาคมและระบุว่าอาจจะออกจากสถานะดอกเบี้ยติดลบได้ภายในสิ้นไตรมาสที่ 3 วิจัยกรุงศรีคาดว่า ECB อาจปรับขึ้นดอกเบี้ย 25 bps ในเดือนกรกฏาคมนี้ และจะทยอยปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติ (Normalization) อย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อรักษาสมดุลในการจัดการความเสี่ยงจากเงินเฟ้อกับความเสี่ยงต่อการเติบโตโดยเฉพาะจากผลกระทบของสงครามที่ยืดเยื้อในยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงขึ้น

 


 


 

การส่งออกมีสัญญาณชะลอลง ขณะที่ตลาดแรงงานยังอ่อนแอและอาจต้องพึ่งพามาตรการช่วยเหลือในช่วงที่เผชิญกับภาวะค่าครองชีพสูง​

 

มูลค่าส่งออกเดือนเมษายนแผ่วลง จากผลกระทบที่ชัดชึ้นจากการชะงักงันของห่วงโซ่การผลิต มูลค่าส่งออกในเดือนเมษายนอยู่ที่ 23.5 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9.9% YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 28.9 พันล้านดอลลาร์ และหากหักทองคำมูลค่าส่งออกเดือนนี้จะเติบโต 8.9% ชะลอลงต่อเนื่องจาก 9.5% เดือนมีนาคม สำหรับกลุ่มสินค้าส่งออกที่ขยายตัว ได้แก่ i) สินค้าที่ได้อานิสงส์จากราคาพลังงานและโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ii) สินค้าเกษตรและอาหาร เนื่องจากตลาดมีความต้องการ สต๊อกสินค้าเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย และ iii) สินค้าที่ขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสินค้าทางการแพทย์ อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า เตาอบไมโครเวฟ และเครื่องมือแพทย์    ด้านตลาดส่งออกพบว่าตลาดหลักโดยเฉพาะสหรัฐฯ อาเซียน-5 และ CLMV ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดสหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น กลับมาหดตัว รวมถึงตลาดรัสเซียที่ยังคงหดตัวรุนแรง



 

แม้การส่งออกจะได้ปัจจัยบวกจากการทยอยเปิดประเทศในภูมิภาคอาเซียน  แต่การส่งออกไปตลาดสำคัญทั้งจีนและสหภาพยุโรปในเดือนเมษายนกลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบปีกว่า ผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงจากมาตรการปิดเมืองสำคัญที่มีการระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียที่ส่งผลต่อการชะงักงันของห่วงโซ่การผลิต วิจัยกรุงศรีประเมินแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปียังคงได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอลง โดยองค์การการค้าโลก (WTO) ล่าสุดได้ปรับลดคาดการณ์ปริมาณการค้าโลกในปี 2565 ขยายตัวเหลือ 3.0% จากเดิมคาดไว้ 4.7% เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับมีสัญญาณการชะลอตัวของการส่งออกในหลายประเทศเอเชียซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ อาทิ ไต้หวัน เกาหลี รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของประเทศแกนหลักเติบโตชะลอลงต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม จึงอาจส่งผลให้การส่งออกของไทยในระยะถัดไปมีแนวโน้มชะลอลงจากที่เติบโตได้ 13.7% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่ามูลค่าส่งออกทั้งปี 2565 จะยังเติบโตได้ประมาณ 6%



 

ทางการเตรียมพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงานเพิ่มเติมในช่วงที่ตลาดแรงงานยังเปราะบาง นายสุพัฒน์พงษ์ รองนายกรัฐมนตรีเผยว่าในช่วงเดือนมิถุนายนเตรียมหารือร่วมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลัง เพื่อประเมินถึงผลกระทบของสถานการณ์การสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ้งจะนำมาทบทวนมาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงาน หรืออาจจะมีการเพิ่มความช่วยเหลือเพื่อลดความเดือดร้อนให้กับประชาชน หลังรัฐบาลได้ออกมาตรการระยะสั้นไปก่อนหน้า

แนวโน้มความผันผวนของราคาพลังงานในระดับสูง สร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อและภาวะค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สถานการณ์การจ้างงานในไตรมาส 1/2565  มีการปรับดีขึ้นทั้งในภาคเกษตร และนอกภาคเกษตร ทั้งสาขาการผลิต การค้าส่งและค้าปลีก และโลจิสติกส์  ส่วนการจ้างงานในสาขาก่อสร้าง โรงแรม และร้านอาหารยังหดตัวเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาดำเนินการ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนให้เกิดการจ้างงานตามมาแต่ยังต้องใช้เวลากว่าจะกลับมาเท่ากับระดับก่อนเกิดการระบาด เนื่องจากจำนวนผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน ยังมีจำนวนสูง 3.8 ล้านคน เนื่องจากหลายธุรกิจใช้วิธีลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลงเพื่อประคองธุรกิจ จึงอาจกระทบต่อรายได้และการใช้จ่ายของกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบอยู่ สะท้อนมาตรการความช่วยเหลือจึงอาจยังมีความจำเป็น



 

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา